×

‘โรคกวางซอมบี้​’ ภัยที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอาจแพร่ระบาดไปยังมนุษย์

โดย Mr.Vop
05.01.2024
  • LOADING...

หลังพบการระบาดล่าสุดในกลุ่มสัตว์จำพวกกวางในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา เหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้เกี่ยวข้องเริ่มเกิดความกังวลว่า ‘โรคกวางซอมบี้’ มีโอกาสจะระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ในวงกว้าง

 

โรคระบาดดังกล่าวมีชื่อว่า CWD ซึ่งย่อมาจากคำว่า Chronic Wasting Disease ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ของใหม่ โรคนี้พบกันมานานหลายสิบปีแล้ว โดยมีการตรวจพบครั้งแรกในปี 1967 จากกวางที่อาศัยอยู่ในศูนย์วิจัยสัตว์ป่าทางตอนเหนือของรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ต่อมาพบว่ามันระบาดในกวางหลายชนิด เช่น กวางแคริบู, กวางหางขาว, กวางเอลก์, กวางมูส และกวางล่อ

 

มีการตรวจพบการระบาดของโรคเป็นระยะๆ ครั้งหลังสุดคือปี 2019 แล้วก็มาถึงครั้งนี้จากการพบฝูงกวางจำนวนมากตายด้วยโรคเดียวกัน และหลังจากมีการสอบสวนของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC ก็ได้พบการแพร่กระจายของโรคนี้ใน 31 รัฐของสหรัฐฯ และอีก 3 รัฐในแคนาดา รวมทั้งเริ่มมีการพบในประเทศอื่นด้วย เช่น นอร์เวย์, ฟินแลนด์, สวีเดน และเกาหลีใต้

 

ทำไมเรียกโรคนี้ว่า ‘กวางซอมบี้’

 

ชื่อเรียก Zombie Deer Disease หรือ ‘กวางซอมบี้’ นั้นมาจากอาการของโรค นั่นคือสมองกวางที่ติดเชื้อจะเกิดรูพรุน ส่งผลให้กวางเริ่มผอมแห้ง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการน้ำลายไหล เซื่องซึม จากนั้นจะเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว เดินสะดุดไปทั่ว ด้วยอาการดวงตาล่องลอยว่างเปล่าเหมือนซอมบี้ในภาพยนตร์ และกวางที่ติดเชื้อก็จะเสียชีวิตในที่สุด

 

สาเหตุของโรค

 

โรค CWD จัดอยู่ในกลุ่มของโรคสมองฟ่ามติดต่อ (Transmissible Spongiform Encephalopathies) เกิดจากโปรตีนรูปร่างผิดปกติที่มีชื่อว่า ‘พรีออน’ (Prion) ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็กที่ตรวจไม่พบกรดนิวคลีอิก ไม่ละลายน้ำ ทนความร้อน ทนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น ทนต่อความแห้ง ทนต่อแสงยูวี ทนต่อการย่อยสลายโดยเอนไซม์ ทั้ง Protease และ Nuclease โปรตีนตัวนี้สามารถแพร่กระจายความผิดปกติไปสู่โปรตีนตัวอื่นได้ มีระยะฟักตัวนานมากอาจถึงหลายสิบปี ออกฤทธิ์ทำให้โปรตีนต่างๆ เกิดการผลิตสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ ในที่สุดสมองที่ติดเชื้อจะเกิดรูพรุนเหมือนฟองน้ำ รักษาไม่หาย และเจ้าของสมองก็จะตายลงในที่สุด

 

การระบาดระหว่างสัตว์ด้วยกัน

 

โปรตีน ‘พรีออน’ สาเหตุของโรค CWD ในกวางนั้นส่งต่อกันโดยสารคัดหลั่ง ตั้งแต่น้ำลาย เลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระ ซึ่งมันจะคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานจนกวางหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น หมาป่า, เสือคูการ์ และหมี หรือแม้กระทั่งนกมากินเข้าไป ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

 

การระบาดสู่มนุษย์

 

การระบาดข้ามจากสัตว์สู่มนุษย์ของโรค CWD เกิดขึ้นโดยการรับประทานชิ้นส่วนของกวางที่มี ‘พรีออน’ เข้าไป ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคสมองฝ่อวาเรียนท์ (vCJD) ในมนุษย์ ลักษณะคล้ายกับที่เกิดการระบาดจากวัวสู่มนุษย์ในโรควัวบ้าหรือ BSE (Bovine Spongiform Encephalopathy) ซึ่งเป็นโรคสมองฝ่อในวัวที่มีสาเหตุมาจากพรีออนเช่นเดียวกัน

 

โรคสมองฝ่อวาเรียนท์ (vCJD) ในมนุษย์นั้นไม่มีทางรักษา และด้วยคุณสมบัติที่อาจมีการฟักตัวของโรคนานมาก ทำให้การตรวจหาสาเหตุในภายหลังเป็นเรื่องยาก สุดท้ายผู้ติดเชื้อก็จะเสียชีวิตในที่สุด

 

‘พรีออน’ นั้นแทบจะฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่ได้ ไม่ว่าจะนำชิ้นส่วนของกวางไปต้มให้สุกเพียงใดก็ตาม เนื่องจากอุณหภูมิที่สามารถทำลายโปรตีนนี้ได้สูงกว่าอุณหภูมิที่ใช้ประกอบอาหารตามปกติมาก นอกจากนี้มันยังมีอายุยืน แม้เอาไปแช่เย็นแล้วนำมาปรุงอาหารใหม่อีกกี่ครั้งก็ไม่อาจทำลายพรีออนลงได้

 

ปัญหาคือฤดูการล่าสัตว์ในสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินไปในเวลานี้ และผู้ที่ยิงกวางได้มักนิยมนำเนื้อกวางมาบริโภค นำไปเป็นของฝาก และอื่นๆ ซึ่งทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ ได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้งดพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังคงพบว่ามีการนำเนื้อกวางไปบริโภคตามค่านิยมอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากติดเชื้อผ่านทางการบริโภคแล้ว พรีออนอาจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการชำแหละซากกวางด้วยมือเปล่าแบบไม่สวมถุงมืออีกด้วย

 

จากโรคโควิด-19 ที่ระบาดไปก่อนหน้านี้ ที่ได้คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกไปหลายล้าน ซึ่งมีข้อสันนิษฐานจากหลักฐานบางอย่างว่าอาจเกิดจากการระบาดของไวรัสข้ามจากสัตว์สู่มนุษย์ หน่วยงานทั่วโลกต่างจับตามองโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจระบาดจากสัตว์ข้ามมาสู่มนุษย์ได้อีก ไม่ว่าเกิดจากไวรัส, แบคทีเรีย หรือโปรตีนผิดปกติอย่าง ‘พรีออน’ ก็ตาม แต่เนื่องจากการรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การระมัดระวังหรือชะลอการเกิดโรคลักษณะนี้จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ก็เพียงแต่หวังให้ผู้มีโอกาสสัมผัสเชื้อเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น และคอยติดตามข่าวสารตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ อย่างเคร่งครัด

 

ภาพ: Karl Gehring / The Denver Post via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising