×

‘Work-Life Balance’ กลับมาเป็นความต้องการหลักของมนุษย์เงินเดือนไทยในปี 2567

24.02.2024
  • LOADING...
Work-Life Balance

ผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2567 พบว่า มนุษย์เงินเดือนไทยให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงาน ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว รวมทั้งความเป็นอยู่ที่ดี โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 54% บอกว่า ยินดีทบทวนการลาออกหากบริษัทเดิมยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ ขณะที่ผลสำรวจจากฝั่งผู้ว่าจ้างนั้นพบว่า 81% ของผู้ว่าจ้างคาดว่าจะปรับเงินเดือนในปีหน้านี้เพิ่มขึ้นให้สูงกว่าภาวะเงินเฟ้อ 

 

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก เปิดเผยผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2567 ซึ่งให้ภาพรวมของเงินเดือนและแนวโน้มการสรรหาบุคลากรทั่วโลก รวมถึงข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มการจ้างงานและเงินเดือนของตลาดแรงงานไทย 

 

ประเด็นสำคัญของผลสำรวจในปีนี้ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่เรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน ความสมดุลของงานและชีวิตส่วนตัว วัฒนธรรมองค์กรที่ตอบโจทย์กับตนเอง การให้ความสำคัญต่อเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) และการยอมรับและเคารพต่อความหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ฝั่งนายจ้างต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาคนเก่ง การสรรหาพนักงาน และกลยุทธ์การยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ เพื่อรั้งพนักงานไม่ให้ลาออก ซึ่งหลายบริษัทเริ่มใช้กันมากขึ้น    

 

กลยุทธ์การดึงดูดและรักษาคนเก่ง

 

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทในประเทศไทยหลายแห่งได้ยกระดับกลยุทธ์การสรรหาพนักงานโดยใช้จุดขายด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและแบรนด์นายจ้างที่โดดเด่น (Employer Branding) โดยเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการสรรหาบุคลากร

 

เมื่อเทียบกับแนวโน้มที่เห็นมากขึ้นในบริษัทหลายแห่งคือ การสร้างความร่วมมือกับแพลตฟอร์มที่เน้นในเรื่องความยั่งยืนและการยกระดับโปรแกรมการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียม (Equity), ความหลากหลาย (Diversity) และการยอมรับความแตกต่าง (Inclusion) รวมไปถึงความมุ่งมั่นต่อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) 

 

แนวโน้มที่สำคัญเหล่านี้จะต่อเนื่องไปตลอดปี 2567 เนื่องจากบริษัทต่างๆ พยายามดึงดูดพนักงานที่มีค่านิยมที่สอดคล้องกับองค์กร รวมถึงการอุทิศตนเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

“พนักงานยุคใหม่ต้องการทำงานในองค์กรที่มีค่านิยมที่ตรงกับตนเอง และสิ่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจว่าพวกเขาจะลาออก อยู่ต่อ หรือย้ายองค์กร” นัฐติยา ซอล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ทรัพยากรบุคคล ซัพพลายเชนและวิศวกรรม และอีสเทิร์น ซีบอร์ด ของบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริม 

 

ผลการสำรวจระบุว่า ภายใน 12 เดือนข้างหน้า 75% ของพนักงานตั้งใจจะเปลี่ยนงานใหม่ โดย 73% ค่อนข้างเชื่อมั่นในโอกาสทางอาชีพของสายงานตนเอง 

 

ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาโยกย้ายงาน ได้แก่ ค่านิยมของบริษัท (44%) และปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การจ่ายโบนัส (89%), ประกันสุขภาพเอกชน (74%), การทำงานที่ยืดหยุ่นหรือการทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (59%), สิทธิวันหยุด/วันลา (41%) และประกันความคุ้มครองชีวิต/โรคร้ายแรง (30%)

 

ทั้งนี้ ปุณยนุชตั้งข้อสังเกตว่า ในปี 2567 บริษัทต่างๆ จะเพิ่มความพยายามในการรักษาคนเก่งของตนด้วยการยื่นข้อเสนอสู้ (Counteroffers) เมื่อมีโอกาส ดังนั้นเพื่อดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ นายจ้างควรให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อพนักงาน เช่น นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต การลงทุนในการเรียนรู้และการพัฒนา และความมุ่งมั่นต่อการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย

 

จากผลสำรวจเห็นได้ชัดเจนว่า พนักงาน 54% เปิดกว้างที่จะพิจารณาข้อเสนอซื้อตัวกลับของนายจ้างเก่าแม้ว่าจะได้งานใหม่แล้ว โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยที่จะทำให้เขาอยู่ต่อ ได้แก่ เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น (93%), การเลื่อนตำแหน่ง (57%), ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น (40%), ส่วนแบ่งโบนัส (33%) และการทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (21%) 

 

ในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจ 34% กล่าวว่าพวกเขาจะพิจารณาข้อเสนอซื้อตัวกลับ, 28% จะอยู่ต่อน้อยกว่า 6 เดือน, 17% อยู่ต่อเป็นเวลา 1 ปี ในขณะที่ 14% จะอยู่ต่อเป็นเวลา 3-5 ปี

 

ผลการสำรวจเพิ่มเติมพบว่า 78% ของพนักงานที่ตอบแบบสำรวจชอบงานที่มีความยืดหยุ่นที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ (Hybrid Working) ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (86%) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี (36%), การส่งเสริมความหลากหลายและการเลือกปฏิบัติ (26%), ความพยายามในการลดโลกร้อน (12%) และแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (7%)

 

ในขณะที่นายจ้าง 59% ที่ตอบแบบสำรวจมีความกังวลเกี่ยวกับการรักษาพนักงานไว้ แต่พวกเขาเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้สร้างนโยบายมากมายที่จะช่วยรักษาพนักงานไว้ เช่น การเรียนรู้และการพัฒนาที่ดีขึ้น (71%), การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (58%), ผลประโยชน์ของพนักงานที่ดีขึ้น (57%), นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น (51%) และการเลื่อนตำแหน่งนอกเหนือรอบปกติ (44%)

 

การจัดการกับความท้าทายและการเพิ่มขีดความสามารถพนักงาน

 

จากการสำรวจพบว่า ความท้าทายหลักที่นายจ้างต้องเผชิญในการสรรหาพนักงาน ได้แก่ ความคาดหวังเงินเดือนที่สูง (73%), การขาดทักษะทางเทคนิคที่ต้องการ (52%), ประสบการณ์ในสายงานที่ไม่เพียงพอ (45%), การแข่งขันแย่งชิงคนเก่งที่รุนแรง เช่น การยื่นข้อเสนอสู้และการซื้อตัวกลับ (38%) และการขาดแคลนทักษะด้านการจัดการ (Soft Skill) ที่จำเป็น (36%) 

 

ปุณยนุชยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาด และตำแหน่งที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก

 

“ภาคการดูแลสุขภาพ การค้าปลีก และยานยนต์ เป็นภาคส่วนที่ต้องการคนเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และนักวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต” 

 

ในปี 2567 นายจ้างต่างเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี การขาย บัญชีและการเงิน การตลาดและซัพพลายเชน และการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว 92% ของบริษัทจึงโฟกัสที่การพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับพนักงานของตนผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมภายในและภายนอก และการให้งบสนับสนุนการฝึกอบรมส่วนบุคคล

 

ในขณะเดียวกัน เกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานที่ตอบแบบสำรวจ (50%) วางแผนที่จะเพิ่มทักษะทางเทคนิคและทักษะด้านสังคม ซึ่งรวมถึงลักษณะอุปนิสัยที่ช่วยให้สามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือซอฟต์สกิลของตนเองในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด

 

ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา นายจ้างที่ตอบแบบสำรวจได้เริ่มเสนอสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของพนักงาน ได้แก่ การทำงานแบบยืดหยุ่น/การทำงานทางไกล (35%), โครงการโบนัสที่จูงใจ (22%), การประกันสุขภาพภาคเอกชน (21%), ค่าเดินทาง (17% ) และสวัสดิการการทำฟัน (16%) 

 

ความคาดหวังของพนักงานและแนวโน้มเงินเดือนในปี 2567

 

ในปี 2567 พนักงาน 75% คาดว่าจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น โดย 41% คาดว่าเงินเดือนจะขึ้น 6-10% และ 46% คาดว่าจะได้รับโบนัส 6-10% ซึ่งสวนทางกับฝั่งนายจ้างที่มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนเพียง 1-4% ในทุกตำแหน่งงาน ซึ่งมั่นใจว่าจะเกินกว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโบนัส คาดการณ์การจ่ายเฉลี่ยสูงถึง 13% ​​ในทุกระดับงาน

 

แม้ว่าทั้งนายจ้างและพนักงานที่ตอบแบบสำรวจต่างเห็นพ้องกันว่าพวกเขาเข้าออฟฟิศโดยเฉลี่ย 3 หรือ 5 วัน แต่พนักงานยังคงชอบการทำงานแบบยืดหยุ่นมากกว่า (Hybrid Working)

 

แนวโน้มการบริหารพนักงานในปี 2567 มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ซึ่งเน้นในเรื่องของการบริหารความแตกต่างหลากหลาย และการลงทุนในการยกระดับทักษะพนักงานภายใน เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต

 

อุตสาหกรรมชั้นนำที่คาดว่าจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในปี 2567 ได้แก่ การขายและการตลาด (81%), กฎหมาย (80%), เทคโนโลยีการดูแลสุขภาพ (79%), การบัญชีและการเงิน (79%), วิศวกรรมและการผลิต (79%) และทรัพยากรบุคคล (79%)

 

อุตสาหกรรมชั้นนำที่พนักงานกำลังมองหาโอกาสเปลี่ยนงานใหม่ในปี 2567 ได้แก่ ซัพพลายเชน การจัดซื้อ และโลจิสติกส์ (81%), วิศวกรรมและการผลิต (81%), การขายและการตลาด (78%), กฎหมาย (74%), การบัญชีและการเงิน ( 72%) และทรัพยากรบุคคล (64%) 

 

หมายเหตุ: 

  • ผลสำรวจเงินเดือนได้ถูกรวบรวมและจัดทำโดยฝ่ายวิจัยของบริษัท โดยอ้างอิงข้อมูลการวิเคราะห์จากหลากหลายเครือข่ายสำนักงานและสาขาวิชาชีพในระหว่างปี 2566 แบบสำรวจนี้จัดทำขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2566 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 570 คน ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ในกรุงเทพฯ และในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  
  • ผลสำรวจนี้ให้ข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยการสรรหาพนักงาน การคาดการณ์การปรับขึ้นเงินเดือน และทักษะที่เป็นที่ต้องการในปี 2567 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising