×

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสิทธิมนุษยชน 2566/67 ชี้โลกกำลังเผชิญผลกระทบจากความขัดแย้ง

24.04.2024
  • LOADING...

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566/67 ที่รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2566 โดยให้ภาพรวมเรื่องสิทธิมนุษยชนใน 5 ภูมิภาค และ 155 ประเทศทั่วโลก เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่น่ากลัวจากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกือบจะล่มสลาย พร้อมฉายภาพให้เห็นความน่ากังวลของการปราบปรามสิทธิมนุษยชน และการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมระดับโลกที่หยั่งรากลึกมากขึ้น

 

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปี 2566 ว่าเป็น ‘ปีแห่งความขัดแย้ง’ และไม่มีท่าทีว่าจะลดทอนความรุนแรงลง แม้หลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าการก่ออาชญากรรมสงครามยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พลเรือนต่างต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่รัฐต่างๆ ยังคงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

 

“การเพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอลส่งผลเลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากพันธมิตรของอิสราเอลไม่สามารถยุติการนองเลือดของพลเรือนที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาได้…นอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว เรายังได้เห็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นในซูดาน, เอธิโอเปีย และเมียนมา ระเบียบโลกที่มีอยู่บนพื้นฐานหลักเกณฑ์ตอนนี้เสี่ยงถูกทำลายจนหมดสิ้น”

 

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังมีหลายประเด็นน่าห่วงใย สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ, สิทธิเด็ก, สิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, สิทธิความเป็นส่วนตัว, การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ รวมถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย, สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง, สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และการลอยนวลพ้นผิด

 

“เด็กหลายร้อยคนยังคงถูกพิจารณาคดีหรือถูกดำเนินคดีอาญาจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบอื่น แม้จะมีกฎหมายใหม่เอาผิดกับการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย แต่ยังไม่ส่งผลให้เกิดการรับผิดรับชอบที่มีประสิทธิภาพ

 

ปัจจุบันรัฐบาลยังเลือกปราบปรามกลุ่มคนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองและสังคม ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนปี 2566 พบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 1,938 คน ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ปี 2563 ในจำนวนนี้มี 1,469 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมสาธารณะระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19

 

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเสริมว่า ‘เทคโนโลยี AI หรือโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์’ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ทุกคนเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานทหาร, หน่วยงานการเมือง และบรรษัทหลายประเทศทั่วโลก นำเทคโนโลยี AI มาใช้โดยปราศจากกฎหมายกำกับดูแล หรือมีการใช้สปายแวร์และเครื่องมือสอดแนมโจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคม, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้สื่อข่าว สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในการควบคุมเรื่องนี้ จนทำให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติ, ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน, ปลุกปั่นเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ, สร้างความแตกแยกในสังคม และยังพบว่ารัฐบาลในหลายประเทศใช้เครื่องมือนี้กับกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบมากที่สุดในสังคม

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องประเด็นสิทธิมนุษยชนถึงทางการไทย 8 ข้อ ได้แก่ ประเด็นสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ, สิทธิเด็กและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, สิทธิความเป็นส่วนตัว, การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ, การบังคับบุคคลให้สูญหาย, สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง, สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และการลอยนวลพ้นผิด

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบรายงาน พร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมี อานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบข้อเสนอแนะและรายงานฉบับดังกล่าว

 

ภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

อ้างอิง:

  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising