×

‘อาร์ม’ แนะไทยใช้ยุทธศาสตร์ ‘3 M’ รักษาสมดุลเชิงรุกในศึกการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯ

30.09.2021
  • LOADING...
อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หัวข้อ ‘ศึกเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน ความท้าทายและโอกาสของไทย’ โดยระบุว่า ขณะนี้จีนกำลังให้ความสำคัญในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจของตัวเองใน 3 ประเด็น เรื่องแรกคือการสร้างระบบนิเวศของห่วงโซ่การผลิตให้ครบถ้วน เปรียบเสมือนการสร้างป่าทั้งป่า จะต่างจากในอดีตที่วิ่งลอกเลียนเทคโนโลยีจากชาติตะวันตกเข้ามาอยู่ในประเทศ ซึ่งเปรียมเสมือนการย้ายต้นไม้ใหญ่

 

“ที่จีนต้องทำอย่างนี้เพราะจีนเริ่มถูกกีดกันทางเทคโนโลยี เช่น ผลิตมือถือได้แต่ใช้ชิปไม่ได้ การสร้างห่วงโซ่การผลิตของตัวเองจึงเป็นทางออก” อาร์มกล่าว

 

ประเด็นที่สอง ซึ่งจีนกำลังให้ความสำคัญคือการเปลี่ยนจาก Internet Economy ไปสู่การเป็น Platform Economy เนื่องจากการค้าในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่การขายสินค้าเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการขายแพลตฟอร์ม และนำดาต้าที่ได้จากแพลตฟอร์มมาใช้ประโยชน์ต่อยอด ขณะที่ประเด็นที่สาม คือการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาพลังงานน้ำมันไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งจีนเน้นเรื่องนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 อย่างชัดเจน

 

“สิ่งที่จีนกำลังให้ความสำคัญเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ทำอยู่แล้ว เช่น ห่วงโซ่การผลิตและ Platform Economy ขณะที่เรื่องสิ่งแวดล้อมรัฐบาลไบเดนก็กำลังให้ความสำคัญ ดังนั้น ภาพที่จะเกิดขึ้นในภูมิรัฐศาสตร์โลกต่อจากนี้จะเป็นการแข่งขันกันของสองมหาอำนาจใน 3 มิตินี้ จะเกิดศึกที่เรียกว่า 3D ได้แก่ Decoupling การพยายามผลักอีกฝ่ายออกจากห่วงโซ่ของตัวเอง Digitalization การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ และ Decarbonization การทำเศรษฐกิจสีเขียว” อาร์มกล่าว

 

อาร์มเชื่อว่าการแข่งขันที่เกิดขึ้นจะแบ่งโลกออกเป็น K-Shaped World ประเทศที่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ทันจะอยู่ในฝั่งขาขึ้น ขณะที่ประเทศที่ปรับตัวไม่ได้ก็อยู่ในฝั่งขาลง ดังนั้นภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่นี้ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์เชิงรุกที่เรียกว่า 3 M ได้แก่ 

 

  1. Middle Power คือต้องเข้าใจเกมในภาพใหญ่ และอำนาจต่อรองของตัวเองที่เป็นประเทศขนาดกลาง รักษาสมดุลเชิงรุกด้วยการเชื่อมต่อให้ได้กับห่วงโซ่ของทั้งจีนและสหรัฐฯ

 

  1. Mainland Southeast Asia คือต้องเข้าใจว่าห่วงโซ่ไม่จำเป็นต้องมีเพียงสองห่วงโซ่เท่านั้น แต่ไทยสามารถสร้างห่วงโซ่ของตัวเองได้เช่นกัน โดยวางตำแหน่งของเองให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนภาคพื้น

 

  1. Mitigating Risks คือการกระจายความเสี่ยงด้วยการเข้าไปอยู่ในหลายๆ ห่วงโซ่ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนทางนโยบายของชาติมหาอำนาจในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising