×

53 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนออกแถลงการณ์ประณามการข่มขู่คุกคาม เอกชัย อิสระทะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

13.08.2019
  • LOADING...

วันนี้ (13 ส.ค.) เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โพสต์ข้อความแถลงการณ์ของ 53 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาประณามการข่มขู่คุกคาม เอกชัย อิสระทะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ในการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่หิน จังหวัดพัทลุง ผ่านแถลงการณ์ที่มีข้อความระบุดังนี้

 

ตามที่ปรากฏข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ได้เกิดเหตุการณ์การข่มขู่คุกคาม เอกชัย อิสระทะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ) และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ซึ่งได้เดินทางไปเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น. ณ มัสยิดอัสซอลีฮีน หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง 

 

แต่เมื่อเอกชัยเดินทางไปถึงบริเวณมัสยิดที่ใช้จัดงาน ได้ถูกชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งขัดขวางห้ามไม่ให้เข้าร่วมเวที พร้อมทั้งทำการยึดโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ และบัตรประจำตัวประชาชนไว้ด้วย จากนั้นชายกลุ่มดังกล่าวได้บังคับควบคุมตัวเอกชัยขึ้นรถยนต์ไปกักขังไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกันจึงปล่อยตัวออกมาโดยข่มขู่ห้ามไม่ให้แจ้งความดำเนินคดี และห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองหินนี้อีกต่อไป มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยของเอกชัยและครอบครัว

 

องค์กรและกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 53 องค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ ขอประณามการกระทำโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการข่มขู่คุกคามและละเมิดต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนอย่างร้ายแรง และมีความเห็นดังนี้

1. เอกชัย อิสระทะ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สิทธิชุมชน และประโยชน์สาธารณะ ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตาม ‘ปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ (The UN Declaration on Human Rights Defenders) ที่รัฐไทยมีพันธะต้องให้การรับรอง คุ้มครอง และส่งเสริมให้สามารถทำหน้าที่ได้โดยปลอดภัย ปราศจากความหวาดกลัวและการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ

 

2. การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอนุญาตโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งในรูปแบบการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น การยื่นหนังสือต่อหน่วยงาน การจัดเสวนาสาธารณะ หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่นใดโดยสันติวิธี เป็นส่วนหนึ่งของการใช้สิทธิมีส่วนร่วมจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 43 และถือเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐและภาคธุรกิจเอกชนมีหน้าที่ต้องเคารพ ให้ความสำคัญ และประกันรับรองให้กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นได้โดยเสรี ปราศจากการปิดกั้น ข่มขู่ คุกคาม ทั้งนี้ตามหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGPs) ที่รัฐไทยให้การรับรองและผูกพันต้องปฏิบัติตาม

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรและกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 52 องค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจเร่งสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับข่มขู่และกักขังหน่วงเหนี่ยว เอกชัย อิสระทะ ในเหตุการณ์วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ ป้องปรามการกระทำผิดซ้ำ และเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยจากอิทธิพลการใช้อำนาจนอกกฎหมายให้กับ เอกชัย อิสระทะ ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการเหมืองแร่หิน

 

2. ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการและดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของ เอกชัย อิสระทะ และครอบครัว ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไปจนกว่าจะมีการนำคนผิดมาลงโทษ

 

3. ขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตรวจสอบและทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะเวทีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 และดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการได้อย่างแท้จริง

 

 

ภาพ: เอกชัย อิสระทะ/Facebook 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising