×

‘ให้มันจบที่ปีนี้’ รู้จัก ‘ชิคุนกุนยา’ โรคระบาดที่วนกลับมาทุกสิบปี และวิธีป้องกัน

17.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘ชิคุนกุนยา’ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการตรงกับชื่อโรคในภาษาไทยว่า ‘ไข้ปวดข้อยุงลาย’ คือมีอาการไข้ + อาการปวดหลายข้อ มักปวดเหมือนกันทั้งข้างซ้ายและขวา เช่น ปวดข้อนิ้วเท้าและข้อเท้าสองข้างจนเดินลงน้ำหนักไม่ได้ ต่อมาอาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ทำให้หลายคนคิดว่าออกหัด 
  • การป้องกันโรคจะต้องป้องกันตัวไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง ส่วนการควบคุมโรคก็ต้องจัดการ ‘แม่ยุง’ ที่มีเชื้ออยู่ในตัว ด้วยการฉีดสเปรย์กำจัดยุงในบ้าน พ่นหมอกควัน หรือ ULV ในรัศมี 100 เมตรจากบ้านของผู้ป่วย และถ้ามีสวนหรือป่า ต้องพ่นเข้าไปให้ลึกที่สุด เพราะยุงลายสวนบินได้ไกลกว่า และจัดการ ‘ลูกน้ำ’ ตามภาชนะที่มีน้ำขังด้วยการคว่ำภาชนะ เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์
  • โรคชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลาย ต่างจากไข้เลือดออกตรงที่ป่วยแล้วไม่รุนแรงถึง ‘ชีวิต’ ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคถูกละเลยจากทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่โรคนี้ป่วยแล้วอาจรุนแรงถึง ‘รายได้’ เพราะอาการปวดข้อมัก ‘ปวดมากจนต้องคลานเข้าห้องน้ำ’ ผู้ป่วยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน ทำให้ต้องขาดงานหลายวัน

ในระหว่างที่เรา ‘ตั้งการ์ด’ สู้กับโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการล้างมือ แม้โรคติดเชื้อที่ติดต่อผ่านละอองสารคัดหลั่งเหมือนกัน เช่น ไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน แต่ทว่าโรคที่ติดต่อผ่านช่องทางอื่น เช่น ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลาย กลับตรงกันข้าม คือมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์

 

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมก็เพิ่งเดินทางไปสอบสวนโรคชิคุนกุนยาที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ที่นั่นมีผู้ป่วยรวมมากกว่า 500 รายแล้ว ถ้าอย่างนั้นโรคนี้คืออะไร และน่ากลัวแค่ไหน บทความนี้มีคำตอบ 

 

 

โรคชิคุนกุนยาคือโรคอะไร

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินชื่อโรคนี้มาก่อน ‘ชิคุนกุนยา’ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการตรงกับชื่อโรคในภาษาไทยว่า ‘ไข้ปวดข้อยุงลาย’ คือมีอาการไข้ + อาการปวดหลายข้อ มักปวดเหมือนกันทั้งข้างซ้ายและขวา เช่น ปวดข้อนิ้วเท้าและข้อเท้าสองข้างจนเดินลงน้ำหนักไม่ได้ ต่อมาอาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ทำให้หลายคนคิดว่าออกหัด 

 

ถ้าเปรียบเทียบกับ ‘ไข้เลือดออก’ ที่เราคุ้นเคยกัน จะมีความคล้ายกัน 3 อย่าง ได้แก่ 

 

  1. อาการไข้สูง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะเหมือนกัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถแยกสองโรคนี้ได้ จนกว่าจะเลยวันที่ 3 ของไข้เป็นต้นไป ซึ่งหากเจาะเลือด ระดับเกล็ดเลือดมักจะไม่ต่ำ ในขณะที่ไข้เลือดออกจะมีเกล็ดเลือดต่ำ (เป็นสาเหตุของเลือดออกได้)

 

  1. ไม่มียารักษาเฉพาะ ทั้งชิคุนกุนยาและไข้เลือดออกไม่มียารักษาเฉพาะ ดังนั้นแพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ยาพาราเซตามอลลดไข้ ยาทาลดอาการคัน แต่ไม่ควรซื้อยาแก้ปวด แก้ยอก หรือยาแก้อักเสบรับประทานเอง เพราะสองโรคนี้มีอาการคล้ายกัน หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดออกมากขึ้น

 

รวมถึงยาฉีดที่คลินิกด้วย หลายคนมีความคิดว่าถ้าป่วยแล้วจะต้องฉีดยาถึงจะหาย จึงไปคลินิกเพื่อขอให้ฉีดยาให้ แต่สองโรคนี้การฉีดยาไม่ได้ช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น (เพราะไม่มียารักษาเฉพาะ) ส่วนยาฉีดแก้ปวด เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็จะกลับมาปวดอีก จนกว่าอาการของโรคจะหายไปเองตามธรรมชาติ ยิ่งถ้าเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

 

  1. ติดต่อผ่านยุงลาย ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน ซึ่งออกหากินเวลากลางวัน โดยเมื่อยุงลายกัดคนที่กำลังป่วยอยู่ เชื้อจะเพิ่มจำนวนในยุงก่อนประมาณ 7 วัน ถึงจะแพร่เชื้อให้กับอีกคนที่โดนกัดต่อมาได้ จากนั้นอีก 3-7 วัน คนนั้นก็จะเริ่มมีอาการไข้ + ปวดข้อ = แหล่งโรคชิคุนกุนยาคนต่อไป ถ้ามียุงลายมากัดช่วงที่มีอาการ

 

ดังนั้นการป้องกันโรคจะต้องป้องกันตัวไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง ส่วนการควบคุมโรคก็ต้องจัดการ ‘แม่ยุง’ ที่มีเชื้ออยู่ในตัวด้วยการฉีดสเปรย์กำจัดยุงในบ้าน พ่นหมอกควัน หรือ ULV ในรัศมี 100 เมตรจากบ้านของผู้ป่วย (เท่ากับระยะบินของยุงลายบ้าน) และถ้ามีสวนหรือป่า ต้องพ่นเข้าไปให้ลึกที่สุด เพราะยุงลายสวนบินได้ไกลกว่า

 

และจัดการ ‘ลูกน้ำ’ ตามภาชนะที่มีน้ำขังด้วยการคว่ำภาชนะ เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ (เพราะเมื่อยุงลายวางไข่ จะใช้เวลา 3-7 วันกลายเป็นลูกน้ำ) หรือใส่ทรายทีมีฟอส (ทรายอะเบท) ทั้งนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในชุมชน เพราะยุงสามารถบินข้ามรั้วบ้านหรือข้ามจังหวัดได้ และคนป่วยก็เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกเช่นกัน

 

 

สถานการณ์โรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย

การระบาดของโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย 3 รอบล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2538 ตามมาด้วยปี 2551 และรอบนี้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปี 2561 จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ชิคุนกุนยาจะระบาดทุก 10 ปี แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยการระบาด 2 รอบหลังเริ่มต้นจากช่วงปลายปี และมีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดทางภาคใต้ขึ้นมาจนกระจายทั่วประเทศ

ตั้งแต่ต้นปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมเกือบ 6 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2563) โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จังหวัดที่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี อุทัยธานี และลำพูน เท่ากับว่ามีพื้นที่ยังระบาดอยู่เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ที่ระบาดหนักไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา 

 

ในฤดูฝนมีฝนตกต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะที่วางอยู่นอกตัวบ้านที่ไม่มีฝาปิด เช่น โอ่ง เศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ขวด กระป๋อง ยางรถยนต์ รวมถึงรอยแตกของเปลือกไม้และกาบใบพืชที่มีน้ำขังในสวน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งชอบน้ำนิ่ง น้ำใส ไม่เน่าเสีย เป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดทั้งชิคุนกุนยาและไข้เลือดออกในช่วงนี้

 

 

การเฝ้าระวังโรคนอกโรงพยาบาล

เมื่อเรารู้แล้วว่าโรคนี้เป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร และจะป้องกันโรคได้อย่างไร คงจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงยังไม่สามารถควบคุมโรคได้? 

 

คำตอบหนึ่งคือความร่วมมือของทุกคนในชุมชนยังไม่เต็มที่ โดยจะต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ภายในบ้านตั้งแต่ก่อนฤดูฝน และเมื่อเกิดการระบาดแล้วก็จะต้องทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ 

 

อีกคำตอบหนึ่งที่ผมได้จากการสอบสวนโรคคือ ผู้ป่วยอยู่นอก ‘ระบบเฝ้าระวังโรค’ เนื่องจากอาการของโรคไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงซื้อยารับประทานเองจากร้านขายยา หรือไปรักษาที่คลินิก ทำให้ไม่มีการรายงานผู้ป่วยเข้าสู่ระบบที่จะนำไปสู่การสอบสวนควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่ ซึ่งปกติจะเป็นระบบที่ตั้งรับในโรงพยาบาลของรัฐเป็นหลัก และทำให้จำนวนผู้ป่วยบนแผนที่ข้างต้นต่ำกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงด้วย 

 

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ‘กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว’ (กว่าเจ้าหน้าที่จะรู้ว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่ ก็ระบาดไปทั้งหมู่บ้านแล้ว) ผู้ที่มีอาการไข้ปวดข้อ หรือไปคลินิกแล้วแพทย์แจ้งว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา ควรกลับมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (สถานีอนามัย) ใกล้บ้าน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ข้างบ้าน

ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขในอำเภอหรือจังหวัด ควรตั้งระบบเฝ้าระวังโรคที่ร้านขายยาและคลินิก โดยขอความร่วมมือให้เจ้าของรายงานผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาเข้าระบบทุกวัน เพื่อจะได้ควบคุมโรคได้ทันเวลา ส่วนในระยะยาวจะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมให้ทุกสถานพยาบาลรายงานโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายได้สะดวกมากขึ้น 

 

 

โรคชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลายต่างจากไข้เลือดออกตรงที่ป่วยแล้วไม่รุนแรงถึง ‘ชีวิต’ ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคถูกละเลยจากทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่โรคนี้ป่วยแล้วอาจรุนแรงถึง ‘รายได้’ เพราะอาการปวดข้อมัก ‘ปวดมากจนต้องคลานเข้าห้องน้ำ’ ผู้ป่วยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันทำให้ต้องขาดงานหลายวัน

 

อีกทั้งอาการปวดข้ออาจเป็นอยู่นานหลายเดือนถึงแม้จะหายจากไข้แล้วก็ตาม ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ป่วยท่านหนึ่งระหว่างการลงพื้นที่ว่าเขาเปลี่ยนคลินิก เสียค่ายาฉีดหลายเข็มแล้วก็ยังไม่หายปวด รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมาก ทั้งที่เป็นมาเกินหนึ่งเดือนแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องช่วยกัน ‘ให้มันจบที่ปีนี้’ อย่าให้มีชิคุนกุนยาระบาดต่ออีกเลย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising