×

ธุรกิจขยายตัวเร็วเกินรับไหว! Don Quijote เจ้าแห่งร้านค้าลดราคาของญี่ปุ่น มีกำไรต่อสาขาหดตัวในเอเชีย

08.04.2024
  • LOADING...

Pan Pacific International Holdings ผู้ดำเนินกิจการ Don Quijote เครือร้านค้าปลีกแนวลดราคาของญี่ปุ่น ต้องรับมือกับความท้าทายในการทำกำไรต่อร้านในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่กำลังขยายสาขาอย่างรวดเร็วเพื่อพยายามประสบความสำเร็จให้ได้เหมือนในประเทศญี่ปุ่น

 

แม้จะมีกำไรสุทธิสูงถึง 4.82 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 1.05 แสนล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (กรกฎาคม-ธันวาคม) ซึ่งเพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบปีต่อปี และเป็นช่วงเวลาที่ทำกำไรสูงสุดของบริษัท แต่ นาโอกิ โยชิดะ ประธานบริษัท Pan Pacific กลับออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับธุรกิจในเอเชียระหว่างการประชุมผลประกอบการประจำปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

 

“ขอให้เรามีเวลาในการปรับตัวเล็กน้อยสำหรับธุรกิจในเอเชีย” เขากล่าว “เราจำเป็นต้องลดสปีดลง และจัดตั้งโครงสร้างการจัดการที่แข็งแกร่งขึ้น”

 

ความท้าทายที่ต้องเผชิญกับการขยายธุรกิจในเอเชีย

 

Pan Pacific ประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะ ‘ผู้ชนะ’ ในหมู่ผู้ค้าปลีกในประเทศญี่ปุ่น โดยทำยอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2020 และมิถุนายน 2021 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตโควิด ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่รายอื่นๆ ประสบปัญหาอย่างหนัก 

 

กระนั้นธุรกิจในต่างประเทศกำลังประสบปัญหาโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบอัตรากำไรจากการดำเนินงานในต่างประเทศของ Pan Pacific กับ Fast Retailing บริษัทแม่ของ UNIQLO กำไรของทั้งสองบริษัทใกล้เคียงกันมากในปีงบประมาณ 2015 แต่ช่องว่างขยายมากขึ้นในปีงบประมาณ 2022 ซึ่ง Fast Retailing มีอัตรากำไรที่เหนือกว่าอย่างชัดเจน

 

ตัวเลขกำไรต่อร้านสำหรับธุรกิจในเอเชียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยทำกำไรเพียงร้านละ 178 ล้านเยน (ประมาณ 49 ล้านบาท) ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2021 แต่ตัวเลขนั้นลดลงถึง 3 ใน 4 ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งสะท้อนถึงความยากลำบากของการขยายกิจการที่รวดเร็วจนประสิทธิภาพลดลง

 

Pan Pacific เริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่เอเชียในปี 2017 โดยขยายจากร้านขายของชำสัญชาติญี่ปุ่นในสิงคโปร์เป็น 40 ร้านใน 6 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงฮ่องกงและไต้หวันภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี ในทางตรงกันข้าม Pan Pacific สามารถขยายเครือข่ายในอเมริกาเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ ทำให้ต้องรับมือกับต้นทุนบริหารจัดการที่สูงขึ้นในเอเชีย

 

ปัญหาหลัก: โครงสร้างการจัดการและการจัดซื้อที่ขาดประสิทธิภาพ

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโสจาก UBS Securities Japan ระบุว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วในเอเชียของ Don Quijote ทำให้ความแข็งแกร่งขององค์กรตามไม่ทันการขยายตัวของธุรกิจ และความจำเป็นในการเสริมสร้างโครงสร้างการจัดการที่ร้านส่วนใหญ่ต้องนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ส่งผลให้สำนักงานใหญ่จำเป็นต้องจัดหาสินค้าและพนักงานในแต่ละประเทศ จึงมีอำนาจในการจัดซื้อที่จำกัด 

 

นอกจากนี้ สินค้าที่ขายยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ จึงยังไม่สามารถเพิ่มยอดขายและแก้ไขปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นได้

 

ผู้บริหารของ Pan Pacific ยอมรับว่า “ในเอเชีย เรามุ่งสร้างแบรนด์จนละเลยการสร้างความแตกต่างให้กับสาขาในแต่ละประเทศ” ซึ่งทางออกอาจอยู่ที่การนำรูปแบบการจัดการร้านแบบ Don Quijote ในญี่ปุ่น ที่พนักงานแต่ละสาขาจัดการด้านการจัดซื้อเฉพาะพื้นที่ การกำหนดราคา และการบริหารสินค้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง

 

โมเดลนี้เคยประสบความสำเร็จกับ UNY เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ Pan Pacific เข้าซื้อในปี 2019 โดยกำไรต่อร้านของ UNY ในช่วงปีงบประมาณเดือนมิถุนายน 2023 สูงเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเข้าซื้อกิจการ

 

อนาคตของ Pan Pacific ขึ้นอยู่กับเอเชีย

 

Pan Pacific มีแผนที่จะกลับตัวให้ได้ภายใน 1 ปี ด้วยการนำความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการร้านของ Don Quijote ส่งต่อไปยังธุรกิจในเอเชีย ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นของบริษัทพุ่งทะลุ 4,000 เยนต่อหุ้น 

 

และทำให้มูลค่าตลาดแตะถึง 3.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 9.65 แสนล้านบาท) หากบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงานอย่างน้อย 2 แสนล้านเยน (ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท) ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2030

 

แม้ว่ากำไรของ Pan Pacific ช่วงที่ผ่านมาจะได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่น “แต่เอเชียต่างหากที่เป็นกุญแจสำหรับการยกระดับผลประกอบการในอนาคต” นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs Japan ให้ความเห็น

 

ภาพ: Budrul Chukrut / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising