×

“นานแค่ไหนก็รอได้” วิตต์ ก้องธรนินทร์ อัจฉริยะข้ามคืนที่รอวันเข้าเส้นชัยในสนามการเมือง

05.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าคนชื่อ วิตต์ ก้องธรนินทร์ คือใคร ถ้าบอกว่าเขาคือคู่ชีวิตของ พลอย จินดาโชติ นักแสดงชื่อดังในวงการน่าจะต้องร้องอ๋อ แต่ถ้าบอกว่าเป็นนักการเมืองอาจจะต้องใช้เวลานึกอยู่พอสมควร
  • วิตต์อยากให้ไทยเป็นประเทศแบบสตาร์ทอัพ ปรับตัวเตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง เขาเห็นว่าการศึกษาคือรากฐานที่จะพัฒนาประเทศนี้

ตอนที่เรานัดหมายเพื่อขอพูดคุยกับ วิตต์ ก้องธรนินทร์ เขาออกตัวว่าเป็นคนพูดไม่เก่งและไม่ค่อยชอบออกสื่อ ชอบที่จะทำงานมากกว่า

 

คำตอบข้างต้นดูจะย้อนแย้งอยู่ในทีสำหรับอาชีพ ‘นักการเมือง’ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภาพ’ คือส่วนสำคัญในการสร้างความรับรู้ต่อประชาชน และแน่นอนภาพเหล่านั้น ย่อมแปรเปลี่ยนเป็น ‘คะเเนน’ ที่มีผลต่อความนิยมในอนาคต

 

ยิ่งไปกว่านั้นรอบตัวของ โอจีฟ หรือ วิตต์ ล้วนรายล้อมไปด้วยเซเลบริตี้ ภรรยาของเขาคือ พลอย จินดาโชติ นักแสดงชื่อดังในวงการ แถมยังมีน้องสาวที่มีดีกรีเป็นถึงนางสาวไทยและแพทย์ชื่อดังอย่าง เจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์

 

เมื่อลองหาข้อมูลของวิตต์ในโซเชียลมีเดีย เราพบแต่ข้อมูลครอบครัวและภาพการใช้ชีวิตที่ปรากฏเป็นข่าวบนหน้าสื่อกับคู่ชีวิตและครอบครัว เมื่อกวาดสายตาดูเพิ่มเติม เราพบข่าวหนึ่งที่ระบุว่าเขาเคยแข่งขันชนะในรายการ อัจฉริยะข้ามคืน ในซีซันที่ 2

 

แต่น้อยมากที่จะได้เห็นเขาตอบคำถามหรือออกสื่อในฐานะ ‘นักการเมือง’ นั่นอาจเป็นเพราะห้วงเวลาที่กระโดดเข้าสู่เส้นทางนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ความขัดแย้งพุ่งสูง พรรคเพื่อไทยที่เขาสังกัดและลงเลือกตั้งครั้งแรกถูกรัฐประหารในเวลาต่อมา

 

วิตต์ ก้องธรนินทร์ บอกว่า เขายังคงเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง และจะยังคงเสนอตัวเป็นผู้แทนประชาชนต่อไป แม้ว่าจะรอคอยมานานแล้ว แต่ก็จะยังรอคอยจนวันนั้นมาถึง

 

 

เด็กดื้อที่พ่อแม่ต้องส่งเข้าโรงเรียนทหาร

ด้วยต้นทุนครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี ทำให้โอกาสในชีวิตของวิตต์มีแต้มต่อมากขึ้น เมื่อเทียบกับอัตรารายได้ขั้นต่ำของประชากรในเวลานั้น

 

โอกาสทางการศึกษาเป็นสิ่งที่วิตต์ได้รับจากพ่อแม่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด

 

“ผมเป็นคนที่เรียนมาหลายหลักสูตร เริ่มต้นเนอสเซอรี่ก็เรียนอินเตอร์ จนพี่เลี้ยงทะเลาะกับครู ก็ออก แล้วก็มาเรียนอนุบาลจันทร์เจ้า โรงเรียนไทย แล้วก็ไปต่อประถมศึกษาที่ สาธิตประสานมิตร ต่อมาก็ไปเรียนสาธิตปทุมวัน หลักสูตร bilingual เป็นภาษาอังกฤษ แต่หลักสูตรไทยก็เรียนอยู่ 2 ปี แล้วก็ไปเรียนบางกอกพัฒนา ซึ่งเป็นหลักสูตรอังกฤษเลย ก็จะเน้นเขียน สอบจะเขียนหมด อยู่ได้ 2 ปี เป็นเด็กดื้อมาก ไม่ตั้งใจเรียน ก็เรียนหลักสูตรอังกฤษ ต่อมาพ่อส่งไปโรงเรียนทหารที่อเมริกา เรียนอยู่ 2 ปี”

 

เมื่อไล่เลียงจากชีวิตวัยเรียนของเขา ถือว่าเป็นเด็กที่ย้ายหลายโรงเรียนมาก แต่ก็ล้วนอยู่ในรั้วโรงเรียนที่เป็นสถาบันมีชื่อเสียงและต้องมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี

 

แต่ผลจากการต้องย้ายโรงเรียนบ่อยครั้ง ทำให้วิตต์เองก็ได้เรียนรู้เพื่อนและประสบการณ์จากสังคม และรู้ว่าโอกาสที่เขาได้รับมานั้นมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับคนอื่น และเป็นจุดเริ่มต้นให้ต้องตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ได้รับ

 

“ผมกลับมาเมืองไทยบ่อย กลับมาก็เจอเพื่อนตลอด ดังนั้นสังคมไทยถ้าใครรู้จักผมจริงๆ จะดูไม่ออกเลยว่าผมเป็นเด็กอินเตอร์ ผมไม่ชอบความเป็นฝรั่ง ผมชอบความเป็นไทย พูดคุยไม่ชอบมีภาษาอังกฤษซับซ้อน เรื่องของสังคมไทยอย่างที่บอก เจอมาทุกรูปแบบ แล้วผมไปอเมริกาผมอยู่กับเพื่อนแบบเด็กเกเร”

 

 

ชีวิต ‘หนูสกปรก’ ในโรงเรียนทหาร สังคมที่ท้าทาย

ย้อนกลับไปในวัยเรียน วิตต์ออกตัวว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในระดับ ม.ปลาย หรือไฮสคูล เขาเป็นคนดื้อและไม่ตั้งใจเรียน จึงถูกพ่อกับแม่ส่งไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อย Wentworth Military Academy สหรัฐอเมริกา

 

ในรุ่นนั้นเขาเป็นคนเอเชีย 1 ใน 2 คนที่เข้าศึกษา โดยอีกคนมาจากเกาหลีใต้ ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นเขาทุกวันนี้เสียชีวิตในการไปรบที่อิรัก 2-3 คน

 

“แม่น่าจะได้ยินเกี่ยวกับโรงเรียนทหารนี้มานานแล้วว่า เพื่อนหลายคนเรียนจบจากที่นี่แล้วดีเลย เป็นเจ้าชายอาหรับ แต่ตอนผมไปเรียนนั้นโรงเรียนกำลังจะเจ๊ง ก็รับเด็กทุกชนิดมาอยู่ในนั้น”

 

“ตอนที่ผมไป เสือ สิงห์ กระทิง แรด เต็มโรงเรียนเลย โหดมาก แล้วตอนไปภาษาเราก็ยังไม่แน่น แล้วโรงเรียนทหารเขาใช้เด็กปกครองกันเอง รุ่นพี่ปกครองรุ่นน้อง ยศใหญ่กว่าปกครองกัน พอไปถึงจะมียศ Rat คือหนูสกปรก จริงๆ มันคือ Recruit at Training คือรับมาเพื่อฝึก ไม่มีอะไรบนบ่าเลย วิธีผ่านไปเป็น Old Boy ได้คือต้องท่องหนังสือหนามากแบบคำต่อคำ เด็กทั่วไปใช้เวลา 2 อาทิตย์ถึง 1 เดือน ผมล่อไป 3 เดือน เพราะภาษาผมไม่แข็งมาก แล้วเวลาคุณเป็น Rat พ่อแม่โทรมาคุณห้ามคุย มันเป็นการผลักดันให้คุณรีบท่องจำกฎของโรงเรียน การเป็น Cadet ก็คือนักศึกษาวิชาทหาร แล้วก็ห้ามใครพูดกับคุณ เพราะคุณคือหนูสกปรก”

 

ตลอด 3 เดือนเต็มในช่วงแรกของชีวิตนักเรียนทหาร Wentworth Military Academy วิตต์บอกว่าเขาแทบไม่ได้พูดคุยกับผู้คน ร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลง มีผมหงอกขึ้นและความเครียดสะสม ถูกฝึกฝนอยู่แบบนั้นจนกระทั่งเริ่มชิน

 

ด้วยสิ่งที่ต้องเผชิญในโรงเรียนทหารแห่งนี้ แม่ของวิตต์เคยเอ่ยปากถามวิตต์ว่าต้องการเดินทางกลับไทยหรือไม่

 

“แม่ติดต่อมา ถามว่ากลับไหม เราคำไหนคำนั้น ผมตกลงไปแล้วว่าต้องมาเจออย่างนี้ ผมรับสภาพกับสิ่งที่ผมเจอดีกว่า ผมก็ขอบคุณตรงนั้นนะ ผมเชื่อว่าผมผ่านจุดนั้นมาแล้ว จะอยู่จุดไหนก็ได้ โรงเรียนนี้ทุกปีจะมีเด็กฆ่าตัวตายไม่ต่ำกว่า 5 คน โรงเรียนไม่มีรั้ว เด็กจะวิ่งหนีกลับบ้าน เขาปล่อยเลยนะ อยู่กลางประเทศ เป็นสมรภูมิด้วย อยู่ตั้งแต่ปี 1880 อย่างเตียงที่ผมนอน ผมมองไปจะเห็นคำว่าจอห์น 1890 ไอ้จอห์นที่นอนอยู่ตายไปแล้วนะ”

 

 

จากโรงเรียนทหารสู่มหาวิทยาลัยอเมริกาและไทย

หลังจบไฮสคูลจากโรงเรียนทหารที่ Wentworth Military Academy วิตต์เลือกที่จะไม่เรียนต่อเพื่อเป็นนายร้อย เพราะเขาคิดว่ากลับมาเมืองไทยก็ไม่สามารถสู้ทหารที่จบจากรั้ว จปร. ได้

 

“ตอนนั้นสอบของอเมริกา Standardized Test เพื่อเทียบให้ได้ ม.6 ปรากฏว่าได้คะแนนสูง ก็มีมหาวิทยาลัยส่งมาเชิญ เขาบอกให้ทุนเรียนหมดเลย แต่ทีนี้พอดูชื่อทุน เป็นทุนสำหรับแอฟริกัน ก็เลยบอกไม่เอาทุนได้ไหม ขอเรียนอย่างเดียว เขาก็ให้เรียน ตอนแรกไปเรียนเพราะมีคณะ Engineering Management เป็นอันดับ 1 ของโลก เรียนได้ปีครึ่งไม่ชอบ ก็เลยเปลี่ยนเป็นเรียนบริหารธรรมดา”

 

หลังจบบริหารจากสหรัฐอเมริกา วิตต์ตัดสินใจเดินทางกลับไทยเข้าทำงานในบริษัทของพ่อ จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาต่อจนจบปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารที่นิด้าอีกใบ

 

 

ป.6 สมัครประธานนักเรียน และอาม่าผู้ส่งต่อแพสชันทางการเมือง

ย้อนกลับไปช่วงที่วิตต์ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน แม้จะอยู่ในวัยที่ยังไม่ใช่ปากเสียงของผู้คนส่วนใหญ่ แต่การสอบตกครั้งนั้นทำให้วิตต์ได้เรียนรู้เช่นเดียวกัน

 

“ผมแพ้คะแนนมาเป็นที่ 2 ที่ 1 ซื้อเสียงด้วยขนม อันนี้เรื่องจริงเลย แพ้ไม่เยอะด้วย แต่รู้เลย ตกเย็นไอ้ที่ได้เป็นเอาขนมมาแจกเพื่อน คือของผมเพื่อนก็เลือกเพราะชอบ ออกแนวๆ นั้น”

 

นั่นคือก้าวแรกที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเห็นบรรยากาศการเมืองแบบที่เขารู้สึกว่าไม่แฟร์ เป็นภาพจำมาโดยตลอด

 

แต่แพสชันทางการเมืองของวิตต์ เมื่อเติบโตขึ้นถูกถ่ายทอดโดยตรงมาจากอาม่า ของเขา

 

“คนจีนแบบอาม่าอากงของผม เขามาอยู่ประเทศไทย เขาบอกตลอดว่าขอบคุณประเทศเรา ขอบคุณในหลวงของเราที่เขาได้มามีชีวิตที่ดีขึ้นที่นี่ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้เขาอยากให้คนในตระกูลสักคนได้ตอบแทนแผ่นดิน ทำเพื่อชาติ ทำชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล มันก็จะมีอยู่ในใจว่าอยากทำให้อาม่าอากงภูมิใจ

 

“คุณลุงของผมเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นสมัยเดียว ส่วนอาม่าอากงมาจากเมืองจีนก็ให้คุณลุงไปทำการเมืองเลย ไม่ได้ให้ทำบริษัทที่บ้าน คุณลุงทำงานการเมืองมาตลอดชีวิตเลย เริ่มจาก สก. ตั้งแต่ต้น”

 

 

ประสบการณ์ทำงานทำให้เรียนรู้คน ปูทางสู่การเมือง

หลังกลับจากเรียนที่สหรัฐอเมริกา อย่างที่เล่าไปแล้วข้างต้นว่าวิตต์ได้กลับมาช่วยพ่อทำธุรกิจ ตอนนั้นพ่อส่งเขาไปทำงานกับผู้บริหารที่เป็นคนญี่ปุ่น

 

“พ่อให้ไปอยู่กับคนญี่ปุ่นที่บริหารมาก่อน ตอนนั้นเขานั่งรถเข็น เขาไม่สบาย พ่อก็ให้ผมไปช่วยดู ชื่อมิยากะซัง คนงานมีอยู่ 20 กว่าคน ก็อยู่เหมือนครอบครัว มีอะไรก็ปรึกษาผม ผมต้องให้คำตอบเขา ช่วยเขาแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะเจอปัญหาจากคนงาน เราอยู่กับคนที่จบการศึกษาหลายระดับ คนที่มาทำโรงงานส่วนใหญ่ก็อย่างที่รู้คือ เป็นคนใช้แรงงาน ทั้งโรงงานมีวิศวกรคนเดียว ดังนั้นคนที่ผมคลุกคลีจริงๆ ก็คือแรงงานค่าแรงรายวัน ทำให้ได้รู้ชีวิตเขาเยอะ”

 

วิตต์ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่มีแพสชันหลายอย่างมากที่อยากจะทำแล้วยังไม่ได้ทำ ประจวบกับว่าการเมืองนั้นเขามีแพสชันตั้งแต่เด็ก

 

“การเมืองไม่ใช่อยากทำจู่ๆ ก็ได้ทำ มันต้องมีหลายๆ อย่างที่ครบ ถึงจะเข้าไปทำได้ ซึ่งพอมีโอกาสตรงนี้เปิดเข้ามา ทำไมผมจะไม่ทำ ถ้าทำแล้วได้เอาแนวคิดของเรามาช่วยประเทศ ช่วยให้คนอยู่ดีกินดีได้มากขึ้น คุณเกิดมาครั้งเดียว ผมพูดตรงๆ ทำไมต้องปฏิเสธล่ะ มันไม่ใช่เรื่องที่น่าปฏิเสธ แต่ถ้าสมัยนี้ไม่แน่ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ทำงานการเมืองเขาจะปฏิเสธ เขาบอกกลัวโดนคนเกลียด กลัวติดคุก”

 

 

เลือกสังกัดเพื่อไทย ลงสนามครั้งแรกสอบตก

“พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ให้โอกาสคนที่มีความสามารถ ผมไม่รู้พรรคอื่นเป็นยังไง แต่เพื่อไทยให้โอกาสคนที่พร้อม ที่มีความสามารถ ได้อุทิศตนเพื่อประเทศ”

 

เบื้องหลังของการที่วิตต์ตัดสินใจเลือกทำงานกับพรรคเพื่อไทย นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขาได้รับแรงสนับสนุนจาก ‘พี่ป๊อป’ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมในคณะรัฐมนตรีด้วย

 

“พี่ป๊อปก็รู้จักภูมิหลังผมมาพอสมควรว่าน่าจะช่วยงานได้ ได้เห็นการลงพื้นที่ของแก ว่าไปช่วยคนยังไง ตอนน้ำท่วมผมก็อยู่ ได้สัมผัสจากการที่เราไปช่วย แล้วคนที่เศร้าเขายิ้มได้”

 

เมื่อเข้ามาทำงานกับรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคเพื่อไทย ทำให้วิตต์มีโอกาสเรียนรู้งาน และต่อมาเขาก็ได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนลงสมัคร ส.ส. ในกรุงเทพมหานคร เขตดินแดงและเขตพญาไท

 

“วันนั้นยุบสภา จะมีเลือกตั้ง จากการหล่อหลอมตลอดเวลาที่ได้ทำงานกับพี่ป๊อป เพราะตอนนั้นเขาทำ 2 หน้าที่ เป็นทั้งรัฐมนตรี เป็นทั้ง ส.ส. ผู้แทน ก็ได้ดูทั้งหมดว่าการทำงานบริหารกับการทำงานเป็นผู้แทนเป็นยังไง แล้วงานผู้แทนก็น่าสนใจมาก โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ใครจะเป็นกระบอกเสียงให้เขา มันไม่มี ถ้าไม่มีผู้แทน คือคนที่เขาเลือกขึ้นมาเพราะเขาเชื่อ เลือกให้ไปตัดสินใจแทนเขาในสภา เป็นอาชีพที่น่ายกย่อง น่าภูมิใจนะ ก็เป็นจุดที่เราตัดสินใจลง ส.ส.”

 

แต่วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2557 ทำให้การหาเสียงในเวลานั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากและมีความเสี่ยง กกต. สั่งห้ามมีเวทีปราศรัย บรรยากาศการเมืองค่อนข้างน่ากลัว มีการปิดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าไปยังหน่วยเลือกตั้ง สุดท้ายการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และวิตต์ก็ต้องสอบตกด้วยเหตุผลนี้

 

“หลายคนแนะนำให้ใส่ชุดเกราะลงไป เขตผมตอนนั้นเป็นเขตแรกที่ถูกปิด ดินแดง โดนโซ่คล้อง มียิงกันด้วย ผมไปเคาะหาเสียงที่แฟลตดินแดง มีเอาปืนขู่ ขนาดนั้นเลย

 

“ถ้าผมจำไม่ผิด บรรยากาศค่อนข้างน่ากลัว แต่ใจผมก็อยากให้มีเลือกตั้ง ผมคิดภาพไม่ออก ประชาธิปไตยที่ไม่มีการเลือกตั้ง แล้วประเทศจะเดินยังไง ตอนนั้นคิดไม่ออก ตอนนี้ก็คิดออกแล้วว่ามันจะเดินยังไง”

 

 

สอบตกครั้งแรก บทเรียนสำคัญทางการเมืองและประชาธิปไตยไทย

“ถ้าเราไม่เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนความคิดเขา แล้วเมื่อไรมันจะเปลี่ยน” วิตต์บอกว่าแม้จะสอบตก แต่เขายังยืนยันที่จะทำงานการเมืองต่อไปและรอได้เสมอ

 

“ผมรอได้ แล้วมันอยู่ในหัวแล้วว่าเราจะทำอะไรเพื่อประเทศบ้าง ทำไมรอแค่นี้รอไม่ได้ มันยังไม่ได้ตอบเลยว่าสิ่งที่คิดอยู่ในหัวจะแก้ปัญหาประเทศได้จริงไหม ผมพร้อมที่จะรอ ต่อให้มัน 10 ปี 20 ปี ผมก็รอ ถ้ามันพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ผมคิดมันสามารถตอบโจทย์ประเทศได้”

 

การทำงานการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย นักการเมืองถูกทำให้เป็นตัวร้าย และวิตต์เองก็รู้ข้อนี้ดี แม้เขาจะบอกว่าไม่ชอบกลเกมทางการเมือง แต่เขาก็หนีไม่พ้นอย่างแน่นอน

 

“ผมเชื่อนะว่าการเมืองในปัจจุบันและอนาคตไม่ใช่การเมืองแบบเดิมที่ด่ากันในสภาแบบเก่า เพราะคนที่รับข่าวสารเขารับข้อเท็จจริงได้มากกว่าแต่ก่อน มันค้นหาได้ ไม่ใช่รับจากโทรทัศน์ จากอินเทอร์เน็ตแล้วจบ เราไปอ่านรีวิว ไปเสิร์ชดูว่าจริงไหม คนทั่วไปว่าอย่างไรกันบ้าง ดังนั้นมันไม่ใช่แค่การพูดแล้ว มันคือการปฏิบัติ ผมว่าสิ่งที่ตอบได้ดีที่สุดแล้วเป็นเกราะป้องกันตัวเราที่ดีสุดคือผลงาน ก็ทำให้ดีที่สุด”

 

 

ไม่เคยโดนทักษิณซื้อและไม่กลัวเกมนี้

ข้อหาง่ายที่สุดที่มักถูกโยนใส่คนที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสโลแกนว่า ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ ก็คือการโจมตีว่าถูกทักษิณซื้อตัวไปแล้ว เรียกว่าเป็นกลเกมทางการเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดทอนความสามารถหรือเจตนาที่แท้จริงของคนนั้นๆ วิตต์เองก็รู้ข้อเท็จจริงนี้เช่นกัน และโอกาสที่เขาจะต้องเผชิญกับเกมนี้ก็มี

 

“ผมไม่เคยโดนซื้อ ผมไม่กลัวด้วย พรรคจะต้องเปลี่ยน ถ้าถามผม พรรคต้องปรับยังไง เรื่องการฟังเสียงประชาชนต้องฟังมากขึ้น มันมีเครื่องมือมากมายเพื่อฟังเสียงประชาชน ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าใครครอบงำ เพราะทุกอย่างจะต้องถูกกลั่นกรองออกจากความคิดประชาชน จากเสียงของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนที่เข้ามาต้องทำตัวให้ถูกต้องในการเป็นกระบอกเสียง

 

“ผมอยากจะเห็นหัวหน้าพรรคที่มองเห็นอนาคต พร้อมจะเปลี่ยนอะไรเก่าๆ ที่ไม่ดี รู้ว่าอะไรต้องเปลี่ยน คนแบบนี้ในเพื่อไทยมีเยอะ วิธีคิดที่เป็นคนรุ่นใหม่นี่สำคัญ สำคัญที่วิธีคิด”

 

 

มองอนาคตทางการเมืองของตัวเอง ขอแค่เป็นผู้แทน

วิตต์มองอนาคตทางการเมืองของตนเองว่า ลำดับแรกสุดคือการได้รับเลือกเป็นผู้แทนของประชาชน

 

“อย่างที่บอก ถ้าผมไม่ได้เป็นผู้แทน ผมก็ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถเป็นกระบอกเสียงให้คนที่เลือกเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ส่วนหลังจากนั้นตำแหน่งไหนก็ได้ ที่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ตอนนี้ขอแค่ได้เป็นผู้แทน ได้ช่วยรับฟังเสียงประชาชน ได้ร่วมคิดนโยบาย อันนี้ที่ต้องการ แล้วถ้านโยบายนั้นได้ใช้จริงๆ ผมคงมีความสุขมากๆ”

 

 

มองอนาคตประเทศไทย = สตาร์ทอัพ  

“ผมอยากให้ประเทศไทยคิดว่าเป็นสตาร์ทอัพ แล้วเวลาคิดอะไรใหม่ๆ สตาร์ทอัพจะดูจุดแข็งของตัวเอง ต้องหันมาดู ไม่อย่างนั้นเดินต่อไม่ได้ เราไม่ทัน เรื่องการศึกษา การพาณิชย์ อะไรที่เป็นจุดแข็งเรา ลดลงเรื่อยๆ”

 

วิตต์อธิบายด้วยสีหน้าและแววตาที่จริงจัง แต่ยังคงคิดก่อนพูดเสมอ

 

“ตอนนี้คนอื่นเขามีตามเราหมดแล้ว ปกติถ้าคุณเป็นธุรกิจเก่า ไม่ใช่สตาร์ทอัพ คุณก็ต้องหนี แต่วันนี้เขาตามทันเราไปหมดแล้ว เราต้องมาเริ่มอะไรใหม่ๆ คิดใหม่ เป็นสตาร์ทอัพเลย คิดว่าเรามีจุดแข็งอะไรเหลืออยู่ แล้วสร้างให้เป็นอันดับ 1 ได้ยังไง ดังนั้นถ้าผมอยู่ในตำแหน่งที่ช่วยคิดได้ว่าประเทศจะเดินไปยังไงต่อ ผมบอกเลยว่าเรื่องแรกคือเรื่องอาชีพ เรื่องที่สองคือการศึกษา มันเกี่ยวพันกันหมดเลย”

 

 

สัญญาณเตือน เมื่อเทคโนโลยีเกิดใหม่ บางอาชีพอาจตาย

“ผมสนใจเรื่อง Disruptive Technology มาก เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้วมันทำให้เปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง อะไรที่เราไม่ได้มองมันมีเยอะ อย่างในยุโรปมีรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้ากี่คันแล้ว รัฐบาลได้มองหรือยัง ซึ่งทุกวันนี้ทุกอย่างมันไปเร็วมาก พอคนเริ่มใช้แล้วบอกต่อปากต่อปาก ก็เปลี่ยนกัน ราคารับได้ก็เปลี่ยนกัน แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น อย่างขับรถไปตามถนนจะเห็น ‘รับซ่อมท่อไอเสีย’ เยอะมากเลย แล้วรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีท่อไอเสีย แล้วเขาจะไปทำอะไร เรื่องพวกนี้ต้องรีบดูแล้ว คือต้องเตือนแจ้งเขาแล้ว เพราะเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าใน 5 ปีต้องเจ๊งแล้ว ของพวกนี้ต้องตระหนักให้มากนะ เขาจะตกงาน จะทำอะไร มีครอบครัวหรือเปล่า มีลูกมีเมียไหม ลูกเขาเรียนหนังสืออยู่หรือเปล่า มันจะมีอีกหลายอาชีพเลยนะ แล้วรัฐบาลจะทำยังไง ถ้าอีก 5 ปีมีธุรกิจที่จะเจ๊ง 50 เปอร์เซ็นต์ คุณมีกองทุนที่จะรับเขาเข้ามาฝึกงานอะไรไหม ที่จะเป็นอาชีพเกิดใหม่ที่ Education Level ที่ทักษะเขามันได้ ต้องเริ่มทำแล้ว มันไม่มีกระทรวงไหนที่ทำอย่างแท้จริง แล้วมันจะเกิดอีกเยอะเลย อาชีพที่หายไปแล้ว เร็วๆ นี้ด้วย”

 


 

การศึกษาคือรากฐานประเทศ แต่ไทยห่างจากที่อื่น

ในชีวิตของวิตต์ เขาเป็นคนที่ผ่านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ แม้ต้นทุนทางการศึกษาจะมีอยู่มาก แต่เขาก็ตระหนักและให้ความสนใจต่อปัญหาการศึกษาไทยอย่างยิ่ง

 

“เรื่องของการศึกษามันคือรากฐานของประเทศ การศึกษาทำให้คนในประเทศมีความสามารถในการหางานสูงขึ้น ต่างประเทศหรือในประเทศก็ดี แต่ทุกวันนี้การศึกษาเราห่างจากที่อื่นมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา เด็กทุกคนในประเทศไทยจะต้องได้รับการศึกษาที่ดีเท่ากันไม่ว่าจะรวยหรือจน อันนี้ต้องทำเป็นอย่างแรกด้วย

 

“การได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม คนรวยอยู่แล้วได้รับการศึกษาที่ดี ก็มีวิชาความรู้ที่ดีในการประกอบธุรกิจ ก็ยิ่งรวยขึ้น คนรายได้น้อยได้รับการศึกษาที่ไม่ดี ก็ยิ่งไม่มีความรู้เพียงพอในการประกอบธุรกิจ ก็จะทำให้ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น

 

“แม้กระทั่งเรื่องครู ครูเราถูกผลิตมาไม่เท่ากัน ครูประถมขาดแคลน แต่ครูมัธยมมีเกิน เพราะว่าเราผลิตมาไม่ถูกต้องกับดีมานด์และเรื่องหลักสูตร สมัยนี้ควรเป็นหลักสูตรมิกซ์แอนด์แมตช์ อย่างสมมติคุณอยากเปิดสตาร์ทอัพ เปิดซ่อมรถ คุณมีทุน คุณจะเรียนอะไร จะเรียนวิศวกรรมศาสตร์หรือเรียนบริหาร ก็ต้องรู้ทั้งสองอย่าง มันควรเป็นฟรีฟอร์มมากขึ้น”

 

วิตต์เสนอว่ามหาวิทยาลัยสามารถทำได้ คลาสวิชาเลือกเสรีต้องกว้างขึ้น มีตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกาเขาไม่ได้สนใจปริญญาตรีแล้ว เขาทำหลักสูตรขึ้นมาเองด้วยซ้ำไป คืออยากได้คนแบบนี้ก็สร้างหลักสูตรขึ้นมา ซึ่งมันตรงกว่า

 

และนี่คือเรื่องราวที่เราพอเก็บเกี่ยวได้ในเวลาอันจำกัดจากการพูดคุยกับ ‘โอจีฟ’ วิตต์ ก้องธรนินทร์ ผู้อดทนรอวันเข้าสู่เส้นชัยในสนามการเมือง ซึ่งเป็นเส้นทางที่เขาได้เลือกแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising