×

บลจ. มองโควิด-19 ระลอก 3 กดเศรษฐกิจไม่หนักเท่าระลอกแรก เชื่อรัฐไม่กลับไปใช้มาตรการเข้ม

08.04.2021
  • LOADING...
บลจ. มองโควิด-19 ระลอก 3 กดเศรษฐกิจไม่หนักเท่าระลอกแรก เชื่อรัฐไม่กลับไปใช้มาตรการเข้ม

หุ้นไทยวันนี้ (8 เมษายน) เคลื่อนไหวในแดนบวก และปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,558.83 จุด +2.27 จุด หรือ +0.15% มูลค่าการซื้อขาย 83,642.81 ล้านบาท โดยหุ้นส่วนใหญ่เริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากวานนี้เผชิญแรงขายอย่างหนัก เนื่องจากมีการเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเกิดแหล่งแพร่ระบาด (Cluster) แห่งใหม่ จนเรียกได้ว่าเป็นการแพร่ระบาดระลอก 3 

 

ฝั่ง บลจ.ไทย ประเมินว่าผลกระทบน่าจะไม่รุนแรงมากนักหากเทียบกับระลอกแรก ขณะเดียวกัน มองจังหวะนี้เป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้นไทยที่มีแนวโน้มกำไรฟื้นตัวดี 

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 น่ากังวลกว่าระลอก 2 แต่ไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบทางเศรษฐกิจระลอกแรก   

 

โดยจะเห็นว่าในการแพร่ระบาดระลอกแรกนั้น รัฐบาลใช้มาตรการรับมือที่ค่อนหนัก และเข้มเกินกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่น การปิดเมืองที่เร็วเกินไป การใช้มาตรการเคอร์ฟิวต่างๆ ที่หนักเกินไป รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการที่ล่าช้า ซึ่งผลที่ได้รับ แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อต่ำระดับ 100 รายชื่อต่อวัน แต่ก็นำมาซึ่งการระบาดระลอก 2 ที่เกิดจากคลัสเตอร์ใหม่

 

ส่วนการระบาดระลอกล่าสุดนี้ สังเกตได้ว่าผู้ติดเชื้อเป็นบุคคลที่มาจากหลากหลายอาชีพ และค่อนข้างมีฐานะทางการเงินระดับกลางบน ซึ่งนำไปสู่การตรวจเชื้อที่รวดเร็วและครอบคลุมหลายพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าระวังตัวเองและคนรอบข้างที่ดีขึ้นด้วย จึงเชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะใช้มาตรการที่เข้มข้นเหมือนกับระลอกแรก 

 

ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนทยอยลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น เพราะในระยะสั้นๆ จากนี้ ภาพรวมตลาดยังคงผันผวนจากความเสี่ยงดังกล่าว โดยให้ถือเงินสดแทนเพื่อรอจังหวะเข้าสะสมอีกครั้ง ส่วนหุ้นกลุ่มที่น่าเข้าสะสม คือหุ้นที่แนวโน้มกำไรเติบโตดี เช่น กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า เช่น กลุ่มส่งออก ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร 

 

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนต้องการโยกการลงทุนไปสู่ต่างประเทศ ก็แนะนำหุ้นจีนเป็นหลัก เนื่องจากมีแนวโน้มกำไรเติบโตดีที่สุด ขณะที่หุ้นสหรัฐฯ จะเริ่มเผชิญกับความเสี่ยงและมีความผันผวนเพิ่ม หลังจากแผนลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เคาะออกมาแล้ว 

 

สาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยเฉพาะการนำใช้มาตรการป้องกันต่างๆ หากเข้มงวดเหมือนระลอกแรก ผลกระทบก็จะค่อนข้างหนัก เห็นได้จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกปี 2563 ที่ผ่านมา

 

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนก็มีผลต่อเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าภาคประชาชนมีการป้องกัน เฝ้าระวัง และตื่นตัวต่อการรับมือกับโควิด-19 ตลอดอยู่แล้ว 

 

โดยจากนี้ไปอีก 7-14 วัน เป็นระยะที่ต้องคอยติดตามตัวเลขว่าจะถึงจุดพีกของคลัสเตอร์ครั้งนี้แล้วหรือไม่ ซึ่งจังหวะการแพร่ระบาดครั้งนี้ค่อนข้างน่ากังวลเพราะใกล้กับวันหยุดเทศกาล ซึ่งมาตรการป้องกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้และปีที่แล้วก็มีความแตกต่างกัน โดยปีที่แล้ว ช่วงเทศกาลนี้รัฐบาลประกาศห้ามการเดินทางกลับภูมิลำเนา และงดจัดกิจกรรมรื่นเริง ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันมีจำนวนน้อยอยู่ สวนทางกับปีนี้ที่เป็นจังหวะเกิดคลัสเตอร์แห่งใหม่ และผู้ติดเชื้อก็กระจายไปทั่ว กทม. แต่มาตรการป้องกันมีการผ่อนคลายลงบ้างแล้ว

 

“คิดว่ารัฐบาลจะไม่กลับไปใช้มาตรการเข้มข้นเหมือนการระบาดระลอกแรก เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างหนัก แต่น่าจะใช้วิธีติดตามสถานการณ์เป็นจุดๆ มากกว่า นอกจากนี้ คลัสเตอร์รอบนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ผู้ติดเชื้อค่อนข้างกระจัดกระจาย จึงระบาดอย่างรวดเร็ว จังหวัดอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องการกลับมาแพร่ระบาดอีกก็จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ปกติ” 

 

สำหรับภาพการลงทุนการแพร่ระบาดระลอกนี้ ทำให้ทิศทางตลาดโดยรวมที่กำลังจะฟื้นตัวด้วยธีม Re-open หรือการเปิดประเทศอีกครั้ง และจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวไม่เป็นไปตามคาด และอาจจะเลื่อนการฟื้นตัวออกไป ทำให้เราจะเห็นภาพรวมการลงทุนชะลอตัว 

 

อย่างไรก็ตาม บนสมมติฐานว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการให้ประเทศไทยผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ระดับดัชนีปัจจุบันจึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น หุ้นวัฏจักรอย่างปิโตรเคมีและพลังงาน และหุ้นที่เติบโตสอดรับกับ New Normal ทั่วโลก อย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising