×

เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนควรปรับตัวอย่างไร

03.10.2022
  • LOADING...
เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขปรับลดมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิดจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ ซึ่งประกาศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศดีขึ้น กล่าวคือแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง และความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้มา 2 ปีครึ่ง และยุบศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตามไปด้วย

 

หลายท่านน่าจะสงสัยว่า ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ คืออะไร มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิดที่เปลี่ยนแปลงไปมีอะไรบ้าง ประชาชนควรปรับตัวอย่างไร และในอนาคตโควิดจะกลับมาระบาดอีกหรือเปล่า THE STANDARD รวบรวมคำตอบไว้ในบทความนี้

 

‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ คืออะไร

 

ก่อนหน้านี้บางท่านคงเคยได้ยินคำที่ใช้เรียกการระบาดของโรค 3 ระดับ ได้แก่ การระบาดใหญ่ (Pandemic) โรคประจำถิ่น (Endemic) และโรคระบาด (Epidemic) รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อต้นปี 2565 แต่ตามกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จะแบ่งโรคเป็น 3 ประเภท คือ โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคระบาด ซึ่งมีนิยามดังนี้ 

 

  • โรคติดต่ออันตราย หมายถึง โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูง และสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว
  • โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายถึง โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
  • โรคระบาด หมายถึง โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา

 

ดังนั้นการเปลี่ยนประเภทของโรคจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ เป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ จึงไม่ได้แปลว่าการระบาดของโรคนี้สิ้นสุดลงแล้ว แต่หมายความว่าโควิดมีความรุนแรงลดลง (โรคนี้ยังมีความรุนแรงในบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด) และยังคงพบการแพร่โรคอยู่ จึงต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นเหมือนตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา

 

สถานการณ์โควิดในช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

ตามแผนเดิมของกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มระยะ ‘หลังการระบาดใหญ่’ (Post-Pandemic) ซึ่งเปลี่ยนให้โควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเหมือนในขณะนี้ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยคาดการณ์จากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2565 และทยอยผ่อนคลายมาตรการบางส่วน เช่น การกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง การสวมหน้ากาก แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่กำหนดกลับมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 จึงไม่ได้ผ่อนคลายมาตรการทั้งหมดตามแผน

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นมีการผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิงได้ และต่อมามีการปรับมาตรการแยกกักผู้ติดเชื้อจากที่ต้องกักตัว 10 วัน เป็น 7+3 วัน และ 5+5 วัน ตามลำดับ ทว่าสถานการณ์การระบาดในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 ไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา กล่าวคือ 

 

  • จำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล (ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทั้งหมด เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่รักษาที่บ้าน) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 15,262 รายในสัปดาห์ที่ 28 (10-16 กรกฎาคม 2565) เหลือ 4,787 รายในสัปดาห์ที่ 38 (18-24 กันยายน 2565)

 

เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อ

 

  • จำนวนผู้ป่วยโควิดใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นสูงสุดประมาณ 500 รายในเดือนสิงหาคม 2565 น้อยกว่าระลอกก่อนหน้าในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดประมาณ 900 ราย และจากนั้นค่อยๆ ลดลงเหลือต่ำกว่า 300 รายในเดือนที่ผ่านมา 
  • จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มคล้ายกับผู้ป่วยโควิดใส่ท่อช่วยหายใจ ลดลงจาก 165 รายในสัปดาห์ที่ 28 เหลือ 89 รายในสัปดาห์ที่ 38 เฉลี่ยประมาณ 10 รายต่อวัน และเมื่อคำนวณอัตราติดเชื้อ-ตาย (จำนวนผู้เสียชีวิตหารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด) เท่ากับ 0.10% 

 

ปลายเดือนกันยายน 2565 กรมควบคุมโรคสรุปสถานการณ์โควิดว่าแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้งในทวีปเอเชียและทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง หลายประเทศบริหารจัดการโรคโควิดแบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ส่วนในประเทศไทยแนวโน้มผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง แม้เปิดให้มีการทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนปกติแล้ว ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิดแล้ว 91.7% จากทั้งการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ

 

มาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เปลี่ยนแปลงไป

 

มาตรการป้องกันควบคุมโรคอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มาตรการทางกฎหมาย (หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษ) และมาตรการทางการแพทย์ / สาธารณสุข โดยมาตรการทางกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากลดระดับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

  • การแยกกักและกักกันโรค โรคติดต่ออันตรายจะมีกฎหมายบังคับให้ผู้ติดเชื้อแยกกักจนพ้นระยะแพร่เชื้อ และให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักกันจนพ้นระยะฟักตัว หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่สำหรับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะเป็นการขอความร่วมมือ หรือแพทย์จะเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ให้ผู้ป่วยหยุดเรียน / ทำงานแทน
  • การปิดสถานที่เสี่ยง โรคติดต่ออันตรายมีกฎหมายรองรับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพื่อป้องกันการแพร่โรค ในขณะที่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะไม่สามารถทำได้ แต่อาจให้อธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศเป็น ‘โรคระบาด’ ซึ่งจะทำให้สามารถออกคำสั่งได้เหมือนโรคติดต่ออันตราย

 

มาตรการทางการแพทย์ / สาธารณสุข มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

  • การป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขยังคงแนะนำให้สวมหน้ากากเมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ / เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยและสงสัย แต่ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ในประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย (ไม่ต้องตรวจ ATK คัดกรองเป็นประจำแล้ว)
  • การเฝ้าระวังโรค กรมควบคุมโรคปรับการรายงานโรคจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับในรายละเอียดกรมควบคุมโรควางแผนเฝ้าระวังโรคโควิด 4 รูปแบบ ได้แก่ การเฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาล, การเฝ้าระวังแบบคลัสเตอร์, การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงนอกโรงพยาบาล เช่น ตลาด สถานบันเทิง และการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์
  • การควบคุมโรค ผู้มีอาการป่วยควรปฏิบัติตามมาตรการ DMHT คือการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการตรวจ ATK หากตรวจพบเชื้อจะต้องปฏิบัติเช่นนี้เป็นระยะเวลา 5 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ต้องกักตัว แต่ควรสังเกตอาการตนเอง 10 วัน สำหรับการสอบสวนโรคจะดำเนินการในกรณีการระบาดเป็นคลัสเตอร์
  • การรักษา กรมการแพทย์ปรับแนวทางการรักษา โดยในผู้ใหญ่จะใช้ยาต้านไวรัส ‘โมลนูพิราเวียร์’ เป็นหลัก ส่วนยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ จะใช้ในกรณีผู้ป่วยเด็ก หรืออาจใช้ในผู้ใหญ่กลุ่มสีเขียวที่เพิ่งเริ่มมีอาการ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ / ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส ส่วนการรับรักษาในโรงพยาบาลจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก

 

สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษา กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ว่า ผู้ป่วยโควิดยังคงได้รับการรักษา ‘ฟรีตามสิทธิ’ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ เหมือนกับการรักษาโรคอื่น ส่วนกรณีผู้ป่วยสีแดงสามารถรักษาได้ทุกที่โดยใช้สิทธิ UCEP เหมือนกับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งความจริง สปสช. เริ่มปรับหลักเกณฑ์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แล้ว ดังนั้นในเรื่องนี้จึงอาจถือว่าไม่แตกต่างไปจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

 

ประชาชนควรปรับตัวอย่างไร

 

อย่างแรกสุดน่าจะเป็นการรับรู้ความเสี่ยงว่าโควิดยังอยู่ แต่ความรุนแรงลดลง หมายความว่าการแพร่โรคของโรคยังคงเกิดขึ้น และในท้ายที่สุดโควิดน่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่พบผู้ป่วยตลอดทั้งปี และอาจพบการระบาดตามฤดูกาล แต่ความรุนแรงของโรคใน ‘ช่วงนี้’ ลดลงจากช่วง 1-2 ปีที่แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางส่วนไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส ส่วนที่มีอาการรุนแรงมักเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด

 

การประกาศเปลี่ยนประเภทของโรคมาเป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ เหมือนโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ ก็เป็นการปรับการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชนอย่างหนึ่งว่า สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติเหมือนกับช่วงก่อนโควิด แต่คำนี้ก็ยังมีวลี ‘เฝ้าระวัง’ หมายถึงการเตรียมความพร้อม หากปัจจัยด้านไวรัส-คน-สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น ไวรัสกลายพันธุ์ ระดับภูมิคุ้มกันลดลงตามระยะเวลา ฤดูหนาว ก็อาจมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นเราก็คงต้องปรับตัวตามสถานการณ์กันอีกครั้ง

 

อย่างต่อมาคือการปฏิบัติตัว สุขอนามัยส่วนบุคคลที่ปฏิบัติจนเคยชินแล้วสามารถทำต่อไปได้ เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย เพราะป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ได้ด้วย แต่ถ้าจะไม่ทำต่อก็ไม่ผิด เพราะส่วนใหญ่น่าจะยอมรับความเสี่ยงได้ หากเป็นวัยเรียนหรือวัยทำงานและฉีดวัคซีนตามกำหนด ความเสี่ยงนี้ก็อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงคนรอบข้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงด้วย เช่น การไอจามปิดปาก การสวมหน้ากากอนามัยในขนส่งสาธารณะ / โรงพยาบาล เพื่อลดการแพร่เชื้อ

 

เมื่อมีอาการทางเดินหายใจควรปฏิบัติตามมาตรการ DMHT ถึงแม้จะไม่ใช่โควิด แต่ก็อาจเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น การเว้นระยะห่าง (D) การสวมหน้ากากอนามัย (M) และการล้างมือ (H) จะช่วยลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนการตรวจหาเชื้อ (T) ด้วย ATK ควรทำเฉพาะเมื่อมีอาการ หรือเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากได้ เพราะเมื่อตรวจพบเชื้อจะได้แยกตัวจากผู้อื่น ในขณะที่หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ เพราะโรคไม่รุนแรง และถึงแม้จะตรวจพบเชื้อก็ไม่ต้องรับประทานยา

 

อย่างสุดท้ายคือการฉีดวัคซีนตามกำหนด ประชาชนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 2 เข็มและฉีดเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว กล่าวคือเข็มที่ 3 เว้นจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน และเข็มที่ 4 เว้นจากเข็มสุดท้าย 4 เดือน โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ส่วนวัคซีนสำหรับเด็ก เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีน Pfizer สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – ต่ำกว่า 5 ปี (ฝาสีม่วงแดง) ทำให้ปัจจุบันมีวัคซีนครอบคลุมเกือบทุกวัยแล้ว

 

ในอนาคตโควิดจะกลับมาระบาดอีกหรือเปล่า

 

หลังจากประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง กรมควบคุมโรคคาดการณ์การระบาดของโควิดในปี 2565-2566 ว่าอาจพบการระบาดในลักษณะเพิ่มขึ้นและลดลงตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจากภาพประกอบการแถลงข่าว จะสังเกตจำนวนผู้ป่วยโควิดรักษาในโรงพยาบาลรายสัปดาห์อาจเพิ่มขึ้นอีกรอบในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – มกราคม 2566 และเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 ซึ่งตรงกับฤดูหนาวและฤดูฝน นอกจากนี้ การระบาดยังอาจเกี่ยวข้องกับระดับภูมิคุ้มกันของประชากร และฤดูท่องเที่ยวจากต่างประเทศด้วย

 

เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อ

 

ดังนั้นในช่วงดังกล่าวคงต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะระบาดรุนแรงหรือไม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขประเมินความรุนแรงจากอัตราป่วยตาย และอัตราครองเตียง ซึ่งปัจจุบันอัตราป่วยตายน้อยกว่า 0.1% และอัตราครองเตียง 11-24% ถือว่าอยู่ในระดับ ‘สถานการณ์เฝ้าระวัง’ (สีเขียว) หากโรคมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีแผนเปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด / กรมควบคุมโรค / กระทรวงสาธารณสุข / ประเทศ ตามระดับสี และน่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมป้องกันโรคอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

  • พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558: https://ddc.moph.go.th/law.php?law=1
  • สธ. แถลงแผนบริหารจัดการ “โควิด” หลังยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค. นี้: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/179106/
  •  แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 25 วันที่ 29 กันยายน 2565: https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=178
  •  อย. อนุมัติวัคซีนไฟเซอร์ฉีดในกลุ่มเด็ก 6 เดือน – น้อยกว่า 5 ปี: https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2321
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising