×

เปิดภูมิหลังความขัดแย้งจีน-อินเดีย จากปัญหาพรมแดนโหมกระพือกระแสชาตินิยม และโอกาสเกิดสงครามใหญ่

24.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ความสัมพันธ์ระหว่างนิวเดลีและปักกิ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็นทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และคู่ขัดแย้ง มีการปะทะเผชิญหน้ากันหลายครั้ง ครั้งใหญ่บานปลายเป็นสงครามในปี 1962
  • เส้นแบ่งเขตควบคุมตามจริง (LAC) ส่วนมากเป็นเพียงเส้นลากในแผนที่ เป็นพื้นที่ตามธรรมชาติที่ไม่มีการแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ไว้ จึงมักมีเหตุปะทะกันโดยอ้างว่าอีกฝ่ายล้ำเส้น LAC โดยเหตุปะทะนองเลือดล่าสุดเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธปืน แต่ใช้มือเปล่า แท่งเหล็ก และหิน เพราะภายใต้ข้อตกลงปี 1996 และ 2005 กำหนดว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังอาวุธต่อกันเพื่อจำกัดขอบเขตความขัดแย้ง
  • หลังจากอินเดียผ่านกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างแคชเมียร์ ได้แยกจัมมูและแคชเมียร์เป็น 2 ส่วน โดยยึดเส้นแบ่งตามข้อตกลงปี 1947 ไม่ได้ยึดตามข้อตกลงที่ทำกับจีนหลังสงครามปี 1962 อีกต่อไป ส่งผลให้จีนไม่พอใจอย่างมาก
  • เมื่ออินเดียตีเส้นแผนที่ครอบอักไซชินลงในแผนที่ฉบับใหม่ของตัวเอง ทำให้ในเดือนเมษายน 2020 จีนได้ออกแผนที่ฉบับใหม่เป็นการตอบโต้ โดยรวมรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียและอักไซชินเข้าในแผนที่ใหม่ โดยใช้เส้นทึบแทนที่เส้นไข่ปลาในแผนที่เดิม ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปแล้ว ไม่ใช่พื้นที่พิพาทอีกต่อไป

ปี 2020 ถือเป็นการครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งเป็นสองประเทศยักษ์ใหญ่ที่สำคัญของเอเชีย และกล่าวได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกกับคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่สุดเช่นกัน

กระนั้นความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองก็ไม่ได้เป็นสาเหตุให้ขัดแย้งกันแม้ในช่วงสงครามเย็นก็ตาม ปัญหาระหว่างอินเดียกับจีนมักจะเป็นเรื่องพรมแดนและการเมืองระหว่างประเทศเสียมากกว่า ซึ่งเมื่อใดที่มีการปะทุขึ้นมาและมีการปะทะเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดความวิตกกังวลกันไปทั่วโลกว่าอาจบานปลายหรือส่งผลเลวร้ายต่อสถานการณ์ความมั่นคงโลก เพราะทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง มีขีดความสามารถด้านการทหารอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก ในทางเศรษฐกิจจีนก็มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และอินเดียอยู่ที่อันดับ 5

ความสัมพันธ์ระหว่างนิวเดลีและปักกิ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็นทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และคู่ขัดแย้ง มีการปะทะเผชิญหน้ากันหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามพรมแดนปี 1962 การปะทะกันที่สิกขิม ปี 1967 (Sikkim), ที่ตุลัง ลา รัฐอรุณาจัลประเทศ ปี 1975 (Tulung La), ที่หุบเขาซัมโดรอง ชู ปี 1987 (Sumdorong Chu) และการเผชิญหน้ากันในเขตพื้นที่ราบสูงโดคลัม ปี 2017 (Doklam)

ทั้งสองประเทศยังคงขัดแย้งกันมาเรื่อยๆ โดยมีประเด็นหลักๆ คือ ปัญหาพรมแดนที่ตกลงกันไม่ได้ ปัญหาจีนไม่พอใจท่าทีของอินเดียที่สนับสนุนองค์ดาไลลามะของทิเบต อินเดียกังวลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างจีนกับปากีสถาน รวมทั้งความพยายามในการขยายอิทธิพลของจีนเข้ามาในมหาสมุทรอินเดีย แม้แต่จีนเองก็กังวลกับการเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดียภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของวอชิงตัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียและเอเชียใต้ได้

ด้วยเหตุนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนจึงพยายามสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดียมากขึ้น แต่การปะทะกันครั้งล่าสุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาจนำไปสู่วิกฤตความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับจีนอีกครั้ง

 

 



การปะทะกันของทหารจีนกับอินเดียที่หุบเขาแม่น้ำกัลวาน (Galwan River Valley)
เหตุปะทะครั้งล่าสุดระหว่างทหารจีนและอินเดียเกิดขึ้นวันที่ 15-16 มิถุนายน 2020 บริเวณเส้นแบ่งแนวควบคุมตามจริง (Line of Actual Control) ด้านตะวันตกบริเวณรัฐลดาข (Ladakh) ของอินเดีย แถบหุบเขาแม่น้ำกัลวาน ซึ่งจีนก็อ้างว่าเป็นของจีน การปะทะกันครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีในความขัดแย้งพรมแดนจีนกับอินเดียนับตั้งแต่ปี 1975

โดยครั้งนี้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย ส่วนจีนไม่เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิต แต่สื่ออินเดียอ้างว่ามีทหารจีนเสียชีวิต 43 นาย เป็นการปะทะที่ไม่ใช้อาวุธปืน แต่ใช้มือเปล่า แท่งเหล็ก และหิน ทั้งนี้เพราะภายใต้ข้อตกลงปี 1996 และ 2005 กำหนดว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังอาวุธต่อกันเพื่อจำกัดขอบเขตความขัดแย้ง

มีข่าวการปะทะโดยไม่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารมีขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 บริเวณทะเลสาบปังกองโซ (ตั้งอยู่ระหว่างลดาขของอินเดียและทิเบตของจีน), รัฐสิกขิม และบริเวณหุบเขาแม่น้ำกัลวาน (ตั้งอยู่ระหว่างลดาขของอินเดียและอักไซชินที่จีนครอบครองอยู่)

ทั้งจีนและอินเดียต่างพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการปะทะกันเมื่อเดือนพฤษภาคม จนมีข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายจะล่าถอยออกจากพื้นที่พิพาทในหุบเขาแม่น้ำกัลวาน

ที่ผ่านมาจีนและอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดเหนือพรมแดนร่วมที่พิพาทกันรวมระยะทางกว่า 3,440 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องพรมแดนด้วยการเจรจามาแล้วมากกว่า 20 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน

พรมแดนจีน-อินเดียนั้นมีความยาว 4,056 กิโลเมตร จากระยะทางดังกล่าวเป็นเส้นแบ่งเขตแดนที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรียกว่า LAC หรือ เส้นแบ่งเขตควบคุมตามจริง (Line of Actual Control) ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังสงครามจีน-อินเดียปี 1962 อินเดียเป็นฝ่ายแพ้ ทว่าทั้งสองฝ่ายยึดถือความยาวของเส้น LAC ต่างกัน ฝั่งอินเดียระบุว่า LAC มีความยาวทั้งสิ้น 3,488 กิโลเมตร แต่จีนยืนยันว่ามีความยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร เนื่องจากทั้งสองอ้างสิทธิ์ในพื้นที่พิพาทแตกต่างกันกว่า 20 แห่ง ครอบคลุมหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น อักไซชิน (Aksai Chin) ที่จีนยึดมาจากสงครามปี 1962, หุบเขาชัคส์กัม (Shaksgam Valley), พื้นที่ข้อพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน ซึ่งปากีสถานยกให้แก่จีนในปี 1963 และรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย

แต่จีนอ้างสิทธิ์ครอบครองโดยระบุในแผนที่เส้นแบ่งเขตแดน โดย LAC มีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนตะวันออก ซึ่งแบ่งดินแดนรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐสิกขิมของอินเดียกับจีน ส่วนกลางแบ่งรัฐหิมาจัลประเทศและรัฐสิกขิมของอินเดียกับจีน และส่วนตะวันตกแบ่งดินแดนสหภาพลดาขของอินเดียกับจีน

เส้น LAC ส่วนมากเป็นเพียงเส้นลากในแผนที่ เป็นพื้นที่ตามธรรมชาติที่ไม่มีการแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ไว้ จึงมักมีเหตุปะทะกันโดยอ้างว่าอีกฝ่ายละเมิดเส้น LAC หรือเมื่อมีการลาดตระเวนมาเจอกัน หรือเกิดความเข้าใจผิดในแนวปฏิบัติของหน่วยทหารในพื้นที่ กรณีล่าสุดก็เช่นกันที่จีนมองว่าทหารอินเดียรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของตน ส่วนอินเดียก็กล่าวโทษทหารจีนว่าไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้

 

 



ปมขัดแย้งแผนที่ใหม่และการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม
เหตุความตึงเครียดล่าสุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการตัดสินใจของอินเดียที่ไปกระทบต่อแผนที่และสถานภาพเดิมของเขตพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีน จากการยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu & Kashmir) ในช่วงกลางปี 2019 ต่อมาปลายปี 2019 อินเดียได้ออกแผนที่ฉบับใหม่เนื่องมาจากการแบ่งแยกจัมมูและแคชเมียร์ และแคว้นลดาขออกจากกันและเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นดินแดนสหภาพ (Union Territories) ที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอินเดียยืนยันว่าแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย โดยอ้างกลับไปถึงการลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมกับอินเดียของมหาราชาฮารี ซิงห์ ในวันที่ 26 ตุลาคม 1947 (Instrument of Accession) ซึ่งอาณาบริเวณของแคชเมียร์ในข้อตกลงนั้นครอบคลุมไปถึงแคชเมียร์ในฝั่งของปากีสถานที่เรียกว่าอาซาดแคชเมียร์ (Azad Kashmir) ด้วย และรวมไปถึงแคชเมียร์ในส่วนที่มีข้อพิพาทกับจีนหรืออักไซซินที่จีนครอบครองอยู่

หลังจากอินเดียผ่านกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างแคชเมียร์ แยกจัมมูและแคชเมียร์เป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จัมมูและแคชเมียร์ทางตะวันตก โดยแผนที่ของอินเดียคลุมอาซาดแคชเมียร์ในฝั่งปากีสถาน และอีกส่วนทางตะวันออกหรือลดาขคลุมไปถึงอักไซซินในฝั่งของจีน หมายความว่าอินเดียยังยึดตามข้อตกลงปี 1947 ไม่ได้ยึดตามข้อตกลงที่ทำกับจีนหลังสงครามปี 1962 อีกต่อไป จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก

เมื่ออินเดียตีเส้นแผนที่ครอบอักไซชินลงในแผนที่ฉบับใหม่ของตัวเอง ทำให้ต่อมาในเดือนเมษายน 2020 จีนได้ออกแผนที่ฉบับใหม่เป็นการตอบโต้ โดยรวมรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียและอักไซชินเข้าในแผนที่ใหม่โดยใช้เส้นทึบแทนที่เส้นไข่ปลาในแผนที่เดิม ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปแล้ว ไม่ใช่พื้นที่พิพาทอีกต่อไป

 

 



ชนวนขัดแย้งจากการสร้างถนนตามแนวพรมแดนระหว่างกัน
อีกหนึ่งชนวนของความขัดแย้งครั้งล่าสุดก็คือ อินเดียได้สร้างถนนในทิศตะวันออกของลดาขใกล้เส้น LAC ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้จีนไม่พอใจ จนทั้งสองชาติส่งทหารเข้ามาบริเวณเส้น LAC เพิ่มมากขึ้นจนเกิดการปะทะกันบ่อยในช่วงหลัง

ภายหลังรัฐบาลนเรนทรา โมดี ชนะเลือกตั้งปี 2014 ได้รื้อฟื้นแผนก่อสร้างบริเวณเขตแดนพิพาท LAC และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2019 ถนนดังกล่าวชื่อว่า Darbuk-Shyok-DBO Road เชื่อมต่อเมืองเลห์ หมู่บ้านดาร์บูค (Darbuk) หมู่บ้านชีอุค (Shyok) และค่ายทหารเดาลัท เบก โอลดี (Daulat Beg Oldi) ใกล้พรมแดนจีน

ถนนเส้นนี้ยาว 220 กิโลเมตร เป็นถนนเส้นยุทธศาสตร์ในการลำเลียงพลของอินเดีย จีนคัดค้านการสร้างถนนดังกล่าวบริเวณหุบเขาแม่น้ำกัลวาน เพราะเป็นพื้นที่ข้อพิพาท ในขณะที่จีนเองก็เร่งปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคบริเวณพรมแดนจีน-อินเดียในทิเบต เช่น ปรับปรุงสนามบินที่ห่างจากลดาขเพียง 200 กิโลเมตรในเดือนเมษายน 2020 การก่อสร้างถนนบริเวณพื้นที่พิพาททำให้จีนส่งกำลังทหารมาเพิ่มจนเกิดการปะทะบ่อยครั้ง

จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งในพื้นที่พิพาทจีน-อินเดียมีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2017 คำถามที่น่าสนใจก็คือ อะไรเป็นเหตุกระตุ้นให้ความขัดแย้งรอบนี้รุนแรงถึงขั้นมีทหารเสียชีวิตตามที่ปรากฏ ซึ่งอาจมาจากปัจจัย ดังนี้

 



1. ปัจจัยภายใน: โควิด-19, กระแสชาตินิยม และผลจากความขัดแย้งล่าสุด
ทั้งจีนและอินเดียต่างเผชิญกับปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่ จีนเองถูกหลายชาติกล่าวหาว่าเป็นต้นกำเนิดของเชื้อไวรัส  และบางชาติออกมาเรียกร้องให้จีนรับผิดชอบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างสาหัสทั่วโลก แม้ว่าจีนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการควบคุมและแก้ไขปัญหาการระบาดได้ดี ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือความสามารถของผู้นำ ระบบการเมืองที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ แต่ก็ได้รับแรงกดดันจากนานาชาติ ทำให้จีนเองอาจใช้กรณีพิพาทแนวพรมแดนอินเดีย ลดแรงกดดันดังกล่าวได้บ้าง

สำหรับอินเดียนั้น รัฐบาลโมดีกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความสามารถในการควบคุมและแก้ปัญหาโรคระบาดจนทำให้ปัจจุบันอินเดียมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการล็อกดาวน์โดยไม่มีมาตรการควบคุมและเยียวยาที่ดี ทำให้ชาวบ้านเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก

การปะทะครั้งล่าสุดอาจช่วยลดความกดดันของรัฐบาลโมดีต่อปัญหาการจัดการโรคระบาดลงพอสมควร สังเกตได้จากทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่เปลี่ยนมาหยิบยกประเด็นความขัดแย้งกับจีนมากขึ้น โดยคนอินเดียกำลังลุกฮือต่อต้านสินค้าจีน

กระแสชาตินิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นของทั้งสองประเทศมีอิทธิพลต่อปัญหาความขัดแย้งด้วยเช่นกัน รัฐบาลทั้งสองชาติคือผู้มีส่วนได้เสียกับกระแสชาตินิยมโดยตรง ปัญหาของกระแสชาตินิยมก็คือสร้างความลำบากให้กับการหาทางออกโดยสันติวิธี แต่ข้อดีของกระแสชาตินิยมก็คือ รัฐบาลจะได้รับเสียงสนับสนุนหากมีนโยบายที่ถูกใจมวลชน และหลายๆ ครั้งรัฐบาลก็เป็นผู้ปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อกลบกระแสความไม่พอใจต่อผลงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงที่มีคะแนนนิยมตกต่ำหรือช่วงที่ใกล้เลือกตั้ง

รัฐบาลโมดีใช้กระแสชาตินิยมฮินดูมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยกความขัดแย้งกับปากีสถานมาเป็นประเด็นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด การยกเลิกมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญอินเดียที่ให้สิทธิพิเศษแก่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ หรือการประกาศเคอร์ฟิวในแคชเมียร์กว่า 10 เดือน และการเมินเฉยต่อข้อพิพาททางศาสนาในอินเดีย เป็นต้น

 

 



2. ปัจจัยระหว่างประเทศ: สหรัฐฯ ในความสัมพันธ์จีน-อินเดีย และสงครามเย็นรอบใหม่
จีนเองกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาทั้งเรื่องสงครามการค้า เรื่องฮ่องกง ไต้หวัน จนมาถึงเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ท่ามกลางสิ่งที่หลายคนกำลังจับตาว่าจะเกิดสงครามเย็นรอบใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกานั้น อินเดียมีนโยบายในช่วงหลังที่เป็นพันธมิตรในลักษณะที่พึ่งพาสหรัฐฯ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อพิพาทกับปากีสถาน ปัญหาแคชเมียร์ ปัญหากับจีน และปัญหาในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอินเดียแก้ปัญหาโดยเข้าร่วมกับสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific strategy) เพื่อตอบโต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่และปิดล้อมจีนทางใต้ ความกดดันนี้ทำให้ความขัดแย้งกับจีนที่มีอยู่เดิมอาจลุกลามกลายเป็นการใช้ความรุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบางประการที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียรอบล่าสุดมีแนวโน้มคลี่คลายมากกว่าการลุกลามเป็นสงครามระหว่างกัน

การที่ทั้งจีนและอินเดียต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญ จีนคือคู่ค้าอันดับ 2 ของอินเดียรองจากสหรัฐฯ ในขณะที่อินเดียคือคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 11 ของจีน มีมูลค่าการค้ารวมในปี 2017 กว่า 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นการยากที่ทั้งสองประเทศจะใช้กำลังทหารทำสงครามเต็มรูปแบบ เพราะจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อกันอย่างมหาศาล

 

 



3. การช่วงชิงสถานะนำในภูมิภาคเอเชียใต้และพื้นที่พิพาทอินเดีย-จีน
ที่ผ่านมาอินเดียตกอยู่ท่ามกลางความกดดันจากจีน อันเป็นผลจากยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ซึ่งพาดผ่านภูมิภาคเอเชียใต้ที่อินเดียถือตนว่าเป็นมหาอำนาจอยู่ อำนาจทางเศรษฐกิจของจีนได้ทำให้หลายชาติในเอเชียใต้ยอมรับจีนในฐานะพันธมิตรทางการค้าและการเมือง

นอกจากนี้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ยังกระทบกับปัญหาระหว่างอินเดียกับปากีสถานเดิม เพราะทำให้ปากีสถานจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้อำนาจทางการเมืองและการทหารเพิ่มมากขึ้น ผู้นำพรรครัฐบาลหลายคนอ้างว่าระเบียงเศรษฐกิจปากีสถาน-จีน ซึ่งมีการสร้างถนน ทางรถไฟ และระบบขนส่งทางท่อผ่านดินแดนปกครองตนเองกิลกิต-บัลติสถาน ในตอนเหนือของปากีสถานนั้นสร้างบนพื้นที่พิพาทอินเดีย-ปากีสถาน ตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติปี 1947

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของอินเดียในเรื่องแคชเมียร์และการเพิ่มอำนาจของรัฐบาลกลางโดยแยกแคว้นลดาขออกจากจัมมูและแคชเมียร์ แล้วเปลี่ยนสถานะเป็นดินแดนสหภาพ (Union Territory) ที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง กระทบต่อความมั่นคงของจีน เพราะเท่ากับรัฐบาลกลางมีอำนาจในการแก้ปัญหาแคชเมียร์อย่างเบ็ดเสร็จ อำนาจของอินเดียที่เพิ่มขึ้นในดินแดนข้อพิพาทกับจีน ไม่อาจทำให้จีนนิ่งเฉยได้ นอกจากนั้นอินเดียเองก็มีนโยบายชัดเจนในการเปลี่ยนสถานภาพเดิมที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนที่ใหม่ การสร้างถนนใกล้เส้น LAC และการช่วงชิงสถานะผู้นำทางภูมิรัฐศาสตร์เหนือพื้นที่พิพาทคือปัญหาใหญ่ระหว่างอินเดียกับจีน

รัฐบาลโมดีและอินเดีย: ประโยชน์และโอกาสในวิกฤตที่สุ่มเสี่ยง
ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ปะทะกันที่หุบเขากัลวาน และความโกรธแค้นในกระแสชาตินิยมของทั้งสองประเทศ อาจผลักดันให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

แต่กระนั้นหากมองจากสถานการณ์ของรัฐบาลโมดีและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของอินเดีย นอกจากสถานการณ์ความขัดแย้งกับจีนจะชิงพื้นที่ข่าวหรือความสนใจของมวลชนคนอินเดียจำนวนไม่น้อย แทนที่จะไปวิจารณ์รัฐบาลโมดีเกี่ยวกับมาตรการจัดการโควิด-19 ในอีกด้านหนึ่งกระแสชาตินิยมในอินเดียที่กระพือความโกรธแค้นสู่การเรียกร้องให้คว่ำบาตรสินค้าจีน ยกเลิกการค้าขายการลงทุนกับจีน รวมไปถึงยกเลิกข้อตกลงทางธุรกิจระหว่างประเทศด้วย

การรณรงค์แบบนี้สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องของกลุ่มชาตินิยมที่ต้องการให้คว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากจีน เพราะหลายปีที่ผ่านมาสินค้าจีนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอินเดียเนื่องจากราคาถูก แม้แต่ในเทศกาลสำคัญๆ ของอินเดียอย่างดิวาลี (Diwali) สินค้าตกแต่งบ้านหรืออื่นๆ จำนวนมากก็เป็นสินค้านำเข้าจากจีน

อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดุลการค้าและการปกป้องสินค้าภายในประเทศ ซึ่งอาจเห็นได้จากนโยบายเศรษฐกิจหลายเรื่องที่จะทำให้อินเดียอาจเสียเปรียบทางการค้า โดยเฉพาะกับจีน เช่น กรณีที่อินเดียยังไม่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ดังนั้น การปะทะกันครั้งนี้ บวกกับกระแสชาตินิยมในอินเดีย จึงอาจส่งผลทางเศรษฐกิจในลักษณะที่อินเดียใช้เป็นโอกาสในการลดหรือชะลอการนำเข้าสินค้าและการลงทุนจากจีนได้ หากรัฐบาลโมดีผลักดันประเด็นนี้ นอกจากเขาจะตอบสนองต่อฐานเสียงของกลุ่มชาตินิยมซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของเขาแล้ว ยังได้โอกาสควบคุมสินค้าจากจีนด้วย

แนวโน้มความเป็นไปได้ของสถานการณ์ในอนาคตและสงครามจีน-อินเดียครั้งใหม่
หากมองจากประสบการณ์ของการปะทะและเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับอินเดียในอดีต อาจนำมาสู่การสร้างฉากทัศน์ของแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งได้อย่างน้อยใน 3 ลักษณะ ทั้งในเชิงลบที่อาจหมายถึงการยกระดับความขัดแย้งสู่วิกฤตที่ตึงเครียดและอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันหนักขึ้น หรือถึงขั้นทำสงครามกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งหากมองในเชิงบวก สถานการณ์อาจคลายตัวผ่านการเจรจาและไม่บานปลาย แม้ข้อพิพาทยังคงจะดำเนินต่อไป ซึ่งฉากทัศน์ต่างๆ ที่กล่าวมาอาจสรุปได้ดังนี้

1. การเผชิญหน้ากันในลักษณะสงครามเต็มรูปแบบ: ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้
หากมองจากบริบทในปัจจุบัน แม้สงครามระหว่างจีนกับอินเดียคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ หรือสถานการณ์น่าจะลงเอยได้ด้วยการเจรจาระหว่างกันมากกว่า แต่ตราบใดที่ข้อพิพาทเรื่องดินแดนยังคงไม่ได้รับการแก้ไขและไม่มีความชัดเจน การเผชิญหน้ากันก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูง กระแสชาตินิยมอาจชักพาให้จีนกับอินเดียเข้าสู่สงครามที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น

เหตุปะทะที่กัลวานครั้งนี้มีส่วนคล้ายกับเหตุการณ์รุนแรงในทศวรรษ 1950 อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเรื่องพรมแดน ในเดือนตุลาคม 1959 อินเดียเชื่อว่าทหารจีนได้ซุ่มโจมตีคนอินเดียในเขตลดาข และทำให้มีคนเสียชีวิต 16 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นจุดกระแสความไม่พอใจให้กับชาวอินเดียจำนวนมาก นำไปสู่การประท้วงในวงกว้าง มีการเรียกร้องกดดันให้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน แม้จะมีการเจรจากันระดับผู้นำหลายครั้งเพื่อคลี่คลายปัญหา แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ความรู้สึกชาตินิยมที่รุนแรงของสังคมทำให้การเจรจาหาทางออกไม่คืบหน้า ยิ่งไปกว่านั้นต่างฝ่ายต่างยังอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาท และกล่าวหาอีกฝ่ายว่ารุกล้ำพรมแดน ท้ายที่สุดนำไปสู่สงครามในปี 1962 ดังนั้นการปะทะและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ประกอบกับกระแสชาตินิยมที่ลุกโชน อาจเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจวางใจได้ว่าจะไม่เกิดสงครามในอนาคต แม้บริบทในปัจจุบันจะต่างไปจากอดีตก็ตาม

2. สถานการณ์คลี่คลาย ขัดแย้งแต่ไม่บานปลาย ทะเลาะไปเจรจาไป
หากมองในอีกด้านหนึ่ง เหตุปะทะที่กัลวานครั้งนี้อาจคล้ายกับการปะทะครั้งย่อยๆ หรือเหตุปะทะเผชิญหน้าหลังสงครามปี 1962 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นในปี 1967, 1975, 1987 และ 2017 เป็นต้น โดยการปะทะเหล่านี้ไม่ได้บานปลายกลายไปเป็นสงคราม และไม่ได้นำไปสู่การกระตุ้นกระแสชาตินิยมมากนัก (แต่ครั้งนี้อาจต่างออกไปเพราะแนวนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลโมดี) มีการเจรจาตกลงกันอยู่เรื่อยๆ แม้หาข้อสรุปเรื่องพรมแดนไม่ได้ แต่ทั้งสองฝ่ายก็พยายามหามาตรการลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากัน

ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าในเหตุปะทะขัดแย้งหลังสงครามปี 1962 เป็นต้นมา จีนและอินเดียเริ่มประสบความสำเร็จในการทดลองนิวเคลียร์ของตัวเองแล้วในทศวรรษ 60 และ 70 ตามลำดับ ทำให้เกิดดุลอำนาจที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการหลีกเลี่ยงทฤษฎีเกมลบของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นสถานการณ์จากนี้ไปอาจไม่ต่างจากที่ผ่านมานัก กล่าวคือขัดแย้งกันไป เจรจากันไป แข่งขันกันไป และร่วมมือกันในบางเรื่องโดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญๆ

นอกจากนี้อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันและอนาคตระยะใกล้ ทั้งจีนและอินเดียไม่มีความพร้อมและไม่มีเหตุจำเป็นที่จะยกระดับความขัดแย้งในเวลานี้ จีนเองกำลังเผชิญปัญหากับกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อยู่ และจีนเองก็กำลังเผชิญกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 และแรงกดดันจากนานาชาติ ดังนั้นการยกระดับความขัดแย้งกับอินเดียจนกระทั่งทำสงครามกันคงเกิดขึ้นได้ยาก

ในส่วนของอินเดียเองก็เจ็บตัวจากโรคระบาดโควิด-19 เช่นกัน แม้ความขัดแย้งกับจีนจะสามารถลดแรงกดดันจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความล้มเหลวในหลายๆ ด้านของรัฐบาลโมดี แต่การยกระดับความขัดแย้งจนเกิดสงครามกับจีนไม่น่าจะเป็นทางออกเช่นกัน เมื่อพิจารณาขีดความสามารถทางด้านการทหารของทั้งสองประเทศพบว่า จีนมีขีดความสามารถเหนือกว่าอินเดียแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกำลังพล งบประมาณกองทัพ และอาวุธยุทโธปกรณ์ ดังนั้นการทำสงครามกันโดยตรงระหว่างสองชาติคงเป็นไปได้ยาก หากมีสงครามขึ้นจริงๆ อินเดียที่มีขีดความสามารถด้านการทหารน้อยกว่าจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากชาติพันธมิตรจึงจะมีโอกาสเป็นผู้ชนะได้ ไม่เช่นนั้นก็จะมีจุดจบไม่ต่างจากปี 1962

3. อินเดียที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อต้านอิทธิพลของจีน
เหตุปะทะครั้งนี้ ประกอบกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในเวทีโลกและในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะในมหาสมุทรอินเดียผ่านทางโครงการเส้นทางสายไหมนั้น จะยิ่งเป็นแรงส่งให้อินเดียไปใกล้ชิดและพึ่งพาสหรัฐฯ มากขึ้น ในขณะเดียวกันอินเดียอาจยกระดับความร่วมมือในลักษณะพันธมิตรทางทหารกับกลุ่มประเทศที่มีปัญหากับจีน อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย หรือกลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) ที่มีการฝึกซ้อมปฏิบัติการทางทหารร่วมกันในหลายพื้นที่ รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงร่วมกันเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนทั้งในทางการทหารและในด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ

ทั้งนี้หากเกิดสงครามเย็นรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอีกครั้ง ประเด็นที่น่าสนใจคืออินเดียจะยังคงดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดได้อย่างไรในบริบทความขัดแย้งใหม่นี้ เพราะหนึ่งในหลักการสำคัญของนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่อินเดียเป็นผู้ร่วมริเริ่มในยุคสงครามเย็น คือการไม่เข้าร่วมพันธมิตรทางทหารในลักษณะที่จะทำให้อินเดียเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของอินเดียในบริบทการเมืองโลกปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองมาก

โดยสรุปความขัดแย้งครั้งล่าสุดระหว่างจีนกับอินเดีย เป็นความขัดแย้งที่มีพัฒนาการต่อเนื่องจากในอดีต ซึ่งมีใจกลางความขัดแย้งคือพื้นที่พิพาทและเส้นแบ่งเขตแดนที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยมีตัวเร่งปัญหาความขัดแย้งคือการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์เหนือพื้นที่พิพาทและในภูมิภาคเอเชียใต้ ความขัดแย้งนี้มีแนวโน้มตึงเครียดต่อไป แต่อาจจะไม่ถึงกับใช้กำลังทหารทำสงครามเต็มรูปแบบต่อกัน หากไม่มีเงื่อนไขใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มของการใช้เครื่องมือด้านการทูตและการเจรจาระดับรัฐบาลเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน ในอีกด้านของความขัดแย้งกับจีนครั้งนี้ อาจกระตุ้นให้อินเดียแสดงบทบาทมากขึ้นในเวทีการเมืองโลกร่วมกับสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ เพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ช่องแคบมะละกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรอินเดีย และเอเชียใต้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Investopodia. (18 March 2020). The Top 20 Economies in the World. Retrieved 22 June 2020, from https://www.investopedia.com/insights/worlds-top-economies/
  • The Diplomat. (17 June 2020). Blood Spilled on the China-India Border. Retrieved 22 June 2020, from https://thediplomat.com/2020/06/blood-spilled-on-the-china-india- border/
  • The Diplomat. (18 June 2020). Line of Actual Control: Where it is located, and where India and China differ. Retrieved 22 June 2020, from https://indianexpress.com/article/explained/line-of-actual-control-where-it-is-located- and-where-india-and-china-differ-6436436/
  • Vox News. (16 June 2020). India and China just had their deadliest clash since the 1960s. Retrieved 22 June 2020, from https://www.vox.com/2020/6/16/21293158/india- china-border-fight-dead-army
  • The Diplomat. (17 June 2020). Blood Spilled on the China-India Border. Retrieved 22 June 2020, from https://thediplomat.com/2020/06/blood-spilled-on-the-china-india- border/
  • India Today. (29 May 2020). Exclusive: Old Chinese maps show Aksai Chin as part of Ladakh. Retrieved 22 June 2020, from https://www.indiatoday.in/india/story/aksai- chin-ladakh-old-chinese-maps-india-china-border-dispute-1683315-2020-05-29
  • The Economic Times. (27 April 2020). China removes BRI map that showed Arunachal & J&K part of India. Retrieved 22 June 2020, from https://economictimes.indiatimes.com/news/defence/china-removes-bri-map-that- showed-arunachal-jk-part-of-india/articleshow/69070354.cms?from=mdr
  • India Express. (24 May 2020). Chinese intrusions at 3 places in Ladakh, Army chief takes stock. Retrieved 22 June 2020, from https://indianexpress.com/article/india/m-m- naravane-army-chief-line-of-actual-control-lac-chinese-transgressions-6424478/
  • Business Today. (27 May 2020). China starts construction activities near Pangong Lake amid border tensions with India. Retrieved , from https://www.businesstoday.in/current/economy-politics/china-starts-construction- activities-near-pangong-lake-amid-border-tensions-with-india/story/405114.html
  • The Economist . (19 October 2016) Why some Indians want to boycott Chinese goods. Rrtrieved, from https://www.economist.com/the-economist-explains/2016/10/19/why-some-indians-want-to-boycott-chinese-goods
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising