×

ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่โรงแรมไทยต้องชัดเจนเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

25.03.2024
  • LOADING...
โรงแรมไทย

HIGHLIGHTS

  • แม้กิจกรรมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 8% โดยเป็นธุรกิจโรงแรมที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยไม่ถึง 1% แต่ก็ไม่สามารถเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะไม่หาวิธีการบรรเทาโลกเดือด
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจโรงแรมไทย 400 แห่ง มีความสนใจเรื่องความยั่งยืน แต่ยังไม่พร้อมดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เต็มที่หรือใช้งบลงทุนไม่สูง ส่วนที่เริ่มทำเป็นโรงแรมขนาดใหญ่หรือมีการบริหารเชนจากต่างประเทศ พร้อมแนะรัฐให้ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
  • 3 โรงแรมในตลาดหลักทรัพย์มีเป้าหมาย Net Zero กำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานชัดเจน ตั้งแต่เปลี่ยนอุปกรณ์ลดพลังงานไฟฟ้าหรือการใช้น้ำให้คุ้มค่า และใช้เทคโนโลยีมาช่วย รณรงค์ไม่ใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และแยกขยะชัดเจน รวมถึงนำเศษอาหารมาทำปุ๋ย
  • ก่อนเทรนด์ Net Zero จะมา ก็พอมีตัวอย่างโรงแรมที่คิดตั้งแต่ออกแบบการก่อสร้างและดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตร รวมทั้งอยู่ร่วมกับธรรมชาติมากที่สุด

เมื่อโลกเริ่มมองเป็นเป้าหมายเดียวกันที่พยายามหาทางบรรเทาภาวะโลกเดือด จึงทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจไม่เป็นตัวทำลายโลกไปมากกว่านี้ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมก็ไม่อาจฝืนกระแสโลกด้านนี้เช่นกัน

 

ท่องเที่ยวทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8% จากทุกกิจกรรม

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยรายงานของ A Net Zero Road Map or Travel and Tourism ของ World Travel & Tourism Council (WTTC) ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของทุกกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกบนโลก และธุรกิจโรงแรมมีการปล่อย GHG เฉลี่ยไม่ถึง 1% 

 

เหตุผลที่โรงแรมปฏิเสธ ‘ไม่ทำไม่ได้’

 

  1. เป็นความต้องการของลูกค้า

 

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงในภูมิภาคสหรัฐอเมริกาและยุโรปออกมาชัดเจน โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจ (Business Travel) สำหรับจัดงานประชุมสัมมนาทั้งองค์กรในประเทศและต่างประเทศต่างต้องการให้โรงแรมที่บริษัทจะใช้บริการ ต้องแสดงข้อมูลหลักฐานหรือเอกสารรับรองที่มีการดำเนินงานดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น Green Key, GSTC หรือ Green Globe ซึ่งมีบริษัทระดับโลกที่ประกาศใช้นโยบายนี้ชัดเจน เช่น Amazon, Microsoft, Siemens และ Ernst & Young

 

  1. แบรนด์โรงแรมระดับโลกแข่งขันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

 

เพราะเชนโรงแรมรายใหญ่ระดับโลกต่างประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการดำเนินงานในธุรกิจ ตั้งแต่ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและน้ำให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์มาช่วยในการบริหารจัดการด้านพลังงานมากขึ้น หรือใช้วัตถุดิบ Recycle และ Upcycle รวมถึงใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่วนโรงแรมที่กำลังสร้างใหม่จะเน้นการออกแบบและบริหารจัดการให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Decarbonize)

 

  1. พันธมิตรธุรกิจและคู่ค้าต่างเริ่มปรับตัวสู่ความยั่งยืน

 

หากโรงแรมไม่เริ่มวางแผนและลงมือปฏิบัติ เห็นทีอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจในอนาคต

 

ความพร้อมโรงแรมไทยลดการปล่อยคาร์บอนยังฝืด

 

ข้อมูลจาก Cornell Hotel Sustainability ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการเข้าพักของลูกค้า 1 ห้องของโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0.064 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งถือเป็นระดับสูงหากเทียบกับค่าเฉลี่ยของโรงแรมในภูมิภาคเอเชียที่ระดับ 0.057 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ 0.019 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมทั้งหมด 400 แห่งเมื่อเดือนธันวาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการโรงแรมในไทยมีความสนใจด้านความยั่งยืน แต่ยังมีการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพร้อมที่จะจัดทำรายงานความยั่งยืนในระดับที่น้อยอยู่ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทันทีหรือพร้อมใช้งบลงทุนที่ยังไม่สูง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่งกลับมาหรือเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด

 

โดยพบผู้ประกอบการเพียง 52.8% ที่มีการปรับตัวและดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นรายใหญ่หรือบริหารเชนจากต่างประเทศ ตั้งแต่การเปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงานทั้งระบบไฟฟ้าและระบบน้ำ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ แยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือทำปุ๋ย ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ประกอบการมากถึง 96.5% ยังขาดความเข้าใจในการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการจัดทำรายงานความยั่งยืน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเกือบครึ่งหรือประมาณ 43.8% บอกว่า ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า มีแผนที่จะยกระดับโรงแรมให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ส่วนที่เหลือบอกว่า ยังไม่มีแผนงานหรือยังไม่แน่ใจที่จะดำเนินการ เนื่องจากกังวลเรื่องเงินลงทุนและต้นทุนทางธุรกิจที่จะสูงขึ้น ประกอบกับยังมองว่าธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดีจากโควิด รวมถึงมองว่ายังไม่มีความชัดเจนในมาตรฐานการวัดเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจน

 

ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่า รัฐควรเข้ามามีบทบาทกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้โรงแรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้ เช่น จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงและกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล การออกมาตรการทางภาษีชั่วคราว เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่มีการลงทุนหรือปรับปรุงโรงแรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับรัฐควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีต้นทุนที่ถูกลง

 

สำรวจตัวอย่างโรงแรมไทยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

จากข้อมูล ESG Impacts and Business Showcases 2023 ที่ตลาดหลักทรัพย์ได้จัดทำขึ้น ในหมวดอุตสาหกรรมกลุ่มบริการ (Service) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมที่มีการดำเนินการเรื่อง ESG อย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมายเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า 

 

  • บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL

 

กำหนดเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 โดยมีการจัดทำนโยบายและกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ที่เน้นจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จัดการของเสียอย่างเป็นระบบ และกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมใช้เทคโนโลยีมาจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการเก็บข้อมูลและวัดผลความคืบหน้า ซึ่งได้เริ่มกำหนดเป้าหมายระยะ 10 ปีทางด้านสิ่งแวดล้อม (ปี 2563-2572) โดยมี 4 เป้าหมาย ได้แก่ ลดการใช้พลังงาน ลดปริมาณการใช้น้ำ ลดปริมาณขยะที่ส่งไปฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากปีฐาน 2562 รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกและพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก พร้อมคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล และยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในการให้บริการในห้องพัก โดยตั้งเป้าหมายยกเลิกการใช้ทั้งหมดภายในปี 2568 

 

นอกจากนี้ธุรกิจโรงแรมเน้นการบริหารจัดการด้านพลังงานและไฟฟ้า โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์ ปรับปรุงระบบและอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังงาน โดยนำพลังงานความร้อนที่ปล่อยทิ้งกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และติดตั้งระบบทำน้ำร้อนแบบประหยัดพลังงานที่สระจากุซซีของโรงแรม ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 2-3 เท่า และติดตั้ง Chiller Optimizer ที่โรงแรม 5 แห่ง ทำให้ลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 10-15% 

 

รวมถึงนำเทคโนโลยี Magnetic-Bearing Chiller Compressors ของเครื่องทำความเย็นที่ใช้กับระบบปรับอากาศมาติดตั้งที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ รีสอร์ท พัทยา ช่วยลดการใช้พลังงานได้ 10% และกำลังจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 3 โรงแรม พร้อมติดตั้งระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวในห้องพัก เพื่อควบคุมแสงสว่างและระบบปรับอากาศที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์, เซ็นทรัลเวิลด์ และโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ส่งผลให้ในปี 2565 อัตราการใช้พลังงานรวมต่อพื้นที่เท่ากับ 218.65 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตร ลดลง 84% จากปีฐาน 2562 และอัตราการใช้ไฟฟ้าต่อห้องที่ลูกค้าเข้าพักเท่ากับ 77.59 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ลดลงจากปีก่อนถึง 42%

 

  • บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT 

 

ตั้งเป้าหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมระยะสั้นโดยอ้างอิง Cornell Hotel Sustainability Benchmarking Index 2021 และกำหนดเป้าหมาย Net Zero ที่อิงหลัก Science Based Targets initiative (SBTi) ภายในปี 2593 และมีการทบทวนบัญชีคาร์บอนของหน่วยธุรกิจทั้งหมดทั้ง Scope 1, 2 และ 3 โดยนำแนวปฏิบัติ 4R มาใช้ คือ การลด การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการทดแทน เช่น ใช้พลังงานทดแทนที่มีสัดส่วนมากกว่า 30% ของการใช้พลังงานรวมของเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 11% ของพลังงานที่ซื้อทั้งหมดในปี 2565 ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 23% เมื่อเทียบกับปี 2564 พร้อมหาวัตถุดิบหรือทดแทนด้วยวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการใช้พลังงานทดแทนในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท

 

นอกจากนั้นมีนโยบายลดปริมาณของเสียและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรมนำของเสียของอาหารไปทำปุ๋ยหมักและเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งในปี 2565 สามารถลดปริมาณขยะอินทรีย์ได้ 25% กลุ่มธุรกิจ Nomad Coffee นำของเสียไปทำเป็นปุ๋ยหมักและเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จนสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่สูงถึง 60% พร้อมเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมวัตถุดิบ พลังงาน และน้ำ ควบคู่กับความรับผิดชอบในการปล่อยของเสีย น้ำเสีย และก๊าซเรือนกระจก รวมถึงใช้แนวทางการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) ในการประเมินความเสี่ยงและโอกาส อีกทั้งติดตามการดำเนินงานของคู่ค้าสำคัญให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง 

 

  • บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR

 

มีนโยบายให้ทุกโรงแรมบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีการบำบัดน้ำเสีย เช่น ที่โรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ จังหวัดกระบี่ ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยขุดบ่อดินกักเก็บน้ำดิบแล้วส่งเข้าระบบ Reverse Osmosis เพื่อแปรรูปเป็นน้ำจืด มีระบบบำบัดน้ำเสียแยกถังเกรอะ แยกกาก และใช้ถังกรองชีวภาพแบบเติมอากาศ เพื่อนำน้ำที่ผ่านการบำบัดไปรดน้ำต้นไม้ ทำให้ปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยลดลง 23% และมีปริมาณน้ำที่รีไซเคิลได้ 60% ที่โรงแรมสันติบุรี เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนสามารถลดปริมาณน้ำต่อหน่วยลงได้ถึง 52% และมีปริมาณน้ำที่รีไซเคิลได้ 80% ที่โรงแรม Crossroads Maldives ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยลง 14% และมีปริมาณน้ำที่รีไซเคิลได้ 47%

 

ไม่มีเป้าหมาย Net Zero แต่ก็มีโรงแรมรักษ์โลกมานาน

 

แม้เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังเป็นเทรนด์ที่โรงแรมแต่ละแห่งจะเพิกเฉยไม่ได้ แต่ก่อนหน้าที่กระแสหรือผลกระทบโลกเดือดจะเห็นชัดเจนถึงตอนนี้ ก็มีโรงแรมบางแห่งที่ต้องการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตรมาโดยตลอด 

 

  • The Moken Eco Village

 

บนเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ที่มีนโยบายเน้นการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร งดการใช้ขวดพลาสติก และให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะอาจจะมีไฟฟ้ารองรับไม่ได้ทั้งหมด และเลือกที่จะทำทุกส่วนด้วยการใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ร้อยเปอร์เซ็นต์แทนระบบการปั่นไฟเหมือนในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามออกแบบอาคารที่พักที่เน้นจากธรรมชาติจากต้นไม้ที่ปลูกเองมานาน ซึ่งเมื่อตัดใช้แล้วก็จะมีการปลูกขึ้นมาทดแทนตลอด เพราะพยายามไม่ใช่ปูนหรือสิ่งแปลกปลอม ไม่มีแอร์หรือทีวี และผนังห้องทุกหลังจะทำเป็นช่องลมตามภูมิปัญญาชาวบ้าน แล้วติดมุ้งลวดกันยุงแทน รวมถึงสนับสนุนให้คนใช้พลาสติกบนเกาะให้น้อยที่สุด เพื่อลดการสร้างขยะบนเกาะหรือเพิ่มภาระการกำจัดที่ปัจจุบันก็มีขยะทะเลที่พัดเข้าฝั่งมาจำนวนมาก โดยจะฝากถุงตาข่ายไว้ที่ร้านประจำเพื่อเวลาไปซื้อของไว้ใส่กลับมา หรือสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวใช้กระบอกน้ำไว้เติมน้ำเวลาพกไปหน้าหาดแทนขวดพลาสติก ส่วนเศษอาหารที่ได้ก็จะนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์

 

ททท. จับมือ มช. พัฒนาแพลตฟอร์มหนุนโรงแรมลดก๊าซเรือนกระจก

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์ม www.cf-hotels.com ขึ้นมาให้ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักสามารถสร้างฐานข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงาน น้ำ ของเสีย และก๊าซเรือนกระจก โดยจัดอบรมการคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ปล่อยจากกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจโรงแรมและที่พัก ซึ่งจะสะท้อนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและที่พักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพการบริหารจัดการที่ผ่านมาว่า ธุรกิจประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

 

ปัจจุบันมีโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วทั้งหมด 149 แห่ง คิดเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 74,306 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกไปทั้งหมด 8,034 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

  • เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท จังหวัดพังงา

 

มีเป้าหมายเป็นโรงแรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และได้เข้าร่วมอบรมในโครงการ CF-Hotels เพื่อประเมินว่ากิจกรรมที่ทำจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้เท่าใด ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ การจัดการขยะ และการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่ม การนำขยะมาทำเป็นปุ๋ยหมัก การนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วไปขาย และสามารถทำกิจกรรมชดเชยได้เท่าใด

 

นอกจากนั้นยังเป็นโรงแรมที่ได้ออกแบบโครงสร้างและการก่อสร้างอาคารที่ไม่ให้มีการทำลายต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมหลายร้อยต้น ทำให้บริเวณโดยรอบมีต้นไม้สูงๆ และทำให้มีสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติอยู่เยอะ โดยมีเป้าหมายคงแนวทางรักษ์ธรรมชาติเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง BIGTrees Project และ Love Wildlife Foundation (มูลนิธิรักสัตว์ป่า) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อการอนุรักษ์ให้ดีที่สุด มีหมอต้นไม้เข้ามาตรวจสุขภาพต้นไม้ หรือถ้ากรณีข้างในต้นไม้เป็นเชื้อราหมดแล้ว ก็จะช่วยมาตัดอย่างปลอดภัยและมีการปลูกทดแทนเสมอ อีกทั้งมีการจัดการแยกขยะ ลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น พร้อมนำเศษอาหารใบไม้ในโรงแรมมาทำปุ๋ยหมักใช้ภายในโรงแรม และมีระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนอีกครั้งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี การช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจไม่ใช่หน้าที่ของโรงแรมหรือผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว เพราะในฐานะผู้ไปเยือนหรือนักท่องเที่ยว ก็สามารถช่วยทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์จากการพักผ่อนและกิจกรรมเวลาไปเที่ยวได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกิจกรรมอะไรที่ช่วยลดการคุกคามธรรมชาติได้หลังจากเราไปเสพประโยชน์จากเขาแล้ว ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำ?

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising