×

อังเกลา แมร์เคิล เผย เธอไม่มีอิทธิพลต่อปูติน หลังก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ เยอรมนี

25.11.2022
  • LOADING...

วานนี้ (24 พฤศจิกายน) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เผยว่า เธอไม่มีอิทธิพลในการโน้มน้าวประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่เธอก้าวลงจำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา 

 

เธอยังเผยอีกว่า เธอเคยพยายามที่จะเปิดพื้นที่เจรจาระหว่างผู้นำในยุโรป โดยเฉพาะประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ในช่วงฤดูร้อนปี 2021 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะอีกไม่นานเธอต้องก้าวลงจากอำนาจตามที่เธอเคยประกาศคำมั่นไว้

 

แมร์เคิลเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเยอรมนีเล่มหนึ่งก่อนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งในช่วงปลายปี 2021 ว่า อำนาจทางการเมืองของเธอได้สิ้นสุดลงแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับปูตินมีเพียงอำนาจเท่านั้น โดยเธอเดินทางเยือนกรุงมอสโกของรัสเซียเป็นครั้งสุดท้าย ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการเข้าพบผู้นำรัสเซียแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งสุดท้ายของเธอในฐานะผู้นำเยอรมนีและเสาหลักของสหภาพยุโรป

 

ทางด้าน โรเดอริช คีเซอเว็ตเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศภายในพรรคคริสเตียนเดโมเครติกยูเนียนของแมร์เคิลในช่วงเวลานั้น เผยว่า แมร์เคิลทราบดีถึงสิ่งที่ปูตินกำลังพยายามแบ่งแยกยุโรปและทำให้ยุโรปอ่อนแอ แต่เธอยังคงเชื่อว่า Soft Power จะยังคงเป็นเครื่องมือและวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งชี้ว่า เยอรมนีในช่วงก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากรุกรานยูเครนนั้นพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากเกินไป 

 

โดยแมร์เคิลเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว DER SPIEGEL ของเยอรมนี ว่า เธอพอใจระดับหนึ่งกับท่าทีของเธอต่อกรณีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ในฐานะตัวกลางในการเจรจาสันติภาพมินสก์เมื่อปี 2014 เพราะการเจรจาในครั้งนั้นช่วยซื้อเวลาให้ยูเครนเตรียมพร้อมรับมือกับกองทัพรัสเซียได้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย หากการรุกรานหรือการปะทะกันเกิดขึ้นจริงในอนาคต 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่รัสเซียตัดสินใจรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทำให้ข้อตกลงสันติภาพมินสก์ที่เคยทำไว้เป็นอันต้องสิ้นสุดลง และแมร์เคิลเองก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก 4 สมัยของเยอรมนี เนื่องจากเธอมองว่าเธอล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน หรือวิกฤตความขัดแย้งในมอลโดวา จอร์เจีย ซีเรีย และลิเบีย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับรัสเซียทั้งสิ้น

 

ทั้งแมร์เคิลและปูตินต่างมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน เนื่องจากทั้งคู่ต่างเคยมีประสบการณ์อาศัยอยู่ในเยอรมนีตะวันออก ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น โดยแมร์เคิลเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นและทำงานเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง KGB ของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับปูติน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปูตินถึงสามารถสื่อสารภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว ขณะที่แมร์เคิลเองก็พอจะสื่อสารภาษารัสเซียได้เช่นเดียวกัน

 

แฟ้มภาพ: John Mcdougall / AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising