×

ความทรงจำของ พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา: 8 ปีในวังปารุสก์ 86 ปีต้นไม้ที่คณะราษฎรปลูก

23.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • จะกล่าวว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามได้อย่างไร ในเมื่อไม่เคยมีกระทั่งต้นไม้ จึงไม่มีสิทธิ์จะสุก สิทธิ์จะห่าม แต่คุณพ่อและคณะราษฎรเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อปลูกต้นไม้ต้นนี้ขึ้นในแผ่นดินนี้ ต้นไม้ที่ชื่อว่าประชาธิปไตย
  • การไม่มีแกนนำ เพราะฉะนั้นคนไทยถามตัวเองกันว่า จะอยู่อย่างนี้หรืออยู่ในขณะที่ตัวเองมีอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

คุณลุงพระยาทรงสุรเดช คุณอาหลวงประดิษฐ์ คุณอาควง คุณอามโน ข้างต้นคือถ้อยคำที่เราจะได้ยินตลอดการสนทนา ซึ่งน้อยครั้งที่เราจะได้ฟังเรื่องราวของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จากคนที่เรียกบุคคลในประวัติศาสตร์หลายๆ ท่านว่า คุณลุง คุณอา ตลอดจนได้ยินการออกเสียงคำว่า ‘คะ นะ ราด’ เมื่อหมายความถึงคณะราษฎร ทั้งๆ ที่ผู้พูดก็รู้ว่าคณะราษฎรไม่มีการันต์ แต่ก็ยังยืนยันจะออกเสียงว่า คะ นะ ราด เพราะได้ยินมากับหู เพราะได้อยู่ร่วมยุคสมัยกับเหล่าบุคคลที่เรียกตัวเองเช่นนั้น

 

ลุงแมว หรือ พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา จะพาเราไปรู้จักตัวตนของพวกเขาผ่านสายตาของเด็กชายพุทธินาถ ในวันที่วังปารุสก์ยังเป็นที่ทำการชั่วคราวของคณะราษฎร ต่อเนื่องจนมาเป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พันเอก พหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นบิดาของลุงเเมวเอง ก่อนที่จะต้องคืนให้รัฐบาลหลังจากที่คุณพ่อเสียชีวิต

 

ท้ายสุด แม้ลุงแมวจะอยู่ร่วมสมัย ได้สัมผัสรับรู้ตัวตน จดจำคณะราษฎรได้ แต่ลุงแมวก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องจดจำคณะราษฎร เพียงแต่อยากให้ย้อนกลับมาถามว่าอยากจะอยู่กันแบบนี้ หรืออยากอยู่โดยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

 

 

ตัวตนพระยาพหลในความทรงจำของลุงแมว

คุณพ่อทั้งดุ ทั้งตลก เฮฮา ที่จำได้แม่นคือถูกคุณพ่อตีเพราะอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ ไม่ได้ พ่อก็ตีที่น่อง ตีแตก ห้ามร้อง เอาทิงเจอร์ทา แต่ก็ร้องไม่ได้ บางทีคุณพ่อเรียกหาพี่ชาย เสียงคุณพ่อก้องวังปารุสก์เลย พี่ชายก็ขานรับ ครับแต่ก็ยังไม่ขึ้นไปหาคุณพ่อ คุณพ่อเรียกเป็นครั้งที่ 3 ก็ยัง พ่อเลยเอาไม้เรียวมา พี่ก็รีบวิ่งขึ้นไป แล้วคุณพ่อก็สั่งทำโทษให้เดินไปกลับสิบกว่าเที่ยวที่ระเบียง” ลุงแมวเล่าถึงความดุของคุณพ่อ

บางคืนคุณพ่อมองดูจากหน้าต่างเห็นทหารยามยืนหลับ คุณพ่อก็เอาตะขอเกี่ยวหมวกทหารยามดึง กระตุกขึ้นมาทหารก็ตกใจ วิ่งร้องว่าผีหลอกๆ คุณพ่อก็หัวเราะลั่น แต่ก็แกล้ง และสั่งไม่ให้ไปลงโทษ แกล้งแล้วก็คือจบกัน

 

ลูกนักการเมือง แต่ไม่เคยได้ฟังเรื่องการเมืองจากคุณพ่อ

พ่อไม่เคยเอาเรื่องการบ้านการเมืองมาคุยกับคุณแม่กับลูกที่บ้านเลย บ้านที่ลุงแมวเกิดคือบ้านวังปารุสก์ ซึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราวของคณะราษฎร

 

 

ชีวิตลูกผู้นำที่เกิดในวัง กินเนื้อเค็มกับข้าวแดง เกาะแกะคณะราษฎรฟังเขาคุยกัน

ตอนนั้นเด็กเกินกว่าจะรู้สุขสบาย มีแต่สนุกแบบเด็กๆ บางทีก็ไปขอทหารกินข้าวแดง เพราะที่นั่นมีกองร้อยของทหาร ร.พันเก้า ซึ่งไปรักษาการวังปารุสก์ ข้าวแดงใส่ถังไม้ให้ทหารทาน ก็ไปขอทานกับเขา มีเนื้อเค็มหนาๆ ซึ่งติดใจมากๆ ก็ชอบไปเล่นกับทหาร ส่วนตึกที่ติดด้านกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นที่ทำงานของ ‘คุณอา’ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) คณะราษฎรฝ่ายพลเรือน หรือเรียกตึกพลเรือน ส่วนวังปารุสก์ฝั่งติดสวนอัมพร เรียกว่าฝั่งทหาร เมื่อพวกที่อยู่ตึกฝั่งทหาร ฝั่งพลเรือนมาคุยกัน ลุงแมวก็จะเกาะแขนเกาะเอวพวกผู้ใหญ่ฟังเขาคุยกัน แต่ไม่รู้เรื่องเท่าไร

 

เรื่องการเมือง ได้รับรู้ตอนไหน

ก็รู้จากคุณแม่ภายหลัง อย่างเรื่องสมัยคุณพ่อจะไปทำงานวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คุณแม่ก็รู้ เพียงแต่ไม่รู้รายละเอียดว่างานใหญ่เกี่ยวกับบ้านเมืองที่คุณพ่อจะไปทำคืออะไร แต่คุณพ่อสั่งคุณแม่ไว้ว่างานใหญ่ที่จะไปทำงานนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้าเผื่อตัวคุณพ่อเป็นอะไรไป ก็ขอให้คุณแม่ดูแลเลี้ยงบุตรอย่างดีด้วย

 

ชีวิตไม่เปลี่ยน มีแต่เปลี่ยนที่อยู่

ต่อคำถามที่ว่า “ชีวิตที่เติบโตมาในวังปารุสก์ เมื่อถึงวันที่คุณพ่อเสีย มีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างไรบ้าง” ลุงแมวตอบว่า มีแต่เปลี่ยนที่อยู่ โดยนับตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 ที่คุณพ่อเสียแล้ว 8 พฤศจิกายน 2490 ก็เกิดรัฐประหาร ลุงแมวบอกว่าหลังจากนั้นได้ไม่กี่วัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มาขอคุณแม่จะใช้ตึกวังปารุสก์เป็นที่ทำงานของคณะรัฐประหาร จึงให้คุณแม่และครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เกียกกาย สมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นชานเมือง อยู่ได้ปีหนึ่ง จอมพล ป. ก็หาที่ใหม่ให้อยู่ โดยได้ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่เวลานั้นยังขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรีหาที่ให้ที่บ้านสวนอัมพวัน เยื้องกับบ้านสี่เสาเทเวศร์ในปัจจุบันนี้

 

เกร็ดเกี่ยวกับบ้านสี่เสาเทเวศร์ พ้นตำแหน่งแล้วก็คืน

ลุงแมวอดไม่ได้ที่จะเล่าให้เราฟังว่าบ้านสี่เสาเทเวศร์นี้ จอมพล ป. สร้างให้แม่ทัพบูรพาพันเอกหลวงพรหมโยธีอยู่ ซึ่งสมัยสงครามอินโดจีน พันเอกหลวงพรหมโยธี ได้นำกองทัพบูรพาบุกยึดเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ แต่ตัวหลวงพรหมโยธีก่อนหน้านั้นอยู่ห้องแถวเชิงสะพานมัฆวาน

 

ซึ่งในเวลาต่อมา เมื่อพันเอกหลวงพรหมโยธีเลิกเป็นแม่ทัพบูรพา ก็ได้คืนบ้านให้กองทัพบกไป แล้วก็ไปอยู่บ้านของตัวท่านที่ปลูกเอง

 

 

‘เด็กดื้อ’ ลูกอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่เลือกเป็นทหารนายสิบ

“ถึงจะเรียนได้ แต่จะสอบไปได้สักกี่น้ำ เขาไล่ออกแหงๆ”

 

ลุงแมวชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ชอบไอน์สไตน์ แต่จุดพลิกผันคือเมื่อมัธยม 4 ตอนนั้นราวๆ ปี 2496-2498 โดนย้ายห้อง ซึ่งเป็นห้องที่มีนักเรียน 75 คน แล้วที่นั่งก็อยู่แถวหลังห้องรายล้อมด้วยพวกที่คุยเล่นเสียง ลุงแมวก็คุยกับครูขอย้ายที่นั่งแต่ครูก็ไม่ให้ย้าย ขอย้ายกลับห้องเดิม ผู้อำนวยการก็ไม่ให้ย้าย บอกว่า “ให้เธออยู่ห้องนั้นก็ต้องอยู่ห้องนั้น” ผลการเรียนจึงตกลงเรื่อยๆ จากที่สมัยอยู่ห้องเดิมได้คะแนนร้อยละ 80 แต่พอจบ ม.6 ก็ตกมาอยู่ร้อยละ 50 เศษๆ ซึ่งเป็นระดับคะแนนที่น้อยเกินจะใช้สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยได้ จึงมาสมัครเป็นนักเรียนนายสิบโดยไม่ได้บอกใคร แต่พอผู้บัญชาการที่โรงเรียนนายสิบทราบนามสกุลก็เรียกมาถามจนได้ความว่าลุงแมวเป็นลูกเจ้าคุณพหล ก็มาถามไถ่ว่าทำไมคุณชายไม่เป็นนักเรียนนายร้อย ลุงแมวก็ตอบตรงไปตรงมาว่าสอบไม่ได้

 

ผู้การในตอนนั้นก็บอกว่า “ได้สิ ต้องได้ เดี๋ยวผมจัดการให้” ลุงแมวก็บอก ไม่เอาครับ ท่านผู้การก็งงที่ลุงแมวปฏิเสธ โดยลุงแมวเห็นว่าถึงจะเรียนได้ แต่จะสอบไปได้สักกี่น้ำ เขาไล่ออกแหงๆ เพราะคะแนนจบ ม.6 ก็ได้แค่ร้อยละ 50 อย่าเข้าเลย ผู้การก็ให้คนไปแจ้งคุณแม่ แถมยังจะลัดขั้นตอนให้ลุงแมวได้เป็นนายสิบโดยไม่ต้องเรียน แต่ลุงแมวก็ไม่ยอม จนได้เรียนในที่สุด ซึ่งก็ถูกผู้การเรียกว่าเป็น ‘เด็กดื้อ’

 

ยืนยันว่าการเป็นลูกชายพันเอกพหล นายกรัฐมนตรี ทำให้ชีวิตในรั้วโรงเรียนนายสิบได้รับอภิสิทธิ์

 

ลุงแมวยืนยันว่าผู้การโรงเรียนนายสิบสั่งไปยังค่ายที่สระบุรีเลยว่าอย่าลงโทษมาก แต่ชีวิต 6 เดือนในค่ายที่สระบุรีมีเขียนๆ ไว้แล้ว รอโอกาสตีพิมพ์เป็นหนังสือ

แต่เพราะเป็นลูกพหลอีกเช่นกัน การเติบโตในกองทัพจึงสะดุดลงเพียงยศพันตรี

 

“แมวรู้ไหมว่าทำไมถึงถูกย้าย”

 

วันดีคืนดีเขาก็บอกว่าลุงแมวซ่องสุมกำลังปฏิวัติ และคนที่ย้ายลุงแมวจาก ผบ.กองร้อยรถถังก็ถามว่า “แมวรู้ไหมว่าทำไมถึงถูกย้าย” ก็คิดว่าพี่ที่เป็น ผบ.พล ต้องการเอาไปทำงานที่ศูนย์ทหารม้าเป็นอาจารย์สอนมั้ง เขาบอกว่าไม่ใช่ เป็นเพราะ “ซ่องสุมกำลังปฏิวัติ”

 

ลุงแมวก็ถามกลับว่า “พี่เชื่อเหรอว่าคนอย่างผมจะทำ” เขาก็บอกว่าเชื่อเพราะเป็นลูกพันเอกพระยาพหล และเป็นลูกน้องมนูญ รูปขจร (มนูญกฤต รูปขจร)

 

 

ปากคำคนเคยร่วมทำรัฐประหาร “ไม่ได้ไปเพราะคิดถึงเรื่องบ้านเมือง เพียงแค่มันเท่”

ตอนเป็นทหารรถถัง ครั้งที่ถนอมยึดอำนาจตัวเองปี 2515 ลุงแมวก็ได้เอารถถังออกไปร่วม เพราะรู้สึกว่าตอนนั้นมันเท่ มันมีฝ่ายทำฝ่ายเดียว ฝ่ายต่อต้านมันไม่มี ออกไปก็มีสาวๆ ชอบ ไม่ได้รู้สึกว่าไปเพราะบ้านเมือง แต่ไปเผื่อจะได้แฟนกับเขาบ้าง

 

‘ประ 3 ตัว’ ที่ไม่เคยสำเร็จดั่งที่อ้าง ไม่ว่าผ่านมีกี่รัฐประหาร

บุตรชายผู้เกิดในสมัยปฏิวัติครั้งแรกและอยู่เห็นการรัฐประหารมาทุกครั้งบอกว่า การปฏิวัติมีแค่ครั้งเดียวคือ 2475 ถ้าพลาดคือประหาร 7 ชั่วโคตร แต่ครั้งต่อๆ มา เป็นการเปลี่ยนฝูงเหลือบเพื่อดูดเลือดประเทศชาติ ไม่มีการเอาชีวิตเข้าไปเสียสละ แต่การรัฐประหารครั้งหลังๆ คือการอ้าง ‘ประ’ สามตัว

 

ประตัวแรกคือ ประเทศชาติย่ำแย่

ประตัวที่สอง ประชาธิปไตยมันไม่มั่นคงสักที

ประตัวที่สาม ประชาชนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า

 

แต่ปฏิวัติกี่ครั้งๆ ไอ้ประสามตัวก็ไม่เคยได้ประโยชน์สักครั้ง ดังนั้นปฏิวัติครั้งเดียวที่ผมยอมรับคือครั้งที่คุณพ่อกับคณะราษฎรช่วยกันทำ ซึ่งเดี๋ยวนี้การรัฐประหารไม่อ้างสามประแล้ว แต่จะอ้างมันโกงกินสารพัด

 

ประเทศวันนี้ไม่ได้เดินไปตามแนวทางของคณะราษฎร มันถูกบิดเบือน

คนที่เคยมีอำนาจ ไม่อยากจะลงจากอำนาจ เขาก็ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาทดแทนเขา

 

แล้วอย่างที่บอกว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม

ลุงแมวอธิบายว่า ประชาธิปไตยเปรียบกับต้นไม้ เมื่อต้นไม้ยังไม่ถูกปลูก มันก็ยังไม่มีผลออกมา เมื่อไม่มีผลมันจะห่ามได้อย่างไร ก็มันไม่มีสิทธิ์จะห่าม สิทธิ์จะสุก มันไม่มีต้นไม้ แต่เป็นคุณพ่อกับคณะราษฎรที่เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปลูกต้นไม้ขึ้นในแผ่นดินนี้  และมอบให้ราษฎรทั้งหลายเป็นเจ้าของ ตัวคณะราษฎรคือคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต้นไม้ต้นนี้มีเรื่องของสิทธิของราษฎรทั้งหลาย สิทธิในความมีเสรีภาพ สิทธิในความเสมอภาค สิทธิในภราดรภาพ ต้นไม้นี้มาเรียกในตอนหลังว่าประชาธิปไตย

 

 

คุณลุง คุณอา กับบทบาทหน้าที่ในวันก่อการ

ลุงแมวเล่าว่าคุณพ่อทำพิธีวางหมุดรัฐธรรมนูญจุดที่คุณพ่อยืนประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่มีคณะราษฎรหลายๆ ท่านไม่ได้อยู่ตรงนั้น  

 

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน คุณอาหลวงประดิษฐ์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ปรีดี พนมยงค์) แจวเรืออยู่คลองบางลำพูแจกใบปลิวให้ราษฎรทั้งหลาย

 

ลุงพระประศาสน์พิทยายุทธก็นำกำลังนักเรียนนายร้อยไปเชิญสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ เชิญพระยาต่างๆ

 

คุณอาควง (หลวงโกวิท อภัยวงศ์) ก็พาพรรคพวกไปตัดสายโทรเลข โทรศัพท์

พระนครสมัยนั้นทหารที่อยู่แถวบางซื่อทั้งหมดจะมาฝึกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กับสนามเสือป่า เพราะตอนนั้นไม่มีตึก มีแต่รั้วกับหญ้า สนามหญ้าเต็มไปหมด ส่วนตึกต่างๆ มาสร้างขึ้นทีหลัง ลานพระบรมรูปทรงม้าสมัยนั้นก็มีแต่ลานโรยกรวดไม่มีแม้แต่ยางมะตอย สมัยเด็กๆ ลุงแมวก็ยังไปเดินตามลานโรยกรวด ส่วนทหารที่อยู่ด้านพระบรมหาราชวัง ก็ฝึกกันที่สนามหลวง มี 2 ที่ ทุกเช้า

 

ได้ฟังคุณพ่อพูดถึงคุณอาหลวงประดิษฐ์ว่า “คุณอาหลวงประดิษฐ์ถึงจะมีความรู้มาก แต่ยังมีประสบการณ์ในการคบคนน้อยเพราะฉะนั้นก็เลยโดนเล่ห์กลลวงถึงกับนอนหงายท้องเลย”

 

เมื่อพูดถึงคุณอาหลวงประดิษฐ์ ลุงแมวมองว่าท่านถูกกลอุบายหลอกให้เอาความคิดเค้าโครงเศรษฐกิจทำออกมาเป็นเอกสารแล้วออกกฎหมายคอมมิวนิสต์และบอกว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์เนรเทศท่านไปอยู่ฝรั่งเศส ทีนี้ท่านกับคุณพ่อก็รู้กันอยู่ว่าต้นไม้ที่บอกแต่แรก มันจะต้องถูกนำมาปลูกแล้วไม่มีผลห่ามผลอะไร แต่คณะราษฎรหากจะทำสำเร็จต้องตั้งสถาบันการศึกษาที่เป็นตลาดวิชา ที่ตอนหลังตั้งชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมา โดยอาหลวงประดิษฐ์เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อคุณพ่อได้ยึดอำนาจจากคุณอามโน (พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี) ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 จึงได้เรียกคุณอาหลวงประดิษฐ์กลับมา และให้รัฐสภาตั้งกรรมการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์เป็นคอมมิวนิสต์จริงหรือเปล่า ซึ่งคณะกรรมการมีต่างชาติมาเป็นกรรมการด้วย ทุกคนบอกว่าท่านบริสุทธิ์ คุณพ่อถึงได้พูดว่า

 

“คุณอาหลวงประดิษฐ์ถึงจะมีความรู้มาก แต่ยังมีประสบการณ์ในการคบคนน้อยเพราะฉะนั้นก็เลยโดนเล่ห์กลลวงถึงกับนอนหงายท้องเลย”

 

 

มีคนพูดว่าคนชนะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ มาถึงทุกวันนี้ บางคนก็เหมือนมองว่าคณะราษฎรทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงซึ่งไม่เหมาะกับสมัยนั้น ลุงแมวอยากบอกอะไรกับคนเหล่านั้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับคณะราษฎร

ถ้าต่อคำว่า “ยังไม่ควรจะเกิด” แล้วอีกกี่ปีกี่ชาติถึงจะเกิด ในเมื่อคณะราษฎร 99 ท่านได้เห็นแล้วว่าประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำระบอบอย่างที่ประเทศที่เจริญเขาใช้ มามอบให้ราษฎรทั้งหลาย ถ้าเผื่อไม่ทำ เมื่อไรจะมีคนทำ คณะราษฎรเห็นว่าถึงเวลาแล้ว เพราะแม้แต่เอกราชทางการศาล คนที่อยู่ในบังคับต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลไทย เราเสียเอกราชทางศาล ทางกฎหมาย เก็บภาษีต่างชาติก็เก็บไม่ได้ เพราะมีข้อบังคับอะไรต่ออะไร ซึ่งคุณอาหลวงประดิษฐ์ต้องกลับมาทำทั้งนั้นเลย คุณอาหลวงประดิษฐ์ทำงานให้กับคณะราษฎรหลายๆ อย่าง เช่น โอนพระคลังข้างที่มาเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งธนาคารชาติ แก้กฎหมายที่เราเสียเอกราชกับชาติต่างๆ ในหลายๆ เรื่อง

 

เชื่ออย่างหมดใจว่า 22 พฤษภาคม จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศไทย

“ยังไม่เชื่อครับ” เพราะว่าลุงแมวเป็นทหารก็จริง แต่ทหารยุคลุงแมวไม่ใช่อย่างนี้ ชายชาติทหารพูดคำไหนคำนั้น ไม่พูดสับปลับ วันนี้พูดอีกอย่าง พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง และการใส่ร้ายป้ายสีไม่ใช่วิสัยของชายชาติทหาร อย่างพวกลุงแมว ไม่ชอบขี้หน้ากัน ทะเลาะกัน ชกกัน จบ กอดคอกินเหล้ากันต่อ ไม่มีชนิดที่ว่าใส่ร้ายคนนั้นดี คนนี้เลว แล้วตัวเองดีมากเหรอ เลิศประเสริฐศรีเหรอ

 

 

ลุงแมวอยากให้คนจดจำคุณพ่อ จดจำคณะราษฎรอย่างไร

ไม่จำเป็นต้องมาจดจำ แต่ลองนึกย้อนไปว่าพม่าหรือเมียนมา ขนาดทหารออกกฎหมายออกระเบียบอะไรทุกอย่าง เขาก็แห่กันไปเลือกออง ซาน ซูจี อย่างถล่มทลาย ตุรกี เขาหวงแหนระบอบประชาธิปไตยของเขา พอรถถังออกมาเขาก็กระทืบรถถังแล้วจับ ผบ.ทบ. ขึ้นศาลติดคุกไป มหาเธร์ คนมาเลย์เขาเลือกกันเยอะแยะ แล้วคนไทยจะเป็นทาสอยู่อีกนานกี่ปี ให้ถามตัวเอง

 

คุกบาสตีย์ไม่มีแกนนำ ไม่มีผู้นำ ฝรั่งเศสได้เป็นประชาธิปไตยก็เพราะการไม่มีแกนนำ เพราะฉะนั้นคนไทย ถามตัวเองกันว่าจะอยู่อย่างนี้ หรืออยู่ในขณะที่ตัวเองมีอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

FYI
  • สำหรับใครที่ยังอยากรู้เรื่องราวการก่อการ 2475 ผ่านความทรงจำของลุงแมว สามารถตามไปฟังต่อได้ที่สวนครูองุ่น มาลิก ข้างๆ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สถานีสุขุมวิท ทองหล่อ วันที่ 24 มิถุนายนนี้ ที่ให้ลุงแมวไปพูดเรื่องความทรงจำการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม
  • นอกจากนั้นยังมีการแสดงปาฐกถาในวาระครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม เรื่อง ‘2475 อดีต ปัจจุบัน อนาคต’ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย
  • การอภิปรายเรื่อง ‘การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ในทัศนะของคนต่างรุ่น’ วิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way จัดโดย มูลนิธิไชยวนา กับกลุ่มโดมรวมใจ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising