บทที่ยี่สิบเจ็ด
วันที่ อามีร์ ฮาริฟุดดิน เดินออกจากบ้านพัก เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ากิจกรรมที่เขาทำมาตลอดจะนำเขาไปสู่ผู้นำกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในที่สุด ต้องยกประโยชน์ให้กับความเร่งรีบของพวกดัตช์ที่ยอมเทเงินกว่า 25000 กิลเดอร์ให้เขาดำเนินการจัดต้ังขบวนการใต้ดินในฐานะผู้นำกลุ่มคนที่ฝักใฝ่ในลัทธิมาร์กซิสต์ อามีร์ถูกมองว่าเป็นคนหัวรุนแรง เขาถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นปีศาจร้ายของพวกนายทุนในชวา (ซึ่งบัดนี้ได้สวามิภักดิ์ต่อกองทัพญี่ปุ่นไปหมดสิ้นแล้ว) มีเสียงเล่าลือว่าอามีร์รับเงินจาก พี เจ เอ ไอเดนเบิร์ก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของดัตช์ และเขาใช้จ่ายเงินเหล่านั้นอย่างเพลิดเพลินทั้งต่อเติมบ้าน สั่งซื้อเหล้าชั้นดีจากยุโรป จนถึงการหมกตัวเมามายอยู่ตามบ่อนการพนันและที่อโคจรต่างๆ ข้าพเจ้าเองเชื่อในคำเล่าลือเหล่านั้น อามีร์ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายจริง แต่ไม่ใช่เพื่อตนเองและไม่ใช่เพื่อการต่อต้านญี่ปุ่น เขาใช้เงินทั้งหมดไปในสิ่งที่สูงส่งกว่านั้น เขาใช้เงินทั้งหมดไปเพื่อการปลดปล่อยอินโดนีเซียออกจากการเป็นอาณานิคม
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าคิดถึงอามีร์ ข้าพเจ้าจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลง อามีร์ผู้มีชาติกำเนิดเป็นมุสลิม หากแต่เขากลับเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคริสเตียนหลังจากการศึกษาในฮอลแลนด์ แต่อามีร์กลับไม่ใช่ผู้เชื่อมั่นในพระเจ้า เขากลับเชื่อมั่นในบางสิ่งที่เขาคิดว่ายิ่งใหญ่กว่าอันได้แก่อุดมการณ์ อามีร์เปลี่ยนตนเองจากคริสเตียนไปเป็นมาร์กซิสต์ เป็นผู้เชื่อมั่นในความเท่าเทียม ในพลังของมวลชน เขากลับประเทศบ้านเกิด ก่อตั้งกลุ่มผู้สนใจในความคิดดังกล่าว ขบวนการฝ่ายซ้ายของอามีร์ถูกทำให้มีความน่าสะพรึงกลัว ทั้งๆ ที่ผู้คนที่หวาดกลัวเขา และขบวนการของเขาไม่เคยอ่านแถลงการณ์จากกลุ่มของเขาเลย พวกดัตช์คิดเอาเองว่าการใช้อามีร์ทำสงครามกับกองทัพญี่ปุ่นจะทำให้คนชวาเปลี่ยนใจมาสนับสนุนตนเอง ดูสิ พวกหัวรุนแรงกำลังต่อต้านญี่ปุ่น พวกนั้นกำลังรบรากันเอง ดังนั้นชาวชวาที่รักสันติควรสนับสนุนเรา มีแต่คนดัตช์เท่านั้นที่รักและห่วงใยพวกท่านอย่างจริงจัง หากกลุ่มก่อการใต้ดินของอามีร์เป็นฝ่ายมีชัยต่อกองทัพญี่ปุ่น กองกำลังของดัตช์ที่รอเวลาก็จะเคลื่อนเข้าจัดการกับอามีร์ หรือหากทหารญี่ปุ่นเป็นฝ่ายมีชัย พวกดัตช์ก็จะสามารถกำจัดพวกหัวรุนแรงไปได้โดยไม่ต้องออกแรงใดๆ เงิน 25,000 กิลเดอร์อาจเป็นเงินที่มากสำหรับหลายสิ่ง แต่สำหรับการเล่นเกมที่ชนะในทุกสถานการณ์สำหรับเจ้าอาณานิคม เงินจำนวนนี้มีมูลค่าน้อยอย่างยิ่ง พวกเขาคำนวณทุกอย่างอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่มีปัญหา ไม่มีข้อผิดพลาด ทว่าพวกเขากลับคาดการณ์บางอย่างพลาดไป พวกเขาลืมนึกถึงข้าพเจ้า ลืมนึกถึงศรี อรพินโท และลืมนึกถึงบุหลันด้วย
หลายปีหลังสงครามเสร็จสิ้นลง ข่าวคราวการตายของอามีร์ด้วยน้ำมือของคนชาติเดียวกันเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าผิดความคาดหมาย อามีร์เป็นบุคคลที่กุมความลับจำนวนมาก ทั้งของพวกดัตช์ ของพวกหัวหน้ากลุ่มต่อต้านที่แปรพักตร์ แม้ว่าเขาจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินโดนีเซียอันเป็นบำเหน็จแห่งความพยายามทั้งมวลของเขา แต่ก็เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเอง อามีร์ ฮาริฟุดดิน เปลี่ยนแปลงตนเองอีกครั้งในที่สุด เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายจากคนเป็นไปสู่คนตาย
ข้าพเจ้ายังจดจำเช้าวันนั้นได้ มาเม็ตจอดรถและแทบจะไม่มีบทสนทนาใดระหว่างเรา อากาศในเดือนธันวาคมที่บันดุงเย็นสบาย แต่เสื้อผ้าป่านสีขาวของมาเม็ตชุ่มโชก “สิบนาที คุณมีนัดสำคัญในอีกสิบนาทีนับจากนี้ ขึ้นรถเถิด”
แทนบทสนทนา ข้าพเจ้ากระโดดขึ้นไปบนรถ เราทั้งคู่ออกเดินทางในทันที เพียงเวลาไม่กี่เดือนนับจากการมาถึงที่นี่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างข้าพเจ้ากับมาเม็ตเปลี่ยนแปลงไปโดยที่เราทั้งคู่แทบไม่รู้ตัว จากความเฉยชาไปสู่ความคุ้นเคย จากพนักงานขับรถมาสู่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ข้าพเจ้าคิดที่จะถามเขาถึงอาการเจ็บป่วยของกรมพระฯ แต่สีหน้าเคร่งเครียดของเขาทำให้ข้าพเจ้ารู้แน่แก่ใจว่ายังไม่ถึงเวลา รถของเราจอดลงในอีกสิบนาทีต่อมาที่หน้าอาคารแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าจำได้ว่านี่เป็นอาคารที่ข้าพเจ้าได้พบกับศรี อรพินโท เป็นครั้งแรกนั่นเอง
มาเม็ตเปิดประตูให้ข้าพเจ้า ที่โต๊ะกลางห้องนั้นมีชายสองคนนั่งอยู่ คนหนึ่งนั้นคือศรี อรพินโท ที่ข้าพเจ้ารู้จักดี ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นเป็นชายหนุ่มวัยเดียวกับข้าพเจ้า เขาเป็นชายชาวตะวันออก ใส่แว่นตาทรงกลมเยี่ยงพวกนักคิดทั่วไป เขาเหลียวมามองข้าพเจ้าในฐานะผู้มาใหม่ แววตาของเขาบ่งบอกความเคลือบแคลงออกมาอย่างเห็นได้ชัด ทว่ารอยยิ้มของศรี อรพินโท ที่มีต่อข้าพเจ้าดูจะทำให้ความกังวลของเขาคลายลงไป
“อามีร์ ผมอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับไฮน์ริช เบิล เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเรา และถ้าผมจะพูดให้มากกว่านั้นคือเขาเป็นยิ่งกว่าเพื่อนร่วมงานด้วยซ้ำไป เขาคือมิตรแท้ของเรา”
ข้าพเจ้าคาดเดาจากชื่อของชายผู้นั้น (อามีร์) ว่าเขาน่าจะเป็นชาวมุสลิม ข้าพเจ้าพยายามจะสัมผัสมือเขาตามแบบการทักทายที่ควรจะเป็น แต่ชายผู้นั้นกลับยื่นมือซ้ายออกมาให้ข้าพเจ้าจับ “ผมเป็นคริสเตียน อามีร์ ฮาริฟุดดิน ยินดีที่ได้พบกับคุณ ขอให้พระเจ้าทรงอวยพร”
มือของอามีร์ชุ่มไปด้วยเหงื่อ นี่เป็นบุคคลที่สองในวันนี้ที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกเขาอยู่ในความตึงเครียด มาเม็ต แล้วก็อามีร์ ไม่ต้องให้ศรี อรพินโท กล่าวอะไรออกมา ข้าพเจ้าก็แน่ใจว่ามีบางสิ่งที่สำคัญกำลังจะเกิดขึ้น
“ไฮน์ริช เบิล คือผู้ประสานงานในการจัดหาอาวุธสำหรับการต่อต้าน ‘พวกนั้น’ ให้กับเรา” ศรี อรพินโท จงใจใช้คำว่า ‘พวกนั้น’ ซึ่งหมายรวมถึงพวกดัตช์และญี่ปุ่นอันเป็นศัตรูของเราทั้งสิ้น
อามีร์พยักหน้าของเขาเบาๆ สายตาของเขาส่งสัญญาณของคำถามอย่างชัดแจ้ง “ผมเชื่อใจในคุณ ศรี อรพินโท และเชื่อใจในทุกคนที่คุณรับรอง แต่ชื่อไฮน์ริช เบิล นั้นเป็นภาษาเยอรมัน ผมคงต้องบอกว่าผมอดแปลกประหลาดใจไม่ได้ที่พวกฟาสซิสต์ตัวเอ้คนหนึ่งมาร่วมวางแผนที่จะกำจัดเพื่อนร่วมชาติของเขาร่วมกับเรา”
ศรี อรพินโท หัวเราะออกมาอย่างร่าเริงใจ เขาหัวเราะจนตัวโยน “ไม่เสียทีจริงที่คุณไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานนับปี และไม่เสียทีจริงๆ ที่พวกดัตช์หมดรูปข้างนอกนั้นไว้ใจในคุณ ไฮน์ริช เบิล เป็นชื่อของชาวเยอรมันจริงๆ แต่ไฮน์ริช เบิล ผู้นี้ไม่ใช่ชาวเยอรมัน และถ้าจะว่ากันตามจริง เขาเป็นศัตรูตัวฉกาจของชนชาตินั้นด้วยซ้ำไป” ศรี อรพินโท หันมามองข้าพเจ้า “คุณจะเป็นคนเล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้หรือจะให้ผมรับหน้าที่แทน” ข้าพเจ้ายิ้มให้ศรี อรพินโท “ถ้าคุณไม่ว่าอะไร ผมอยากให้คุณทำหน้าที่นี้แทน การพูดถึงตนเองต่อหน้าบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ผมไม่คุ้นเคยนัก แม้ว่าจะพยายามสักเพียงไรก็ตามที”
เรื่องราวของชายชาวฝรั่งเศสนาม ฟรังซัวส์ อูแบง ถูกเล่าขานผ่านถ้อยคำของศรี อรพินโท ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงสงครามกลางเมืองในสเปนเป็นระยะเมื่อได้ยินชีวประวัติของตนเอง ศรี อรพินโท ใช้เวลาราวสามสิบนาทีสำหรับเรื่องราวครึ่งหนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้า อามีร์นิ่งเงียบ เขาแทบไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา จนกระทั่งเรื่องของข้าพเจ้าถูกเล่าจบลง เขาหันมามองข้าพเจ้าก่อนจะพูดออกมาว่า “คุณสังกัดกลุ่มฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส?” ข้าพเจ้าพยักหน้า “แต่กลับคิดจะต่อสู้กับเผด็จการฟรังโกในสเปน?” ก่อนที่ข้าพเจ้าจะตอบอะไร อามีร์หัวเราะออกมา “เราคิดแบบเดียวกัน เราคิดแบบเดียวกัน” เขาพูด “ในโลกนี้ไม่มีอะไรชั่วร้ายเท่าเผด็จการ โดยเฉพาะพวกเผด็จการทหาร พักเรื่องอุดมการณ์ของชนชั้นไว้ก่อน เรามีหน้าที่ต้องโค่นจักรวรรดินิยม ฟาสซิสต์ และพวกบ้าเครื่องแบบ ผมจะชี้แจงแผนทั้งหมดให้คุณฟัง ซึ่งอาจทำให้ศรี อรพินโท อาจเบื่อหน่ายบ้างที่ต้องฟังมันเป็นคำรบสอง แต่เพื่อการทบทวน ผมคงหลีกเลี่ยงเช่นนั้นไม่ได้ ผมจะระบุจำนวนอาวุธที่เราต้องการพร้อมด้วยรายละเอียดทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เราจะรับผิดชอบ ไม่สิ ที่ถูกผมควรกล่าวว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านี้ได้รับการอุปถัมภ์จากพวกดัตช์ต่างหาก”
อามีร์เล่าแผนการบุกค่ายทหารญี่ปุ่นในบันดุง ข้าพเจ้ารู้สึกขนลุกทุกครั้งที่ได้ยินการกล่าวถึงชื่อของพันตรี โทรุ ซากาโมโต้ คนหนึ่งร้อยคน อาวุธครบมือ ยี่สิบคนแรกมีปืนกล ที่เหลืออีกแปดสิบคนใช้ปืนพกเพื่อทะลวงเข้าไป แผนการทั้งหมดจะลงมือในต้นเดือนมกราคม ช่วงเวลาที่ทหารญี่ปุ่นยังอ่อนเพลียกับงานฉลองการเริ่มต้นปี ข้าพเจ้ามีเวลาหนึ่งเดือนที่จะต้องส่งคำสั่งซื้อและขออาวุธไปยังหน่วยต่อต้านนาซีที่ฝรั่งเศส อาวุธจะมาจากทางใดนั้น ข้าพเจ้าจะแจ้งแก่อามีร์และศรี อรพินโท ในภายหลัง เพื่อความปลอดภัย เราจำต้องแบ่งการลำเลียงอาวุธเป็นหลายทาง อาวุธจะขึ้นฝั่งทั้งที่สุราบายาและบันเทน นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าบอกพวกเขา เราทั้งหมดแยกย้ายกันในเวลาบ่าย ข้าพเจ้าเดินออกมาเป็นคนสุดท้าย ในขณะที่ศรี อรพินโท กอดอามีร์ด้วยความอบอุ่น ข้าพเจ้าสัมผัสมือของอามีร์อีกครั้ง ในครานี้มันแห้งผาก อาการกังวลของเขาจบลงแล้ว “พบกันในเดือนมกราคม” ข้าพเจ้าบอกกับเขา ข้าพเจ้ามีเวลาอีกหนึ่งเดือนนับจากนี้สำหรับการจัดการเรื่องอาวุธและจัดการงานเขียนของกรมพระฯ เป็นหนึ่งเดือนที่สำคัญยิ่ง อามีร์ ฮาริฟุดดิน ขึ้นรถอีกคันจากไป ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้พบกับเขาอีก แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น ก่อนการลงมือเพียงสามวัน อามีร์และพวกของเขาอีกห้าสิบสามคนถูกจับ เขาติดอยู่ในคุกจนสงครามยุติลง
(ติดตามตอนต่อไปในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561)
ติดตามอ่าน วายัง อมฤต ตอนก่อนหน้าได้ที่
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 1-2)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 3-4)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 5)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 6-7)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 8)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 9)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 10)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 11-12)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 13)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 14)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 15-16)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 17)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 18)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 19)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 20)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 21)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 22)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 23)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 24)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 25)
- วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 26)