×

รำลึก ‘47 ปี 6 ตุลา’ แผลใหญ่ประเทศไทย ความจริงของสังคมที่แตกสลาย และความรุนแรงสุดโต่ง

06.10.2023
  • LOADING...
รำลึก ‘47 ปี 6 ตุลา’

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกจารึกไว้ว่าเป็นกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 คน

 

เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นข่าวที่เผยแพร่ไปทั่วโลก แต่กลับไม่มีการจับกุมผู้ลงมือสังหารแม้แต่คนเดียว ขณะที่นักศึกษาและประชาชนที่รอดชีวิตจำนวน 3,094 คนถูกจับกุมภายในวันนั้น ก่อนจะถูกปล่อยตัวจนเหลือ 19 คนที่ตกเป็นจำเลยถูกคุมขังและดำเนินคดีเกือบ 2 ปีจึงได้รับการปล่อยตัวในท้ายที่สุด

 

หนึ่งในภาพสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นคือภาพที่บันทึกไว้โดย เนล อูเลวิช ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ที่ถ่ายภาพของเด็กน้อยยืนหัวเราะร่าท่ามกลางกลุ่มคนที่มีรอยยิ้มเต็มใบหน้า ขณะเฝ้ามองประชาชนคนหนึ่งที่ถูกแขวนคอฆ่าและใช้เก้าอี้ทุบตีอย่างทารุณ ซึ่งเชื่อกันว่าผู้เสียชีวิตในภาพคือ วิชิตชัย อมรกุล อดีตนิสิตชั้นปีที่ 2 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะมีการถกเถียงในแวดวงวิชาการ เนื่องจากพบภาพคนถูกแขวนคอมากกว่า 2 คน แต่ยังขาดข้อมูลของเหตุการณ์ในวันนั้นอีกมาก

 

ปีนี้ (2566) เป็นปีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเดินทางมาถึงปีที่ 47 ในวาระนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เป็นแม่งานจัดงานรำลึกถึงประวัติศาสตร์บาดแผลใหญ่ทางการเมืองไทยของเหตุการณ์นี้ที่ลานประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

สำหรับกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเช้า มีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 19 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คณะผู้ร่วมงานและประชาชนร่วมยืนไว้อาลัยรำลึกถึงวีรชนในเหตุการณ์นี้

 

ทั้งนี้ มีตัวแทนจากภาคการเมืองและประชาชนร่วมกันวางพวงหรีด ไม่ว่าจะเป็น ญาติของวีรชน 6 ตุลา 2519, ตัวแทนนายกรัฐมนตรี, ตัวแทนประธานรัฐสภา, มูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์, ญาติของวีรชน 14 ตุลา 2516, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลา 2519, ชมรมโดมรวมใจ, ผู้แทนพรรคการเมือง, สหภาพและสหพันธ์แรงงาน, สมัชชาคนจน, มูลนิธินิคม จันทรวิทุร, เครือข่ายเดือนตุลา, มูลนิธิ 14 ตุลา, ญาติของวีรชนพฤษภา 35, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

 

จากนั้นในเวลา 09.00 น. การแสดงปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘แด่ทุกต้นกล้าความฝัน: ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ’ 

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์การเมืองนี้ไว้ว่า

 

ในหนังสือ Stripping Bare the Body: (2554) ของ มาร์ก แดนเนอร์ เลสลี มานิแกต อดีตประธานาธิบดีเฮติ เปิดเผยกับแดนเนอร์ว่า การพิจารณาถึงเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศของเขา จะช่วย ‘เผยโฉมหน้าของสังคม’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ที่แท้จริงแล้วสังคมนั้นขับเคลื่อนไปอย่างไร เพราะมันเปรียบได้กับการ ‘แนบหูฟังของแพทย์ เพื่อฟังเสียงชีพจรที่เต้นอยู่ใต้ผิวหนัง’ 

 

ฉะนั้นหากคุณต้องการเข้าใจถึงสังคมที่ตนเองอยู่ ต้องการรับรู้ถึงรากเหง้าของความอยุติธรรมและความรุนแรงที่ซับซ้อน ซึ่งมักจะซ่อนเร้นอยู่ในสังคมนั้น คุณก็จะต้องยอมเผชิญหน้ากับความจริงของโศกนาฏกรรมความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นที่จดจำฝังใจของประชาชน เพื่อที่เราจะสามารถร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เหตุความรุนแรงสุดโต่งเช่นนี้ปรากฏขึ้นอีกครั้งและทำให้สังคมนี้แตกสลาย พร้อมกับอีกหลายชีวิตที่ต้องถูกพรากและหลายอนาคตที่ต้องถูกขโมยไป

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising