×

“เพิ่งรู้ว่าความเป็นแม่เป็นแบบนี้” เปิดใจแม่วัยใส กับความเข้าใจผิดๆ เรื่องคุมกำเนิด

10.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ทุกวันมีเด็กวันละ 286 คน เกิดจาก ‘แม่’ อายุระหว่าง 10-19 ปี
  • หนึ่งในแม่วัยใสเปิดใจว่า ถ้าท้องในวัยเรียนจะทำแท้ง แต่เมื่อเธอท้องจริงๆ ความเป็นแม่ทำให้เธอเปลี่ยนความคิด
  • การนับหน้า 7 หลัง 7 และการหลั่งนอก เป็นความเข้าใจผิดยอดนิยมในการคุมกำเนิด

     ‘วันแม่’ เป็นวันพิเศษวันหนึ่งที่ชวนให้เราระลึกถึง ‘แม่’ ผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่และพร้อมจะเสียสละ อุทิศทุกสิ่งในชีวิตเพื่อเรา

     แต่เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยในแต่ละวันมีเด็กหญิงอายุระหว่าง 10-14 ปี วันละ 8 คน ต้องกลายเป็นแม่คน

     ขณะที่เด็กวันละ 286 คน เกิดจาก ‘แม่’ ที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี

     คำถามคือ ‘แม่ที่ยังไม่พร้อม’ ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

การนับหน้า 7 หลัง 7 นั้นป้องกันได้ไม่ 100% และคนส่วนใหญ่มีประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ การนับหน้า 7 หลัง 7 ทุกวันนี้ทางการแพทย์ไม่แนะนำแล้ว

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

‘เครียด-ซึมเศร้า’ ภาวะอารมณ์ที่คุณแม่วัยใสต้องเผชิญ

     จากรายงานของกองทุนประชากรสหประชาชาติ (UNFPA) พบว่า เด็กวัยรุ่นหญิงไทยที่มีลูกก่อนวัยอันควรจะเผชิญหน้ากับความเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวในการใช้ชีวิตครอบครัว

     สภาพแวดล้อมและแรงกดดันจากครอบครัวและชุมชนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ตัดสินใจทำแท้ง ถึงแม้จะรู้ว่าผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อสุขภาพ

     ส่วนผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวและการประกอบอาชีพ เมื่อออกจากโรงเรียน ผู้ปกครองจะให้ลูกแต่งงานเพื่อรักษาชื่อเสียง ซึ่งพบว่าครอบครัววัยรุ่นเกิดปัญหาทั้งเรื่องการดําเนินชีวิตและการเลี้ยงลูก

     เนื่องจากความไม่พร้อมด้านร่างกายและจิตใจ ขาดวุฒิภาวะ ขาดประสบการณ์ ขาดชีวิตอิสระ และไม่มีงานที่ดีทํา รายได้ไม่เพียงพอ เพราะเรียนมาน้อย เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ กลายเป็นภาระของพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย กรณีพ่อแม่ไม่ช่วยเหลือหรือฝ่ายชายทอดทิ้งก็จะเครียด เกิดการทะเลาะและใช้ความรุนแรง หากไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ทั้งๆ ท่ีไม่ได้รับการยอมรับก็จะกระทบต่อจิตใจแม่ที่ตั้งครรภ์อย่างรุนแรง ส่วนพ่อแม่ท่ีลูกตั้งครรภ์ก็จะรู้สึกอับอาย ผิดหวัง และเสียใจ

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

เรื่องเล่าจากคุณแม่วัยใส

     THE STANDARD พูดคุยกับ เอ (นามสมมติ) คุณแม่วัยใสท่านหนึ่งที่ปัจจุบันอายุ 23 ปี

     เอเล่าว่า คบกับแฟนที่ขายของในตลาดเดียวกัน แผงอยู่ติดกัน และเรียนที่เดียวกัน

     ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีเพศสัมพันธ์ เธอไม่เคยป้องกัน แม้จะรู้ว่าต้องป้องกัน แต่เอคิดว่าไม่น่าท้องได้ง่าย เพราะเห็นเพื่อนของแฟนคบกันมาหลายปีก็ยังไม่เห็นมีลูก เลยคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร

     จนกระทั่งอายุ 18 ปี เรียนอยู่ปวช. ปี 3 ประจำเดือนขาดไป 2-3 เดือน เลยไปซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจ สัญลักษณ์ที่ฟ้องว่าตั้งครรภ์ปรากฏขึ้นจางๆ แต่เธอไม่แน่ใจ เลยตัดสินใจไปหาหมอ

     “หมอก็บอกว่าเราท้อง”

     เอรู้สึกตกใจ ไม่กล้าบอกใคร แฟนรับปากว่าจะรับผิดชอบ และจะบอกทางบ้านเขา แต่เอไม่กล้าบอกครอบครัวตัวเอง เพราะตอนนั้นพ่อก็กำลังป่วยหนัก จนกระทั่งคุณพ่อเสีย แล้วแม่สังเกตว่าท้องโต

     เอพยายามบ่ายเบี่ยงเสมอเมื่อแม่พยายามจะถาม แต่พอท้องโตขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งแม่ก็ถามว่า “ท้องใช่ไหม?”

     “ใช่” เอตอบ

 

การเป็นแม่ทำให้เติบโต

     เอยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เคยเห็นเพื่อนคนอื่นท้อง ก็คิดอยู่ว่าถ้าเธอท้องบ้างก็จะเอาออก แต่พอท้องขึ้นมาจริงๆ เธอยอมรับว่าไม่กล้าทำ

     ในวันที่ลูกในท้องเริ่ม ‘ดิ้น’ เอบอกว่า “วันนั้นรู้สึกดีใจ เหมือนกับว่าเราจะเป็นแม่แล้ว”

     ชีวิตของเอเปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดคือ ระมัดระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น

     “ไม่กล้าทำอะไรที่ทำให้กระทบกระเทือนถึงเขา ตั้งแต่มีน้อง ทำให้เราคิดว่าเราต้องโตขึ้น เราเตรียมตัวเป็นแม่เลยค่ะ เริ่มศึกษาว่าเป็นแม่ต้องทำอย่างไรบ้าง ถามแม่เราด้วยว่าถ้าเกิดคลอดออกมาแล้วต้องทำอะไรบ้าง”

     วันที่ลูกลืมตาขึ้นมาดูโลกวันแรก พยาบาลอุ้มลูกมาหาเธอเพื่อให้ดูดนม เอบอกว่า ครั้งแรกที่เห็นหน้าลูกเธอดีใจจนน้ำตาไหล

 

Photo: CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP

 

ชีวิต-ความสุขของคุณแม่วัยใส

     บ้านของแฟนเอเปิดร้านค้าให้เธอและแฟนขายของ ชีวิตคุณแม่วัยใสของเธอเริ่มต้นที่นั่น ตอนนั้น นี่คือพื้นที่ที่เอตัดสินใจสร้างชีวิตครอบครัว

     “เราโชคดีที่ตอนเลี้ยงไม่เครียดมาก เพราะมีคนช่วยเลี้ยง”

     จากลูกคนแรกที่เกิดจากความพลาดพลั้ง ถึงวันนี้ เอมีลูกทั้งหมดสามคน ซึ่งสองคนหลัง คุณแม่วัยใสบอกว่าเกิดจากความตั้งใจ

     แต่ใช่ว่าคุณแม่วัยใสจะโชคดีแบบ ‘เอ’ ทุกคน…

     ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ของแม่วัยรุ่นมีมากกว่าแม่อายุ 20-29 ปี ถึง 50%

     และเด็กประมาณ 1 ล้านคนที่เกิดจากคุณแม่วัยรุ่นมักเสียชีวิตก่อนมีอายุได้หนึ่งขวบ

     ขณะที่วัยรุ่นอายุน้อยกว่า 17 ปีที่ตั้งครรภ์มีโอกาสที่เด็กจะคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์

     นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นมีโอกาสสูงที่จะถูกเลี้ยงดูโดยไม่เหมาะสมทั้งด้านโภชนาการและพัฒนาการ

 

สาธารณสุข กำหนดแผน 10 ปี ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ

     แม้ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้ครบ 1 ปีเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับกับ THE STANDARD ว่า แม้จะมีความตื่นตัวขึ้นแต่ผลลัพธ์คงต้องใช้เวลา

     ไทยมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นแผน 10 ปี (2560-2569) ตั้งเป้าว่าภายในปี 2569 จะลดการคลอดในวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ให้เหลือปีละไม่เกิน 25 คนต่อวัยรุ่นในวัยเดียวกัน 1,000 คน จากข้อมูลปัจจุบันปี 2559 อยู่ที่ 42 คนต่อวัยรุ่นในวัยเดียวกัน 1,000 คน

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

หน้า 7 หลัง 7 และหลั่งนอก ความเชื่อคุมกำเนิดแบบผิดๆ

     คุณหมอกิตติพงศ์ บอกว่า ทางเดียวที่เราจะไม่ตั้งครรภ์ก็คือเราไม่มีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าเรามีแล้วไม่ว่าจะครั้งเดียวหรือกี่ครั้ง โอกาสที่จะตั้งครรภ์หรือติดโรคติดต่อเกิดขึ้นได้แน่นอน

     การป้องกันการตั้งครรภ์ รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ เป็นความรับผิดชอบของทั้งเพศชายและหญิง

     ผู้ชายต้องใช้ถุงยางอนามัย และถึงแม้ว่าฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยแล้วก็มีโอกาสผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะกรณีถุงยางแตก ถุงยางหลุด หรือใส่ไม่ถูกเวลา เช่น บางคนเข้าใจว่าต้องรอให้หลั่งก่อนค่อยใส่ถุงยาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกครั้งก่อนการสอดใส่ต้องใส่ถุงยางอนามัยทันที

     ส่วนวิธีคุมกำเนิดแบบธรรมชาติมีโอกาสพลาดสูงมาก เรื่องของการนับหน้า 7 หลัง 7 นั้นป้องกันได้ไม่ 100% และคนส่วนใหญ่มีประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ การนับหน้า 7 หลัง 7 ทุกวันนี้ทางการแพทย์ไม่แนะนำแล้ว

     ส่วนที่ผู้ชายเข้าใจว่าเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วถึงเวลาหลั่งนอกจะคุมกำเนิดได้ เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะตัวอสุจิมันออกมาตั้งแต่ตอนที่สารคัดหลั่งต่างๆ ออกมาตอนมีเพศสัมพันธ์แล้ว

     เพราะฉะนั้น เมื่อมีการสอดใส่ ต้องใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง คุณหมอกิตติพงศ์ ทิ้งท้ายด้วยนำ้เสียงหนักแน่น

 

Cover Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

FYI
  • ผลการวิจัยของศูนย์อนามัยที่ 8 จังหวัดนครสวรรค์ พบว่าการต้ังครรภ์ของวัยรุ่น 1 คนก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 119,998-324,928 บาท และถ้ามองโดยภาพรวมแล้ว จะทําให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising