วันนี้ (1 มกราคม) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงงานของกระทรวงที่จะเร่งดำเนินการในปี 2567 ว่า พม. จะจัดสัมมนาเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรในช่วงไตรมาสแรก เพราะถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยในตอนนี้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเกิดประมาณ 400,000 คนต่อปี แต่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 600,000 คนต่อปี หากไม่รับการแก้ไขภายใน 50-60 ปีข้างหน้า ประชากรในประเทศไทยจะลดลงเหลือ 33 ล้านคนเท่านั้น หมายความว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับภาระมากมายในสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ
วราวุธกล่าวว่า ปัญหาทางสังคมและโครงสร้างประชากรของไทยในขณะนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่การส่งเสริมให้มีจำนวนเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้น เพราะเรากำลังมีปัญหาที่ประชาชนกลุ่ม Gen Y หรือกลุ่ม Gen Z ไม่อยากจะมีครอบครัวและไม่อยากมีผู้สืบสกุล ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมผนึกกำลังกันแก้ไขปัญหา และร่วมสร้างสังคมให้มีความอบอุ่น มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ เพื่อทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกถึงความปลอดภัยและความอุ่นใจในการสร้างครอบครัวและมีลูกหลาน
เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ต้องดูฐานะการเงินรัฐบาล
ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องขอให้เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ วราวุธกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุแล้ว และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% ของจำนวนประชากร อยากให้เข้าใจว่ารายได้ของรัฐบาลหรือรายได้ของประเทศมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นเมื่อคนทำงานน้อยลงรายรับก็จะต้องน้อยลง ในทางกลับกันผู้ที่ต้องการใช้สวัสดิการเหล่านี้มีมากขึ้น ก็ต้องดูฐานะทางการเงินของรัฐบาลด้วย เพราะมีทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็กแรกเกิด
“แม้ส่วนตัวจะอยากให้ผู้สูงอายุทุกคนได้เบี้ยยังชีพ 3,000 บาท แต่อยากให้คำนึงถึงรายรับของรัฐบาลด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องกลับไปสู่วังวนการกู้ยืม และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ผมเห็นใจผู้สูงอายุทุกคน และจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อกระจายให้เบี้ยเข้าถึงผู้สูงอายุทุกคน”
คาดการเมืองปี 2567 ดุเดือด ท้าทายความสามารถรัฐบาล
วราวุธกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2567 ว่า คงจะมีเรื่องราวท้าทายรัฐบาลเหมือนกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา และฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายตามสิทธิสามารถทำได้ รวมถึง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาถึง 2 ปีคือ ปี 2567 และ 2568 ในช่วงกลางปีจะเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะบริหารโครงสร้างงบประมาณและปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม แต่ขอยืนยันว่าการทำงานในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นไปด้วยความราบรื่น
วราวุธกล่าวด้วยว่า สถานการณ์การเมืองไม่มีวันไหนไม่ดุเดือด เพียงแต่จะดุเดือดมากหรือน้อยเท่านั้น แต่ประเด็นเรื่องการทำประชามติจะเป็นเรื่องท้าทายสังคม เพราะแต่ละกลุ่มจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไป รวมถึงจะต้องมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และการถามความคิดเห็นของประชาชน