×

โหมโรง APEC 2023 สหรัฐฯ คาดหวังอะไรกับเวทีประชุมนี้

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2023
  • LOADING...
APEC 2023

เชื่อว่าคนในยุคทศวรรษ 70 หรือคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จะต้องมีความคุ้นเคยกับเพลง San Francisco (Be Sure to Wear Flowers in Your Hair) ของ Scott McKenzie เป็นอย่างดี และบทเพลงที่บ่งบอกถึงความสวยงามของเมือง ความน่ารักของชาวซานฟรานซิสโก ก็ยังคงเป็นบทเพลงอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

ในสัปดาห์นี้ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน ที่นครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) โดยไฮไลต์จะอยู่ที่การประชุมระดับผู้นำประเทศและเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงคณะผู้แทนจาก 21 ประเทศและดินแดน ในระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน

 

ตั้งแต่ก่อตั้ง APEC ในปี 1989 สหรัฐฯ เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 12 ปีของสหรัฐฯ ภายใต้หัวข้อ ‘การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน’

 

สหรัฐฯ ให้เหตุผลที่เลือกนครซานฟรานซิสโกเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ว่า ซานฟรานซิสโกเป็นตัวแทนของความยืดหยุ่นทั้งในด้านวัฒนธรรมและนวัตกรรม ที่นี่คือที่ตั้งของซิลิคอนวัลเลย์ มีบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่มากถึง 33% จากประชากรทั้งหมดในซานฟรานซิสโก และยังถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ

 

แอรอน เพสกิน ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลของซานฟรานซิสโก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBS ประจำเขตอ่าวซานฟรานซิสโกว่า “นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรอบศตวรรษที่ซานฟรานซิสโกกำลังจะได้อยู่บนเวทีโลก และเป็นการรวมตัวของผู้นำต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในซานฟรานซิสโกนับตั้งแต่มีการลงนามกฎบัตรสหประชาชาติในปี 1945”

 

ชาติสมาชิก APEC มีประชากร 40% ของประชากรโลก และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการค้าโลก คู่ค้าชั้นนำ 7 รายของสหรัฐฯ คือประเทศสมาชิกในกลุ่ม APEC แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะใช้เวทีนี้ในการสร้างผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันก็ใช้เวทีนี้ในการป้องกันไม่ให้มหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะจีน เข้ามามีอิทธิพลหรือขยายอิทธิพลในภูมิภาคแบบที่เรียกว่า ‘เนียนๆ และไม่น่าเกลียด’ ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะใช้เวที APEC ในการตอกย้ำความก้าวหน้าของ IPEF อีกด้วย

 

รู้จัก Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity หรือ IPEF (กรอบทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความรุ่งเรือง) สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการโชว์ในการประชุม APEC ครั้งนี้

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และทีมงาน พยายามที่จะเปิดกลไกความร่วมมือด้านการค้า IPEF ว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่สำคัญในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนมองว่า IPEF คือความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะรักษาบทบาทด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยไม่มีจีน คำถามคือ ในภูมิภาคนี้มีกลไกที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจำนวนมาก เช่น WTO, G20, APEC, ASEAN, RCEP ทำไมยังจำเป็นต้องมี IPEF

 

เวนดี คัตเลอร์ อดีตผู้เจรจาการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าสมาคมนโยบายเอเชียในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว Reuters ว่า “การประชุม APEC ในครั้งนี้ IPEF จะถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังก้าวผ่าน APEC และ IPEF เพื่อบอกว่าเรากลับมาในเอเชียแล้ว และจะยังคงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดต่อไป” หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ลงนามถอนตัวในข้อตกลงการค้าเสรีหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ในปี 2017

 

IPEF คือหัวใจสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ประกอบไปด้วยเสาหลักเศรษฐกิจ 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน, เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือกับผลกระทบ, เศรษฐกิจสะอาด และเศรษฐกิจที่มีความยุติธรรม โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนเจรจาจาก 14 ประเทศกำลังเร่งปิดกรอบ IPEF เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพลังงานสะอาด การขจัดคอร์รัปชัน และการหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อจะสามารถประกาศความร่วมมือได้ทันงาน APEC

 

จับตาการเผชิญหน้าระหว่างผู้นำสหรัฐฯ-จีน

 

แน่นอนว่าไฮไลต์การประชุมในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการพบกันระหว่างสองผู้นำของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ทั้งในระหว่างการประชุมและการเจรจานอกรอบ โดยประเด็นที่ต้องจับตามองจะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูความสัมพันธ์และการค้าระหว่างสองประเทศ ประเด็นไต้หวัน ประเด็นด้านเทคโนโลยี เรื่องของยาเฟนทานิล และประเด็นของกองทัพ เป็นต้น 

 

ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องการใช้เวทีนี้บอกกับทั้งโลกว่าอเมริกากลับมาสู่เอเชียแล้ว จีนเองก็ต้องการใช้เวทีนี้ในการสร้างความชอบธรรม โดยพยายามให้ทั่วโลกเป็นพยานในการที่จะบังคับสหรัฐฯ ให้ต้องกลับมาปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ ยอมรับนโยบายจีนเดียว รวมทั้งหยุดยั้งการแทรกแซงด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมของจีน แม้จะไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าการพบกันของสองผู้นำในครั้งนี้จะมีผลลัพธ์อย่างไร หรืออาจไม่เกิดอะไรขึ้นเลย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพบกันในครั้งนี้จะมีนัยสำคัญที่ส่งผลถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในเดือนมกราคม และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนของปีหน้าแน่นอน

 

ภาพ: Kent Nishimura / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising