×

ขอแสดงความยินดีกับ เชฟดีแพงเกอร์ คอสลา แห่ง Haoma Bangkok คว้ารางวัล Champion of Change จากเวทีอาหารระดับโลก World’s 50 Best Restaurants 2021

22.07.2021
  • LOADING...
Deepanker Khosla

“โลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ยังมีการแพร่ระบาดอื่นที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือการแพร่ระบาดของความหิวโหย” เชฟดีแพงเกอร์ คอสลา เชฟเจ้าของร้านอาหารอินเดีย Haoma, ผู้ก่อตั้งโครงการ #NOONEHUNGRY และเชฟผู้ได้รับรางวัล Champions of Change จาก World’s 50 Best Restaurants 2021 

 

World’s 50 Best Restaurants คือการจัดอันดับมอบรางวัลให้กับร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก ร่วมโหวตโดยเชฟ นักเขียน และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2002 

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้ในปี 2020 ที่ผ่านมา ทางทีมงานงดการประกาศรางวัลไป และได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารขึ้นมาแทนภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า ‘50 Best For Recovery’ ซึ่งหลังจากผ่านไป 1 ปี สถานการณ์ในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น แม้การท่องเที่ยวยังเป็นไปได้ยาก ทางคณะผู้จัดจึงได้ออกมาประกาศความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการมอบรางวัลในปีนี้ว่า World’s 50 Best Restaurants ประจำปี 2021 กลับมาแน่ในวันที่ 5 ตุลาคม 2021 โดยงานจะถูกจัดขึ้นที่เมืองแอนต์เวิร์ป เบลเยียม และถ่ายทอดสดผ่านทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ World’s 50 Best 

 

ก่อนจะทราบกันว่าใครคว้าตำแหน่งร้านอาหารที่ดีที่สุดประจำปี 2021 ไปครอง ทางผู้จัดงานได้เผยว่า พวกเขาจะทยอยจัดกิจกรรมและประกาศรางวัลต่างๆ ที่นอกเหนือไปจาก 50 รางวัลหลักออกไปอีกหลายสาขา โดยในเดือนกรกฎาคมนี้เราเริ่มกันที่รางวัล Champion for Changes 2021 ที่มอบให้เชฟถึง 3 ท่าน ได้แก่ เชฟเคิร์ต อีแวนส์ เชฟและผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Down North Pizza สหรัฐอเมริกา, วิเวียนา วาเรซี เจ้าของร้าน Viva Viviana Varese อิตาลี และ เชฟดีแพงเกอร์ คอสลา แห่งร้านอาหารอินเดีย Haoma ประเทศไทย 

 

เชฟดีแพงเกอร์ตั้งใจทำร้านอาหาร Haoma ภายใต้นโยบายความยั่งยืน หากไปที่ร้านคุณจะได้เห็นสวนผักออร์แกนิกหลังบ้านและบ่อปลา รวมถึงการทำงานร่วมกับเกษตรกร เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักที่มาใช้ในร้าน เชฟถ่ายทอดนโยบายและพูดถึงการใช้วัตถุดิบของเขาอย่างคุ้มค่ามากที่สุดผ่านมื้ออาหารที่ผลัดเปลี่ยนไปตามวัตถุดิบที่ได้มา เชฟดีแพงเกอร์กล่าวว่า มุมมองของเขาต่อการเป็นเชฟในยุคปัจจุบันคือ เชฟควรจะให้ความสำคัญกับอะไรที่มันมากกว่าแค่จานอาหารที่ออกมาสวย แต่หันมาให้ความสนใจแก่นแท้ของอาหารและการทำนุบำรุงรักษามัน 

 

นอกเหนือจากนโยบายความยั่งยืนในด้านอาหาร เชฟดีแพงเกอร์กล่าวว่า เขาเติบโตในเมืองอัลลาฮาบัด ประเทศอินเดีย เมืองที่เต็มไปด้วยผู้อพยพที่มาพร้อมกับความหลากหลายด้านอาหาร และสิ่งเหล่านั้นเป็นจุดกำเนิดแพสชันเรื่องอาหารของเขา เมื่อร้านอาหารต้องปิดจากวิกฤตการณ์โควิด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2020 เชฟดีแพงเกอร์ได้ประชุมกับทีมงานว่าคุยกันในทีมว่าเราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่ให้เกิดคุณค่ามากที่สุดได้อย่างไร “เรามีสิ่งที่เราต้องการมากมาย แต่ผลกระทบที่ผู้ใช้แรงงานต่างชาติได้รับจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้มันยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการ #NOONEHUNGRY” เชฟเสริม 

 

เชฟดีแพงเกอร์ก่อตั้งโครงการ #NOONEHUNGRY ผ่านการจัด Charity Dinner ร่วมกับเชฟท่านอื่นๆ เพื่อนำรายได้ที่ได้จากดินเนอร์เปลี่ยนเป็นมื้ออาหารเพื่อแจกจ่ายให้กับแรงงานต่างชาติที่วิกฤตทำให้พวกเขาถูกตัดออกจากระบบและไม่ได้รับความช่วยเหลือ การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันเชฟดีแพงเกอร์จัดส่งข้าวจาก #NOONEHUNGRY ไปแล้วรวมทั้งหมดกว่า 125,000 ห่อ และนั่นทำให้เขาเป็นเชฟจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัล Champions of Change ในปีนี้ 

 

THE STANDARD POP ขอร่วมแสดงความยินดีกับเชฟดีแพงเกอร์และเชฟท่านอื่นๆ ที่ได้รับรางวัล และขอบคุณที่ออกมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิดในปีนี้  

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising