×

เช็กสุขภาพคน กทม. กินผักผลไม้และออกกำลังกายไม่เพียงพอ

05.05.2022
  • LOADING...
เช็กสุขภาพคน กทม. กินผักผลไม้และออกกำลังกายไม่เพียงพอ

ครั้งก่อน THE STANDARD พา กทม. ไปเช็กสุขภาพ พบว่า ทุกๆ 10 คน จะมีภาวะคอเลสเตอรอลสูง 7 คน ภาวะอ้วนลงพุง 6 คน โรคความดันโลหิตสูง 3 คน ภาวะเสี่ยงเบาหวานหรือเป็นโรคเบาหวานอย่างละ 1 คน ซึ่งถือว่าสูงกว่าคนทั้งประเทศ ครั้งนี้จะพาไปเช็กต่อถึงสาเหตุของ ‘โรคไม่ติดต่อ’ เหล่านี้

 

สาเหตุส่วนหนึ่งของโรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable Diseases: NCDs) มาจากปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น เพศ อายุ ประวัติคนในครอบครัว แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้อยู่ นั่นคือวิถีชีวิตของเรา เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ (ความเครียด)

 

อ้างอิงจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสุ่มสำรวจประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานคร 12 เขต จำนวน 2,640 คน พบว่า

 

  • กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ 78.2% เทียบกับคนทั้งประเทศ 78.8%
  • มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ 38.7% เทียบกับคนทั้งประเทศ 30.9%
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ 11.5% เทียบกับคนทั้งประเทศ 15.2%
  • ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก 6.4% เทียบกับคนทั้งประเทศ 12.9%

 

ดังนั้นปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่การกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 3 ใน 4 คน และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 และถือว่าสูงกว่าคนทั้งประเทศ

 

แนวโน้มจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยฯ 3 ครั้งล่าสุดในปี 2551, 2556 และ 2562 พบว่า การกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอของคน กทม. คงที่ คือ 80.5%, 78.4% และ 78.2% ตามลำดับ แต่กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ 25.3%, 28.0% และ 38.7% ส่งผลให้คน กทม. มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง ภาวะอ้วนลงพุง และโรคความดันโลหิตสูงตามมา 

 

วิถีชีวิตเป็นพฤติกรรมของแต่ละคน ทว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมภายในมหานครแห่งนี้ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมและโรคเหล่านี้ด้วย เช่น รายได้ แหล่งอาหาร กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และพื้นที่สาธารณะในชุมชน รวมถึงระบบบริการสุขภาพ/สาธารณสุข

 

เช็กสุขภาพรอบหน้า เราจะมาเปรียบเทียบกันว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละท่านมีนโยบายด้านสุขภาพอะไรบ้าง

 

หมายเหตุ:

  • การกินผักและผลไม้เพียงพอ หมายถึง การกินผักหรือผลไม้ ≥ 5 ส่วนมาตรฐานต่อวัน
  • กิจกรรมทางกายเพียงพอ หมายถึง การมีกิจกรรมทางกายตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป (มีกิจกรรมอย่างหนัก ≥ 3 วัน/สัปดาห์ และเวลา ≥ 20 นาทีต่อวัน หรือกิจกรรมปานกลาง หรือเดิน ≥ 5 วัน/สัปดาห์ อย่างน้อยวันละ 30 นาทีต่อวัน)

 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising