×

‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ (Booster Dose) สำรวจสถานการณ์ 5 ประเทศ และมุมมองต่อวัคซีนเข็มความหวัง

09.07.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19

‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ (หรืออาจจะเรียกแบบเข้าใจง่ายว่าเข็มที่สาม) เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยืนยันว่าควรให้ความสนใจ และมีความสำคัญกับการรักษาภูมิคุ้มกันต่อโควิดในระยะยาว ที่น่าสนใจก็คือ แม้ยังไม่ทราบว่าไทยจะไปถึงจุดที่จะต้องฉีดเข็มกระตุ้นนี้กันเมื่อไร แต่บางชาติในโลกเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ Booster กันไปแล้ว

 

THE STANDARD สำรวจสถานการณ์การวางแผนและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นใน 5 ประเทศ ที่ติดอันดับแรกของการมีสัดส่วนประชากรมากที่สุดที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ตามสถิติของสำนักข่าว Reuters ณ วันที่ 8 กรกฎาคม และสำรวจผลการศึกษาที่น่าสนใจ ตลอดจนมุมมองของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนี้จากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและองค์การอนามัยโลก

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

  • วัคซีนที่ยูเออีอนุมัติให้ใช้งานกรณีฉุกเฉินแล้ว ได้แก่ Sinopharm (BBIBP-CorV วัคซีนที่ผลิตจากบริษัทในปักกิ่ง), Pfizer-BioNTech, Sputnik V, Oxford-AstraZeneca และล่าสุดที่เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมคือ Moderna แต่ในจำนวนนี้ทั้งหมด ยูเออีเริ่มใช้วัคซีน Sinopharm เป็นตัวแรก
  • สำนักข่าว The National ของยูเออีรายงานในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เริ่มมีการให้วัคซีน Sinopharm ‘เข็มที่สาม’ กับคน ‘จำนวนเล็กน้อย’ ที่มีการสร้างแอนติบอดีไม่เพียงพอหลังได้รับวัคซีนครบสองเข็ม ซึ่งขณะนั้น ดร.เวลีด ซาเฮอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการวิจัยของ G42 Healthcare บริษัทที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการกระจายวัคซีน Sinopharm ในยูเออีระบุว่า มีคนจำนวน ‘น้อยมาก’ ที่ต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้นนี้หากเทียบกับประชากรในยูเออีหลายล้านคนที่รับวัคซีนไปแล้ว
  • ปรากฏว่ากลางเดือนพฤษภาคม ยูเออีประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะฉีดวัคซีน Sinopharm เข็มที่สามให้กับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนตัวนี้ไปแล้วสองเข็ม ทำให้ยูเออีกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้มีการฉีดเข็มที่สามอย่างเป็นทางการ โดยจะจัดลำดับความสำคัญให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไปหรือมีโรคเรื้อรังก่อน
  • และวันที่ 3 มิถุนายน สำนักข่าว Reuters รายงานว่ายูเออีได้เพิ่มวัคซีนของ Pfizer-BioNTech เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนเข็มที่สาม โดยเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Khaleej Times ภาคภาษาอังกฤษของยูเออีเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน อ้างอิงคำแถลงจากศูนย์สาธารณสุขอาบูดาบี (ADPHC) ว่าในรัฐอาบูดาบี ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเข็มที่สามจะต้องรอหลังเข็มที่สองเป็นเวลา 6 เดือน และอาจจะเลือกรับวัคซีนของ Sinopharm หรือ Pfizer-BioNTech ก็ได้ภายหลังจากรับการประเมินทางการแพทย์แล้ว
  • ส่วนคำถามที่ว่าแต่ละคนจะต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ทุกๆ 6 เดือนหรือไม่ ADPHC ระบุเพียงว่ากำลังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อหาระยะของการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เว็บไซต์ดังกล่าวยังรายงานคำกล่าวของ ดร.เวลีด เมื่อเดือนมกราคม ซึ่งอ้างอิงผลการศึกษาทางคลินิกว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีน Sinopharm จะอยู่ได้ 9 เดือนถึง 1 ปี แต่ยังเป็นข้อมูลที่ต้องอาศัยการติดตามเพิ่มเติมจากผู้ได้รับวัคซีนเพื่อดูการคงอยู่ของภูมิคุ้มกันในสถานการณ์จริงต่อไป

 

แคนาดา

  • ปลายเดือนเมษายน จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศว่าแคนาดาบรรลุข้อตกลงในการจัดหาวัคซีน Pfizer-BioNTech สำหรับการเป็นเข็มกระตุ้นในปี 2022 ไว้แล้ว 35 ล้านโดส และสำหรับปี 2023 อีก 30 ล้านโดส นอกจากนี้ ในข้อตกลงดังกล่าวกับ Pfizer ยังมีตัวเลือกในการจัดหาวัคซีนเสริมเข้าไปเพิ่มอีกในปี 2022 และ 2023 ปีละ 30 ล้านโดส และอีก 30-60 ล้านโดสในปี 2024 นอกจากนี้ ทรูโดยังบอกในขณะนั้นว่ารัฐบาลแคนาดากำลังพูดคุยกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ สำหรับแผนการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย
  • “ชาวแคนาดาคาดหวังให้เราพร้อมไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มีความหวังแน่ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจไม่จำเป็น แต่เราทำได้ดีกว่ามากเพื่อให้แน่ใจว่าเราเตรียมพร้อมในกรณีที่วัคซีนเหล่านั้นมีความจำเป็นขึ้นมา” ทรูโดกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายน
  • CBC สื่อของแคนาดาชี้ว่าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจครั้งใหญ่ครั้งต่อๆ ไปของเจ้าหน้าที่ทางการแคนาดา โดย แอนนา แมดดิสัน โฆษกของหน่วยงานสาธารณสุขแคนาดาระบุว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของแคนาดากำลังจับตาดูข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในขณะที่กำลังพิจารณาถึงความจำเป็นของการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น แมดดิสันบอกว่าตามหลักฐานที่มีมาก่อนหน้านี้ วัคซีนเข็มกระตุ้นอาจจำเป็นในกรณีที่ภูมิคุ้มกันลดลงต่ำกว่าระดับที่ใช้ป้องกันไวรัสได้ ซึ่งรวมถึงไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่างๆ หรือหากมีกรณีการเกิดโรคหลังฉีดวัคซีนแล้วเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในแคนาดาส่วนหนึ่งเห็นว่าผู้ที่อยู่ในการดูแลระยะยาว ซึ่งได้แก่ผู้สูงวัยและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อน

 

ชิลี

  • วันที่ 22 มิถุนายน สำนักข่าว Reuters รายงานว่าชิลีพึ่งพาวัคซีน Sinovac ของจีนมากที่สุด ตามด้วย Pfizer-BioNtech และวัคซีนอีกจำนวนเล็กน้อยจาก CanSino ของจีน และ Oxford-AstraZeneca
  • ในรายงานข่าวชิ้นเดียวกันนี้ยังระบุถึงคำพูดของ เซบาสเตียน พิเนรา ประธานาธิบดีชิลีว่า ชิลีกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการให้วัคซีนโควิดเข็มที่สาม โดยระบุคล้ายๆ กับแคนาดาว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกำลังตรวจสอบการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากเพื่อตัดสินใจว่าวัคซีนเข็มที่สามมีความจำเป็นหรือไม่

 

สหราชอาณาจักร

  • ข้อมูลล่าสุดจากระบบสาธารณสุขแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) ระบุว่า ปัจจุบันวัคซีนของ Moderna, Pfizer-BioNTech และ Oxford-AstraZeneca ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในสหราชอาณาจักรแล้ว (ส่วน Johnson & Johnson ได้รับอนุญาตแล้วเช่นกันแต่จะมาเสริมทัพในปีนี้)
  • NHS ได้รับไฟเขียวให้ฉีดวัคซีนเข็มที่สามแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 เป็นต้นไป ก่อนจะถึงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูที่ไวรัสระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่จะกลับมาระบาด
  • โดยคำแนะนำในการให้วัคซีนของคณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันของสหราชอาณาจักร (JCVI) กล่าวถึงการให้วัคซีนโควิดเข็มที่สาม (และวัคซีนไข้หวัดใหญ่) โดยแนะนำให้เริ่มจากกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปทุกคน, บุคลากรทางสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ด่านหน้า, ผู้ที่อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ, และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีความเสี่ยงสูงในทางคลินิก ก่อนจะขยายต่อไปยังผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปทุกคน, ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 16-49 ปีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านหลังเดียวกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ส่วนผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยคนอื่นๆ จะยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่สาม เพราะพวกเขาจะเพิ่งได้รับวัคซีนเข็มที่สองไปในฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้สามารถถูกนำกลับมาพิจารณาใหม่ได้อีกครั้งภายหลัง
  • BBC ระบุว่าสหราชอาณาจักรยังไม่มีการตัดสินใจชัดเจนว่าจะใช้วัคซีนตัวใดเป็นเข็มกระตุ้น อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อสิ้นเดือนเมษายน Bloomberg รายงานว่าสหราชอาณาจักรสั่งซื้อวัคซีน Pfizer-BioNTech จำนวน 60 ล้านโดส เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนี้
  • ที่น่าสนใจก็คือ เพิ่งมีการเปิดตัวการศึกษาทางคลินิกที่ชื่อ ‘Cov-Boost’ ที่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลสหหราชอาณาจักรไปไม่นานนี้ เป็นการศึกษาในคน 2,886 คนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้ โดยเข็มที่สามนี้จะเป็นวัคซีน 1 ใน 7 ตัวที่แตกต่างกัน ได้แก่ Oxford-AstraZeneca, Pfizer-BioNTech, Moderna, Novavax, Valneva, Johnson & Johnson และ Curevac และอาจเป็นวัคซีนที่ไม่ใช่ตัวเดียวกับที่พวกเขาเคยรับมาก่อน เพื่อดูผลของวัคซีน 7 ตัวนี้ในฐานะวัคซีนเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาต่างๆ ที่กำหนดตลอดจนผลข้างเคียงต่างๆ คาดว่าจะได้ข้อค้นพบเบื้องต้นจากการศึกษานี้ในเดือนกันยายน ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจของ JCVI เกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่านี่เป็นการศึกษาแรกในโลกที่จะให้ข้อมูลสำคัญของผลจากวัคซีนเข็มที่สามต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน

 

บาห์เรน

  • วัคซีนที่บาห์เรนอนุมัติให้ใช้งานกรณีฉุกเฉินแล้ว ได้แก่ Sinopharm (BBIBP-CorV วัคซีนตัวปักกิ่ง), Pfizer-BioNTech, Oxford-AstraZeneca (Covishield), Sputnik V, Johnson & Johnson และ Sputnik Light และวัคซีนของ Sinopharm ก็ถูกอนุมัติให้ใช้เป็นตัวแรกเช่นกัน
  • สถานการณ์ของบาห์เรนอาจจะคล้ายคลึงกับในยูเออีอยู่บ้าง เมื่อบาห์เรนประกาศในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะให้วัคซีนเข็มที่สามของ Sinopharm หลังจากเข็มที่สองเป็นเวลาหกเดือน โดยเริ่มจากกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้มีภาวะอ้วน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่นเดียวกับบุคลากรด่านหน้า และวันที่ 3 มิถุนายน Reuters ก็รายงานว่าบาห์เรนได้อนุญาตให้ใช้วัคซีนของ Pfizer-BioNTech เป็นเข็มที่สามได้เช่นเดียวกับ Sinopharm โดยตัวแทนของรัฐบาลบาห์เรนระบุว่า ผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech หรือ Sinopharm กระตุ้นหนึ่งเข็มโดยไม่คำนึงว่าเคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อน
  • ทว่าล่าสุดวันที่ 6 กรกฎาคม คณะทำงานด้านการแพทย์ระดับชาติเพื่อต่อสู้กับโควิดของบาห์เรนเพิ่งประกาศลดระยะห่างระหว่างเข็มสำหรับการรับวัคซีนเข็มที่สาม (เข็มกระตุ้น) ในกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ให้เหลือเพียง ‘1 เดือน’ เท่านั้นหลังจากการรับวัคซีนเข็มที่สอง ส่วนบุคคลอื่นๆ ยังคงเว้นระยะระหว่างเข็มที่สองและสามเป็นเวลา 6 เดือนต่อไป ข้อความจากแถลงการณ์ระบุว่า การตัดสินใจนี้ได้รับการประกาศออกมาหลังจากมีการศึกษาหลักฐานล่าสุดเกี่ยวกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและการป้องกันไวรัส พร้อมยืนยันว่า “วัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยบรรเทาอาการและภาวะแทรกซ้อนในกรณีที่ติดเชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการเจ็บป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิต”

 

ตัวอย่างการศึกษาและความเห็นเรื่อง ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’

  • ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเปิดเผยต้นฉบับข้อมูลจากการศึกษาเบื้องต้นที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) ระบุว่าวัคซีนชนิด mRNA ของ Moderna เข็มกระตุ้นเพิ่มระดับการตอบสนองของแอนติบอดีต่อเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม ตลอดจนเชื้อสายพันธุ์เบตาและแกมมา นอกจากนี้ยังมีวัคซีน Moderna ตัวใหม่ที่เรียกว่า ‘mRNA-1273.351’ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อการรับมือเชื้อสายพันธุ์เบตา และเมื่อถูกนำมาใช้ในฐานะเข็มกระตุ้น พบว่าสร้างการตอบสนองของแอนติบอดีต่อเชื้อสายพันธุ์เบตาได้ดีกว่าการใช้วัคซีน Moderna ตัวเดิมมาเป็นเข็มกระตุ้น
  • ปลายเดือนมิถุนายน มีต้นฉบับการศึกษาใหม่ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) ที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรระบุว่า การให้วัคซีน Oxford-AstraZeneca เข็มที่สาม หลังจากเข็มที่สองมากกว่า 6 เดือน ทำให้ระดับของแอนติบอดีเพิ่มขึ้นมาก ส่วนระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ต่อเชื้อสายพันธุ์แอลฟา เบตา และเดลตา หลังการรับวัคซีนเข็มที่สามก็สูงกว่าในเข็มที่สองเช่นกัน การศึกษาในครั้งนี้ระบุว่ามีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่สามจำนวน 90 ราย
  • แต่สำหรับวัคซีนชนิด mRNA มีอย่างน้อยสองข่าวที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากปลายเดือนมิถุนายน ต้นฉบับงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบแล้วและเผยแพร่ในเว็บไซต์วารสารวิชาการ Nature ระบุว่า วัคซีนโควิดที่ผลิตโดย Pfizer-BioNTech และ Moderna จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบคงอยู่ได้นาน ซึ่งสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี การค้นพบดังกล่าวเพิ่มหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า คนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna แล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่สาม ตราบใดที่เชื้อไวรัสและเชื้อกลายพันธุ์ยังไม่พัฒนาไปเกินกว่ารูปแบบปัจจุบัน ส่วนผู้ที่ฟื้นตัวหรือหายดีจากโควิดก่อนที่จะฉีดวัคซีน ก็อาจไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มที่สามเช่นกัน แม้ว่าไวรัสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ตาม อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และผู้ที่ทานยากดภูมิคุ้มกันอาจต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนี้
  • และล่าสุด เช้ามืดวันนี้ (9 กรกฎาคม) มีรายงานการแถลงของ Pfizer-BioNTech ที่บอกว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถช่วยเพิ่มระดับของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ได้ 5-10 เท่าเมื่อเทียบกับหลังรับวัคซีนสองเข็ม ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดในเร็วๆ นี้ และจะยื่นขอใช้งานวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นกรณีฉุกเฉินต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พวกเขายังอ้างข้อมูลจากการใช้งานจริงในอิสราเอลว่าวัคซีน Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพ (Efficacy) ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการลดลงในช่วงเดียวกันกับที่สายพันธุ์เดลตากำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอิสราเอล ทำให้พวกเขา ‘เชื่อว่า’ วัคซีนเข็มกระตุ้นอาจมีความจำเป็นภายใน 6-12 เดือนหลังรับวัคซีนครบสองเข็ม และบอกว่าพวกเขากำลังพัฒนาวัคซีนเวอร์ชันแก้ไขปรับปรุง แม้ว่าพวกเขาจะเชื่อว่าวัคซีนเข็มที่สามของ Pfizer-BioNTech จะมีศักยภาพในการรักษา ‘ระดับสูงสุด’ ของการป้องกันต่อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักทั้งหมดในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตาด้วยก็ตาม
  • ส่วนวัคซีน Sinovac ของจีนนั้น เมื่อต้นเดือนมิถุนายน อินเว่ยตง ประธานของ Sinovac กล่าวผ่านสื่อของรัฐบาลจีน ระบุว่าทางบริษัทได้เสร็จสิ้นการทดสอบทางคลินิกในระยะที่สอง ในการฉีดวัคซีนเข็มที่สามหลังวัคซีนสองเข็มปกติ โดยเมื่อผ่านไปครึ่งเดือนผู้เข้าร่วมการทดสอบมีระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 20 เท่า แต่เขาเตือนว่าทางบริษัทยังคงต้องติดตามความคงทนของแอนติบอดีในระยะยาวก่อนจะแนะนำให้เจ้าหน้าที่ทางการเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะใช้วัคซีนเข็มที่สาม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏว่ามีการเชื่อมโยงเพิ่มเติมไปยังต้นฉบับเอกสารผลการศึกษาในข่าวจากสื่อของทางการจีนและสำนักข่าว Reuters ที่รายงานเรื่องนี้
  • อย่างไรก็ตาม มีอีกแง่มุมที่สะท้อนมาจาก ดร.​เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในการผลิตและกระจายวัคซีน โดยบอกว่า ‘ลัทธิชาตินิยมวัคซีน’ ที่บางประเทศได้รับส่วนแบ่งวัคซีนขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่โต้แย้งไม่ได้ทางศีลธรรมและเป็นกลยุทธ์ทางสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพในการรับไวรัสที่กลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ เขาย้ำว่าที่การระบาดในระยะนี้ “การที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและการดูแลหลายล้านคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ”

 

ภาพ: Ian Forsyth / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising