×

จับตา 4 เทรนด์นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป ปี 2021 โมเดลที่ไทยอาจใช้เป็นกรณีศึกษาและปรับตัว

08.04.2021
  • LOADING...
จับตา 4 เทรนด์นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป ปี 2021 โมเดลที่ไทยอาจใช้เป็นกรณีศึกษาและปรับตัว

HIGHLIGHTS

  • การกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของสินค้า, หยุด Fast Fashion, ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) และผลักดันแนวคิดความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยพลาสติก เป็น 4 เทรนด์นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ความสำคัญในปี 2021  
  • โดยเฉพาะการผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติก ที่ไทยก็จะต้องจับตามองเพื่อแสวงหาความร่วมมือ รวมทั้งปรับตัวให้ทันกับเทรนด์สีเขียวที่กำลังกลายมาเป็นเข็มทิศขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจในยุคปัจจุบัน

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy กำลังเป็นคำยอดฮิตในปัจจุบัน และเมื่อต้นปีนี้รัฐบาลก็ได้ประกาศให้ ‘เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว’ (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย 

 

เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจสีเขียว ภูมิภาคหนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาได้ดีคือยุโรป ซึ่งมีบทบาทนำในการผลักดันความร่วมมือระดับโลกเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศนโยบาย European Green Deal ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายใน 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 และเศรษฐกิจหมุนเวียนคือองค์ประกอบสำคัญของนโยบายสีเขียวของ EU 

 

ปี 2021 เป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของ EU เนื่องจากจะมีมาตรการใหม่ออกมาหลายอย่าง ซึ่งอาจเป็นกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์สำหรับนโยบาย BCG ของไทย หรืออาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าจากไทยไปยัง EU จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง 

 

 

มาตรฐานด้านความยั่งยืนของสินค้า (Sustainable Products Initiative)

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับมาตรฐานประหยัดพลังงานสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ตอนนี้ EU มองว่าไม่เพียงพอแล้ว และควรตั้งมาตรฐานเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดด้วย ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบสินค้าที่ควรใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความคงทนใช้งานได้นาน สามารถซ่อมได้ รวมถึงบังคับให้ผู้ผลิตต้องมีบริการอะไหล่และศูนย์บริการซ่อมสินค้า ไปจนถึงกำหนดให้ผู้ผลิตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลขยะ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขวัฒนธรรม ‘การใช้แล้วทิ้ง’ ของสังคมยุคปัจจุบันที่สร้างขยะปริมาณมหาศาล 

 

การปรับปรุงกฎหมายการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Ecodesign ของ EU นี้ จะครอบคลุมสินค้าประเภทที่ใช้ทรัพยากรเปลืองแต่มีศักยภาพในการหมุนเวียนสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ รถยนต์ แพ็กเกจจิ้ง พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง และอาหาร โดยคาดว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะมีข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายออกมาภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 เพื่อให้ประเทศสมาชิกและสภายุโรปพิจารณาต่อไป และอาจใช้เวลาอีก 1-2 ปีจนกว่ากฎหมายจะมีผลใช้บังคับ

 

นอกจากนี้ EU จะเข้มงวดขึ้นกับสินค้าที่ติดฉลากสีเขียว เนื่องจากในปัจจุบันมีฉลากสีเขียวหลากหลายรูปแบบ แต่บางสินค้าอาจไม่ได้มีคุณสมบัติรักษ์โลกที่แท้จริง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดการกับปัญหา ‘ฟอกเขียว’ หรือ Greenwashing

 

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจของ EU คือ การให้ผู้ผลิตสร้าง ‘พาสปอร์ตดิจิทัลสำหรับสินค้า’ หรือ ‘Digital Product Passport’ ซึ่งอาจเป็นในรูป QR Code ที่จะให้ข้อมูลรายละเอียดของสินค้าดังกล่าวว่าตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวยุโรปในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพ 

 

หยุด Fast Fashion 

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเร็วที่สุด เนื่องจากในแต่ละปีมีขยะเสื้อผ้าเกิดขึ้น 92 ล้านตัน แต่มีเพียง 1% ของขยะดังกล่าวที่ถูกนำมารีไซเคิล นอกจากนี้การผลิตและย้อมสีเสื้อผ้ายังก่อให้เกิดน้ำเสียในปริมาณมาก คิดเป็น 20% ของน้ำเสียทั้งหมด

 

EU กำลังจัดทำยุทธศาสตร์สิ่งทอยั่งยืน (EU Strategy on Sustainable Textiles) ซึ่งมีกำหนดออกมาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี โดยมุ่งเน้นมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องการสิ้นเปลืองทรัพยากรและสารเคมีที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ในการนี้จึงน่าจะได้เห็นการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของเสื้อผ้าที่วางจำหน่ายใน EU เรื่องสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลขั้นต่ำ และจำกัดการใช้ไมโครพลาสติกซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งการออกมาตรการเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บขยะสิ่งทอให้เป็นระบบยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ในสัดส่วนที่สูงขึ้น  

 

นอกจากมิติสิ่งแวดล้อมแล้ว EU ก็กำลังจัดทำกฎหมายอีกฉบับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Sustainable Corporate Governance หรือ Due Diligence) ที่จะบังคับให้ผู้นำเข้าและผู้ผลิตสินค้าที่จะส่งมาขายใน EU ต้องมีระบบการควบคุมและตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าได้มีการเคารพมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่การผลิต

 

 

ลด E-Waste ก่อนจะล้นโลก

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับโลกยุคดิจิทัล และเป็นขยะที่มีปริมาณเพิ่มอย่างรวดเร็วที่สุดใน EU แต่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลไม่ถึง 40% โดยปัญหาของขยะอิเล็กทรอนิกส์คือ อายุการใช้งานที่สั้น และมักจะซ่อมหรือหาอะไหล่ทดแทนไม่ได้

 

EU วางแผนออกกฎหมายใหม่เรื่องสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าจะเริ่มเผยแพร่ข้อเสนอกฎหมายในช่วงปลายปี 2021 ภายใต้ชื่อ ‘Circular Electronics Initiative’ มาตรการที่คาดว่าจะนำมาใช้ อาทิ ข้อกำหนดคุณสมบัติของสินค้าเพื่อให้คงทนขึ้น การให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนแก่ผู้บริโภค รวมทั้งการบัญญัติ ‘สิทธิในการซ่อมแซม’ (Right to Repair) เพื่อจัดการกับเทคนิคการตลาดในปัจจุบันที่มักสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อสินค้าชิ้นใหม่ นอกจากนี้จะมีการกำหนดให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างยี่ห้อสามารถใช้ชาร์จเจอร์ร่วมกันได้ (Common Charger) เพื่อเลิกแนวปฏิบัติการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พร้อมชาร์จเจอร์ รวมทั้งสร้างระบบการให้รางวัลเพื่อสนับสนุนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

 

แนวคิดความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยพลาสติก 

EU มองว่าพลาสติกเป็นปัญหาไร้พรมแดน จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือระดับโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และการรีไซเคิลพลาสติกไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องจัดการตั้งแต่ต้นตอของปัญหาคือ ลดการผลิตพลาสติก หรือเปลี่ยนมาใช้พลาสติกที่ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม 

 

เมื่อปี 2017 ผลการศึกษาในกรอบสหประชาชาติสรุปว่า ความตกลงระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารพิษตกค้างที่ยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) และอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) ยังเป็นกรอบกฎหมายที่กระจัดกระจายและไม่มีประสิทธิภาพ

 

นโยบายสำคัญประการหนึ่งของ EU ในเรื่องนี้จึงจะเป็นการผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติก (Global Agreement on Plastics) เพื่อจัดการกับปัญหาพลาสติกอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (การผลิต-ใช้-ทิ้ง) โดยปัจจุบันน่าจะเป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะ เพราะสหรัฐฯ ได้มีประธานาธิบดีใหม่คือ โจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม และเพิ่งพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นหาก EU ได้สหรัฐฯ มาเป็นพันธมิตรร่วมผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติก ก็น่าจะมีความคืบหน้าได้เร็ว และเป็นความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศที่น่าจับตามอง

 

และนี่คือ 4 เทรนด์นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของ EU ที่น่าติดตามในปี 2021 ทั้งเรื่องการกำหนดมาตรฐานด้านความยั่งยืนของสินค้า การพลิกโฉมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติกที่ไทยก็จะต้องจับตามองเพื่อแสวงหาความร่วมมือ รวมทั้งปรับตัวให้ทันกับเทรนด์สีเขียวที่กำลังกลายมาเป็นเข็มทิศขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจในยุคปัจจุบัน

 

ภาพ: AFP, Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising