×

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลานี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากพิษสงคราม

15.09.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

ปัจจุบันมีหลากหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของสงคราม เงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้น และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน หลายคนอาจวิตกถึงทิศทางและภาวะของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และบางคนอาจหวั่นใจว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกรอบหรือไม่ THE STANDARD WEALTH จะพาทุกคนมาดูสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกผ่าน 8 ประเทศดังต่อไปนี้

 

1. เกาหลีใต้

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.3 โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามจากดัชนีราคาผู้บริโภคหลัก (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ยังคงเร่งการเติบโต ยังเป็นตัวบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงขึ้นอีกระยะหนึ่ง 

 

2. เยอรมนี

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่อยู่ในแนวโน้มชะลอตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน จากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดยสำนักข่าว Reuters โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากรัสเซียลดการส่งออกไปยังยุโรป

 

3. ตุรกี

อัตราเงินเฟ้อของตุรกีในเดือนสิงหาคมพุ่งเกิน 80% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 เพิ่มขึ้นเป็น 80.2% ในเดือนสิงหาคมจาก 79.6% ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากนโยบายการเงินแบบสวนกระแสของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ที่ให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลกระทบต่อค่าเงินลีราอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อเสถียรภาพของราคา รวมถึงระบบการเงินภายในประเทศ

 

4. อังกฤษ

บริษัทรับเหมาก่อสร้างของอังกฤษประสบปัญหากิจกรรมการก่อสร้างหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) การก่อสร้าง S&P Global/CIPS อยู่ที่ 49.2 ในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นจาก 48.9 ในเดือนกรกฎาคม แต่ยังต่ำกว่าเกณฑ์ 50.0 ซึ่งแสดงถึงการขยายตัวในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในสหราชอาณาจักร โดยจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดยสำนักข่าว Reuters คาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือ 48.0

 

5. ญี่ปุ่น

ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนมิถุนายน แม้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด

 

แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากทิศทางเงินเฟ้อ หลังเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นส่งสัญญาณน่ากังวล โดยปัจจัยเสี่ยงที่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเผชิญอยู่คือ ปัญหาสินค้าแพงขึ้น อันเป็นผลจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนการนำเข้าแพงขึ้น 

 

จากรายงานล่าสุด ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นว่าเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบรายปี โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัว มาจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกข้อจำกัดของมาตรการป้องกันโรคโควิด ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

 

6. ออสเตรเลีย

ในการประชุมเดือนกันยายน 2565 ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% สู่ระดับ 2.35% ซึ่งเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ได้มีการเคลื่อนไหวดังกล่าว นับว่าเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

 

7. สหรัฐอเมริกา

การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลงในเดือนกรกฎาคม โดยการส่งออกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นแนวโน้มที่การค้ายังคงส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาด้านตลาดแรงงาน พบว่า นายจ้างในสหรัฐฯ จ้างคนงานมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนสิงหาคม แต่การเติบโตของค่าจ้าง และการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานเป็น 3.7% บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานเริ่มคลายตัว จากข้อมูลของ Reuters ข้อมูลนี้ทำให้เกิดความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำหน้าที่ชะลอเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอย

 

อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน เกิดขึ้นเนื่องจากมีผู้คนเกือบ 800,000 คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้ขนาดของแรงงานทำสถิติสูงสุด ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ตอกย้ำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่า GDP จะหดตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

 

เศรษฐกิจโลก

 

8. ยูโรโซน

เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 2 การปรับตัวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแรงกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาครัฐ ประกอบกับเศรษฐกิจสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ท่ามกลางวิกฤติเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนจากการที่รัสเซียบุกยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในวันที่ 8 กันยายน 2565 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.25% โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ 

 

ทางด้าน คริสติน ลาการ์ด หัวหน้า ECB กล่าวว่า “เราคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงเกินไป และมีแนวโน้มที่จะอยู่เหนือเป้าหมายเงินเฟ้อของเราเป็นระยะเวลานาน” 

 

เศรษฐกิจโลก

 

จากภาพรวมทั้ง 8 ประเทศที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเห็นได้ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี โดยภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกล่าสุดกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัว อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจากราคาพลังงานเป็นหลัก ประกอบกับธนาคารกลางประเทศต่างๆ อยู่ในช่วงเร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising