×

ถึงเวลาซ่อมแซมความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ‘ชั่วคราว’

17.11.2023
  • LOADING...
ถึงเวลาซ่อมแซมความสัมพันธ์ ไบเดน สีจิ้นผิง

การพบกันระหว่าง โจ ไบเดน และสีจิ้นผิง บนเวที APEC 2023 เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะความสัมพันธ์ที่ตกต่ำลงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำทั้งสองจะซ่อมแซมและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สีจิ้นผิงและไบเดนคาดหวังอะไรจากการพบกันในครั้งนี้

 

สีจิ้นผิงกล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เป็นความสำคัญทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก และความสัมพันธ์นี้ควรพัฒนาไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองของทั้งสองประเทศ รวมถึงช่วยกันผลักดันความก้าวหน้าของมนุษยชาติร่วมกัน แม้ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจไม่ได้ราบรื่นโดยตลอด แต่ทว่า ความสัมพันธ์นี้ก็ยังคงขับเคลื่อนไปข้างหน้าท่ามกลางสถานการณ์ที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน สียังเน้นย้ำว่า โลกใบนี้กว้างใหญ่เพียงพอที่จะให้จีนและสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน

 

ขณะที่ไบเดนก็บอกว่า การที่ผู้นำของทั้งสองประเทศเข้าใจกันอย่างชัดแจ้งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งตัวเขาและสีจิ้นผิงมีภาระหน้าที่ที่ต้องสร้างหลักประกันว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ โดยในปัจจุบันสองมหาอำนาจยังมีประเด็นปัญหาและความท้าทายระดับโลกมากมาย ตั้งแต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปราบปรามยาเสพติด วิกฤตด้านมนุษยธรรม ตลอดจนปัญญาประดิษฐ์ ที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนยังสามารถร่วมมือกันได้

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า “จีนและสหรัฐฯ ต้องการรักษาระดับความสัมพันธ์ไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ แล้วก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สำหรับฝ่ายของจีนด้วยที่ตอนนี้มีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ โดยจีนต้องการแสดงให้เห็นว่า จีนสามารถที่จะรักษาระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ได้ และในขณะเดียวกันก็เรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า จีนยังเปิดต้อนรับนักลงทุนอยู่ ซึ่งสีจิ้นผิงจะพบกับนักธุรกิจและนักลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ด้วย

 

“ตั้งแต่ก่อนการประชุม ความคาดหวังก็ต่ำมากอยู่แล้ว แต่พอหลังหารือกันเสร็จ ไบเดนมองว่าการหารือกันในครั้งนี้ เขาได้พูดคุยกับสีจิ้นผิงในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการพูดคุยกันที่มีประโยชน์มากที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นสัญญาณบวกที่เชื่อว่าจะมีส่วนผลักดันให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ความคาดหวังของคนทั่วไปก็คือ ขอให้ไม่มีอะไรแย่ไปมากกว่านี้ก็พอแล้ว”

 

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีน-สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนท่าทีและหันมาร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

 

รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า “การพบกันครั้งนี้น่าจะเป็นท่าทีที่เป็นมิตรครั้งแรกๆ จากทางรัฐบาลจีนต่อรัฐบาลไบเดน หลังจากที่มีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกันมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่สีจิ้นผิงอาจไม่เข้าร่วมการประชุม APEC ครั้งนี้ที่สหรัฐฯ เพราะสถานการณ์ภายในประเทศจีนเองก็ยังไม่เรียบร้อยดี ยังไม่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ หลังจากที่คนเก่าถูกปลดออกไป

 

“สถานการณ์ของทั้งไบเดนและสีจิ้นผิงต่างก็วิกฤตเหมือนกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังมีปัญหาอย่างมาก ประกอบกับคะแนนความนิยมของไบเดนก็ตกต่ำลงพอสมควร ขณะที่จีนเองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักเช่นเดียวกัน การเมืองภายในประเทศก็ยังไม่นิ่ง ขณะนี้จึงอาจเป็นสถานะที่ทั้งไบเดนและสีจิ้นผิงต่างตอบแทนกันได้ และแนวนโยบายที่ไม่เป็นมิตรก็ไม่ส่งผลดีต่อใครเลย อาจเป็นการดีที่ทั้งสองประเทศจะหันมาร่วมมือกัน

 

“ไบเดนต้องการจะลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 อีกครั้ง ถ้าเศรษฐกิจจีนล่มสลาย ธนาคารกลางจีนไม่ฟังก์ชันอีกต่อไป นั่นอาจเท่ากับว่าเป็นการจบความหวังที่ไบเดนจะกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งพลเมืองอเมริกันไม่ได้แฮปปี้กับการจัดการเศรษฐกิจของไบเดนอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ไบเดนต้องทำคือ ทำอย่างไรให้อย่างน้อยสามารถพยุงเศรษฐกิจจีนให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไปให้ได้ การหันมาพัฒนาความสัมพันธ์และร่วมมือกันก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ขณะที่สีจิ้นผิงเองก็ไม่ต้องการให้เศรษฐกิจจีนล่มสลายอยู่แล้ว ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็น่าจะดีไม่น้อย

 

“ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา สีจิ้นผิงปลุกเร้าอุดมการณ์ชาตินิยมที่ชูสหรัฐฯ เป็นคู่แข่งและเป็นผู้ร้ายอย่างมาก ซึ่งสิ่งนี้กลับกลายเป็นจุดอ่อนของสีจิ้นผิงเอง โดยลูกน้องคนสนิท รวมถึงผู้นำระดับสูงในกองทัพส่วนใหญ่ล้วนมีความเกี่ยวพันกับสหรัฐฯ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จุดนี้เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือในการกำจัดลูกน้องหรือคนของสีจิ้นผิงได้เป็นจำนวนมาก ถ้าสีจิ้นผิงต้องการสร้างความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศขึ้นมา อาจจำเป็นต้องลดการผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่ชูว่าสหรัฐฯ เป็นคู่แข่งขันหรือคู่ขัดแย้งเท่าที่จะทำได้”

 

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่เกิดขึ้นคืออะไร

 

ดร.อาร์มอธิบายว่า “สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ตกลงกันมาก่อนที่จะมีการประชุม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องยาเสพติดที่สหรัฐฯ กังวลอย่างมาก จีนก็ตอบรับว่าจะช่วยจัดการปัญหายาเสพติด ซึ่งเชื่อว่าต้นตอของสารเสพติดมาจากประเทศจีน อีกประเด็นที่ดูเป็นรูปธรรมก็คือ การฟื้นฟูช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ ซึ่งแปลว่าก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ผู้แทนสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน กรณีเรื่องบอลลูนต่างๆ ทำให้ทั้งสองประเทศไม่ติดต่อกัน ซึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด และดูแล้วไม่น่าจะเป็นการดีที่กองทัพของมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจะพูดคุยกันได้เลย นี่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่เป็นรูปธรรม แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว แต่หายไป ครั้งนี้ก็แค่กลับมา ไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร”

 

การพบกันครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ในการเมืองโลกหลังจากนี้หรือไม่

 

รศ.ดร.วาสนาระบุว่า “การพบกันครั้งนี้ของสีจิ้นผิงกับไบเดนไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรมากขนาดนั้น ถ้าไปดูแถลงการณ์ของทั้งคู่ เราก็จะพบว่าเนื้อหาทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ได้อยู่แล้ว ทั้งสีจิ้นผิงและไบเดนต่างแค่ต้องการบรรลุ ‘จุดมุ่งหมายระยะสั้น’ โดยสีจิ้นผิงต้องการลดดีกรีความร้อนแรงของการเมืองภายในประเทศ และสร้างเสถียรภาพขึ้นในจีน ขณะที่ไบเดนก็อยากให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาถึง เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสชนะเลือกตั้งอีกสมัยเท่านั้นเอง

 

“ถามว่าสีจิ้นผิงต้องการจะรวมกับไต้หวันโดยสันติ แปลว่าสีจิ้นผิงจะไม่บุกไต้หวันแล้วใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่ เพราะในระยะยาว สีจิ้นผิงก็ยังคงต้องการรวมไต้หวันให้เข้ามาอยู่กับจีนแน่นอน ถ้าจำเป็นต้องใช้กำลังทหาร ก็จะใช้กำลังทหารแน่นอน อย่างไรสิ่งนี้ก็จะไม่เปลี่ยนแปลง  

 

“ส่วนจุดยืนของสหรัฐฯ ที่บอกว่า สนับสนุนนโยบายจีนเดียว และจะไม่ส่งเสริมให้ไต้หวันประกาศเอกราช หรือทำประชามติอะไรในตอนนี้ แต่ถ้าถามว่าสหรัฐฯ จะเลิกขายอาวุธให้กับไต้หวันไหม หรือจะเอากองเรือกลับมาจากช่องแคบไต้หวันหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ใช่ เช่นเดียวกัน เพียงแต่จะมีการใช้ถ้อยคำที่ดูเบาบางลงเท่านั้น แล้วก็อาจไม่มีบุคคลระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวันในช่วงเวลานี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการกระทบกระเทือนจิตใจจีน แต่ท้ายที่สุด ทั้งหมดเป็นการมุ่งเป้าระยะสั้นของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ดังนั้น การพบปะกันในรอบนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ในการเมืองโลกหลังจากนี้หรือไม่ ก็คิดว่าไม่”

 

แนวโน้มความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ในปี 2024 จะเป็นอย่างไร

 

ดร.อาร์มกล่าวว่า “ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 ช่วงที่สีจิ้นผิงพบกับไบเดนที่บาหลี ทุกคนก็คาดการณ์ว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ น่าจะรักษาระดับได้ดี แล้วก็ฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2023 เกิดปัญหาบอลลูน รวมถึงประเด็นตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสัมพันธ์ระดับสูงของทั้งสองประเทศถือว่าขาดหายไปเลย ความหมายก็คือว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้เปราะบางมาก ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีสัญญาณบวกเกิดขึ้น ก็ไว้ใจอะไรไม่ได้ เพราะว่าถ้ามีอะไรที่เข้าใจผิด หรือว่ามีเรื่องเปราะบางปะทุขึ้นมา ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ดิ่งกลับไปยังจุดที่ตกต่ำได้อย่างง่ายดาย ความสัมพันธ์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นลงเร็วมาก”

 

แต่อย่างไรก็ตาม ดร.อาร์มมองว่า “การพบกันครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะเดือนมกราคม 2024 จะมีการเลือกตั้งที่เกาะไต้หวัน และช่วงปลายปี 2024 ก็เป็นปีเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งโดยทั่วไปคนก็จะมองว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ถ้าผลการเลือกตั้งไต้หวันออกมาในทิศทางที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและอยู่ในอำนาจต่อไป ก็มีแนวโน้มที่จะแข็งกร้าวต่อจีนมากยิ่งขึ้น ขณะที่การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ทุกครั้งก็จะต้องทำให้สองพรรคการเมืองใหญ่อย่างเดโมแครตและรีพับลิกันต้องแสดงความแข็งกร้าวต่อจีน เพื่อเรียกคะแนนนิยมและเสียงสนับสนุน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นจุดที่เรียกว่าพบกัน ก่อนที่จะมีกับระเบิดใหญ่อีกหลายลูกรออยู่ในปี 2024”

 

ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ รศ.ดร.วาสนา ที่ก็มองว่า “การเลือกตั้งที่ไต้หวันและสหรัฐฯ ในปี 2024 นี้มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยการประกาศจับมือกันระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรค TPP ของไต้หวัน ที่ต่างสนับสนุนการรวมชาติกับจีน อาจทำให้คะแนนนิยมของทั้งสองพรรคนี้รวมกันสูสีกับคะแนนนิยมของพรรค DPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน ถ้าเกิดว่าพรรคที่สนับสนุนการรวมชาติกับจีนชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลไต้หวัน ก็อาจช่วยลดความตึงเครียดบริเวณช่องแคบ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลระยะยาว ในแง่ที่อาจทำให้การรวมชาติจีน-ไต้หวันเป็นไปได้มากขึ้น นับเป็นการเลือกตั้งที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างมากของไต้หวัน

 

“ขณะที่การเลือกตั้งสหรัฐฯ หลายคนกังวลว่า ทรัมป์จะลงสมัครเลือกตั้งอีกหรือไม่ หรือจะมีใครที่เหมือนกับทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้แทนพรรครีพับลิกันและชนะเลือกตั้งหรือไม่ สิ่งนี้ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าสีจิ้นผิงอยากจะให้ใครชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2024 เขาอาจเลือกไบเดนมากกว่าทรัมป์ เพราะทรัมป์คาดเดาได้ยาก (Unpredictable) แต่ถ้าเป็นไบเดน จีนก็ยังพอเดาทางออกว่าสหรัฐฯ จะไปในทิศทางไหน ไบเดนอาจเป็นผู้นำที่จีนเดาทางออกมากจนเกินไปด้วยซ้ำ

 

“ดังนั้นการเลือกตั้งที่ไต้หวันและสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จึงน่าจับตาดูอย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกในปี 2024 โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

ภาพ: Kevin Lamarque / Reuters

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising