×

ภาพรวมเหตุการณ์สำคัญตลอด 4 ปีกว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

20.01.2021
  • LOADING...
ภาพรวมเหตุการณ์สำคัญตลอด 4 ปีกว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นี่คือภาพรวมเหตุการณ์สำคัญบางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะส่งต่ออำนาจให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และคามาลา (กมลา เทวี) แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ที่จะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ ตามเวลาท้องถิ่น 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพรวมเหตุการณ์สำคัญตลอด 4 ปีกว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

มกราคม 2017: โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าร่วมพิธีบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบาย และการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ได้ชื่อว่า ทรงพลังมากที่สุดในโลก ตลอดช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

 

ภาพ: Andrew Gombert / AFP

 

 

พฤษภาคม 2017: โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปลด เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ (FBI) กลางอากาศ ก่อนที่โคมีย์จะเดินทางเข้าให้การต่อคณะกรรมการของวุฒิสภาสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูอาจจะไม่ลงรอยกัน รวมถึงประเด็นการสืบสวนถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจเเทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ก่อนที่ โรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษของทำเนียบขาวจะเข้ามารับช่วงต่อในการสืบสวนประเด็นดังกล่าว

 

ภาพ: Brendan Smialowski / AFP

 

 

มิถุนายน 2017: โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก นับเป็น 1 ในข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ร่วมกับ ‘ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่ทรัมป์ตัดสินใจถอนตัว หลังดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ไปได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น ก่อนที่สหรัฐฯ จะออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ที่ผ่านมา 

 

ภาพ: Saul Loeb / AFP

 

ชมคลิป ‘5 ปีความตกลงปารีส ย้อนดูคำสัญญานานาชาติกู้วิกฤตโลกร้อน เชื่อได้แค่ไหน?’ ได้ที่ https://thestandard.co/video-5-years-paris-agreement-global-warming-crisis/ 

 

 

สิงหาคม 2017: เหตุการณ์ ‘นรกบนดิน’ ในเมืองชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ที่กลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายขวาจัดในสหรัฐฯ รวมตัวกันประท้วง เพราะไม่พอใจที่ทางการจะทำลายอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์ต่างๆ ของการค้าทาสในอดีต นับเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของกลุ่มนิยมผิวขาวและกลุ่มขวาจัดในสหรัฐฯ 

 

ผู้ชุมนุมต่างตะโกนสโลแกนเหยียดเชื้อชาติ พร้อมขับไล่คนเห็นต่าง คนผิวสี กลุ่มรักร่วมเพศ และผู้อพยพทุกคน การปะทะคารมรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นเหตุปะทะกันระหว่างฝ่ายขวาจัดและกลุ่มต่อต้าน สะท้อนสภาพปัญหาคลั่งชาตินิยมผิวขาวที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน จนทางการรัฐเวอร์จิเนียต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมสั่งให้ผู้ประท้วงสลายการชุมนุมและยุติการใช้ความรุนแรง โดย Heather Heyer หญิงอเมริกัน วัย 32 ปี เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

ภาพ: Stephanie Keith / File Photo / File Photo / Reuters

 

ย้อนอ่าน ‘นรกบนดิน’ ในชาร์ลอตส์วิลล์ มนุษย์ยังคง ‘ฆ่า’ กันเอง เพียงเพราะความแตกต่าง ได้ที่ https://thestandard.co/news-charlottesville-killed-just-because-of-the-difference/ 

 

 

เมษายน 2018: โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มซีเรีย เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีกับพลเรือน โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส โดยทรัมป์ยกให้ครั้งนี้ปฏิบัติการโจมตีแบบไร้ที่ติที่กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนร่วม

 

ภาพ: Louai Beshara / AFP

 

 

มิถุนายน 2018: ภาพนาทีประวัติศาสตร์ การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ 2018 ที่สิงคโปร์ โดยใช้เวลาเกือบ 7 ทศวรรษกว่าผู้นำของทั้งสองประเทศจะตัดสินใจหันมาร่วมโต๊ะเจรจากันสำเร็จ นับตั้งแต่ปี 1950 ที่สงครามเกาหลีปะทุขึ้นพร้อมสถานะประเทศคู่สงครามจวบจนถึงปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในซัมมิตที่ผู้คนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตามองมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์และคิมจองอึนจะพบกันอีกสองครั้งในการประชุมทรัมป์-คิมซัมมิต 2019 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม (กุมภาพันธ์ 2019) และที่เขตปลอดทหารพรมแดนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ (มิถุนายน 2019)

 

ภาพ: Saul Loeb / AFP

 

ย้อนชม ‘ประมวลภาพการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ 2018 ที่ทั่วโลกต้องจดจำ’ ได้ที่ https://thestandard.co/trump-kim-summit-photos/ 

 

 

กรกฎาคม 2018: การประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เปิดฉากขึ้นที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ หัวข้อการหารือครอบคลุมทั้งเรื่องการค้า การทหาร ไปจนถึงประเด็นเรื่องจีน โดยสองฝ่ายคาดหวังว่า ซัมมิตครั้งนั้นจะช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้

 

ภาพ: Brendan Smialowski / AFP

 

 

มิถุนายน 2020: การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ จากการถูกเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ที่มีแนวคิดเหยียดสีผิว ปลุกกระแส ‘Black Lives Matter’ ขึ้นในโลกโซเชียล รวมถึงหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐที่เกิดเหตุอย่างรัฐมินนิโซตาและรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้คนจำนวนมากต่างออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน เรียกร้องให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับอดีตนายตำรวจผู้กระทำเกินกว่าเหตุ เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับฟลอยด์ ผู้ล่วงลับ ต่อต้านการเหยียดสีผิว เชื้อชาติและความแตกต่างหลากหลายในสังคมอเมริกัน

 

ภาพ: Kerem Yucel / AFP

 

ตุลาคม 2020: โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นอีกหนึ่งผู้นำประเทศที่ติดโควิด-19 หลังจากที่เขาไม่เคยป้องกันตัวเอง และลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอย่างจริงจัง หลังจากโควิด-19 แพร่ระบาดมานานกว่า 1 ปี สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสม และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก โควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนในสหรัฐฯ ในช่วงที่ทรัมป์บริหารประเทศไปแล้วกว่า 400,000 ราย 

 

ภาพ: Saul Loeb / AFP

 

 

ตุลาคม 2020: โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อ เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ นั่งบัลลังก์หนึ่งในผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่แทนที่ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมที่เสียชีวิตลง นับเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ คนที่ 3 ที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อจาก นีล กอร์ซัซ (2017) และเบรตต์ คาวานอห์ (2018)

 

ส่งผลให้ศาลสูงสุดมีความเป็นอนุรักษนิยมมากยิ่งขึ้น เพิ่มแต้มต่อให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน หากมีประเด็นที่ต้องอาศัยการพิจารณา และมติของศาลสูงสุดเป็นตัวตัดสิน โดยมีผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมต่อผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมในศาลสูงสุดอยู่ที่ 6 ต่อ 3 เสียง 

 

ภาพ: Nicholas Kamm / AFP

 

ชม ‘เปิดทำเนียบผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ คณะปัจจุบัน’ ได้ที่ https://thestandard.co/house-of-justice-of-the-us-supreme-court/ 

 

 

มกราคม 2021: สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติ 232 ต่อ 197 เสียงให้มีการไต่สวนความผิด เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง ในข้อหาปลุกปั่นจนก่อให้เกิดการจลาจลขึ้น หลังเกิดเหตุกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้ารัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันที่ได้รับการลงมติถอดถอนถึงสองครั้ง พร้อมถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมโดยสภาคองเกรส 

 

ภาพ: Brendan Smialowski / AFP

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising