×

32 ปี สงครามเย็นสิ้นสุด ย้อนประวัติศาสตร์โซเวียต จากวันที่ยิ่งใหญ่สู่วันล่มสลาย

26.12.2023
  • LOADING...

ในคืนส่งท้ายวันคริสต์มาสของปี 1991 หรือวันนี้เมื่อ 32 ปีที่แล้ว ใครจะเชื่อว่าจะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายก่อนจักรวรรดิที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 จะล่มสลายสิ้นสุดลงไปพร้อมกับยุคสมัยแห่งสงครามเย็นที่ดำเนินมากว่าครึ่งศตวรรษ 

 

ย้อนเวลากลับไปในช่วงสุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย ที่ราชวงศ์โรมานอฟมีนโยบายสมาทานหลักเทวราช Divine Rights และปิตาธิปไตยอย่างไม่ประนีประนอม ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ทรุดโทรมจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และไร้การปฏิรูปที่ทันกาล ทำให้เกิดการต่อต้านระบอบราชวงศ์โรมานอฟไปทั่วจักรวรรดิในชื่อของการปฏิวัติกุมภาพันธ์ (February Revolution) และบีบบังคับให้จักรพรรดินิโคลัย (นิโคลัส) ที่ 2 จำต้องสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม (15 มีนาคม 1917 ตามปฏิทินสากล) 

 

เป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐเพียงเวลาสั้นๆ ก่อนที่ฝ่ายบอลเชวิกนำโดย วลาดิเมียร์ อูเลียนอฟ หรือ ‘เลนิน’ ซึ่งสมาทานแนวคิดคอมมิวนิสต์ได้ยึดอำนาจซ้อนโค่นล้มรัฐบาลเฉพาะกาลในวันที่ 25 ตุลาคม ตามปฏิทินเก่า (7 พฤศจิกายน 1917 ตามปฏิทินสากล) บุกเข้ายึดพระราชวังฤดูหนาวอันเป็นที่ทำการของรัฐบาลเฉพาะกาล โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพที่ทหารระดับล่างส่วนใหญ่ที่มีพื้นเพมาจากเกษตรกร คนงานโรงงาน และคนระดับล่าง รวมไปถึงได้ร่วมต่อสู้ในสงครามกลางเมืองกับฝ่ายอำนาจเก่าที่ยังคงภักดีต่อซาร์ (รัสเซียขาว) เป็นระยะเวลาอีก 5 ปี จนกระทั่งฝ่ายบัลเชวิก (รัสเซียแดง) ได้รับชัยชนะ และได้กุมอำนาจรัฐอย่างเด็ดขาด และสถาปนาสหภาพแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต รัฐสังคมนิยมที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งแรกของประวัติศาสตร์โลกได้สำเร็จ

 

มีการจัดตั้ง ‘โซเวียต’ (Soviet – Совет หรือซาเวี้ยต ที่หมายถึงการให้คำปรึกษา ณ ที่นี้หมายถึงสภาประชาชน) ขึ้นในกรุงเปโตรกราด (ชื่อเดิมอีกชื่อของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) รวมไปถึงหัวเมืองห่างไกลในดินแดนส่วนต่างๆ ของอดีตจักรวรรดิรัสเซียด้วย เช่น ยูเครน เบลารุส และภูมิภาคคอเคซัส

 

เมื่อสงครามกลางเมืองเริ่มคลี่คลาย ในวันที่ 21 ธันวาคม 1922 ได้มีการประชุมร่วมกันของตัวแทนโซเวียตจากดินแดนต่างๆ มิคาอิล คาลินิน เป็นตัวแทนจากโซเวียตรัสเซีย, กรีโกรี เปตรอฟสกี เป็นตัวแทนจากโซเวียตยูเครน, อเล็กซานเดอร์ ชีร์เวียคอฟ เป็นตัวแทนจากโซเวียตเบลารุส และ มิคาอิล ท์สคากายา เป็นตัวแทนจากโซเวียตทรานส์คอเคเซีย ร่วมลงนามในสนธิสัญญาการก่อตั้งสหภาพโซเวียต (Treaty on the Creation of the Union of Soviet Socialist Republics) พร้อมด้วยปฏิญญาว่าด้วยการก่อตั้งสหภาพโซเวียต (Declaration of the Creation of the Union of Soviet Socialist Republics) โดยได้มีการลงสัตยาบันในวันที่ 30 ธันวาคม 1922 ซึ่งนับเป็นวันแห่งการถือกำเนิดขึ้นของสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ

 

สหภาพโซเวียตมีรูปแบบการปกครองเป็นแบบสหพันธรัฐ (Federative State) เป็นการรวมตัวกันเป็นสหภาพ (Union) ของแต่ละสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตต่างๆ (Soviet Socialist Republics) โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่กรุงมอสโก และมีพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต (CPSU) เป็นพรรคที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจบริหารประเทศ 

 

ระบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองต่างๆ ดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทาง ยกเว้นระบบการสืบทอดอำนาจที่ยังไม่ทันได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์อย่างแน่ชัดก็เริ่มเกิดปัญหา เมื่อเลนินถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่มีสาเหตุจากบาดแผลจากการถูกลอบสังหารช่วงสงครามกลางเมือง เมื่อวันที่ 21 มกราคม 1924 

 

ช่วงเวลานั้นยังไม่ได้กำหนดว่าใครจะเป็นทายาททางการเมืองสืบต่อ นำไปสู่การแย่งชิงอำนาจของ โยซิฟ สตาลิน และ เลียฟ ทร็อตสกี โดยผลคือสตาลินชนะ และทร็อตสกีก็หมดอำนาจสิ้น ลงเอยด้วยการถูกขับออกจากพรรคและเนรเทศออกนอกประเทศ ก่อนที่จะถูกสังหารในเวลาต่อมาด้วยการเอาขวานจามที่เม็กซิโกโดยสายลับที่สตาลินส่งไป 

 

การแย่งชิงอำนาจกลายเป็นประเพณีอีกหนึ่งอย่างที่จะเกิดขึ้นแทบทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจในการเมืองโซเวียต การสืบทอดอำนาจตามระบบเพิ่งจะเกิดขึ้นจริงๆ จังๆ ในยุคของการเปลี่ยนสมัยจาก ลีโอนิด เบรชเนฟ ไปสู่ยุคของ ยูรี อันโดรปอฟ ซึ่งเป็นปีท้ายๆ ของสหภาพโซเวียตแล้ว

 

การถือกำเนิดขึ้นของระบอบโซเวียตได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางเศรษฐกิจและสังคมรัสเซีย รวมถึงประเทศในเครืออย่างขนานใหญ่ นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลโซเวียตขึ้นครั้งแรกในยุคของเลนิน ก็ได้มีการบังคับใช้นโยบาย ‘ลิคเบียส’ (LikBez) (ย่อมาจาก Likvidatsiya Bezgrammatnosti u naseleniya – การขจัดความไม่รู้หนังสือประชาชน) อย่างแข็งขัน จนกระทั่งทำให้อัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) จากที่เคยอยู่ที่ 20% ในยุคสมัยจักรวรรดิรัสเซีย กลายเป็น 80% ภายใน 10 ปีหลังเปลี่ยนระบอบเป็นสหภาพโซเวียต มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วยอย่างก้าวกระโดดในยุคสมัยของสตาลิน โดยได้รับความช่วยเหลือทางด้านองค์ความรู้เทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันและอเมริกัน พลิกโฉมจากสังคมเกษตรเป็นสังคมอุตสาหกรรมกลายเป็นสังคมคนเมือง มีที่อยู่เป็นคอมมูน เป็นอพาร์ตเมนต์ ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐสวัสดิการที่เรียนฟรี รักษาฟรี และมีโควตาปันส่วนอาหารจากรัฐบาล

 

แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดโศกนาฏกรรมทางการเมืองขึ้นไปด้วย ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ในขณะที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างเข้มข้นภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี (เปียทิเลียตกา) รวมไปถึงนโยบายปฏิรูปที่ดินและนารวม (Collectivization) ที่มีการประกาศให้ที่ดินทั่วสหภาพโซเวียตเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล เกษตรกรมีหน้าที่ผลิตผลผลิตให้ได้ตามเป้าของรัฐบาลที่พยายามหาเงินตราต่างประเทศเข้ามาภายในประเทศ ด้วยการตั้งเป้ายอดส่งออกเมล็ดพันธุ์ธัญพืชที่สูงลิ่ว จนกระทั่งไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับมีเกษตรกรเจ้าที่ดินรายย่อยไม่พอใจกับนโยบายรัฐบาลได้ประท้วงด้วยการทำลายผลผลิตและปัจจัยการผลิต ทำให้สตาลินไม่พอใจเป็นอย่างมาก และตอบโต้ด้วยการปิดล้อมพื้นที่ดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ของโซเวียตรัสเซียและเกือบทั้งดินแดนโซเวียตยูเครน โดยไม่ให้มีการเข้าออกและไม่ให้มีการส่งความช่วยเหลือใดๆ เข้าไป 

 

เป็นผลให้ในช่วงปี 1932-1933 เกิดภาวะความอดอยากคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 3-8 ล้านคน (Holodomor) เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่รัฐบาลยูเครนในปัจจุบันพยายามกล่าวโทษรัสเซียด้วย นอกจากนี้ความหวาดระแวงระหว่างศัตรูทางการเมืองของผู้นำสูงสุดสตาลินก็ได้ก่อตัวขึ้น และฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดลงเมื่อ เซร์เกย์ คิรอฟ ผู้นำระดับสูงที่สตาลินไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่ง ถูกลอบสังหารในวันที่ 1 ธันวาคม 1934 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดล้างทางการเมืองครั้งใหญ่ (Great Repression / Great Terror) 

 

บรรดาคู่แข่งหรือผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นคู่แข่งของสตาลินถูกขับออกจากพรรคและถูกตำรวจลับ NKVD จับกุมไปสอบสวนและถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ไม่เว้นแม้แต่คาเมเนฟและซีโนเวียฟที่ล่มหัวจมท้ายการปฏิวัติมาด้วยกันก็โดนกำจัด 

 

การกวาดล้างดำเนินมาถึงจุดสูงสุดในปี 1937 เมื่อกระแสการกวาดล้างลามมาถึงภาคประชาชนคนธรรมดา ในเดือนหนึ่งมีการออกคำสั่ง 00447 ให้มีการจับกุมประชาชนราว 3 แสนคน ซึ่งราว 80,000 คนถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ยังไม่รวมการหวาดระแวงต่อประชาชนชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งลงเอยด้วยการออกนโยบายเนรเทศหมู่ (Mass Deportation) บังคับให้ชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตาตาร์ โปล เยอรมัน ลัตเวียน ฟินน์ เกาหลี ฯลฯ ต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปยังภูมิลำเนาใหม่ ผู้คนราว 1.6 ล้านถูกจับกุม และ 7 แสนคนถูกยิงเป้า ไม่นับรวมผู้เสียชีวิตอื่นๆ อีกมากจากสภาพการเดินทางที่โหดร้าย

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาซึ่งความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนชาวโซเวียตทุกหมู่เหล่า สหภาพโซเวียตตระหนักดีว่าคู่แข่งที่น่ากลัวคือ นาซีเยอรมนีที่มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และยิวสุดขั้วนั้นกำลังเถลิงอำนาจและขยายอิทธิพลไปทั่วยุโรป 

 

นาซีเยอรมนีเองก็หวาดระแวงสหภาพโซเวียต ในที่สุดจึงมาถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัยของหลังบ้านแต่ละฝ่ายในระหว่างที่แต่ละฝ่ายอาจติดพันศึกสงครามอีกด้านหนึ่ง 

 

วันที่ 1 กันยายน 1939 นาซีเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ ฝ่ายสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจึงประกาศสงครามต่อเยอรมนี เป็นจุดเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะเดียวกันนาซีเยอรมนีกับโซเวียตก็ได้แบ่งเขตอิทธิพลกันและกันโดยแบ่งครึ่งดินแดนโปแลนด์ และในปีถัดมาคือปี 1940 โซเวียตได้สนับสนุนการรัฐประหารโดยฝ่ายนิยมโซเวียตในเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ก่อนที่จะผนวกเข้าเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต 

 

แต่ไม่ทันไรในวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ช่วงฤดูร้อน ฮิตเลอร์ก็ได้ตัดสินใจหักหลังสหภาพโซเวียตด้วยการรุกรานอย่างสายฟ้าแลบ สหภาพโซเวียตจำเป็นต้องเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรอันประกอบด้วย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และโซเวียตเองก็เกือบตั้งตัวไม่ติด เนื่องจากบุคลากรของกองทัพแดงโซเวียตจำนวนมากถูกกำจัดไปในช่วง Great Purge นายทหารยศจอมพล 3 ใน 5 นายถูกกำจัดไปจากความหวาดระแวงของสตาลิน 

 

สหภาพโซเวียตจำต้องถอยร่นลึกเข้ามาในแผ่นดินในทิศทางตะวันออก มีการโยกย้ายโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงโรงงานผลิตรถถัง เครื่องบิน และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ มาอยู่ในบริเวณภูมิภาคเทือกเขาอูราลและไซบีเรีย อันเป็นจุดปลอดภัยจากไฟสงคราม นาซีเยอรมนีได้ยึดครองพื้นที่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร และได้ประหัตประหารประชาชนชาวโซเวียตโดยเฉพาะชาวยิวนับล้านคน 

 

จุดเปลี่ยนหลักมาถึงในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1943 เมื่อกองทัพเยอรมนียอมจำนนต่อกองทัพแดงโซเวียตที่เมืองสตาลินกราด ริมฝั่งแม่น้ำโวลกา สหภาพโซเวียต ที่เริ่มตั้งตัวได้และเริ่มมีกำลังพลหนุนได้เริ่มตีโต้กลับไปในทิศทางตะวันตกมุ่งหน้าไปทางเยอรมนี กองทัพโซเวียตได้เข้าไปปลดปล่อยเขตที่เยอรมนียึดครองไว้ ไม่ว่าจะเป็น ยูเครน เบลารุส รัฐบอลติก โปแลนด์ เชโกสโลวาเกีย และฮังการี ในที่สุดก็บุกยึดกรุงเบอร์ลินของเยอรมนีได้สำเร็จในวันที่ 2 พฤษภาคม 1945 

 

แต่ฮิตเลอร์กระทำอัตวินิบาตกรรมหนีความผิดฐานอาชญากรสงครามไปก่อนตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน จากนั้นในวันที่ 8 พฤษภาคม ช่วงเวลา 23.00 น. ได้มีการลงนามในสนธิสัญญายอมจำนนของฝ่ายเยอรมนีต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งตามเวลากรุงมอสโกก็ได้ล่วงเข้าเวลา 01.00 น. ของวันที่  9 พฤษภาคมแล้ว 

 

ดังนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม จึงถือเป็นวันแห่งชัยชนะ (Victory Day) เนื่องจากสหภาพโซเวียตสูญเสียทหารและพลเรือนไปกว่า 27 ล้านคน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดของประเทศ เหมือนประเทศได้เกิดใหม่ เป็นวันที่มีการเฉลิมฉลองใหญ่ราวกับวันชาติ มีการสวนสนามของกองทัพแดงเต็มอัตรา ณ จัตุรัสแดง การเฉลิมฉลองยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเหลือแค่มหาอำนาจเพียงสองขั้วคือ สหรัฐอเมริกาที่แผ่นดินใหญ่ไม่ได้รับความเสียหายจากไฟสงคราม แถมยังเป็นฐานการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งออกไปยังฝ่ายสัมพันธมิตร สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจ และสหภาพโซเวียตที่ยังมีพื้นที่ที่ฐานการผลิตส่วนใหญ่ที่ย้ายเข้าไปอยู่ในอูราลและไซบีเรียไม่ได้รับความเสียหาย บวกกับมีกองทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 1 ล้านคนประจำการในยุโรป ในขณะที่มหาอำนาจอื่น เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ต่างประสบกับความเสียหายจากไฟสงคราม รวมถึงบรรดาอาณานิคมต่างๆ ก็พากันเป็นเอกราช 

 

ส่วนเยอรมนีเองก็ถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน รวมไปถึงกรุงเบอร์ลินก็ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดย 3 ส่วนดูแลโดยพันธมิตรตะวันตก คือ สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส อีก 1 ส่วนดูแลโดยสหภาพโซเวียต

 

ด้วยความที่อุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน โดยสหรัฐอเมริกาสมาทานแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมและระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่สหภาพโซเวียตสมาทานแนวทางเศรษฐกิจสังคมนิยมรวมศูนย์และการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ บรรยากาศความไม่ไว้วางใจเริ่มเกิดขึ้นและเริ่มเผชิญหน้ากันครั้งแรกในปี 1948 ในกรณีของ Berlin Blockade ที่สหภาพโซเวียตออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝ่ายตะวันตกขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าผ่านเข้าไปยังเบอร์ลินตะวันตกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายโซเวียตก่อน ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกจำต้องใช้การขนย้ายทางอากาศ (Airlift) แทน จึงถือได้ว่าสงครามเย็นได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

 

สงครามเย็นเป็นการขับเคี่ยวและเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจ 2 อุดมการณ์ ต่างฝ่ายต่างหาพันธมิตรเพื่อมาเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย หลายกรณีที่ความขัดแย้งพัฒนาไปเป็นสงครามร้อน เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม รวมไปถึงสงครามย่อยๆ ในภูมิภาคต่างๆ บรรดากลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมเริ่มเป็นประเทศเอกราช จึงเป็นโอกาสที่มหาอำนาจทั้งสองพยายามหาพรรคพวกมาอยู่ฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ  

 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดคือ การที่จีนได้กลายมาเป็นคอมมิวนิสต์ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ทำให้ค่ายคอมมิวนิสต์ได้กำลังเสริมหลักมาเพิ่มในค่ายของตน

 

เมื่อสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 5 มีนาคม 1953 ผู้ที่เป็นลูกหม้อสตาลินอย่าง นิกิตา ครุสชอฟ และ กีโอร์กี มาเลนกอฟ ได้แย่งชิงอำนาจกัน จนกระทั่งครุสชอฟเป็นผู้ชนะและได้ครองอำนาจเป็นผู้นำโซเวียตสืบต่อ ก็ได้ริเริ่มนโยบายประณามระบอบสตาลิน (De-Stalinization) และเริ่มให้อิสระกับประชาชนมากขึ้นในการรังสรรค์ผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งของพรรคเสมอไป มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขนานใหญ่ไปทั่วสหภาพโซเวียต ทั้งเขื่อนผลิตไฟฟ้าและที่อยู่อาศัยในรูปแบบอาคารบล็อกประกอบกันที่เรียกว่า ‘ครุสโชฟกา’ ให้กับประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นยุคที่สงครามเย็นกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเหตุการณ์เครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ ถูกยิงตกในโซเวียตในปี 1960 การสร้างกำแพงเบอร์ลินและวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 แต่ก็มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านรูปแบบการเยือนของผู้นำ เช่น การที่ครุสชอฟเยือนอเมริกาในปี 1959 และได้นำเทคโนโลยีการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวโพด เข้ามาเผยแพร่และพัฒนาในสหภาพโซเวียต

 

ในยุคครุสชอฟ สหภาพโซเวียตก็ได้ประสบความสำเร็จด้านอวกาศด้วย คือสามารถส่งดาวเทียม ‘สปุตนิก’ อันเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จในวันที่ 4 ตุลาคม 1957 ตามด้วยนักบินอวกาศคนแรกของโลก ยูรี กาการิน ที่เดินทางสู่วงโคจรไปกับวอสตอค 1 ได้สำเร็จในวันที่ 12 เมษายน 1961 ถือเป็นชัยชนะด้านอวกาศที่สหภาพโซเวียตมีก่อนสหรัฐอเมริกา

 

แต่แล้วด้วยแรงกดดันแบบคลื่นใต้น้ำที่ก่อตัวทีละน้อย ในกรณีที่ครุสชอฟยอมถอยเรือขนส่งขีปนาวุธไปคิวบากลับสหภาพโซเวียต อันเป็นการแสดงถึงการยอมอ่อนข้อต่อสหรัฐฯ ในที่สุดในปี 1964 ครุสชอฟก็ถูกลูกน้องคนสนิทอย่าง ลีโอนิด เบรชเนฟ ล็อบบี้เสียงสนับสนุนในการโค่นครุสชอฟลงจากอำนาจ และเบรชเนฟก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแทน

 

ในยุคของเบรชเนฟได้มีการประกาศ ‘หลักการเบรชเนฟ’ (Brezhnev Doctrine) ที่สหภาพโซเวียตคงไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าไปยับยั้งเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงเข้ามาในสหภาพโซเวียต จึงเป็นที่มาของการที่โซเวียตส่งกองทหารเข้าไปปราบปรามความไม่สงบในเชโกสโลวาเกียในปี 1968 รวมไปถึงการส่งทหารเข้าไปช่วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์อัฟกันต่อสู้กับกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนตั้งแต่ปี 1979-1989 ซึ่งกรณีหลักนี้เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโซเวียตเสื่อมโทรม เนื่องจากมีการถลุงงบประมาณมหาศาลในช่วงระยะเวลา 10 ปี รวมไปถึงปัญหาสังคมที่ทหารกองทัพแดงจำนวนมากกลายเป็นผู้ติดยาเสพติดหลังกลับจากอัฟกานิสถาน 

 

นอกจากนี้การที่สหภาพโซเวียตลงทุนมหาศาลไปกับการพัฒนาด้านความมั่นคง โดยเฉพาะโครงการอาวุธในอวกาศที่ทำแข่งกับสหรัฐฯ ยิ่งทำให้งบประมาณของประเทศขาดดุล

 

เบรชเนฟอยู่ในอำนาจจนวันสุดท้ายของชีวิตในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1982 ผู้ที่สืบต่อคือ ยูรี อันโดรปอฟ อดีต ผอ.เคจีบี แต่ไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงมีการเลือก คอนสแตนติน เชียร์เนนโก ขึ้นเป็นผู้นำแทน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรมเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองได้รับเลือกเป็นผู้นำในตอนที่มีอายุมากแล้ว ดังนั้นในวันที่ 11 มีนาคม 1985 ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตจึงมีมติเลือกนักการเมืองหนุ่มวัย 54 ปี มิคาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นเป็นผู้นำ

 

กอร์บาชอฟเป็นนักการเมืองสายปฏิรูป สองนโยบายปฏิรูปหลักที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ ‘กลาสนัสต์’ (Glasnost) และ ‘ปีรีสโตรยกา’ (Perestroika) กลาสนัสต์คือการ ‘เปิด’ ในที่นี้คือการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น เปิดหู-เปิดตาประชาชน เปิดรับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นโยบายนี้ถือเป็นนโยบายปฏิรูปการเมือง 

 

ส่วนปีรีสโตรยกาคือการ ‘ปรับ’ ในที่นี้คือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลดความเป็นเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางให้เป็นระบบตลาดมากขึ้น มีการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และเริ่มใช้แนวทางทุนนิยมมากขึ้น 

 

ทั้งหมดนี้ก็หวังแก้ไขปัญหาความชะงักงันทางเศรษฐกิจ (Stagnation) ที่เริ่มสะสมมาหลายปี ซึ่งการปฏิรูปนี้ก็ส่งผลไปยังประเทศยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศ Soviet Bloc ด้วยเช่นกัน นโยบายการต่างประเทศในยุคนี้ก็มีการปรับปรุงเช่นกัน สหภาพโซเวียตให้คำมั่นว่าจะยุติการแทรกแซงใดๆ อย่างที่เคยเป็นมา นำไปสู่การถอนทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน รวมไปถึงเมื่อครั้งเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเยอรมนีตะวันออก กอร์บาชอฟก็ปฏิเสธที่จะส่งกองทัพเข้าไปควบคุมสถานการณ์ตามคำร้องขอของรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกด้วย เหตุการณ์แบบนี้จึงลุกลามไปยังประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ อีก เช่น โปแลนด์ เชโกสโลวาเกีย โรมาเนีย ฮังการี และบัลกาเรีย ที่มีการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตย 

 

ในสหภาพโซเวียตเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ภาคประชาสังคมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต บรรดาแคนดิเดตผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ โดยเฉพาะในระดับสาธารณรัฐสหภาพ (Union Republics) เริ่มมีความเป็นอิสระมากขึ้นและถูกครอบงำจากพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนกลางน้อยลง เริ่มมีแนวคิดที่ต้องการเป็นเอกราชมากขึ้นจากการที่รูปแบบของความเป็นสหภาพโซเวียตไม่สามารถที่จะแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนได้อีกต่อไป 

 

ในโซเวียตรัสเซียเองก็เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง มีการจัดตั้งสภาโซเวียตแยกออกมาเป็นเอกเทศ จากเดิมที่ถือว่าสภาโซเวียตใหญ่เป็นสภาโซเวียตของโซเวียตรัสเซียโดยปริยาย มี บอริส เยลต์ซิน ผู้นำคนใหม่ที่ประชาชนหันไปนิยมชมชอบมากกว่ากอร์บาชอฟ ก่อนหน้านี้เยลต์ซินถือเป็นเด็กปั้นของกอร์บาชอฟ แต่ตอนหลังได้หันมาวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดต่างๆ ของกอร์บาชอฟอย่างเผ็ดร้อน

 

ที่สุดแล้วบรรดากลุ่มสาธารณรัฐแห่งสหภาพก็ได้ประกาศเป็นเอกราชดังนี้ 

 

  • เอสโตเนียประกาศวันที่ 16 พฤศจิกายน 1988 ได้รับการรับรองวันที่ 20 สิงหาคม 1991
  • ลัตเวียประกาศวันที่ 28 กรกฎาคม 1989 ได้รับการรับรองวันที่ 21 สิงหาคม 1991
  • ลิทัวเนียประกาศวันที่ 11 พฤศจิกายน 1989 ได้รับการรับรองวันที่ 11 มีนาคม 1990
  • อาเซอร์ไบจานประกาศวันที่ 23 กันยายน 1989 ได้รับการรับรองวันที่ 18 ตุลาคม 1991
  • จอร์เจียประกาศวันที่ 18 พฤศจิกายน 1989 ได้รับการรับรองวันที่ 9 เมษายน 1991
  • อาร์เมเนียประกาศวันที่ 23 สิงหาคม 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 21 กันยายน 1991
  • มอลโดวาประกาศวันที่ 23 มิถุนายน 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 27 สิงหาคม 1991
  • ยูเครนประกาศวันที่ 16 กรกฎาคม 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 24 สิงหาคม 1991
  • เบลารุสประกาศวันที่ 27 กรกฎาคม 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 25 สิงหาคม 1991
  • รัสเซียประกาศวันที่ 12 มิถุนายน 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 12 ธันวาคม 1991
  • คาซัคสถานประกาศวันที่ 25 ตุลาคม 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 16 ธันวาคม 1991
  • อุซเบกิสถานประกาศวันที่ 20 มิถุนายน 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 31 สิงหาคม 1991
  • เติร์กเมนิสถานประกาศวันที่ 27 สิงหาคม 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 27 ตุลาคม 1991
  • คีร์กีซสถานประกาศวันที่ 15 ธันวาคม 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 31 สิงหาคม 1991
  • ทาจิกิสถานประกาศวันที่ 24 สิงหาคม 1990 ได้รับการรับรองวันที่ 9 กันยายน 1991

 

เมื่อประเทศเดินทางมาถึงจุดระส่ำระสายเสี่ยงต่อการแตกสลาย เป็นเหตุให้นักการเมืองสายเหยี่ยวอย่าง เกนนาดี ยานาเยฟ รองประธานาธิบดี, วาเลนติน ปาฟลอฟ นายกรัฐมนตรี, บอริส ปูโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, จอมพล ดมิทรี ยาซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, วลาดิเมียร์ ครูชคอฟ ผู้อำนวยการเคจีบี, โอเลก บาคลานอฟ รองประธานสภากลาโหมคนที่ 1, วาซิลี สตาราดุบต์เซฟ ประธานสหภาพเกษตรกรโซเวียต และ อเล็กซานเดอร์ ทิเซียคอฟ ประธานสมาคมรัฐวิสาหกิจ 

 

ทั้งหมดถูกเรียกอย่างลำลองว่า Gang of Eight ได้ร่วมกันพยายามยึดอำนาจจากประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ จัดตั้งคณะกรรมการแห่งรัฐว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน (State Committee on the State of Emergency GKShP: แกคาแชแป) เพื่อยับยั้งนโยบายการปฏิรูปของกอร์บาชอฟ เริ่มยึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 19-22 สิงหาคม ในขณะที่กอร์บาชอฟไปพักร้อนอยู่ ณ บ้านพักตากอากาศในไครเมีย แต่ดำเนินการได้เพียง 3 วันก่อนที่จะถูกยับยั้งโดยมวลชนผู้สนับสนุนการปฏิรูป ภาพที่ บอริส เยลต์ซิน ขึ้นไปปราศรัยบนรถถังยังตรึงตาตรึงใจประชาชนชาวโซเวียตผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

 

ทั้งหมดถูกจับกุมภายในหนึ่งสัปดาห์ สมาชิกบางคนอย่างปูโกได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตเพื่อหนีความผิดข้อหากบฏ ถึงจะควบคุมสถานการณ์ได้ก็ไม่สามารถยับยั้งกระแสการปฏิรูป รวมไปถึงภาพลักษณ์ของกอร์บาชอฟก็ตกต่ำลงทุกวัน เยลต์ซินได้คะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น

 

ในที่สุดวันที่ 8 ธันวาคม 1991 ผู้นำของรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ในฐานะรัฐผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพโซเวียต ก็ได้มาประชุมร่วมกันและออกแถลงการณ์เบลาเวียชา (Belavezha Accord) ให้ยกเลิกสหภาพโซเวียตและริเริ่มแนวคิดเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ในแนวทางความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ของกลุ่มอดีตประเทศในเครือสหภาพโซเวียตในอนาคต ถึงแม้กอร์บาชอฟจะประณามว่าเป็นการรัฐประหารนอกรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ก็ไม่มีผลอะไรเสียแล้ว

 

และเมื่อไม่มีประเทศให้ปกครองต่อไป ในคืนวันที่ 25 ธันวาคม 1991 ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟจึงได้ออกแถลงการณ์ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต พอเข้าคืนวันใหม่ของวันที่ 26 ธันวาคม 1991 ธงสหภาพโซเวียตก็ถูกเชิญลงจากยอดเสาเหนือโดมพระราชวังเครมลิน ก่อนจะแทนที่ด้วยธงไตรรงค์ของสหพันธรัฐรัสเซีย

 

ปิดฉากรัฐสังคมนิยมแห่งแรกของโลก และยังถือเป็นการสิ้นสุดสงครามเย็นระหว่างโซเวียตกับค่ายตะวันตกอย่างเป็นทางการอีกด้วย

 

ภาพ: Getty Images / ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising