×

30 ปีต่อมาของ ‘ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์’ จากนักศึกษาสู่แคนดิเดต อธิการบดีธรรมศาสตร์

22.02.2024
  • LOADING...

30 ปีที่เหยียบย่างเข้าสู่ความเป็นคนธรรมศาสตร์ ของผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์’ จากนักศึกษาสู่อาจารย์ และสลับบทบาทสู่การเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระยะเวลาและบทบาทคงพอจะเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่า เขามีความรู้ ความเข้าใจในความเป็นธรรมศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าใคร

 

THE STANDARD สนทนากับ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งในแง่มุมชีวิต การงาน และการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ในการประกาศเสนอตัวเข้ารับการสรรหาเป็น ‘อธิการบดี’ หรือเบอร์หนึ่งขององค์กรที่ตัวเองอยู่มาตั้งแต่เรียนหนังสือจนเป็นผู้บริหาร

 

บรรทัดนับจากนี้ไป ผู้อ่านจะได้รู้จักตัวตนและความตั้งใจของเขามากขึ้น รวมถึงแคนดิเดตคนอื่นๆ ที่เราจะพาไปรู้จักว่ามหาวิทยาลัยที่ประกาศตัวเองว่าเป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหายใคร่รู้ของประชาชนในปีที่ 89 จะเป็นองค์กรแบบใด

 


 

 

ขอเริ่มต้นด้วยคำถามแรก ‘ศุภสวัสดิ์’ คือใคร

 

ผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง ผมสนใจเรื่องการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ทำงานอยู่ธรรมศาสตร์มา 20 ปี ถ้ารวมกับเรียนที่นี่ก็ 30 ปี มีแค่ช่วง 5-7 ปีที่ไม่ได้อยู่ธรรมศาสตร์เพราะไปเรียน ไปทำงาน 

 

ส่วนตัวรู้จักกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นความเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร อยู่มาเกือบ 3 ทศวรรษ อันนั้นเป็นพื้นฐานส่วนตัว และผมยังเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์อยู่ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2561 ซึ่งถ้าอยู่ครบวาระก็จะเลยไปหน่อยเดียว ซึ่งตอนนั้น อาจารย์เกศินี อธิการบดีธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน ชวนไปช่วยงานมหาวิทยาลัย จึงไปเป็นรองอธิการบดีฯ 

 

 

ทำไมอาจารย์ถึงตัดสินใจใช้ชีวิตหรือเลือกเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ และยาวมาจนถึงเป็นอาจารย์

 

ผมเรียนตรงๆ ส่วนหนึ่งผมอยากเรียนนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ นี่คือความตั้งใจเดิม ผมก็เลยเลือกอยู่ 2 คณะคือคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ผมเลือกไขว้ไปมาระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับธรรมศาสตร์ เพราะสมัยยุคผมคือการสอบเอ็นทรานซ์ 

 

เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมเลือกจุฬาฯ กับธรรมศาสตร์ ผมคิดว่ามันเป็นชะตากรรม เพราะผมเลือกที่นี่ไว้ 2 อันดับ อย่างน้อยเราก็เลือกเรียนในสาขาที่เราอยากเรียน  ถ้าไม่รัฐศาสตร์ก็นิติศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มา

 

การได้เรียนธรรมศาสตร์ถือเป็นโชคดีนะครับ เพราะการอยู่ที่ธรรมศาสตร์ผมมี 2-3 เรื่องที่สนใจคือ เราได้เรียนใน 2 วิทยาเขต ทำให้เห็นความแตกต่างของระบบ Campus (วิทยาเขต) แบบฝรั่ง เช่น วิทยาเขตท่าพระจันทร์ วิทยาเขตศูนย์รังสิต ก็จะมีบรรยากาศในแบบยุโรป การมี Campus ได้ไอเดียมาจากอเมริกา ต้องมีสเปซ มีพื้นที่ Campus ที่จะต้องอยู่กับชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของเมือง อารมณ์จะคล้ายกับอังกฤษ ยุโรป ได้เห็นทั้ง 2 แบบก็ดี 

 

อาจารย์เข้ามาเรียนตอนช่วงปี 2535 ช่วงนั้นการเมืองกำลังร้อนแรง มีส่วนซึมซับกับเหตุการณ์ในช่วงนั้นไหม

 

ตอนนั้นบังเอิญผมเป็นเด็กสอบเทียบเข้ามา ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 5 อายุยังไม่มาก แต่สิ่งที่ได้เห็นสมัยนั้นเด็กมัธยมศึกษาใครไม่สอบเทียบจะแปลก เป็นยุคสมัยที่เราต้องสอบเทียบ ถามว่าตัวเราเองเข้าใจเรื่องการสอบเทียบไหม อยากสอบเทียบไหม ไม่เข้าใจหรอก แต่เห็นใครๆ เขาก็ทำกัน เพื่อนฝูงที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเขาทำกัน เราจึงลองสอบ ใครก็แห่กันไปซื้อใบสมัครสอบเทียบกัน เราก็ไปกับเขาด้วย ผมเรียนมัธยมศึกษาอยู่ 2 ปี แล้วจึงลองสอบเทียบ 

 

ถามว่าได้เห็นอะไรไหมระหว่างที่ผมรอผลอะไรสักอย่าง ก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ซึ่งเกิดแถวราชดำเนิน ไม่ได้ไปร่วมกับเขานะ เดินไปดูสถานการณ์เฉยๆ ซึ่งตอนนั้นเรายังเด็ก ม็อบตอนนั้นจริงๆ ผมเข้าใจว่าไม่ใช่นักศึกษา ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน เหตุการณ์ตอนปี 2535 ไม่เหมือนตอนเดือนตุลาคม เท่าที่เราดูในพื้นที่ตรงนั้นมีคนอายุเยอะกว่าเรา ไม่ใช่รุ่นราวคราวเดียวกับเรา ไม่ใช่เด็กแบบเรา 

 

อาจารย์บอกว่าเป็นเด็กสวนกุหลาบรุ่นไหนครับ

 

รุ่น 111 ชื่อรุ่นมหาราช

 

 

จากนักเรียนสวนกุหลาบก็มาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ อยู่ธรรมศาสตร์มาเกือบ 30 ปี อะไรเป็นตัวยึดโยง มองเห็นอะไรในความเปลี่ยนแปลง

 

ผมพูดแบบนี้เลย ถึงแม้เราจะอยู่ในธรรมศาสตร์เบื้องต้นแค่ 4 ปีตอนที่เรามาเป็นนักศึกษา แต่ผมรู้สึกว่าเป็น 4 ปีที่ทำให้เรามีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยด้วยชีวิต ผมเข้าใจว่าช่วงที่เรียนปริญญาตรี 4 ปี ผมเองพูดกับนักศึกษาเสมอว่า จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดอีกช่วงหนึ่งในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันมันไม่เด็กจนเกินไป มันโตพอที่จะมีเพื่อน มีสังคม 

 

และผมก็คิดว่าก็ไม่แก่จนเกินไปที่จะคบกันด้วยพื้นฐานอื่นๆ เพราะฉะนั้นชีวิต 4 ปี ทำให้ชีวิตเรามีความรู้สึกผูกพัน 

 

อีกอย่างคือคณาจารย์ของธรรมศาสตร์มีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมความเป็นตัวเรา เราได้พื้นฐานของวิธีคิด การคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ 

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความรู้สึกผูกพันกับมหาวิทยาลัย เราเห็นความเจริญงอกงามของมหาวิทยาลัย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรามีความรู้สึกว่า

 

เราอยากให้มหาวิทยาลัยของเราไปต่อ ไม่อยากให้หยุดอยู่แค่นี้

 

เราเห็นโลกแห่งการแข่งขันในระดับอุดมศึกษา ผมรู้สึกว่ามันแข่งขันกันมากในปัจจุบัน เราเริ่มเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่รูปแบบการเรียนการสอนอะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป

 

ผมมีความรู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่ามีพันธะบางอย่างกับมหาวิทยาลัย

 

ผมมีความรู้สึกว่าพูดกันตรงๆ นะ ถ้าเรามีโอกาส เราทำได้ ก็คือเราทำเองดีกว่า ผมไม่ได้บอกว่าคนอื่นไม่ดีนะ แต่ถ้าเรามีความตั้งใจบางอย่าง เรามีความรู้สึกอยากเห็นธรรมศาสตร์เป็นแบบที่เราอยากเห็น เราพอมีแรงที่จะทำ

 

ผมคิดว่าช่วงเวลาของคนในยุคผมอายุ 40 ปลายน่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการที่จะทำงานแบบนี้ สมมติผมไม่ได้รับการเลือก สอบตก ผมถามอีก 6 ปีข้างหน้าผมจะกลับมาใหม่ไหม ผมจะต้องเป็นอธิการบดีนะ ผมรู้ว่ามันเลยช่วงที่ดีที่สุดในการทำงานแบบนี้ คือสมัยก่อนอาจบอกว่าเป็นอธิการบดีจะเป็นไปถึงเท่าไรก็ได้ ถึงอายุ 60 ก็ได้ ผมรู้สึกว่าวันนี้คนที่จะเป็นอธิการบดีต้องมีเรี่ยวแรง ไม่ใช่แค่เรื่องความอาวุโส แต่อย่างน้อยคุณพูดแล้วคนต้องฟัง

 

 

อาจารย์อธิบาย 3 อย่าง มองธรรมศาสตร์แบบ 3 ช่วง คือช่วงของการเป็นนักศึกษา ขยับไปเป็นอาจารย์ และขึ้นไปเป็นผู้บริหาร อยากให้เล่าเส้นตัดของมัน กับสิ่งที่เราเห็นจากแต่ละบทบาท

 

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก คือการทำงานบริหาร เราอยู่บนโลกความเป็นจริง เราไม่ได้อยู่บนโลกสมมติ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการที่เราเป็นอาจารย์แบบ Purely Academic นั้น มีบางที่สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเชื่อ ผมคิดว่ามัน Practical และเป็นพื้นฐานมากๆ เพราะเป็นเรื่องทฤษฎี ความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งอาจผ่านประสบการณ์บางอย่างมากว่าที่จะคิดเป็นทฤษฎีได้ มันเป็นไปในแบบโลกตะวันตกและเป็นอีกโลกหนึ่ง  

 

แต่ผมคิดว่าถ้าเรามีสิ่งนั้น กล่าวถึงทฤษฎีบ้าง แล้วเราไปเจอโลกแห่งความเป็นจริงที่มันเป็น จะทำให้เราเป็นคนที่มี Moral หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากขึ้น ผมยอมรับว่าอย่างผมเอง วิชาที่ผมสอน Purely Academic ไม่ได้ เพราะปกติผมสอนเรื่องการกระจายอำนาจ ถ้าคุณสอนเรื่องพวกนี้แต่คุณไม่เคยลงพื้นที่ไปสัมผัส ไม่เคยเจอนายกเทศมนตรี ไม่เคยลงชุมชน คุณสอนไม่ได้หรอก คุณไม่เคยไปนั่งฟังเขาประชุมสภาท้องถิ่น คุณไม่เคยเดินตามนายกเทศมนตรีเวลาเขาไปเปิดงาน ปิดงาน คุณจะเข้าใจได้อย่างไร

 

เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดว่า เราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย การเป็นผู้บริหารช่วยเติมบางมุมที่ทำให้เราเห็นเรื่องบางเรื่องชัดขึ้น มันจะดีขึ้น ในขณะเดียวกันผมก็คิดเสมอนะ ถ้าไปดูประวัติผมตั้งแต่จบกลับมาทำงานบริหารโดยตลอด แต่ว่าในขณะเดียวกันผมก็คิดว่าบริหารอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องไม่ทิ้งวิชาการ เพราะฉะนั้นผมพูดกับน้องๆ ผมพยายามพูดกับหลายๆ คนนะ ผมพยายามเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า

 

ผมจะเป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่ไปแต่ในเส้นทางการบริหาร อย่างน้อยก็ให้คนรู้จักเราในด้านวิชาการ ในความรู้สึกผม ผมจะไม่ทิ้งงานวิชาการ วิจัยอะไรต้องมี เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต้องมี ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไม่เรียกเราว่าอาจารย์ 

 

 

อยากถามอาจารย์ให้เส้นตัดมันชัดขึ้น เวลาที่เราขยับตัวเองจากการเป็นอาจารย์ เราขึ้นไปเป็นผู้บริหาร

 

ผมว่าต่อให้คุณจะบริหาร ไม่ว่าคณะหรือมหาวิทยาลัย สิ่งที่คุณจะต้องทำคือวิจัยที่ทิ้งไม่ได้ วิจัยอย่างน้อยก็ต้องทำ ทำวิจัยปีละเรื่อง 2 เรื่อง หนังสือยังต้องเขียน ผมอยากจะฝากไปถึงอาจารย์ด้วยกันที่อาจรู้สึกว่าอันนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ดี ไม่อยากเขียน อันนี้ยังไม่ดีพอ ไม่อยากเขียน ผมคิดว่าความรู้สึกนี้มันผิดนะ

 

ในความรู้สึกผมอยากจะบอกว่าเขียนออกมาเถอะ ใช้ได้ใช้ไม่ได้เราจะรู้ตัวเราเองว่างานนี้เราให้ A งานนี้เราให้ B งานนี้เราให้ C แต่เราต้องทำเพราะถ้าเราไม่ทำ เราให้เกรดอะไรไม่ได้เลยกับตัวเราเอง 

 

ผมอยากฝากบอกว่าการเป็นอาจารย์จะอย่างไรก็ต้องพยายามเขียน พยายามทำงาน พยายามที่จะต้องหาจุดยืนวิชาการของตัวเองว่าเราจะทำอะไร

 

 

ขอขยับมาประเด็นนักศึกษา เห็นความเปลี่ยนแปลง ความท้าทายของนักศึกษาหลายรุ่น ทุกอย่างเปลี่ยน โลกเปลี่ยน เด็ก Gen Z มีความกล้า เราจะทำอย่างไรกับพวกเขา

 

ผมพูดอย่างนี้ดีกว่า ผมพูดจากตัวผมเอง ตอนเป็นนักศึกษาผมรู้สึกเลยนะว่าตัวผมเปลี่ยนไปเยอะมากกับมุมมองที่มีต่อนักศึกษา ในวันที่ผมกลับมาใหม่ๆ กลับมาสอนหนังสือใหม่ๆ ผมรู้สึกเรามีอัตตา แล้วเรามีความรู้สึกว่าเรามีตัวมีตน

 

นักศึกษามีหน้าที่จะต้องเชื่อ หรือควรจะเชื่อเหมือนที่เราเชื่อ หรือคิดแบบที่เราคิด เรารู้สึกว่าเราไปเรียนเรามีความรู้ คุณควรเชื่อผมเถอะชีวิตผมผ่านมาก่อน นี่เป็นอารมณ์ตอนที่เราเป็นอาจารย์ใหม่ๆ เราเขียนหนังสือ เรารู้อย่างนี้ เราจะมีภาพอาจารย์บนความเป็นตัวตนของเรา อัตตาของเรา

 

แต่พออยู่นานวันไปผมก็เรียนรู้ด้วยความที่เราเคยผ่านช่วงของการเป็นเด็กมาก่อน ในช่วงอายุ 20 ปีที่ผ่านมามันเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้ววันนี้ก็ยิ่งชัดเจนในตัวเองมากขึ้น

 

วันนี้เรากลับจะต้องเป็นคนที่ยอมรับว่า เราเองต่างหากที่จะต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง แล้วเราก็จะต้องกลับไปดูว่าเยาวชนเดี๋ยวนี้ คนรุ่นใหม่เขาคิดอย่างไร เราเองต่างหากที่มาจากพวกไหนไม่รู้เลย และเขาเองต่างหากที่จะต้องเติบโตไปอีกไม่รู้กี่ 10 ปี ซึ่งเราไม่รู้จะอยู่ไปได้อีกกี่ปีจะหมดวาระ หมดอายุ อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงในตัวเราเอง

 

ผมเคยออกข้อสอบอัตนัย ถามเยอะ แต่สุดท้ายมีคนเขียนคำตอบมาหนึ่งพารากราฟ (ข้อความสั้นๆ) บางคนตอบแบบ X สั้นๆ ตอนแรกผมก็รับไม่ค่อยได้นะ แต่พออยู่ไปหลังๆ ก็เหมือนกัน เป็นแบบนี้หมดเลย เราต้องเข้าใจว่าเด็กเขาอยู่ในโลกแบบนี้ แล้วเราจะมีหน้าที่อะไรไปตัดสินเขา

 

เหมือนเราพูดถึง ChatGPT (แชตบอตที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อความระหว่างมนุษย์) คนเขาพูดกันเยอะแยะว่านักศึกษาเราอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น มีคนส่งมาให้ผมเยอะแยะเลยว่าเด็กทำจบวิทยานิพนธ์ได้โดยใช้เครื่องมือเหล่านี้ 

 

ผมก็บอกว่าเราอาจต้องคิดใหม่นะว่ายุคสมัยมันเปลี่ยน เราจะวิ่งไล่จับเด็กที่ใช้ ChatGP หรือเราจะบอกว่าให้เด็กใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก หรือจะทำอย่างไรให้ ChatGP มีประโยชน์กับตัวเด็ก สังคมประเทศอาจต้องคิดวิธีการสอนอะไรแบบนี้

 

พอยิ่งแก่ตัวไปเรากลับลดทอนความเป็นตัวเรา ผมเริ่มเรียนรู้ว่าเราไม่ควรไปคาดหวังกับการให้คะแนนนักศึกษามากขนาดนั้น ผมเห็นอาจารย์ในคณะหลายท่าน โหดกับเด็ก เด็กได้คะแนนเกรด C, D, F กระจัดกระจายเลยนะ

 

ผมก็พูดกับเด็กตลอด สำหรับผมการให้เกรดเด็กแบบนี้สะท้อนการสอนเหมือนกันนะว่าเด็กไม่ดี หรือว่าเรามีความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับตัวของเด็ก ผมว่าสุดท้ายผมคิดเองนะว่าเรามีความคาดหวังกับเด็กมากเกินไป เราต้องยอมรับในความเป็นไปของโลก มีความเชื่อว่าถ้าเราไม่รับสภาพ เราจะอยู่ยากในโลกปัจจุบันและในอนาคต

 

 

ผมอยากกลับมาที่ความตั้งใจของอาจารย์ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจต้องมาเป็นอธิการบดี 

 

ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด เราเห็นถึงความท้าทายในบริบทของวงการอุดมศึกษาในปัจจุบัน คือพูดอย่างง่ายมหาวิทยาลัยถูกท้าทายจากรอบด้านทั้งภายนอกและภายในตัวเราเอง

 

ผมคิดว่าเราอยากทำให้ดี ในความรู้สึกของตัวเราเองที่มีความรู้สึกว่าถ้าเรามาทำมันจะดีได้ ความรู้สึกพาผมไปแบบนั้น เรามีความรู้สึกว่าเรามีความอยากเห็นธรรมศาสตร์ในบางมุม บางเรื่องที่เรายึดติดกับมัน มีความหงุดหงิดในความเป็นธรรมชาติบางอย่างจากทิศทางที่เราไปเห็น

 

ที่ผ่านมาผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราลุกขึ้นมาทำ อยากเปิดรับอะไรใหม่ๆ คำถามคือ เราทำในสิ่งที่เราอยากทำได้ไหม แน่นอนเราต้องทำให้ธรรมศาสตร์ดี ไม่ใช่ทำให้ธรรมศาสตร์ไม่ดี คือมันเริ่มจากสิ่งเหล่านี้

 

ความหงุดหงิด ความคับข้องใจที่เรามีความรู้สึกว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น อันนี้คือสิ่งที่ผมคิด ผมยกตัวอย่าง เช่น ผมพูดเสมอว่าสำหรับผมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ‘World University Rankings’ ผมมองว่าตกลงแล้วคืออะไร ศักดิ์สิทธิ์ขนาดนั้นเชียวเหรอ ผมเห็นว่าในหลายเรื่องผมก็สงสัยว่าเป็นสิ่งที่จะมีขึ้นมาจริงๆ เหรอ ผมไม่โอเคกับโลกแห่งการจัดอันดับ

 

ผมคุยกับอาจารย์รุ่นน้องหลายคนก็บอกว่า สุดท้ายแล้วคุณก็ทิ้งมันไม่ได้หรอก คืออาจารย์อาจบอกว่าอาจารย์จะไม่ทำ แต่ถึงเวลาที่เราจะไปจับมือกับมหาวิทยาลัยในอังกฤษ อเมริกา ยุโรป เขาก็ถามคุณอยู่อันดับไหน อยู่ตรงไหนใน Ranking ถ้าไม่มีไปเปิดโชว์เขาไม่เอา อันนี้ก็จริง แล้วถามว่าจริงไหมมันก็จริง

 

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าความท้าทายที่สำคัญเราจะบาลานซ์สิ่งนี้อย่างไร ผมคิดว่าผมไม่อยากทำให้เราวิ่งตามสิ่งนั้นมากจนเกินไป เรื่องแบบนี้ผมเห็นว่าการทำเกณฑ์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่บอกว่าเราจะต้องมีอาจารย์จบปริญญาเอกเท่านั้น ไม่เช่นนั้นหลักสูตรของเราจะไม่มีมาตรฐาน ผมมองว่าในบางสาขา เช่น ศิลปกรรมศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องอาจารย์ปริญญาเอก ผมเห็นฝรั่งเรียนจบแค่ Master of Art ผมไม่เคยเจอด็อกเตอร์ที่จบ Art ผมเห็นว่าปริญญาเอกจำเป็นเฉพาะในบางเอกหรือบางสาขาเท่านั้นที่ผมคิดว่าควรจบด็อกเตอร์

 

สำหรับอาจารย์ที่สอนศิลปะ สมมติว่ามีเด็กจบปริญญาตรีและอยู่ในวงการศิลปะโชกโชนอยู่มา 2-30 ปี คุณจะรับใครเป็นอาจารย์ 

 

คือหลายเรื่องผมว่าเป็นเรื่องเหลวไหลในความรู้สึก ผมว่าจะต้องเป็นไปตามแบบนั้นจริงๆ หรือ ผมสงสัย

 

ผมอยากลุกขึ้นมาทำว่า เราจะออกจากกรอบเหล่านี้ได้อย่างไร เราจะทำอะไรให้หลุดออกจากการจัดอันดับเหล่านี้ได้ไหม ในขณะเดียวกัน

 

ผมไม่ได้บอกว่าเราจะหลุดโลก เราจะละเลยสิ่งเหล่านี้ แต่ผมมองว่าความยากคือการทำให้สองโลกอยู่ด้วยกัน มันคือสองโลกคู่ขนาน ทำอย่างไรให้สองโลกอยู่ด้วยกันได้ มีงานวิชาการเยอะแยะที่เป็นงานที่ดี แต่ไม่ได้ทำผ่านตัวชี้วัดพวกนี้

 

 

คำพูดที่ว่า “เราจะทำอย่างไรให้ธรรมศาสตร์เป็นที่หนึ่งในใจคน” มันเป็นโลกคู่ขนานที่อาจารย์จะใช้เป็นตัวชี้วัดแก้ปัญหาหรือไม่

 

ผมมองว่าโลกสองโลกเป็นโลกคู่ขนาน มีอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง World University Rankings ที่ไม่ได้ให้ค่าน้ำหนักเรา ไม่ได้วิ่งไล่ตามมันขนาดนั้น เราควรเปิดโอกาสให้คนที่เขาอยากทำงานวิชาการ ที่เขาชอบตีพิมพ์อะไรแบบนี้ก็ปล่อยให้เขาทำไป 

 

แต่ผมอยากบอกคนข้างในอีกจำนวนมากที่เขาถูกบังคับให้ต้องมาทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ปรารถนา และคิดว่าไม่ได้ให้คุณค่าในสาขาของเขา

 

อย่างเมื่อวานผมไปคณะศิลปกรรมศาสตร์ เขาก็บอกว่างานเขาคืองานสร้างสรรค์ งานที่ต้องอยู่กับเด็กแทบจะหนึ่งต่อหนึ่ง จะต้องมีอุปกรณ์วัสดุที่ดี แต่คุณบอกคุณจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งต่อให้คุณจะมีแรงสร้างสรรค์อย่างไร แต่อุปกรณ์คุณห่วยคุณก็ไปไม่รอด เขาก็พูดทำนองนี้ ผมฟังผมก็ทราบและผมเห็นด้วย พลังสร้างสรรค์อย่างเดียวมันไม่พอ แต่คุณต้องมีเครื่องมือที่ดีด้วย ส่วนตรงนี้เราคงจะต้องทำให้คนมีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่แค่บนโลกของการแข่งขันอย่าง World Ranking เท่านั้น

 

 

อาจารย์มองเห็นประเด็นวงการศึกษาไทยอย่างไร

 

ถ้าถามผมต้องไล่ไปตั้งแต่ต้นน้ำ คือมหาวิทยาลัยก็ปลายทาง บางทีเราอาจต้องไปตั้งคำถามเหมือนกันว่า วิธีการในการเรียนรู้ของเราตั้งแต่เด็กที่เขายังเป็นเด็กมากๆ มันถูกหรือเปล่า มันช่วยให้เกิดพัฒนาการที่ดีหรือเปล่า ทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ ดีหรือเปล่า คือมหาวิทยาลัยเราพูดกันตามตรงคือปลายน้ำ 

 

อย่างพวกสอบพื้นฐานต้องไล่ไปตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งอันนี้ต้องไปช่วยคิด ปัญหาก็จะเป็นอีกชุดหนึ่ง ยกตัวอย่างตัวผม พื้นฐานการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ดีพอสมควร หมายความว่าเราก็เรียนในโรงเรียนที่ค่อนข้างดี แต่ผมว่าพอมาเรียนมหาวิทยาลัยหลายเรื่องเราก็เปิดโลกนะ เพราะฉะนั้นผมต้องตั้งคำถามกลับไปว่า สมัยที่เราเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา เราดีพอหรือยัง คือผมไม่ได้บอกว่าที่อื่นไม่ดีนะ แต่เราดีพอที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้หรือยัง อันนี้อาจต้องคิดในเชิงเปรียบเทียบด้วยกับประเทศอื่นๆ รอบตัวเรา ในยุโรป ในอเมริกา คือผมยังชวนให้คิดว่า อาจต้องไล่ย้อนไปตั้งแต่ต้นทางว่าต้นน้ำมันมาอย่างไร 

 

 

มีโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือที่เรียกว่า PISA เวลาที่ผลออกมาก็จะมีการบอกว่าระบบการศึกษาไทยห่วย มันสะท้อนเป็นภาพนี้ออกมา อาจารย์มองอย่างไร

 

ผมยกตัวอย่างและผมพูดตรงๆ นะ คือถ้าระบบการศึกษาไทยดีจริงๆ ก็จะไม่เกิดสภาพโรงเรียนนานาชาติขึ้นเต็มไปหมดแบบนี้ แล้วก็แพงมากด้วย หรือประเภทโรงเรียนทางเลือกที่เต็มไปหมดเลย คู่ขนานไปกับโรงเรียนในระบบปกติ 

 

อันนี้ก็สะท้อนในตัวเองมันเองนะว่า แปลว่าโรงเรียนพื้นฐาน การศึกษาพื้นฐานเรา มันมี Room สำหรับการพัฒนาเยอะมาก เลยทำให้ตัวพวกนี้สามารถที่จะเข้าไปมีบทบาทในระบบการศึกษาได้ คนยอมจ่ายเป็นล้านเพื่อให้ลูกเรียนโรงเรียนชั้นนำ หรือนานาชาติชั้นนำ แปลว่าอะไร แปลว่า Something Wrong กับระบบการศึกษาเราใช่หรือไม่ 

 

 

คนเป็นครูเป็นอาจารย์วันนี้ถูกดิสรัปต์แค่ไหน เมื่อก่อนเราใส่ความรู้ให้เด็ก แต่วันนี้เด็กไปหาความรู้ได้จากทุกที่เลย อาจารย์มองว่าครูเองต้องปรับตัวกับการสอนแบบไหน

 

ผมบอกเลยว่ามาก ผมยกตัวอย่างนะ ผมพูดเสมอกับคนทั้งสนิทและไม่สนิทว่า คนรุ่นผมจะเป็นรุ่นที่ Suffer (ต้องอดทน) ที่สุดกับการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ผมบอกว่าถ้าอีก 3-5 ปีเกษียณ ไม่เป็นไรกัดฟันทนนะ เดี๋ยวก็เกษียณ 

 

แต่ถ้าผมอายุ 30 ปีเพิ่งจบปริญญาเอกกลับมาก็รุ่นราวคราวเดียวกัน ใกล้เคียงกับเด็ก แล้วรู้โลกที่มันเป็นอยู่ 

 

แต่ผมโตมาในโลกแบบกึ่งดิจิทัลกึ่งอนาล็อก แล้วมาเจอวันนี้ รุ่นผมคือเจเนอเรชันที่ต้องปรับตัวเยอะมาก 

 

ผมคิดว่าเจนตั้งแต่อายุประมาณสัก 40 ขึ้นมา เลข 4 นำหน้า จนกระทั่งถึงประมาณ 50 จะเป็นเจนของอาจารย์ เราพูดถึงมหาวิทยาลัยที่จะลำบากที่สุดในการสอนหนังสือ 

 

ผมยกตัวอย่างผมสอนคลาส 200 คน วันนี้โฟกัสของนักศึกษาหลักๆ ที่ดีที่สุดคือครึ่งชั่วโมง คือเกินกว่าครึ่งชั่วโมงเขาก็ Lost เราดูเราก็รู้ แต่ก่อนพวกวิจัยการศึกษาเราบอกกันว่าคาบหนึ่งประมาณ 50 นาที ผมว่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่นะ ครึ่งชั่วโมงคือมากสุดแล้ว

 

เพราะฉะนั้นคุณจะต้องชวนเขาคุย ชวนเขาคิด ชวนเขาดูคลิป รวมไปถึงการไปสอนว่า “อ้าว ประชาธิปไตยคืออะไร” เด็กเขาก็เตรียมละ นับ 1 2 3 เสิร์ช Google ก็รู้ คือผมว่าอาจต้องตั้งคำถามใหม่ว่า “ที่ไปดูมาในเพจโน่นนี่นั่น ใครพูดเรื่องนี้ดีสุด” แล้วเราก็มาคุยกัน มันต้องปรับตัวเยอะมาก 

 

 

ความตั้งใจของอาจารย์ที่อาจขยับขึ้นมาเป็นอธิการบดี อาจารย์เสนอ ‘One TU Mindset’ จะทำให้ธรรมศาสตร์ในยุคสมัยที่อาจารย์เป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

 

คือผมพูดแบบนี้แล้วกัน อันนี้ต้องเป็นคนธรรมศาสตร์สักหน่อยจะเห็น คือคนนอกอาจไม่ค่อยเห็นภาพ คนนอกก็จะเห็นเราเป็นแค่มหาวิทยาลัย แต่ถ้าคนที่มาใกล้ธรรมศาสตร์หรือเป็นคน เป็นประชาคมธรรมศาสตร์ จะเห็นภาพหนึ่งว่า ธรรมศาสตร์เราสุดท้ายแล้วต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างทำ ไม่ว่าจะเป็นระดับหน่วยงาน ระดับปัจเจก ความรู้สึกตัวใครตัวมันสูงมาก ก็เลยทำให้ผมคิดว่าที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ดูเวิ้งว้าง คือกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีพลัง เพราะเราไม่มีการทำงานร่วมกัน ไม่ถูกทำให้เกิดพลัง เพราะทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้ 

 

คนเป็นคณบดี ผมบอกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าใจผิดนะที่ให้ตำแหน่งตั้งแต่รองอธิการบดีต้องเปิดเผยทรัพย์สิน 

 

คนที่ควรเปิดเผยทรัพย์สินคือคณบดี เพราะอำนาจในการบริหารอยู่กับคณะ มันไม่ได้อยู่ที่มหาวิทยาลัย 

 

ผมบอกว่าผมอยากรับเด็ก สมมตินะยกตัวอย่าง อยากรับเด็กจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เข้ามาเรียนในธรรมศาสตร์เลยได้ไหม ให้โควตา ไม่ใช่มหาวิทยาลัยทุบโต๊ะ เปรี้ยง! ทำได้นะ มหาวิทยาลัยต้องโทรไปถาม ไปหารือคณบดีทั้งหลายว่า ท่านคณบดีครับช่วยดูหน่อยได้ไหม ว่าสาธิตเขาก็อยากมีโควตาให้เด็กเขาที่เรียนเก่งและเรียนดี แล้วเด็กก็ได้คะแนนตามที่คณะวางเกณฑ์ว่าต้อง A วิชาโน้น วิชานี้ แล้วรับเข้ามาเรียน หรือสัมภาษณ์อย่างเดียวแล้วเข้ามาเรียนเลย สิ่งเหล่านี้อธิการบดีสั่งไม่ได้นะ รองอธิการบดีก็สั่งไม่ได้ ต้องไปขอคณบดี 

 

ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัย Decentralized (กระจายอำนาจ) มาก ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างตัดสินใจ พอมันเป็นแบบนี้มาวิธีคิดของคนก็คือ ถ้าคุณไปคุยกับบรรดาผู้บริหารทั้งหลายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาก็จะนึกถึงคณะเขาก่อน เวลาที่เขาอธิบายปัญหาทั้งหลายมันเป็นปัญหาของคณะ ไม่ใช่ปัญหาของมหาวิทยาลัย คนเวลาทำงานทุกคนก็จะพูดถึงคณะตัวเอง หน่วยงานตัวเอง ผมเลยคิดว่าสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง เราไม่แปลก เรารู้ว่าอันนั้นคือ Nature ธรรมศาสตร์ แต่ผมคิดว่าสุดท้ายคนเหล่านี้ต้องเห็นเป้าหมายร่วมบางอย่างว่ามหาวิทยาลัยต้องไปด้วยกัน ไม่เช่นนั้นเราไม่รอด 

 

ผมคิดว่าผมไม่ไปยุ่งหรอกว่าเขาอยากจะทำอะไร ก็ให้เขาทำไป แต่ว่าต้องมีบางเรื่องที่มหาวิทยาลัยคิดว่าเขาจำเป็นต้องมาช่วยเรา 

 

ผมจึงเรียกสิ่งนี้ว่า One TU Mindset คือเราต้องมีวิธีคิดร่วมกัน Mindset บางอย่างร่วมกันว่าอันนี้นะคือสิ่งที่เราต้องทำ เช่นผมบอกแล้วนะว่า World Ranking (อันดับโลก) ไม่เป็นไร ใครอยากทำก็ทำ แต่ผมขอเรื่องพวกนี้ เรื่องที่ผมคิดว่าเป็นจิตวิญญาณของเรา เป็นสิ่งที่เราควรจะไป เป็นสิ่งที่ QS (Quality System – ระบบคุณภาพ) ไม่เคยสนใจ แต่ผมคิดว่าใช่สำหรับเรา มาช่วยกันทำ หรืออาจบอกว่า ตอนนี้เราจนมากเลยนะธรรมศาสตร์ เรามัวแต่นึกถึงประชาชนมาตลอด แต่เราไม่ค่อยได้นึกถึงตัวเราเอง พวกเราต้องมาช่วยกันทำให้เรามีความยั่งยืนนะในทางการคลัง เราอย่าบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องนอกกาย ไม่ใช่เลย คุณจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำได้อย่างไรหากคุณไม่มีสตางค์ อันนี้คือสิ่งที่ผมบอกว่าอยากให้เกิด ที่เป็น Mindset เดียวกัน แต่เราก็เดินคู่ขนานไปกับประชาชนและสังคมด้วย

 

 

เวลาคนพูดถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำ มักจะเนมชื่อธรรมศาสตร์ที่จะนำในทางการเมืองอยู่เสมอ แล้วก็เป็นพื้นที่ที่คนคาดหวัง อาจารย์จะ Manage มหาวิทยาลัยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งแบบนี้ไปร่วมกันแบบไหน

 

ที่ผ่านมาผมพูดเสมอว่า ถ้าเรามองว่านั่นเป็นปัญหา มันก็เป็นปัญหา แต่ถ้ามองว่ามันคือเสน่ห์ของธรรมศาสตร์ ก็คือเสน่ห์ของธรรมศาสตร์ 

 

ผมคิดว่าไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนเหมือนที่นี่อีกแล้ว ที่คนมีมุมที่อยู่กันสุดขั้วเลยนะ มาจากคนละมุมเลย แต่ว่าสุดท้ายก็มากองรวมกันที่นี่ ที่ธรรมศาสตร์

 

ผมคิดว่าเราต้องนึกว่านี่คือเสน่ห์ของเรา ผมยกตัวอย่างถ้าเราไปไล่ดูนะ เราบอกว่านี่เด็กเราเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ หัวรุนแรง แต่ไปดูนะสถาบันหลักๆ ที่เป็นสถาบันการเมืองหลักในสังคมไทยที่เราพูดกันส่วนใหญ่ก็คนธรรมศาสตร์ทั้งนั้น 

 

คือสุดท้ายผมว่าธรรมศาสตร์ก็สร้างคน คนที่มีความหลากหลาย มีคนที่แตกต่างกัน แล้วถ้าถามว่าเป็นปัญหาไหม ถ้ามองว่าเป็นปัญหามันก็เป็น แต่ผมคิดว่าเราต้องพยายามทำให้คนเข้าใจว่า นี่แหละคือลักษณะที่เราเป็น เรามีความแตกต่างในเชิงความคิด เรามีความรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวหรือจุดยืนในทางการเมืองต่างกันมาก สุดขั้วกันมาก แต่ผมว่าอย่างน้อยธรรมศาสตร์ทำให้คนที่เห็นต่างอยู่ด้วยกันได้นะ

 

 

อาจารย์มองอย่างไรกับการรณรงค์สรรหาอธิการบดีในรอบนี้

 

คือผมว่ารอบนี้นะ หลายคนพูดว่าเป็นรอบที่การรณรงค์เรื่องอธิการบดีธรรมศาสตร์ตื่นตัวมาก ผมว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากหลายอย่าง เช่น ประจวบเหมาะกับการใกล้สรรหาอธิการบดีของจุฬาฯ ด้วย กระแสก็มีอยู่ รวมไปถึงตอนนี้คนเปิดตัวมาแต่ละคน ทุกคนก็มาพร้อมไอเดียที่มีความหวือหวา 

 

ถ้าถามผม ผมคิดว่าข้อดีอย่างหนึ่งคือรอบนี้ผมจะต้องไปประชาคมเยอะมาก คือหลายคนเขาก็อาจไม่ได้เจอกันถ้าไม่มีแคมเปญเรื่องการเลือกอธิการบดี ธรรมศาสตร์ก็อยู่อย่างนั้น แต่วันนี้ผมคิดว่ากระบวนการทั้งหมดทำให้คนในธรรมศาสตร์ตระหนักมากขึ้นว่าอะไรคือความสำคัญ ความจำเป็น อะไรคือสิ่งที่เรา ต้องให้ความสำคัญขึ้นมา 

 

ผมว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ยกตัวอย่างตัวผมเองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เวลาที่ผมไปในคณะ หน่วยงานต่างๆ ผมก็ต้องไปยกประเด็นให้เขาเห็น เช่น คนธรรมศาสตร์บางคนยังไม่รู้เลยว่าเรามีเงินเก็บเท่าไร เราอยู่ตรงไหนในระบบมหาวิทยาลัยไทย ไปทำให้คนตื่นตัวขึ้นนะว่าธรรมศาสตร์เราแย่ขนาดนี้หรือ (บางเรื่องนะ) สถานการณ์เราไม่ดีขนาดนั้นเลยหรือ คือไม่เช่นนั้นคนก็จะไม่รู้ ประชาคมจำนวนมากจะไม่รับรู้ แล้วปัญหาในธรรมศาสตร์มีเยอะแยะเลย หรือถ้าไม่ไปก็ไม่รู้นะ แล้วเราก็ปล่อยเลยไปทีละวันทีละวัน ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าต่อให้ใครจะมาเป็น แต่มันมีชุดของปัญหาชุดหนึ่งที่คนที่มาเป็นคุณต้องไปทำ 

 

ผมคิดว่าวันนี้มันถูกขุดออกมาแล้ว ถูกทำให้เปิดออกมา คนจะเริ่มเห็นว่าคุณมีพันธะบางอย่าง แล้วคุณก็จะต้องมีฉันทะในการที่จะทำเรื่องเหล่านี้

 

 

เราคิดกันว่าการออกนอกระบบเหมือนเราจะจัดการตัวเองได้ แล้วก็ทำได้ดี แต่สุดท้ายก็เหมือนเราติดหล่มอยู่ในระบบราชการแบบเดิมอยู่ดี กลายเป็นยิ่งแย่ขึ้นไปกว่าเดิม อาจารย์มองปัญหานี้อย่างไรบ้าง

 

ที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับให้เกิดประโยชน์กับเราเลย อันนี้ผมยอมรับ ธรรมศาสตร์ที่ผ่านมาเราออกนอกระบบปี 2558 มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับเต็มรูปแบบ แต่เราไม่ได้ใช้โอกาสนั้นมาเป็นโอกาสในการพัฒนามหาวิทยาลัย เพราะว่าเรายังติดกรอบวิธีคิดแบบราชการ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าก็เป็นหนึ่งใน Mindset ที่ผมคิดว่าสำคัญที่ต้องพยายามว่าเราจะทำอย่างไรให้หลุดออกจากกรอบ 

 

แต่อันนี้ผมไม่โทษใครนะ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นระบบของประเทศเราทั้งหมด ที่ถึงแม้เราจะลุกขึ้นมาบอกว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ เรามีอิสระที่จะทำโน่นนี่นั่นได้ แต่ในท้ายสุดธรรมศาสตร์ยังถูกกำกับและตรวจสอบโดยหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งพอเราถูกกำกับและตรวจสอบคนทำงานก็มีความรู้สึกว่าอิงระเบียบเดิมดีกว่า อิงเกณฑ์เดิมดีกว่า อิงที่คนอื่นเขาทำดีกว่า อย่างน้อยก็ปลอดภัยดี มันเป็นปัญหาวนไปแบบนี้ 

 

ผมว่าสุดท้ายไม่ว่าใครจะเป็นก็จะเจอหล่มนี้อยู่ดี เหนื่อยในการพาตัวเองให้พ้นจากหล่มพวกนี้ เพราะอะไร เพราะจะเจอ ป.ป.ช. จะเจอสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเจอระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สุดท้ายคุณเจอแค่ 3-4 เรื่องนี้ คุณไม่กล้าคิดนอกกรอบแล้ว และสุดท้ายจะเจอศาลปกครอง เราบอกว่ามหาวิทยาลัยในกำกับ ผมคิดว่ามันเป็นแค่วาทกรรมที่ทำให้เราถูกตัดทอนงบประมาณ มันไม่ได้ทำให้เรามีความเป็นอิสระมากขึ้น 

 

ถ้าย้อนไปดูมีเรื่องเดียวที่เปลี่ยนมากๆ คือโครงสร้างการจัดสรรเงินงบประมาณ แต่เรื่องอื่นมันเรื่องเดิม แล้วเราต้องทำแบบเดิม แล้วหนักขึ้นกว่าเดิม

 

ทางออกก็คืออาจต้องยอมเจ็บตัวสู้กับกระบวนการพวกนี้ คือสุดท้ายเรารู้สึกว่า มหาวิทยาลัยที่จะลุกขึ้นมาทำได้คือมหาวิทยาลัยชั้นนำที่กล้าท้าทายกฎเกณฑ์กติกาเหล่านี้ แล้วเราบอกว่าเห็นไหมเราไม่ผิด แล้วก็พิสูจน์กันไปซึ่งต้องใช้เวลา ต้องเจ็บตัวและมีความเสี่ยง เช่น ศาลปกครองฟ้อง แต่สุดท้ายศาลสูงบอกเราชนะ แล้วก็จะวางกติกาใหม่ จะวางเกณฑ์ใหม่ คือผมคิดว่าต้องไปแบบนั้น ยกตัวอย่างเหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เคยทะเลาะกัน สตง. บอกให้เรียกเงินคืนเพราะไม่ใช่หน้าที่และอำนาจ 

 

สุดท้ายมันก็สู้เป็น 5 ปี 7 ปี ศาลสูงบอกว่าชนะก็กลายเป็นวางแนวปฏิบัติว่าทำได้ หลายเรื่องต้องไปจบที่ศาล ผมเชื่อว่าจะไปจบที่ศาล อย่างเกณฑ์ตำแหน่งวิชาการ เกณฑ์หลายๆ เรื่องสุดท้ายนะผมว่าถ้าใครลุกขึ้นสู้นะ จบที่ศาล แต่ว่าเจ็บตัว ยาวนาน 

 

 

อาจารย์เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ เวลาอาจารย์ต้องบริหารคน หรือเราอยู่ในฐานะผู้นำ มีหลักในการทำงานกับคนอย่างไร

 

ผมคิดว่าเราต้องอาศัยคนที่ค่อนข้างเป็น Young Generation ผมบอกเลยว่าเราเปลี่ยนคนรุ่นกลางกับเปลี่ยนคนรุ่นใหญ่ยากมาก ผมไม่ค่อยมีความหวัง (ไม่ใช่ว่าไม่หวังนะครับ) แต่ผมพูดตามตรงจากประสบการณ์

 

ยกตัวอย่างคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ยากมากที่จะเปลี่ยนเขา คนแบบนี้ Mindset บางอย่างมันถูก Groom มาเรียบร้อยแล้ว ผมคิดว่าถ้าเราจะบริหารคน เราต้อง Pay Attention (ใส่ใจ) ตั้งแต่เข้ามาว่าเราจะ Groom ให้เป็นคนแบบไหน แล้วเราต้องอาศัยเขามาเป็นตัวเปลี่ยน เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนคนรุ่นหนึ่งได้ แล้วยิ่งผู้บริหารระดับกลางในองค์กรนะ จะเป็นปัญหาเกือบทุกที่ 

 

สังเกตดูเด็กรุ่นใหม่เข้าไปก็ไม่ค่อยได้ด่า CEO ตัวเอง แต่จะด่าหัวหน้าแผนก ด่าผู้จัดการฝ่าย ด่า ผอ.กอง เพราะคนเหล่านี้อาจมีความคิดตั้งป้อมหัวสี่เหลี่ยม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่เคยรับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเด็กที่อยู่ไม่ได้ก็เพราะคนเจนนี้ ไม่ใช่อยู่ไม่ได้เพราะ CEO ไม่ใช่อยู่ไม่ได้เพราะเบอร์ 1 แต่อยู่ไม่ได้เพราะเบอร์กลางๆ 

 

ผมคิดว่าถ้าเป็นผมนะ บริหารคน โฟกัสคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าก็พยายามให้เขาทำในสิ่งที่เขามีศักยภาพ เอาศักยภาพเขาออกมาใช้ แต่หวังความเปลี่ยนแปลงนั้นยาก แต่เราก็ต้องทำคู่กันไป

 

เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการทำงานให้เขาเห็น จากการที่มีตัวอย่างแบบนี้แล้วงานสำเร็จได้จริงไหม

 

ใช่ครับ เพราะคนรุ่นใหม่มีพลัง ไม่ได้อยู่ในกรอบ พร้อมที่จะคิดอะไรที่คนในระบบไม่ค่อยกล้าคิด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising