×

การเข้าถึงยานวัตกรรม: ความท้าทายเมื่อไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุ

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2023
  • LOADING...

เมื่อพูดถึง ‘สุขภาพ’ เราทุกคนต่างรู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความสำคัญ แต่เมื่อชีวิตเริ่มเติบโต มีภาระงานมากขึ้น สิ่งแรกๆ ที่คนเรามักจะหลงลืมคือการดูแลสุขภาพ

 

เมื่อเราเจ็บป่วย คนส่วนหนึ่งอาจมีกำลังในการดูแลค่าใช้จ่ายเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง แต่บางครั้งและบางโรคเราอาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาที่สูงจนน่าใจหาย ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็มีหน้าที่จะต้องดูแลประชาชนผ่านบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะผ่านโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 20 ปี

 

แต่ระบบสาธารณสุขไทยกำลังถูกท้าทายอย่างหนักด้วยปัจจัยใหม่มากมาย ที่หากไม่ปรับอาจทำให้ระบบนี้ถึงทางตันได้ 

 

ปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุและการดูแลสุขภาพของคนไทยในตอนนี้เป็นอย่างไร เรามีสิทธิเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและยารักษาโรคมากน้อยแค่ไหน จะทำอย่างไรให้ไทยพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้มากขึ้น โดยที่รัฐเองยังสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ หาคำตอบทั้งหมดไปพร้อมกัน

 

‘สุขภาพ’ การลงทุนที่สำคัญสำหรับทุกคนทุกฝ่าย

 

อย่างที่รู้กันดีว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของคนในปัจจุบันใกล้เคียงกับอัตราการเกิด ทำให้ประชากรที่ก้าวเข้าสู่วัยแรงงานน้อยลง 

 

ขณะที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น ภาระการดูแลผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขของกระทรวงการคลังที่มีงบประมาณสำหรับจ่ายเบี้ยผู้สูงวัยหรือเบี้ยยังชีพคนชราเพิ่มขึ้นใกล้ทะลุ 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้กระทรวงการคลังต้องเตรียมขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ

 

ไม่เพียงแค่รัฐเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายของประชากรแต่ละบุคคลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PReMA องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีสมาชิกเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า การเจ็บป่วยทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย และในการเจ็บป่วยช่วง 6 เดือนสุดท้ายของผู้ป่วยหลายรายมีค่าใช้จ่ายเท่ากับการใช้จ่ายทั้งชีวิต

 

ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการที่ทุกคนหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่อายุยังไม่มาก เพื่อป้องกันการเกิดโรค ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น 

 

แม้คนส่วนใหญ่จะตระหนักเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่ด้วยวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีความเร่งรีบและแข่งขันสูง ผู้คนจำนวนมากก็ไม่สามารถปรับวิถีชีวิตตัวเองได้มากนัก นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นโรคยอดฮิตของคนไทยอย่างเบาหวาน ความดัน หรือไขมันในเลือดสูง

 

กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการไม่มากนัก หากได้รับการวินิจฉัยไวและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ สามารถกินยาประคองอาการได้ แต่หลายกรณีเป็นหนักจนเสี่ยงให้เกิดการพิการ 

 

เมื่อป่วยหนักขึ้นพร้อมกับมีอายุมากขึ้นก็มีความจำเป็นจะต้องล้างไต เพราะเป็นโรคที่ส่งผลต่อหลอดเลือด ค่าใช้จ่ายล้างไตในแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท ซึ่งอาจดูไม่แพง แต่ถ้าอาการหนักต้องล้างไตสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แล้วต้องจ่ายแบบนี้ไปตลอดชีวิต จำนวนเงินที่เสียไปก็ดูจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง 

 

ตัวอย่างนี้จึงทำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า จริงๆ แล้วเราจำเป็นต้องกลับมาให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและการลงทุนด้านสุขภาพ ด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการปรับพฤติกรรม

 

เคยมีการศึกษาพฤติกรรมคนไทยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม มักนิยมบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง บางรายก็สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เยอะ และคนไทยจำนวนไม่น้อยใช้เวลามากกว่า 10 ชั่วโมง ในการนั่งอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดที่ว่ามาส่งผลเสี่ยงเกิดโรคด้วยกันทั้งนั้น

 

ประกอบกับข้อมูลจาก รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาสุขภาพโดยรวมของคนไทยว่า ปัจจุบันเรามีตัวเลข Health Span หรือการมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพดีก่อนเสียชีวิตอยู่ประมาณเกือบ 80 ปี และคนไทยจะมีเวลาเฉลี่ย 5 ปี ที่ต้องอยู่กับร่างกายป่วยหนักและทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย ตอกย้ำว่าสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่เพื่อมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องยืนยาวอย่างดีด้วย

 

The Oxford Health Alliance (OxHA) องค์กรเพื่อสุขภาพในอังกฤษ ที่มีจุดหมายหลักคือการลดผลกระทบทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโรคเรื้อรัง เคยเผยแพร่โมเดล 3-4-50 คือการปรับ 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่กระตุ้นการเกิดโรค ทั้งการปรับการกิน การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกัน 4 โรคเรื้อรังอย่างมะเร็ง เบาหวาน โรคปอด และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 50%

 

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นคำแนะนำหรือการรณรงค์ที่ได้ยินบ่อยครั้งและดูทำตามได้ยาก แต่ในทางปฏิบัติสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวได้จริง ลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดโอกาสติดเตียง ลดโอกาสนอนโรงพยาบาลนานๆ และลดค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่จะต้องเสียไปในอนาคต รวมถึงการจัดทำสรุปแผนสวัสดิการสุขภาพหลังเกษียณ เพื่อตรวจสอบว่าเมื่ออายุมากขึ้นจนถึงวัยเกษียณ เรามีสวัสดิการสุขภาพอะไร หรือขาดอะไรอยู่บ้าง

 

ขณะเดียวกัน PReMA มองว่าการลงทุนด้านสุขภาพก็จำเป็นจะต้องเดินคู่ไปกับบริการสาธารณสุขจากภาครัฐ ซึ่งยังเป็นที่พึ่งสำคัญของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และในขณะที่การดูแลให้ไม่ป่วยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เมื่อป่วยแล้วการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและนวัตกรรมทางการแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แม้โรคอาจไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับคนปกติ ด้วยการปรับพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ 

 

นอกจากนี้ สำหรับหลายโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก เราอาจใช้นวัตกรรมทางการแพทย์อย่างวัคซีน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

 

ถึงเวลาที่รัฐบาลจะตัดสินใจใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความเข้าใจ ตรวจสอบวิถีชีวิตและสุขภาพของตนเอง ควบคู่กับการส่งเสริมและจูงใจ เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนทุกคนใช้ประโยชน์เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง

 

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพดูเหมือนจะสูงขึ้นทุกปี แล้วแบบนี้จะทำอย่างไรให้รัฐสามารถนำเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพื่อนำงบประมาณมาลงด้านสวัสดิการสุขภาพและบริการแก่ประชาชน ที่หลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่าตอนนี้ตัวเองมีสิทธิเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขในระบบไหน แล้วสิทธิที่ตัวเองมีอยู่นี้จะช่วยเหลือเราได้มากแค่ไหน 

 

สิทธิการรักษาของคนไทยโดยรัฐ

 

สิทธิด้านการรักษาของคนไทยในการเข้ารับบริการสาธารณสุขจากโรงพยาบาล สถานีอนามัย และสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐให้การคุ้มครอง แบ่งเป็น 3 ระบบใหญ่คือ สิทธิตามสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘บัตรทอง’ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีความแตกต่างกันไป แต่ละสิทธิก็ได้ยารักษาผู้ป่วยไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นโรคหรือมีอาการเดียวกัน 

 

PReMA อธิบายเรื่องนี้ว่า แต่ละระบบมีการบริหารจัดการและการให้บริการสาธารณสุขไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้เข้ารับบริการในแต่ละระบบไม่เหมือนกัน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการอาจดีกว่าอีกสองกลุ่ม เนื่องจากรัฐมีการลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงกว่า เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงและเป็นธรรมให้กับข้าราชการและครอบครัว ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีเงินเดือนค่าตอบแทนที่ไม่สูงเทียบเท่ากับผู้ที่ทำงานระดับเดียวกันในภาคเอกชน

 

สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ทาง PReMA กำลังหาโอกาสในการนำเสนอแนวคิดแนวทางต่างๆ กับทางภาครัฐ ที่จะเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนอย่างไรได้บ้าง ซึ่งจากการพูดคุยเบื้องต้นในหลักการพบว่าเป็นประเด็นที่สองฝ่ายสามารถหารือเพื่อประสานความร่วมมือกันต่อไปได้ในอนาคต 

 

และไม่ใช่แค่การพยายามยกระดับเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมองตรงกันว่าทั้งหมดควรจะดีขึ้นไปพร้อมกัน เห็นได้จากการที่รัฐบาลพยายามยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยนโยบาย 30 บาทพลัส เพื่อให้ผู้ป่วยวอล์กอินด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว

 

ขณะเดียวกันก็เน้นการผลักดันพัฒนาบริการระดับปฐมภูมิ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องไปรอคิวรับยาในโรงพยาบาล แต่สามารถรับยาได้ที่คลินิกใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล  

 

ยังมีการพยายามหาวิธีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตัวอย่างที่อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้นคือการตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV 1 ล้านโดสภายใน 100 วัน หรือแผนการคัดกรองมะเร็งครบวงจรที่ทุกสิทธิสุขภาพสามารถรับชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองได้ที่ร้านขายยา เมื่อตรวจแล้วให้นำกลับมาส่งที่ร้านยานั้นๆ จากนั้นร้านยาจะส่งชุดตรวจไปยังห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลและแจ้งผลกลับให้ประชาชน

 

วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ โดยนายกฯ นั่งเป็นประธาน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ รวมถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญต่อระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการพัฒนาและกลั่นกรองนโยบายสำคัญของระบบสุขภาพแห่งชาติ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี กำกับดูแลความร่วมมือแผนระดับประเทศกับส่วนงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน

 

เวลานี้สวัสดิการที่รัฐมีให้ประชาชนเดินมาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่จะต้องคิดต่อไปคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้สิทธิที่มีอยู่ถูกยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิม ยกระดับให้สวัสดิการประกันสังคมและบัตรทองดีเทียบเท่าสวัสดิการข้าราชการ เมื่อทุกสวัสดิการมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันก็ยกระดับขึ้นอีกไปพร้อมกัน เพื่อทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและยารักษาโรคได้มากขึ้น

 

คนไทยจะต้องเข้าถึงยาได้ดีกว่านี้ 

 

ด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งที่ถึงแม้จะมีสิทธิในการรักษาจากรัฐมักเลือกเดินเข้าคลินิกหรือร้านขายยาแล้วซื้อยากินเองเพื่อบรรเทาอาการ 

 

แต่สำหรับกรณีที่ยาบางประเภทไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา รัฐบาลจะเร่งผลักดันพัฒนานโยบายสาธารณสุข การเพิ่มการเข้าถึงยานวัตกรรม ก็สามารถทำได้โดยการบรรจุยานวัตกรรมเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

บัญชียาหลักแห่งชาติคือรายการยาที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิประกันสุขภาพของภาครัฐสามารถใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถรับยาจากสถานพยาบาลที่ร่วมโครงการประกันสุขภาพภาครัฐ

 

ในประเด็นนี้ PReMA วิเคราะห์ว่า การพัฒนาคิดค้นยาหรือนวัตกรรมทางการแพทย์มีความสำคัญในระดับที่รัฐไม่สามารถมองข้ามได้ ทั้งความจำเป็นเพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข ควบคู่กับการทำทุกอย่างให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี มีความสามารถในการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมทางสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

ตอนนี้ไทยมีการบรรจุยาราคาแพงหลายรายการลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ของ ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ระบุว่า เกณฑ์ความคุ้มค่าที่ใช้ประกอบการพิจารณาการคัดเลือกยาเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติจะเป็นไปตามกลไกบัญชี จ (2) ซึ่งเป็นยาราคาแพง กระทบงบประมาณสูงกว่ายาชนิดอื่นๆ ยาที่จะอยู่ในบัญชีนี้ต้องผ่านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อน และหลายครั้งยาราคาแพงที่ใช้กับโรคที่ไม่ค่อยมีคนป่วยก็มักถูกมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนของรัฐบาล 

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือในวารสารโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า ตอนนี้ไทยยังไม่มีนโยบายชัดเจนสำหรับยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แม้ว่ายาบางตัวอาจเป็นทางเลือกเดียวในการรักษาผู้ป่วย จึงทำให้เกิดการวิจัย เพื่อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายสำหรับพิจารณาใช้ยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าในระบบประกันสุขภาพของไทย

 

ทีมวิจัยมองว่า ยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่า หากเป็นยาที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยและเป็นยาทางเลือกเดียวในการรักษาผู้ป่วย ก็ถือว่ามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงยาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

 

ที่ผ่านมาก็มีผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคมะเร็งเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาเบิกจ่ายยามะเร็งที่มีราคาแพง 43 รายการ แต่มียา 16 รายการที่ไม่เคยถูกเสนอเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติเลย ด้วยเหตุผลว่าไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

 

ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลใหม่ในการพิจารณาสร้างสมดุลระหว่างการทำให้ระบบสุขภาพของประเทศมีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน ไม่เป็นภาระด้านภาษีกับประชาชนมากเกินไป ควบคู่กับการทำให้ผู้ป่วยหนักสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพดี ที่อาจเป็นหนทางเดียวในการช่วยชีวิตเขาเหล่านั้นได้

 

ทางออกเพื่อการเข้าถึงยาและสุขภาพที่ดีถ้วนหน้า

 

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาในประเด็นการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ การพัฒนาสวัสดิการสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคที่มีราคาสูง ง่ายสุดที่สามารถทำตอนนี้ได้เลย คือการนำงานวิจัยจำนวนมากที่ไทยมีอยู่มาปัดฝุ่นใหม่แล้วปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในปัจจุบัน 

 

ด้านการเข้าถึงยาที่ดีขึ้น บางส่วนมองประเด็นนี้ว่าอยากให้มียาราคาแพงเข้ามาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีเกณฑ์พิจารณา 2 ข้อ

 

 

นอกจากนี้เคยมีการหารือกันระหว่างคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งผู้แทนจาก สปสช., คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, หน่วยงานสนับสนุนทุนจากภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แนวทางพิจารณายาราคาแพงในประเทศไทย 

 

  • ยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่า ควรวัดจากประเด็นยาช่วยชีวิต ทางเลือกอื่นในการรักษา ความสามารถในการจ่าย ระบบพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการพิจารณา เพื่อให้กระบวนการและนโยบายมีประสิทธิภาพ

 

  • เสนอให้ สปสช. จัดสรรกองทุนยาราคาแพง หรือบัญชียา จ (3) สำหรับยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าโดยเฉพาะ ด้วยกรอบวงเงินสนับสนุนในช่วง 3 ปีแรก 500 ล้านบาทต่อปี โดยพิจารณาทำเป็นโครงการนำร่อง Sandbox  

 

  • นำข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้ยามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณายาเข้าบัญชียาราคาแพงที่ไม่คุ้มค่า ติดตามและประเมินการใช้ยาอย่างใกล้ชิด ศึกษาผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต

 

PReMA พยายามมองหาทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับประเด็นนี้ ด้วยการเสนอให้มีกองทุนการรักษาโรคแบบแยกเฉพาะ ควบคู่กับการยกกรณีตัวอย่างในต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาและทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ดูจุดเด่น จุดด้อย หรือข้อกังวลที่ต่างประเทศเผชิญ เพื่อหาทางออกร่วมกันว่าสวัสดิการด้านการเข้าถึงยาและการรักษาโรคจะพัฒนาขึ้นได้อย่างไร เช่นในอังกฤษที่มีกองทุนสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่กองทุนนี้จะจัดสรรงบประมาณเพื่อทำให้รัฐมีเงินเพียงพอที่จะซื้อยานวัตกรรม

 

เมื่อมีกองทุนการรักษาโรค ก็จำเป็นต้องเก็บข้อมูลลงทะเบียนผู้ป่วยทั้งหมด เพื่อดูว่าแต่ละรายที่ใช้ยาแต่ละชนิดให้ประสิทธิภาพอย่างไร มีอาการเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งไทยยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลในทำนองนี้อย่างจริงจัง ไม่ได้มีการบันทึกเพื่อดูในระดับภาพรวมของประเทศ เนื่องจากยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในการเก็บข้อมูลผู้ป่วย 

 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเก็บข้อมูลผู้ป่วยแต่ละรายจะอยู่ในเอกสารเป็นส่วนใหญ่ อยู่ในเวชระเบียนตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ แถมข้อมูลจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนก็แยกส่วนกัน ส่งผลให้เวลาจะเรียกดูข้อมูลแต่ละครั้งเป็นไปได้ยากและใช้เวลานาน เพราะข้อมูลบนกระดาษไม่มีการเชื่อมโยงกัน ซึ่งการเชื่อมโยงของข้อมูลคือกระดูกสันหลังของระบบใหญ่ทั้งประเทศ

 

ประเทศของเรากำลังพยายามยกระดับคลังข้อมูลให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เห็นได้จากความพยายามทำระบบบริการต่างๆ ผ่านบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งรัฐต้องเพิ่มการลงทุนด้านระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เพราะการเก็บข้อมูลผู้ป่วยจะทำให้มองเห็นภาพรวม ยิ่งทำได้เร็วเท่าไร รัฐก็จะยิ่งมีข้อมูลจำนวนมากที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจได้มากขึ้น

 

แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล คำถามซึ่งเป็นหลักสำคัญของเรื่องนี้คือ หากจะเพิ่มงบประมาณโดยรัฐเพื่อมาสนับสนุน 3 กองทุนด้านสวัสดิการสุขภาพ จะจัดสรรเพิ่มเติมได้จากไหน

 

ในมุมมองของ PReMA มองว่าสิ่งแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนคือการหันมามองงบประมาณด้านสุขภาพเป็นเรื่องของการลงทุน เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้วมีอาการหนัก ย่อมถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว ยิ่งกว่านั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยจะสามารถคงระดับการใช้จ่ายด้านสุขภาพไว้ได้ ในขณะที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ

 

หลายประเทศที่อยู่ในสภาวะแบบเดียวกันมีทางออกในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไป เช่น รัฐบาลอาจเลือกนำเงินบางส่วนจากภาษีบาป (Sin Tax) หรือภาษีสรรพสามิต ควบคู่กับการกำหนดงบประมาณเฉพาะโรค หรือการส่งเสริมการทำประกันสุขภาพภาคสมัครใจให้มากขึ้น ตลอดจนการมีส่วนร่วมจ่ายของผู้ใช้บริการที่มีความสามารถในการจ่าย หรือ Co-Payment

 

ในส่วนของอุตสาหกรรมยาก็มีแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้บริษัทที่ขายยานวัตกรรมที่มีราคาแพงเข้ามาทำความตกลงกับภาครัฐ เพื่อมีส่วนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านยานวัตกรรมบางส่วนด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทาง PReMA และบริษัทสมาชิกพยายามนำเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ 

 

ที่สุดแล้วผู้มีส่วนได้เสียก็คงจะต้องร่วมกันหาทางออกผ่านมาตรการที่หลากหลายเหล่านี้ให้มีความเหมาะสมที่สุดกับบริบทของสังคมไทยต่อไป

 

ความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพของประชากรในสังคมผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวโน้มประชากรที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนด้วยมาตรการในระยะสั้นได้ 

 

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างโมเดลในการบริหารจัดการกองทุนที่ยั่งยืน ประเด็นด้านสิทธิการรักษา สวัสดิการรัฐ การเข้าถึงยาของประชาชน อาจกลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต และเป็นความท้าทายของหลายประเทศในโลกรวมถึงไทย ที่จะต้องยกระดับและพัฒนาสวัสดิการที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนของตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับการที่ประชาชนจะต้องหันมาให้ความใส่ใจและลงทุนด้านสุขภาพกันมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising