×

บทสัมภาษณ์สุดท้าย ‘วีรพงษ์ รามางกูร’ ปรมาจารย์นักเศรษฐศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายยุคสมัย

12.11.2021
  • LOADING...
Wiraphong Ramangkun

บทสัมภาษณ์สุดท้าย ‘วีรพงษ์ รามางกูร’ ปรมาจารย์นักเศรษฐศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายยุคสมัย จากโครงการหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy โดยเกียรตินาคินภัทร

 

นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับแวดวงเศรษฐกิจไทย กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของเมืองไทย ผู้ห่วงใยเศรษฐกิจประเทศในทุกห้วงจังหวะของชีวิต แม้แต่การให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ดร.วีรพงษ์ ยังอดแสดงความเป็นห่วงต่ออนาคตของประเทศไม่ได้

 

ในฐานะส่วนหนึ่งของคณะทำงานโครงการหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy ที่กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้จัดทำขึ้น เพื่อบอกเล่าพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในโอกาสครบรอบ 50 ปีขององค์กร ทีมข่าว THE STANDARD มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.วีรพงษ์ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนที่ท่านเสียชีวิต เพื่อรับฟังแนวความคิดที่นำมาสู่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และเป็นกุญแจสำคัญสู่ความเข้าใจพัฒนาการเศรษฐกิจไทยที่เป็นแก่นเนื้อหาของโครงการ จึงขอนำสาระสำคัญส่วนหนึ่งมาเผยแพร่ล่วงหน้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ท่านนี้

 

ดร.วีรพงษ์ ให้สัมภาษณ์กับทีมงานในวันนั้นว่า โจทย์ที่ยากสุดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เคยเผชิญมาทั้งชีวิต คือ การแก้วิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2525 

 

ช่วงเวลานั้นราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับขึ้นจากระดับ 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ราวๆ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตัวเลขนี้อาจดูเหมือนน้อยเมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบัน แต่ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์ของการปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ถือว่าเพิ่มขึ้นมากถึง 500% 

 

ผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงเวลานั้น กระทบอย่างน้อย 2 ด้าน ด้านแรก คือ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาขาดดุลอย่างหนัก เพราะค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศ ‘แพงขึ้น’ ถึง 500% เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยขาดดุลอย่างรุนแรง

 

“ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในเวลาเดียวกันเราไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าส่งออกได้ และสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ในเวลานั้นยังเป็นเพียงสินค้าเกษตร 4 ตัวหลัก คือ ข้าว ดีบุก ยางพารา และไม้สัก เราจึงประสบปัญหาขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง”

 

ส่วนการท่องเที่ยวสมัยนั้นยังไม่บูม ซึ่งต่อมา พล.อ. เปรม ได้เริ่มเข้าไปพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งหาแนวทางที่จะลดการขาดดุลการค้า ด้วยการผลักดันการส่งออก พร้อมกับลดการนำเข้าลง 

 

สมัยนั้นการใช้จ่ายของคนไทยมาจากการนำเข้าค่อนข้างสูง หากไม่ช่วยกันประหยัด ไม่ช่วยกันใช้ของไทย ไม่ร่วมใจกันส่งออก ประเทศไทยจะขาดดุลมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของคำขวัญที่ว่า ‘มุ่งประหยัด เร่งรัดนิยมไทย ร่วมใจส่งออก’ ซึ่งประโยคนี้มีความสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในเวลานั้น 

 

ดร.วีรพงษ์ เล่าด้วยว่า ช่วงเวลานั้นรัฐบาลทำทุกวิถีทางเพื่อลดการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันและพลังงานต่างๆ ทำทุกอย่างเท่าที่พอจะทำได้ แม้แต่การปิดไฟข้างถนน โดยเปิดฝั่งหนึ่ง ปิดอีกฝั่งหนึ่ง รวมไปถึงการขอให้ปั๊มน้ำมันปิดให้บริการในเวลา 22.00 น. เพื่อหวังลดการใช้พลังงานให้มากที่สุด

 

แม้รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดได้ จนกระทั่งเงินสำรองระหว่างประเทศเริ่มร่อยหรอ เวลานั้นน่าจะเหลือเงินเพียง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในที่สุดรัฐบาลต้องเข้าไปขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้องไปยืมเงินดอลลาร์จาก IMF มาใช้

 

“จำได้ว่าในปี 2525 การเข้าสู่ระบบกู้ยืมเงินจาก IMF แม้มีความจำเป็น แต่ก็นำมาซึ่งความเจ็บปวด เพราะ IMF ตั้งเงื่อนไขการปล่อยกู้ไว้อย่างเข้มงวด บังคับให้เราต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเขากลัวว่าเราจะไม่มีปัญญาใช้คืนหนี้ เนื่องจาก IMF เองก็ต้องเอาเงินจากประเทศสมาชิกที่ร่ำรวยมาปล่อยให้กับประเทศที่กำลังเผชิญปัญหา”

 

ดร.วีรพงษ์ บอกว่า ที่เจ็บปวดสุด คือ IMF ขอให้รัฐบาลตัดลดงบประมาณแผ่นดินลงประมาณ 15-20% เพราะผลพวงของการตัดลดงบประมาณดังกล่าว ทำให้รัฐบาลต้องทำอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะ ‘การขึ้นภาษี’ เพื่อเพิ่มรายได้ 

 

“คนรุ่นหลังๆ ไม่เคยเจอการขึ้นภาษีจึงไม่รู้สึก การขึ้นภาษีในยุคนั้นได้รับการต่อต้านจากทั้งสื่อมวลชนและมหาชน เนื่องจากการขึ้นภาษียิ่งทำให้เศรษฐกิจซบเซา ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล เพราะถ้าขึ้นภาษีแล้ว เงินเฟ้อขึ้นด้วย ที่ทำมาทั้งหมดจะไม่มีผลอะไรเลย”

 

สำหรับการกดเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้น ดร.วีรพงษ์ เล่าว่า ต้องทำหลายวิธี โดยหนึ่งในวิธีที่สำคัญสุด คือ ‘การขึ้นดอกเบี้ย’ เพื่อลดการลงทุน ลดการบริโภคของภาคครัวเรือน ถือว่าเป็นไปตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์

 

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเวลาแบบนั้นนับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่หนักมากขึ้น โดยเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้วยิ่งซบเซามากขึ้น แต่รัฐบาลไม่มีทางเลือก ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นเงื่อนไขของ IMF ที่เราต้องปฏิบัติตาม

 

ดร.วีรพงษ์ เล่าว่า ช่วงเวลานั้นแม้รัฐบาลจะพยายามทำในหลายๆ อย่างตามคำแนะนำของ IMF แต่ในที่สุดปัญหาก็ยังไม่ทุเลา ฐานะการคลังก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้เขาในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจเสนอให้ ‘ลดค่าเงิน’ ในปี 2528

 

“จำได้ว่าราวๆ ช่วงบ่ายของวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคมปี 2528 ตอนนั้น ป๋า (พล.อ. เปรม) ป่วยอยู่ นอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ผมขอเข้าไปพบเพื่อเสนอให้ป๋าลดค่าเงิน พอป๋าได้ยินก็ตกใจ ไล่ผมออกจากบ้าน บอกว่าผมพูดอะไรเรื่องแบบนี้ ขืนทำแบบนั้นรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เรื่องลดค่าเงินเป็นเรื่องใหญ่มากในเวลานั้น สามารถทำรัฐบาลล้มได้เลย”

 

ดร.วีรพงษ์ เล่าต่อว่า แม้ พล.อ. เปรม จะไล่ให้เขากลับออกไป แต่ตัวเขายังไม่ลดละความพยายาม ยังคงใช้ลูกตื๊อโดยไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ พยายามชี้แจงให้ พล.อ. เปรม เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องลดค่าเงิน แต่สุดท้าย พล.อ. เปรม ยังคงยืนยันที่จะให้เขากลับออกไป จนตัวเขาต้องยอมล่าถอยออกมา

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. ในวันเดียวกัน มีโทรศัพท์จาก เรืออากาศโท (ร.ท.) ศุลี มหาสันทนะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โทรมาหาและขอให้เขาพร้อมกับ สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาพบที่ทำเนียบรัฐบาลในวันถัดไป 

 

ดร.วีรพงษ์ เล่าว่า หลังจากวางสายคุณศุลี ก็รีบโทรหาท่าน รมว.คลัง ชักชวนกันไปพบคุณศุลี เพื่ออธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นในการลดค่าเงิน ซึ่งคุณศุลีได้สอบถามรายละเอียดเชิงเทคนิคว่าต้องทำอย่างไร

 

“วันนั้นเป็นวันจันทร์ ท่านศุลีถามผมว่า อาจารย์มีเป้าหมายว่าจะทำ (ลดค่าเงิน) วันไหน ผมก็บอกไปว่า วันศุกร์ช่วงเย็นประมาณ 16.30 น. เพราะเป็นช่วงที่แบงก์ปิดทำการแล้ว ไม่มีใครทำอะไรได้แล้ว ถ้าทำระหว่างวันคงโกลาหลแน่นอน”

 

หลังจากหารือกันในรายละเอียดและได้ข้อตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดร.วีรพงษ์ บอกว่า ได้รับมอบหมายให้ไปชี้แจงกับ ประจวบ สุนทรางกูร ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยประจวบเองก็ได้รับมอบหมายจาก พล.อ. เปรม ให้มาฟังคำชี้แจงและเซ็นอนุมัติ เมื่อชี้แจงท่านจนเข้าใจแล้ว ประจวบก็เซ็นอนุมัติให้ในวันนั้นเลย

 

“เรื่องที่ผมหนักใจสุด คือ ข่าวต้องไม่รั่ว ถ้าข่าวรั่วคือจบกัน ทุกอย่างจะล้มเหลว เพราะจะมีคนเทขายเงินบาทซื้อดอลลาร์เพื่อเก็งกำไร แต่ในที่สุดจนถึงเวลา 16.30 น. ของวันศุกร์ ข่าวก็ยังไม่รั่ว เพราะเช้าวันนั้นยังมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งนำเงินดอลลาร์มาขายให้แบงก์ชาติถึง 400 ล้านดอลลาร์ แบบนี้ถือว่าข่าวไม่รั่วแน่นอน เพราะถ้าข่าวรั่วเขาคงไม่นำเงินดอลลาร์ออกมาขายก่อน ทำให้เราดีใจกันใหญ่”

 

เมื่อถึงเวลา 16.30 น. ทางการก็ประกาศลดค่าเงินบาทลง 15% ช่วงเวลานั้นประเทศไทยเหมือนกับระเบิดปรมาณูลง คนแตกตื่นยกใหญ่ กลายเป็นเรื่องใหญ่โต มีผู้ประกอบการฝั่งนำเข้าที่ยังไม่ได้จ่ายค่าสินค้านำเข้ามูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์ ไปฟ้อง พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น ซึ่ง พล.อ. อาทิตย์ ก็จะขอให้ทบทวนคำสั่งการลดค่าเงิน

 

“คืนนั้น ผบ.ทบ. ออกรายการทีวี ประกาศให้รัฐบาล Reverse คำสั่งลดค่าเงินให้กลับไปอยู่ที่เดิม ทุกคนก็นึกว่าจะมีปฏิวัติแล้ว ผมถูกเรียกให้เข้าไปประจำการในบ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อตอบคำถาม แล้วป๋าก็ให้คนขึ้นตาข่ายรอบบ้าน เพราะกลัวระเบิดอาร์พีจีมาลง คิดว่าคงจะนึกภาพกันไม่ออกว่า ผบ.ทบ.ใหญ่โตแค่ไหนในสมัยนั้น แต่สุดท้ายโชคดีที่ไม่มีอาร์พีจียิงมา” 

 

ดร.วีรพงษ์ บอกว่า พล.อ. เปรม ได้ขอให้เขาช่วยร่างหนังสือตอบกลับท่าน ผบ.ทบ. เพื่อขอให้รอดูผลของการลดค่าเงินก่อนว่าจะเป็นไปอย่างที่ประเมินไว้หรือไม่ โดยขอเวลา 6 เดือน หากไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ พล.อ. เปรม ก็พร้อมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

 

หลังจากที่ประเทศไทยลดค่าเงินบาทในครั้งนั้น เศรษฐกิจไทยก็เริ่มทยอยฟื้นตัว ผ่านภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น จนกระทั่งเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาถัดมา

 

ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เส้นเลือดใหญ่สู่การเติบโต

ดร.วีรพงษ์ นับเป็นหนึ่งในเทคโนแครตคนสำคัญของรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญมากมายในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะการสร้างถนนเพื่อเชื่อมความเจริญจากเมืองกรุงเข้าสู่ชนบท ลดปัญหาความยากจน พัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น

 

“สมัยก่อนความยากจนในภาคเกษตรมีสูงมาก ขาดอาหาร ประชาชนเป็นโรคโลหิตจางไม่มีแรงทำงาน เด็กขาดสารอาหารเป็นพุงโรก้นปอด ไม่ไปโรงเรียน จนเกิดโครงการอาหารกลางวันขึ้น เด็กก็เริ่มไปโรงเรียนกัน ไม่ใช่ว่าอยากไปเรียน แต่ไปเพราะอยากไปกินข้าว ประเทศเรายากจนมากในเวลานั้น”

 

ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่ได้รับการดูแลมากที่สุด จะเห็นว่าถนนในภาคอีสานเป็นถนนลาดยางเกือบจะ 100% เพราะถนนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นหนทางที่เชื่อมระหว่างภาคล้าหลังให้สามารถออกมาทำงานในภาคก้าวหน้าได้ ดังนั้นคนในยุคหลังจึงไม่ได้เห็นความยากจนเหมือนในอดีตอีกแล้ว

 

ดร.วีรพงษ์ บอกว่า รัฐบาลใช้เงินกู้จากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เกือบเต็มวงเงิน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ สร้างถนน เชื่อมความเจริญเข้าสู่เขตพื้นที่ยากจน 

 

“เขตที่ยากจนเพราะเขาไม่ได้รับการศึกษา และยังมีปัญหาสุขภาพตามที่ได้เล่าไป เด็กเกิดมาขาดสารอาหาร มารดาไม่ได้รับโภชนาการที่ดีและถูกต้อง เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาหมู่บ้านก็ปิด ไม่สามารถนำผลผลิตออกมาขายยังโลกภายนอกได้ ทั้งๆ ที่เขามีศักยภาพในการผลิตพืชผล สามารถนำออกมาขายยังตลาดภายนอกได้ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ดี เราจึงต้องเร่งมือพัฒนาในส่วนนี้”

 

เตือนภัยวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่รัฐบาลเมินเสียงที่แผ่วเบา

วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันในนามวิกฤตต้มยำกุ้ง สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการลงทุนที่เกินตัวจนก่อฟองสบู่ขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ดร.วีรพงษ์ เห็นสัญญาณเหล่านี้อย่างชัดเจน และได้พยายามส่งเสียงเตือน เพียงแต่เสียงของ ดร.วีรพงษ์ ในเวลานั้นกลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร สุดท้ายก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

ดร.วีรพงษ์ เล่าว่า ตัวเขารับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลจนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ พอมารัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ไม่ได้ทำงานให้กับรัฐบาลแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้น ดร.วีรพงษ์ เป็นผู้ที่เสนอให้รัฐบาลเปิดเสรีการค้า จนเศรษฐกิจไทยบูมขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนและการส่งออก 

 

ทว่าการปล่อยให้มีการลงทุนมากจนเกินตัว ได้นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไป ซึ่งในเวลานั้น ดร.วีรพงษ์ แม้จะไม่ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล พล.อ. ชวลิต แต่เขาเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ความร้อนแรงของเศรษฐกิจในเวลานั้นไม่อาจไปต่อได้แล้ว ต้องลดความร้อนแรงลง 

 

“ผมพยายามบอกรัฐบาลทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในทีมของรัฐบาล โดยบอกผ่านการยืนบนโพเดียม ว่าเราต้องขึ้นดอกเบี้ย ต้องลดการขาดดุลงบประมาณลง วันนั้นป๋าได้ฟัง ก็ให้คนโทรมาหา ขอให้ผมไปเล่าให้ฟังว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แต่ก่อนไปป๋าขอให้ผมเขียนอธิบายมาก่อน ผมก็นั่งเขียนว่าสาเหตุของฟองสบู่เกิดจากอะไร เพราะเงินไหลเข้ามาเกินกว่าเหตุ ไหลเข้ามายังภาคที่ไม่โปรดักทีฟ ไหลเข้ามาปั่นหุ้น มาเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ”

 

หลังจาก พล.อ. เปรม ซึ่งในเวลานั้นไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ก็ได้เชิญ พล.อ. ชวลิต นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มาหารือร่วมกัน ซึ่ง พล.อ. ชวลิต บอกว่า รับทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว แต่คนในพรรคการเมืองไม่มีใครเห็นด้วยกับแนวคิดของ ดร.วีรพงษ์ เลยสักคนเดียว ขณะเดียวกัน พล.อ. เปรม ยังได้นำข้อเขียนของ ดร.วีรพงษ์ ให้กับ พล.อ. ชวลิต ไปศึกษาเพิ่มเติมด้วย

 

“วันรุ่งขึ้นป๋าโทรมาถามผมว่า นายกฯ โทรหาเราหรือไม่ ผมบอกไปว่า ‘เปล่า’ ป๋าก็เอ่ยขึ้นมาว่า ‘ประเทศไทยแย่แล้ว’ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนฟองสบู่ก็แตก เกิดเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง”

 

ทำนายรัฐบาลจะพังเพราะนโยบายจำนำข้าว  

ในยุคสมัยของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งตั้ง ดร.วีรพงษ์ เป็นที่ปรึกษาดูแลด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง แม้ ดร.วีรพงษ์ จะช่วยงานรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลในทุกๆ เรื่อง เช่น กรณีนโยบายจำนำข้าว ดร.วีรพงษ์ ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเตือนดังๆ ว่า หากรัฐบาลนี้จะพัง ก็คงพังเพราะนโยบายรับจำนำข้าว 

 

โดย ดร.วีรพงษ์ เล่าถึงการทำงานในยุคสมัยนั้นให้ฟังว่า ยุคทักษิณ ปัญหาเศรษฐกิจยังมีน้อย เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศเริ่มแข็งแกร่ง จึงสบายกว่ายุค พล.อ. เปรม เยอะ อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง ปัญหาเศรษฐกิจในยุคทักษิณเป็นเรื่องการขยายตัว และการรักษาความสามารถของการส่งออกเป็นหลัก

 

ดร.วีรพงษ์ เล่าด้วยว่า สมัยทักษิณ พัฒนาเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำต่อเนื่องจากยุคของ พล.อ. เปรม ที่สำคัญทักษิณเป็นคนที่เข้าใจเศรษฐกิจดี ไม่ต้องอธิบายเยอะ เข้าใจง่าย แต่เสียอย่างเดียว คือ ชอบต่อรอง 

 

“ผมจำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ผมเสนอโครงการไปท่านบอกว่า ทำครึ่งหนึ่งได้หรือไม่ ผมก็บอกไปว่า นโยบายเศรษฐกิจไม่มีคำว่าครึ่งหนึ่ง มีแค่ ‘เอา’ กับ ‘ไม่เอา’ ซึ่งในที่สุดท่านก็ทำ ผมเชื่อว่าถ้าคุณทักษิณยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ คงประสบความสำเร็จ เพียงแต่มีสิ่งหนึ่งที่ท่านไม่ยอมเลย คือ นโยบายจำนำข้าว”

 

ดร.วีรพงษ์ ย้ำกับทีมงานว่า ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ เขาเป็นคนที่ต่อสู้เรื่องการเปิดเสรีเศรษฐกิจมาโดยตลอด เปิดเสรีการส่งออกข้าว เพราะราคาข้าวของเราต่างจากราคาในต่างประเทศเป็นเท่าตัว สาเหตุเพราะนโยบายรัฐบาลที่อยากช่วยชาวนา แต่สุดท้ายกลายเป็นการทำร้ายชาวนามากกว่า 

 

แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่รัฐบาลต่างๆ ก็ยังชอบที่จะใช้นโยบายช่วยชาวนา โดยในยุคก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่ใช้นโยบายประกันราคาข้าว แต่ยุครัฐบาลทักษิณต่อเนื่องถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ หันมาใช้นโยบาย ‘จำนำข้าว’ รับจำนำทุกเมล็ดที่ชาวนาผลิต สะท้อนว่าเป็นการไม่ยอมรับกลไกตลาดโลก

 

“ทฤษฎีที่ว่าเราเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ จึงควรเป็นคนตั้งราคาในตลาดโลก นับเป็นทฤษฎีที่หลอกลวงชาวนามาโดยตลอด แต่ได้ผลทางการเมือง จนกระทั่งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) เพิ่งมายกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวไป”

 

ปัญหาเศรษฐกิจไทยยุคปัจจุบันไม่ได้มาก แค่ต้องทำให้เติบโตเท่านั้น

สำหรับปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญจากวิกฤตโควิดในปัจจุบันนั้น ดร.วีรพงษ์ มองว่า ปัญหาในขณะนี้ยังน้อยกว่ายุคของ พล.อ. เปรม มาก เพราะไม่ต้องระวังเรื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินบาท ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องวิ่งไปขอกู้เงินจาก IMF ซึ่งประเทศไทยในเวลานี้มีความสามารถในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และเสรี อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรเท่านั้น

 

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำในเวลานี้มีเรื่องเดียว คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุด โจทย์หลักมีแค่ข้อเดียว ไม่เหมือนสมัยป๋า แรงงานก็เรื่องใหญ่ มีการเดินขบวน เดี๋ยวนี้ค่าแรงขั้นต่ำไม่มีใครพูดถึงเลย เพราะค่าแรงที่คนงานได้รับสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว”

 

ดร.วีรพงษ์ บอกด้วยว่า ปัญหางบประมาณแผ่นดินในขณะนี้ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัด เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีจำนวนมาก จึงไม่ใช่ข้อจำกัดเช่นกัน และส่วนตัวก็ยังไม่เห็นข้อจำกัดของการทำนโยบายเศรษฐกิจในเวลานี้

 

“ผมเคยปรารภกับเพื่อนไว้ว่า หากสถานการณ์การเงินการคลังเป็นอย่างทุกวันนี้ ผมคงเสนอโครงการพัฒนาหลายๆ อย่างที่ควรต่อยอดจากสมัยป๋าที่เคยทำเอาไว้ พูดไปอาจจะแรง แต่ผมคิดแบบนั้นจริงๆ”

 

ดร.วีรพงษ์ ให้มุมมองว่า โครงการบางอย่างอาจต้องรอให้มีดีมานด์ก่อนถึงค่อยทำ แต่บางอย่างไม่ต้องรอดีมานด์ สามารถทำได้เลย เช่น การขยายท่าเรือ ขยายสนามบิน ปัจจุบันเราอยู่ในฐานะที่ทำได้ ต้องลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว แม้ระยะสั้นจะใช้เงินลงทุนไปก่อน เช่น งานวิจัย หรืองานเพิ่มศักยภาพของพลังงานในด้านอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ผมไม่ได้อยู่ในทีมรัฐบาล คงลงรายละเอียดไม่ได้มาก แต่ถ้าเป็นที่ปรึกษาและเห็นรายละเอียด ก็คงเอามาเล่าให้ฟังได้มากกว่านี้

 

“เวลานี้ไม่ได้มีอุปสรรคใดๆ เลย ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าติดขัดอะไร ทัพหน้าทางรัฐสภาก็มาก ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจการเงินก็ไม่มี เงินเฟ้อก็ไม่มีให้ต้องระวัง แรงงานก็เรียบร้อย ปัญหาเดินขบวนขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมาล้มรัฐบาลก็ไม่มี คุณคิดว่ารัฐบาลมีปัญหาอะไร ผมนึกไม่ออก วิจารณ์แรงๆ ก็โกรธ”

 

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ชายที่ผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ที่ห่วงปัญหาเศรษฐกิจไทยในทุกช่วงจังหวะของชีวิต

 

ทั้งนี้ โครงการหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai  Economy ที่กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 50 ปีของเกียรตินาคินภัทร ประกอบไปด้วยบทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศในช่วงเวลากว่า 5 ทศวรรรษ และผสมผสานด้วยบทสัมภาษณ์จากผู้มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจ ไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ หรือนักวิชาการ โดยสาระสำคัญของหนังสือจะถูกนำมาเผยแพร่ในงานเสวนาเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และรายการพอดแคสต์ที่กลุ่มธุรกิจฯ ทำร่วมกับ THE STANDARD ในช่วงต้นปี 2565

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising