×

“ทำงานมันต้องละเอียดขนาดนี้เลยเหรอคะพี่”

31.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ความใส่ใจของ Frozen แอนิเมชันเรื่องโปรดของใครหลายคนคือ ทุกฉากที่มีการขว้างหิมะไปกระทบอะไรสักอย่าง จะถูกคำนวณแล้วว่า มวลหิมะ x ถูกขว้างไปด้วยความเร็ว y องศาการขว้าง z กระทบกับผิวสัมผัสที่มีลักษณะ a แล้ว ก้อนหิมะจะแตกตัวในลักษณะใดตามหลักฟิสิกส์
  • การทำงานที่ใส่ใจรายละเอียด ทำให้เกิดงานที่มีคุณภาพ ทำให้งานของเรามีความหมาย และต่อให้ใครไม่รู้ แต่ตัวเรารู้อยู่เต็มอก ว่าเราให้ความหมายกับงานชิ้นนั้นมากแค่ไหน ที่ทำขนาดนั้น เพราะเขาไม่ดูถูกตัวเองและดูถูกผู้ชม พวกเขาเชื่อว่า ทุกรายละเอียดจะเป็นตัวบอกว่าเขารักงานนี้แค่ไหน ยิ่งกว่านั้น เขารักคนดูแค่ไหนเช่นเดียวกัน
  • แต่เขาละเอียดในเรื่องที่ต้องละเอียด และใช้เวลาอย่างเต็มที่กับสิ่งที่ต้องใช้ ส่วนเรื่องไม่เป็นเรื่อง เขาไม่มาหยุมหยิมให้เสียเวลาครับ เอาเวลาไปใส่ใจสิ่งที่สำคัญดีกว่า นั่นแปลว่า เราต้องรู้ก่อนเลยว่าอะไรสำคัญ ยิ่งทำงานสะสมประสบการณ์มากขึ้น เรื่องบางเรื่องเราอาจจะเคยใช้เวลากับมันมาก พอทำบ่อยๆ เข้าก็อาจจะรู้แล้วว่าจะทำอย่างไรถึงจะเร็วขึ้น ผิดน้อยลง ไปจนถึงรู้แล้วว่าเรื่องไหนไม่ต้องเสียเวลากับมันมาก ประสบการณ์มันสอน

Q: โดนคนหาว่าเป็น ‘คุณนายละเอียด’ ทำงานละเอียดจนทำให้งานออกมาช้าไปหมด แต่ดิฉันว่าดิฉันแค่เป็นคนใส่ใจรายละเอียดเอง ก็อยากให้งานออกมาดี แต่โดนคนว่าแบบนี้ จะทำอย่างไรดีคะ?

 

Q: โดนพี่ที่ทำงานว่าทำงานไม่ละเอียดเลย เราก็ว่าเราละเอียดแล้ว มันต้องละเอียดขนาดไหนกันเหรอคะ

 

Q: ทำงานแบบไหนถึงเรียกว่าใส่ใจรายละเอียดครับ

 

A: เคยได้ยินคำนี้กันไหมครับ ‘God is in the details’

 

มันเป็นคำเอาไว้ใช้อธิบายถึงความพิถีพิถันใส่ใจรายละเอียด แม้สิ่งเล็กน้อยที่สุดเมื่อเราเอาใจไปใส่มันก็กลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เหมือนมีพระเจ้าอยู่ในทุกอณูรายละเอียด

 

ผมยกตัวอย่างให้เห็นว่าคนเก่งๆ เวลาเขาใส่ใจรายละเอียดกันนี่ เขาละเอียดกันขนาดไหน

 

หนังเรื่อง The Avengers: The Infinity Wars เป็นภาพยนตร์ที่คนทั้งโลกตั้งตารอ และเนื้อเรื่องถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด นัยว่า ถ้าความลับเกิดรั่วไหลไปก็คงหมดสนุกกันพอดี ยิ่งในยุคดิจิทัลแบบนี้ ความลับแทบไม่มีในโลกอีกต่อไป รั่วทีก็หลุดไปทั้งโลกภายในเวลาไม่กี่วินาที หรือบางทีแค่เห็นบางรายละเอียดนิดหน่อยก็สามารถแกะรอยไปสู่การเปิดเผยความลับสุดยอดได้

 

ที่ผ่านมา ผมเคยเห็นแค่การให้ทีมงานเซ็นสัญญาเก็บความลับ ถ้าหลุดไปต้องโดนลงโทษ แต่หนังเรื่องนี้ล้ำไปกว่านั้นแล้ว ด้วยการแจกบทปลอมให้นักแสดงอ่าน นักแสดงจะได้บทจริงตอนถ่ายหน้างานแล้ว อ่านบทปุ๊บ ทีมงานก็ริบคืน ไม่มีเก็บไว้ แถมบทแต่ละหน้าจะระบุไว้เลยว่าเป็นเอกสารของใคร ถ้าหลุดขึ้นมาก็รู้ว่าจากใคร

 

ล้ำไปกว่านั้นอีกขั้น พอถึงหน้าฉากที่ต้องถ่าย นักแสดงต้องแสดงภายใต้บทหลายแบบ (อ้าว! ไหนว่าได้บทจริงแล้วไง!) แปลว่า ที่ถ่ายไปก็ถ่ายมันทั้งบทจริงและบทหลอก ไม่มีใครรู้เลยว่าที่เล่นไปอันไหนบทจริง อันไหนบทหลอก นักแสดงก็มารู้เอาพร้อมคนดูนั่นแหละครับ

 

ที่ผู้กำกับต้องทำขนาดนี้ เพราะเขาใส่ใจรายละเอียดว่า ความลับสุดยอดก็ต้องเป็นความลับสุดยอดจริงๆ แต่นั่นแปลว่า เพื่อรักษาความลับสุดยอดขนาดนี้ ทีมงานทุกคนต้องทำงานเพิ่มเป็นหลายเท่า ลำพังนักเขียนบทก็ต้องเขียนบทหลายเวอร์ชันแล้ว นักแสดงก็ต้องจำบทให้ได้ แสดงให้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบทจริงหรือบทหลอกที่สุดท้ายไม่ได้ใช้

 

ละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง ก็ใช้วิธีแจกบทให้นักแสดงเฉพาะคน แปลว่า แต่ละบ้านจะไม่รู้ความเคลื่อนไหวของบ้านอื่นเลย เขาทำแบบนี้เพื่อให้นักแสดงได้ความรู้สึกหวาดระแวง การเก็บซ่อนความลับ การจับผิดซึ่งกันและกันตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นหัวใจของการเล่าเรื่องฆาตกรรม ครูเล็ก ภัทราวดี ซึ่งต้องแสดงเป็นอาม่าที่สนิทกับหลานมาก ใช้วิธีชวนนักแสดงที่ต้องเล่นเป็นหลานมาดื่มไวน์ด้วยกัน เพื่อละลายพฤติกรรมก่อน เวลาแสดงจะได้รู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัวที่สนิทกันจริงๆ แม้กระทั่งฉากปอกแอปเปิ้ลไม่กี่วินาที เจี๊ยบ โสภิตนภา ก็ขอแอปเปิ้ลทีมงานมาฝึกปอก เพื่อความคุ้นเคยเหมือนว่าตัวละครในเรื่องก็ปอกแอปเปิ้ลรอสามีกลับบ้านแบบนี้ทุกวัน รวมไปถึงการใช้วงออเคสตราเต็มรูปแบบมาสร้างเพลงประกอบให้ละครได้อารมณ์ความยิ่งใหญ่จริงๆ

 

แดเนียล เดย์-ลูวิส นักแสดงเจ้าแห่งการใส่ใจรายละเอียดตัวจริงมักใช้วิธีการไปใช้ชีวิตอย่างตัวละครที่เขาต้องรับ เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้กำลังแสดง แต่กำลังหายใจเป็นตัวละครนั้นจริงๆ ถ้าต้องเล่นเป็นคนพิการ เขาจะนั่งรถเข็นตลอดเวลาอยู่เป็นปี ถ้าต้องเล่นเป็นหัวหน้าแก๊งที่เชี่ยวชาญการใช้มีด เขาจะไปเรียนการแล่เนื้อ การปามีด อยู่กับมีดทั้งวัน ที่ผมชอบที่สุดคือ ตอนที่เขาเล่นเป็นประธานาธิบดีลินคอล์น นอกจากเขาจะขลุกอยู่กับการอ่านเอกสารทุกชิ้นเกี่ยวกับประธานาธิบดีลินคอล์นแล้ว เขาคิดไปถึงขนาดที่ว่า ประธานาธิบดีลินคอล์นควรจะต้องมี ‘เสียง’ แบบไหน แม้จะไม่มีใครเคยได้ยินเสียงของลินคอล์นมาก่อน เสียงที่ออกมาจึงไม่ใช่เสียงของเขา แต่เป็นเสียงที่เขาออกแบบมาเพื่อให้ลินคอล์นมีชีวิตอีกครั้ง เขาทำขนาดนั้นคิดดู!

 

แบรนด์แห่งการใส่ใจรายละเอียดที่แท้จริง ซึ่งผมเคารพมากก็คือ Disney ผมเคยไปดูนิทรรศการดิสนีย์ที่โตเกียว แล้วได้ทึ่งในหลายเรื่อง ทราบไหมครับว่า Bambi เคยเกือบเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องที่ 2 ของ Disney ต่อจาก Snow White แต่ วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ตัดสินใจหยุดโครงการนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลว่า ทีมวาดภาพยังวาดกวางได้ไม่เป็นธรรมชาติพอ ระหว่างนั้นก็ไปทำเรื่อง Pinocchio แทน

 

สิ่งที่ทีมงานทำในเวลานั้นคือ เอากวางมาเลี้ยงที่สตูดิโอ แล้วเฝ้าสังเกตทุกรายละเอียดการเคลื่อนไหวของกวาง แล้ววาดออกมา อยู่กับกวางทั้งวัน และใช่ครับ พวกเขาวาดด้วยมือ ทีละแผ่น ทีละแผ่น สุดท้ายทีมวาดภาพมีความเข้าใจกายวิภาคของกวาง ชนิดที่เขียนมาได้เป็นตำรากายวิภาคของกวาง Bambi ที่เราเห็น จึงเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ วิธีทำงานแบบนี้สืบทอดมาถึงตอนทำ Lion King ที่นอกจากทีมงานจะต้องบินไปฝังตัวอยู่ที่แอฟริกาใต้แล้ว กลับมาสหรัฐอเมริกา พวกเขายังเลี้ยงสิงโตไว้ในสตูดิโอ เพื่อศึกษารายละเอียดทุกอิริยาบถของสิงโตอีกด้วย

 

อีกเรื่องที่ผมชอบคือ Fantasia ในเรื่องจะมีฉากโคลนเดือดปุดๆ ทีมงานอยากได้ความสมจริงแบบนั้น เลยเอาโคลนมาต้มในสตูดิโอ แล้วนักวาดภาพก็นำนาฬิกามาจับเวลาว่า ตั้งแต่เป็นฟองเล็กจนเป็นฟองใหญ่ แล้วแตกออกมา ใช้เวลาแต่ละช่วงกี่วินาที แล้วเขาก็วาดตามนั้นด้วยมือ ทีละแผ่น

 

Frozen แอนิเมชันเรื่องโปรดของหลายคนก็ไม่แพ้กัน ทุกฉากที่มีการขว้างหิมะไปกระทบอะไรสักอย่าง จะถูกคำนวณแล้วว่า มวลหิมะ x ถูกขว้างไปด้วยความเร็ว y องศาการขว้าง z กระทบกับผิวสัมผัสที่มีลักษณะ a แล้ว ก้อนหิมะจะแตกตัวในลักษณะใดตามหลักฟิสิกส์ ลงรายละเอียดกันขนาดนั้น เอาซี่! ความหนาวไม่ได้ทำให้เดือดร้อนสักเท่าไรเล้ย!

 

ผมเคยดูสารคดีการสร้างสวนสนุก Disney Land พนักงานทุกคนในสวนสนุกจะได้รับบรีฟคาแรกเตอร์มาเลยว่า คาแรกเตอร์พวกเขาเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร ร่าเริงเบอร์ไหน นั่นแปลว่า ต่อให้คุณเป็นพนักงานกวาดพื้น คุณก็ยังต้องกวาดพื้นแบบมีคาแรกเตอร์ที่เขาให้มา สดใสร่าเริงอยู่ตลอดเวลา กวาดไปเต้นรำไป เพราะทุกรายละเอียดในสวนสนุกสามารถสร้างความสุขให้กับผู้ชมได้ แม้กระทั่งการกวาดพื้นของคุณก็ยังต้องทำให้คนมีความสุขไปด้วย

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า การทำงานที่ใส่ใจรายละเอียด ทำให้เกิดงานที่มีคุณภาพ ทำให้งานของเรามีความหมาย และต่อให้ใครไม่รู้ แต่ตัวเรารู้อยู่เต็มอกว่าเราให้ความหมายกับงานชิ้นนั้นมากแค่ไหน

 

พวกเขาทำขนาดนั้น เพราะเขาไม่ดูถูกตัวเองและดูถูกผู้ชมไงครับ พวกเขาเชื่อว่า ทุกรายละเอียดจะเป็นตัวบอกว่าเขารักงานนี้แค่ไหน ยิ่งกว่านั้น เขารักคนดูแค่ไหนเช่นเดียวกัน เราทำงานออกมาแบบไหน มันก็บอกครับว่าเรารักงานนี้แค่ไหน และเราเคารพคนอื่นแค่ไหน

 

แต่สังเกตไหมครับ ว่าเขาละเอียดในเรื่องที่ต้องละเอียด และใช้เวลาอย่างเต็มที่กับสิ่งที่ต้องใช้ ส่วนเรื่องไม่เป็นเรื่อง เขาไม่มาหยุมหยิมให้เสียเวลาครับ เอาเวลาไปใส่ใจสิ่งที่สำคัญดีกว่า นั่นแปลว่า เราต้องรู้ก่อนเลยว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ แล้วมาบริหารเวลาให้ดี ให้เวลากับสิ่งที่สำคัญก่อนเลย แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งนะครับ ว่ายิ่งทำงานสะสมประสบการณ์มากขึ้น เราจะรู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ เรื่องบางเรื่องเราอาจจะเคยใช้เวลากับมันมากกว่าจะออกมาได้ พอทำบ่อยๆ เข้าก็อาจจะรู้แล้วว่าจะทำอย่างไรถึงจะเร็วขึ้น ผิดน้อยลง ไปจนถึงรู้แล้วว่าเรื่องไหนไม่ต้องเสียเวลากับมันมาก ประสบการณ์มันสอน

 

ในระหว่างที่เราสร้างงานชิ้นหนึ่งออกมา งานชิ้นนั้นก็กำลังสร้างเราไปด้วยในตัว งานทุกชิ้นช่วยขัดเกลาจิตใจเราไปด้วย เราทำงานแบบไหน เราก็กลายเป็นคนแบบนั้นไปด้วย ถ้าเราใส่ใจรายละเอียดของงาน งานก็จะสร้างให้เราเป็นคนที่มีจิตใจละเอียดอ่อนไปด้วย

 

เวลาเห็นงานของคนที่ใส่ใจรายละเอียดมากขนาดนี้ มันทำให้เราเข้าใจว่า อ๋อ… ‘ตัวจริง’ เขาทำงานกันแบบนี้นี่เอง ถึงเป็นที่เคารพ เป็นตำนาน เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ให้อยากทำงานได้ดีขึ้น

 

สิ่งเล็กน้อยที่เราทำ มันยิ่งใหญ่ได้ก็เพราะเราเอาใจไปใส่ให้มันนี่แหละครับ

 

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising