×

อัตราการเกิดน้อย แต่คนโสดพุ่งสูงในรอบ 90 ปี ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของญี่ปุ่นที่อาจเกิดขึ้นที่ไทย

28.02.2024
  • LOADING...

หลายประเทศแถบเอเชียต่างเผชิญวิกฤตอัตราการเกิดที่น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยเอง ยังมีเกาหลีใต้ จีน หรือแม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็เผชิญปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

 

สถานการณ์ดังกล่าวชัดขึ้น เมื่อตัวเลขจำนวนเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นในวันนี้ลดลงเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ วิกฤตนี้กำลังเป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ทุ่มงบประมาณในการดูแลประชากร โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

 

สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า ปี 2023 อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาประชากรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความกังวลว่านี่คือวิกฤตประเทศแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

 

สถาบันวิจัยด้านประชากรศาสตร์และประกันสังคมแห่งชาติญี่ปุ่น ประเมินว่า จำนวนประชากรญี่ปุ่นจะลดลงต่ำกว่า 100 ล้านคนในปี 2053 และจะลดลงต่อเนื่องในปี 2065 เหลือประมาณ 88,080,000 คน ก่อนที่จะลดลงประมาณ 30% เหลือ 87,000,000 คน ภายในปี 2070 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดยในจำนวนนี้ประชากร 4 ใน 10 คนจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงเป็นปีที่ 8 ประชากรญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงในทุกปี ประมาณ 30% เหลือ 87 ล้านคน 

 

และที่น่าสนใจก็คือ กว่า 4 ใน 10 เป็นผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 

 

หากดูจำนวนการเกิดปี 2023 จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง 5.1% จาก 8 แสนคนลดลง  758,631 คน ในขณะที่จำนวนการแต่งงานก็ลดลง 5.9% อยู่ที่ 489,281 คู่ นับเป็นสถิติครั้งแรกในรอบ 90 ปี ที่ลดลงต่ำกว่า 5 แสนคู่ โดยปัจจัยหลักๆ สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจ คนเลือกที่จะโสดมากขึ้น และแต่งงานช้าลงเรื่อยๆ

 

โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลจะเร่งรัดหามาตรการเพื่อรับมือกับอัตราการเกิดที่ลดลง เช่น เพิ่มมาตรการการดูแลเด็ก ส่งเสริมการขึ้นค่าจ้างสำหรับแรงงานอายุน้อย 

 

ด้าน ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า อัตราการเกิดที่ลดลงในตอนนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤตที่ร้ายแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อมิติของสังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการคลังสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อคาดการณ์ว่าในอีกประมาณ 6 ปีข้างหน้า ช่วงปี 2030 จำนวนคนหนุ่มสาวจะลดลงอย่างรวดเร็ว 

 

“นี่จึงเป็นโอกาสสุดท้ายในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะเสนอกฎหมายภายใต้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมเงินสงเคราะห์บุตรเพื่อต่อสู้กับอัตราการเกิดที่ลดลง เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อหามาตรการต่อไป

 

ไทยกำลังเข้าสู่ปัญหาโครงสร้างประชากร ไม่แพ้ปัญหาอื่น

 

สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า เนื่องจากมีการประเมินว่า ปี 2023 ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือราว 13 ล้านคนของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,052,615 คน

 

การที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมีผลกระทบกับจำนวนแรงงานในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับจำนวนคนเสียชีวิตมีมากกว่าเกิด โดยปี 2023 มีจำนวนคนเสียชีวิตมากกว่าเกิด 48,058 คน 

 

“เมื่อวัยแรงงานลดลง เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการใช้แรงงานสูง ทำให้ต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติหลายล้านคนเพื่อพยุงประเทศให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

 

ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างประชากร คือคลื่นลูกใหญ่ที่มีความหนักหนาไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ

 

โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้นมีความท้าทายต่อการพัฒนาและออกแบบนโยบายด้านสังคมเป็นอย่างมาก เมื่อประชากรน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น แล้วใครจะมาเป็นคนจ่ายเงินเข้ากระเป๋าสำนักงบประมาณ จากคนเสียภาษีในประเทศไทย 65 ล้านคน วันนี้มีการเสียภาษี 4.5 ล้านคน  

 

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงประชากรไม่เพียงกระทบต่อสังคม สวัสดิการ ยังมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับอัตราเด็กแรกเกิดของไทยที่น้อยลง อีกไม่นานปัญหาเรื่องแรงงานก็จะเข้ามา 

 

ภาพ: d3sign / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising