×

‘ไม่ได้ยกเลิกหรือห้ามใช้เพลงใด’ องค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ยืนยัน ไม่เคยห้ามใช้เพลงยูงทอง

โดย THE STANDARD TEAM
17.04.2024
  • LOADING...
เพลงยูงทอง

จากกรณีที่ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ หรือ หมาแก่ ผู้ดำเนินรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand กล่าวในรายการวันนี้ (17 เมษายน) ว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยจากเพลง ยูงทอง เป็นเพลง มอญดูดาว เพราะสะท้อนอุดมการณ์ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากกว่า โดยดนัยมองว่าเป็นประเด็นร้อนที่จะมีแรงกระเพื่อมออกมานอกมหาวิทยาลัย เนื่องจากเพลง ยูงทอง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9

 

คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า เรื่องดังกล่าวเคยเป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2565 ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าทำไมจึงกลับมาเป็นประเด็นอีก และดนัยได้ข้อมูลมาจากส่วนไหน อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ก็มีไทม์ไลน์ที่น่าสนใจคือ ใกล้จะมีการเลือกตั้ง อมธ. พอดีในวันที่ 25 เมษายน 2567 ไม่แน่ใจว่าจะมีพรรคไหนที่เตรียมเสนอนโยบายนี้ด้วยหรือไม่ ส่วนตัวได้รับการเลือกให้เป็นนายก อมธ. มาตั้งแต่กลางปี 2566 แม้จะเป็น อมธ. คนละชุดกับปี 2565 แต่ก็ยังอิงผลประชามติเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

 

คุณากรเล่าถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่า ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากเพลง ยูงทอง มาเป็น มอญดูดาว เป็นกิจกรรมที่ อมธ. จัดทำประชามติประชาคมธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2565 ว่าจะเลือกใช้เพลงใดเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ระหว่างเพลง ยูงทอง กับ มอญดูดาว และเพลง มาร์ช มธก. นับแต่นั้นมีผลประชามติออกมาว่า เราจะใช้เพลง มอญดูดาว 

 

ทั้งนี้ อมธ. ชุดปัจจุบันเป็น อมธ. คนละชุดกับชุดที่ทำประชามติปี 2565 แต่เรายังอิงตามผลประชามติในครั้งนั้นเป็นหลัก และไม่ได้มีนโยบายอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ ไม่สามารถบังคับให้ใครใช้หรือไม่ใช้เพลงใด เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติโดยทั่วไป รูปแบบการทำกิจกรรมก็จะพยายามสร้างการรับรู้ร่วมกันว่าเพลงของมหาวิทยาลัยมีเพลง มอญดูดาว และเราอยากใช้เพลงนี้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย 

 

แต่ก็ไม่ได้บังคับกันว่าห้ามใครใช้เพลง ยูงทอง หรือจะต้องใช้เพลงไหนเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องเสรีภาพ เช่น กิจกรรมคทากรหรือเชียร์ลีดเดอร์ของแต่ละคณะ ปัจจุบันก็ยังมีการใช้เพลง ยูงทอง ด้วย แม้จะไม่มีเชียร์ลีดเดอร์ในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เนื่องจากว่างเว้นจากงานฟุตบอลประเพณีมาหลายปีจากการแพร่ระบาดของโควิด

 

คุณากรกล่าวว่า งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หรือ CU-TU Unity Football Match 2024 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังใช้ทั้งสองเพลงอยู่ ทั้ง มอญดูดาว และ ยูงทอง เพราะในงานมีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและพี่ๆ ศิษย์เก่าด้วย จึงมีการใช้เพลงร่วมกัน เราไม่ได้ยกเลิกหรือห้ามใช้เพลงใด เพียงแต่เราพยายามสร้างการรับรู้ร่วมกันว่า ถ้ามีโอกาสที่เหมาะสมก็จะใช้เพลง มอญดูดาว เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย

 

สำหรับงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จะแตกต่างจากงานฟุตบอลประเพณีที่มีมาก่อนหน้านั้นตรงที่ผู้จัดงานแตกต่างกัน เพราะผู้จัดเดิมตกลงกันว่าจะไม่จัด แต่นิสิต-นักศึกษาปัจจุบันของทั้งสองมหาวิทยาลัยเห็นว่าควรต้องจัด เพราะเราเป็นรุ่นที่เข้ามหาวิทยาลัยในปี 2563 ดังนั้นไม่เคยสัมผัสงานฟุตบอลประเพณีมาก่อนหลังสถานการณ์โควิด 

 

ปีนี้นักศึกษาปัจจุบันและมหาวิทยาลัยจึงเห็นว่าเราสามารถจัดงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ได้ แต่ปีต่อไปอาจเป็นงานฟุตบอลประเพณีแบบเดิมก็ได้ หรือเป็นแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับนิสิต-นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป 

 

“ผมเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 2563 กำลังจะเรียนจบแล้ว ถ้าไม่มีงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ รุ่นเราก็จะไม่ได้สัมผัสงานที่คล้ายฟุตบอลประเพณีเลย เราจึงจัดกันขึ้นในปีนี้และมีผู้สนับสนุนเต็มที่” 

 

เมื่อถามว่า กรณีเมื่อปี 2565 มีข่าวว่า “สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของสมาชิกสมาคม ทำหน้าที่ในการสนับสนุนและพัฒนากิจกรรมของมหาวิทยาลัย ขอแสดงเจตนารมณ์ว่า เพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง เป็นเพลงหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมต่อไป” หลังจากนั้นมีผลอย่างไร 

 

คุณากรกล่าวว่า เท่าที่ทราบเรื่องเพลงประจำมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการบังคับเป็นระเบียบ ดังนั้นขึ้นอยู่กับผู้เลือกใช้เพลงเป็นหลัก หากกิจกรรมใดจัดโดย อมธ. ก็จะใช้เพลง มอญดูดาว เป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่า อมธ. ชุดใหม่ๆ ในอนาคตต้องทำตามนี้ เพราะขึ้นอยู่กับยุคสมัยกาลเวลาที่เห็นร่วมกันว่าควรใช้เพลงไหน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising