×

3 เทรนด์เทคฯ 3 คำถาม และ 3 วิธีรับมือ เมื่อ SMEs ไม่สามารถเพิกเฉยต่อการทำธุรกิจโดยไม่ใช้เทคโนโลยีได้อีกต่อไป

29.08.2023
  • LOADING...

แม้ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง (SMEs) จะมีทรัพยากรน้อยกว่าบริษัทใหญ่ แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพให้บริษัทเล็กมีโอกาสแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างผ่านอินเทอร์เน็ต และการเกิดขึ้นของเครื่องมือต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในการทำการตลาดให้ตรงจุด เป็นต้น

 

THE STANDARD WEALTH ได้สัมภาษณ์พิเศษ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและเทคโนโลยี ที่จะมาอัปเดตเทรนด์ อุปสรรค และสิ่งที่ SMEs ต้องประเมินให้ดี เพื่อเคลื่อนตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน

 

 

เทรนด์เทคโนโลยีที่จะกระทบกับ SMEs ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้มีดังนี้

 

  1. Cloud Technology จะมาช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ ให้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง เพราะธุรกิจสามารถจ่ายค่าบริการเท่ากับจำนวนที่ใช้ ซึ่งในสมัยก่อน SMEs หลายรายไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันการทำงานบางอย่างได้เพราะต้นทุนที่สูง เช่น ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า บริหารทรัพยากรบุคคล และบริหารโปรเจกต์ เป็นต้น แต่การมาคลาวด์ได้ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านั้นไปได้อย่างมีนัยสำคัญ
  2. Low-code / Robotics Process Automation หรือแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยลดการทำงาน Manual และเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงาน ซึ่ง SMEs สามารถใช้พัฒนาได้โดยไม่ต้องพึ่งความรู้การเขียนโค้ดมากเท่ากับในอดีต ตัวอย่างแอปพลิเคชัน เช่น การสร้างเอกสารอัตโนมัติ, การเลือกส่งส่วนลดให้ลูกค้าบางรายผ่านอีเมล/SMS แบบอัตโนมัติตามเงื่อนไขต่างๆ หรือการใช้แชตบอตเพื่อตอบข้อสงสัยลูกค้าเบื้องต้น
  3. Data Analytics / AI ที่เข้าถึงง่ายและใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน จะมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ หรือสร้างงานครีเอทีฟที่รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ได้มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ไปแล้ว และในอนาคตบริษัทอย่าง Microsoft ก็มีแผนที่จะรวม AI เข้าไปในผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น ในมิติของการสร้างสไลด์พรีเซนต์งาน ที่จะสามารถเขียนคำสั่งกำหนดรูปแบบให้ AI สร้างขึ้นได้แทนที่การนั่งทำทีละหน้าแบบเดิม หรือการดึงข้อมูลออกมาเป็นแผนภาพ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม SMEs บางกลุ่มก็ยังคงลังเลที่จะเปิดรับเทคโนโลยี โดยเหตุผลหลักๆ มาจากความพร้อมของคนภายในองค์กร เช่น ความเข้าใจยังไม่เพียงพอ หรือการลดความสำคัญของผลตอบแทนระยะยาวแลกด้วยผลประโยชน์หรือความจำเป็นในระยะสั้น

 

สาเหตุดังกล่าวเป็นตัวอย่างของอุปสรรคที่มักจะพบได้ในธุรกิจ SMEs ซึ่งพชรมองว่าธุรกิจกลุ่มนี้จำเป็นต้องปรับแนวคิดและเปิดรับเทคโนโลยี เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไปเป็นการแข่งขันที่มีคู่แข่งต่างชาติมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า สุดท้ายแล้วคนที่ไม่ยอมปรับอาจจะไม่ได้ไปต่อ “ถ้า Productivity เราเท่าเดิม ต้นทุนเราไม่ลด แข่งอย่างไรเราก็แพ้”

 

แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและมักมีอุปสรรคในช่วงแรก ดังนั้นก่อนที่ SMEs จะปรับใช้เทคโนโลยีอะไรก็ตามในธุรกิจของตน มี 3 คำถามที่ต้องถามตัวเองดังนี้

 

  1. จุดแข็ง-จุดอ่อนของธุรกิจคืออะไร? และเราจะสามารถปรับใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนได้บ้าง?
  2. จังหวะของการลงทุนในเทคโนโลยีนั้นๆ ที่ SMEs จะนำมาใช้ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ควรรอให้เทคโนโลยีนิ่งก่อนหรือไม่ และต้องหาอะไรมาใช้แทนได้ก่อนระหว่างรอ? พูดอีกอย่างคือ การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่เหมาะสม
  3. แผนรับมือความเปลี่ยนแปลง จากวิถีการทำงานแบบใหม่และแรงต้านในองค์กรที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นอย่างไร?

 

สุดท้ายแล้วเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดการต่อต้านบ้าง ซึ่งพชรเผยแนวทาง 3 วิธีในการรับมือและลดแรงต้าน เพื่อสร้างวัฒนธรรมให้ส่วนต่างๆ ขององค์กรเปิดใจรับเทคโนโลยีมากขึ้น

 

  1. การเพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงาน เช่น การตั้งให้เป็นหนึ่งใน KPI หรือทำให้พนักงานรับรู้และได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี
  2. การสนับสนุนที่เพียงพอ เช่น การเตรียมความพร้อมในด้านความรู้กับพนักงานด้วยการอบรมและเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พนักงานและเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันได้อย่างราบรื่น
  3. การให้เหตุผลของการเปิดรับเทคโนโลยี และผลกระทบที่อาจเกิดหากไม่เปลี่ยน ต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าการเปลี่ยนไม่ใช่เพียงเพราะการอยู่รอดขององค์กร แต่หมายถึงความมั่นคงของพนักงานเองด้วย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising