×

วายัง อมฤต นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ (บทที่ 25)

22.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read

คำนำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามในปีพุทธศักราช 2475 นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่งในประเทศของเรา การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นส่งผลกระทบถึงสังคมส่วนใหญ่และปัจเจกชนส่วนย่อยจำนวนมาก เรื่องราวของผู้ที่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการอภิวัฒน์ครั้งนั้นมีบันทึกไว้มากมาย แต่ละบุคคลล้วนผิดแผกแตกต่างกันไป

 

ชีวิตของผู้คนนั้นเป็นแกนกลางของนวนิยายอยู่เสมอ โดยเฉพาะนวนิยายประวัติศาสตร์ ดังนั้นการหยิบยกชีวิตของบุคคลที่เคยอยู่ในตำแหน่งที่สูงเด่น หากแต่ต้องผกผันอย่างคาดไม่ถึงมาเล่าใหม่ในครั้งนี้ แม้จะมีความจริงแฝงอยู่หลายประการ แต่การพ้องเคียงกับชีวิตของบุคคลใดก็ตามเป็นเพียงจินตนาการโดยสมบูรณ์ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

 

อนุสรณ์ ติปยานนท์

บทที่ยี่สิบห้า

 

พันตรี โทรุ ซากาโมโตะ ไม่ได้หลับตลอดคืน เขาได้แต่ครุ่นคิดถึงหิมะ หิมะที่ขาวที่สุด หิมะที่เหน็บหนาวที่สุดเท่าที่เขาจะคิดถึงได้

 

เมื่อคิดถึงหิมะ พันตรี โทรุ ซากาโมโตะ คิดถึงหิมะในสามเหตุการณ์ เขาสับเปลี่ยนความทรงจำที่มีต่อหิมะเหล่านั้นเสมอ บ้างทำตามช่วงเวลา บ้างทำตามความรุนแรง และบ้างทำตามความสะเทือนใจ ความคิดคำนึงของเขาทำหน้าที่คล้ายกลักฟิล์มภาพยนตร์ที่เล่นภาพย้อนไปมา ตัดสลับไปมา จากหน้ามาหลังและหลังมาหน้าตามใจนึก หลายครั้งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาเห็นเขายืนอยู่อย่างสงบริมหน้าต่าง จ้องมองไปที่ทิวทัศน์เบื้องนอก คนเหล่านั้นคิดว่าพันตรี โทรุ ซากาโมโตะ กำลังคิดถึงกลยุทธ์ทางการทหาร แต่ผิดถนัด สิ่งที่เขาครุ่นคิดถึงมีเพียงแต่หิมะ หิมะเท่านั้นเอง

 

หิมะฝังตัวในความทรงจำครั้งแรกของเขาที่ฮอกไกโด ในเมืองชิโตเสะที่เขาถือกำเนิดมา เย็นวันนั้นเขาเดินเท้ากลับจากโรงเรียน ท้องหิว คิดถึงอาหารที่แม่และพี่สาวจะเตรียมไว้ให้เขาที่บ้าน พ่อของเขาที่เป็นชาวนาตายจากเขาไปตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 4 ขวบ ดังนั้นเขาจึงหลงเหลือเพียงแม่และพี่สาว เขาเป็นผู้ชายคนเดียวในบ้านและเป็นผู้ชายที่ตั้งปณิธานจะปกป้องหญิงสาวทั้งสองคนในบ้าน แต่ในเย็นวันนั้นเองที่เขาพบว่าปณิธานของเขาได้ล้มเหลวลงแล้วอย่างสิ้นเชิง

 

พี่สาวของเขานั่งขดตัวอยู่ในรถลาก หิมะตกลงมาอย่างหนัก พี่สาวของเขาในเสื้อนวมเก่าคร่ำคร่านั่งกอดอก ร้องไห้สะอึกสะอื้น รถลากทิ้งรอยล้อเป็นทางยาวในหิมะ ร่องรอยของล้อบ่งบอกว่ารถลากเพิ่งเดินทางมาถึง รถลากมาเพื่อรับพี่สาวของเขาหรือมาเพื่อพรากพี่สาวไปจากเขา

 

ชายลากรถหันหัวรถออกจากบ้าน เขาวิ่งตามรถคันนั้นไป พยายามจะดึงพี่สาวผู้มีวัยต่างจากเขาเพียงสามปีลงจากรถ แต่ชายลากรถไม่สนใจ เขาตั้งใจวิ่งไปข้างหน้า พี่สาวของเขาก็หาได้พยายามจะลงจากรถไม่ เขาออกแรงวิ่งและเชื่อว่าเขาจะวิ่งทันรถลากคันนั้นแน่ ถ้าหากแม่จะไม่รั้งตัวเขากลับมา

 

เขาล้มอยู่ท่ามกลางหิมะหนา ร่างของเขาเปียกโชก แม่กดตัวเขากับพื้น รถลากวิ่งห่างออกไป ไกลออกไป เขาตะโกนจนสุดเสียง ก่อนที่แม่จะใช้ฝ่ามือป้องเสียงร้องของเขา เนิ่นนานที่เขาร่ำไห้ ก่อนที่แม่จะพาเขากลับเข้าไปในบ้าน ข้าวต้ม ปลาแห้ง ไข่ไก่ เต้าเจี้ยว และผัก พร้อมทั้งความจริงว่าอาหารที่อุดมสมบูรณ์แตกต่างจากเกลือและโชยุในมื้อก่อนมาจากค่าตัวพี่สาวของเขา เธอเดินทางไกลไปในเมืองหลวง ห่างไกลออกไปเพื่อบรรเทาความหิวโหยของคนที่ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง

 

เขาไม่ได้พบพี่สาวอีกเลยนับจากนั้น

 

 

โทรุ ซากาโมโตะ ในวัยหนุ่มเข้าโรงเรียนนายร้อยที่โตเกียวในปี 1927 ที่นั่นเขาได้พบกับ นายพล มาซากิ อินซาบุโระ ที่นั่นเขาได้เรียนรู้จิตวิญญาณแห่งนักรบที่เรียกขานกันว่า ‘บูชิโด’ ที่นั่นเขาได้พบกับรุ่นพี่นาม นิชิดะ มิตซูกิ และจาก นิชิดะ มิตซูกิ ทำให้เขาได้พบกับ คิตะ อิกกิ และจาก คิตะ อิกกิ ทำให้เขาได้พบกับอุดมการณ์ที่จะฟื้นฟูประเทศชาติจากเหล่าผู้ล้อมรอบองค์จักรพรรดิที่กำลังแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หนังสือชื่อ ‘แผนการสร้างชาติโดยสังเขป’ ของ คิตะ อิกกิ เป็นหนังสือที่เขาหยิบอ่านบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ 4 ปีต่อมา กองทัพกว่างตงบุกเข้ายึดแมนจูเรีย กองทหารบกเข้มแข็งขึ้น มั่งคั่งขึ้น แต่ก็เฉพาะในกลุ่ม โครงสร้างทั้งหมดของสังคมกำลังอ่อนแอและสมควรต้องคืนอำนาจทั้งหมดให้กับองค์พระจักรพรรดิ โทรุ ซากาโมโตะ บอกตนเองเช่นนั้น และเขากับเพื่อนคือกลุ่มคนที่จะต้องกระทำมัน

 

พวกเขาเฝ้ารอเป็นเวลา 4 ปี และเมื่อถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 1936 โทรุ ซากาโมโตะ และเพื่อนทหารก็เคลื่อนพลเข้ายึดสถานที่สำคัญ เช้าตรู่ของวันนั้น ตัวเมืองโตเกียวเงียบสงบ หิมะตกหนักมาตลอดคืน เมืองทั้งเมืองขาวโพลน

 

กองทหาร 1,400 นายมุ่งหน้าออกจากกรมกองของตนไปตามถนนอย่างเงียบๆ พวกเขามุ่งหน้าไปสังหารบุคคลตามรายชื่อ ทั้งรัฐมนตรีคลัง ทั้งประธานองคมนตรี ทั้งผู้อำนวยการสถาบันทหาร มีบางคนในรายชื่อเล็ดลอดหลบหนีไปได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เหล่าทหารหนุ่มได้ยึดครองโตเกียวไว้แล้ว

 

แต่ไม่ใช่ในพระราชวัง

 

เช้าวันนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงตื่นบรรทมจากการปลุกของราชเลขาธิการที่เตรียมถวายรายงานในสิ่งที่เกิดขึ้น ราชเลขาธิการไม่เคยเห็นองค์พระจักรพรรดิทรงพิโรธถึงเพียงนี้มาก่อน “พวกเขาฆ่าคนของฉัน แล้วตอนนี้จะนำเอาความลำบากมามอบให้ฉัน ต่อให้พวกเขาตั้งใจดีเพียงใด ฉันก็ยากที่จะให้อภัยพวกเขา” พระองค์ทรงมีบัญชาให้จัดการกับพวกทหารหนุ่มโดยทันที การปฏิเสธว่าด้วยการกระทำทั้งปวงของเหล่าทหารหนุ่มจากองค์พระจักรพรรดิ ทำให้ทหารหนุ่มหลายนายเสียกำลังใจ และเมื่อถือว่ากระทำการไม่สำเร็จ เหล่าผู้นำทหารหนุ่มหลายคนก็สังหารตนเอง ส่วนผู้นำที่เหลือถูกสั่งประหารชีวิตในเวลาต่อมา

 

หลังถูกปล่อยออกจากเรือนจำโยโยกิในอีกหลายเดือนต่อมา โทรุ ซากาโมโตะ รับคำสั่งให้เดินทางไปแมนจูเรีย ดินแดนที่เขาชิงชัง หลังจากนั้นไม่นานนักเขาขอย้ายตัวเองไปยังหมู่เกาะซัคคาลิน สถานที่ที่เขาคิดว่าใกล้ดินแดนบ้านเกิดเขามากขึ้น เขาประจำการอยู่ในสนามเพลาะที่หนาวเหน็บ หิมะโปรยปรายแทบตลอดปี ตลอดวัน แต่ โทรุ ซากาโมโตะ ไม่สนใจความเจ็บปวด ความผิดหวังในชีวิตของเขาเกิดขึ้นท่ามกลางพายุหิมะ ดังนั้นหากเขาจะต้องตายท่ามกลางหิมะ เขาก็ยินดี เขาประจำการอยู่ที่ซัคคาลินหลายปี สังหารผู้คนมากมายไปในดินแดนหิมะเหล่านั้น เขากลายเป็นผู้ที่ไม่ตายในความหนาวเหน็บ และเมื่อคำสั่งให้เขาเดินทางมาในดินแดนแถบเส้นศูนย์สูตร เขาก็พบแล้วว่าความตายในความหนาวเหน็บจะไม่มีกับเขาอีกต่อไป ในดินแดนอันอบอุ่นเช่นนี้เขาจะต้องเป็นอมตะ เขาคิดเช่นนั้นจนเมื่อวานนี้ เฮลิคอปเตอร์ทหารพาเขาผ่านเทือกเขาจายา วิชัย ในปาปัวร์ ภาพของหิมะที่ปกคลุมเหนือเทือกเขานั้นทำให้ความทรงจำจำนวนมากหลั่งไหลออกมา เขาเพิ่งพบว่าแม้แต่ในดินแดนเช่นอินโดนีเซียก็มีหิมะอยู่แม้จะเพียงที่เดียวก็ตาม ดังนั้นความเป็นอมตะอาจไม่มีขึ้นสำหรับเขา การรบนับจากนี้เขาอาจเป็นผู้พ่ายแพ้และจากโลกนี้ไปก็เป็นได้ แต่ช่างเถิด ไม่มีอะไรต้องกังวลอีกต่อไป บัดนี้ได้เวลาทำความสะอาดเมืองบันดุงแล้ว ได้เวลาปัดกวาดเมืองบันดุงแล้วจากพวกต่อต้าน

 

ได้เวลาขจัดภาพเงาของ วายัง อมฤต แล้ว

 

(ติดตามตอนต่อไปในวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2561)  

 

ติดตามอ่าน วายัง อมฤต ตอนก่อนหน้าได้ที่

FYI

เชิงอรรถ  

เหตุการณ์ยึดอำนาจของกลุ่มทหารหนุ่มกว่าพันนายในปี 1936 เป็นเหตุการณ์สำคัญ มีทหารหนุ่มเสียชีวิตถึง 22 นาย ทั้งจากการสังหารตนเองและจากการประหารชีวิต ในฐานะของกบฏ ครอบครัวจะรับร่างกายของพวกเขาไปแต่ไม่อาจประกอบพิธีกรรมใดๆ ได้ ร่างของผู้ตายถูกฝังตามที่ต่างๆ จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นลง ครอบครัวของผู้ตายจึงกระทำพิธีศพและนัดแนะวันพบกันไว้ปีละ 2 ครั้ง คือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และวันที่ 12 กรกฎาคมอันเป็นวันประหารชีวิต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X