×

มิงค์ติดโควิด-19 จริงหรือไม่ มีสัตว์อะไรบ้างที่ติดโควิด-19 ได้

10.11.2020
  • LOADING...
มิงค์ติดโควิด-19 จริงหรือไม่ มีสัตว์อะไรบ้างที่ติดโควิด-19 ได้

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • การระบาดของโควิด-19 ขยายจากระดับชุมชน เมือง ประเทศ โลก ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อในขณะนี้อยู่ที่ 50 ล้านคน เกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน (Human-to-Human Transmission) แต่ในระหว่างนี้ก็มีการค้นพบว่าไวรัสสามารถย้อนกลับไป (Spill-Back) ติดเชื้อในสัตว์บางชนิดได้
  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน ‘มิงค์’ เริ่มเป็นข่าวในเดือนมิถุนายน 2563 มีรายงานการติดเชื้อในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ สเปน สหรัฐฯ และล่าสุดเดนมาร์ก
  • โดยสรุปสัตว์นอกห้องทดลองที่มีรายงานติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ได้แก่ สุนัข แมว เสือ สิงโต และชนิดเดียวที่มีการระบาดภายในฟาร์มคือ มิงค์ ดังนั้น ‘ตลาดสัตว์เลี้ยง’ โดยเฉพาะร้านที่มีการนำเข้าสัตว์มาจากต่างประเทศ ควรมีการเฝ้าระวังอาการของสัตว์และพนักงานภายในร้าน หากมีความผิดปกติควรแจ้งหน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือปศุสัตว์ในพื้นที่

มิงค์และเสื้อขนมิงค์นับ 10 ล้านตัวต้องถูกกำจัด เพราะมีการระบาดจากคนไปสู่มิงค์ และคาดว่ามีการแพร่จากมิงค์กลับมาที่คน ตามมาด้วยการล็อกดาวน์เขตที่มีการระบาดในฟาร์มมิงค์ พร้อมกับข่าวว่าไวรัสกลายพันธุ์จน ‘อาจ’ ทำให้วัคซีนที่กำลังผลิตอยู่ไม่สามารถป้องกันได้ ข่าวนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และมีสัตว์อะไรบ้างที่ติดโควิด-19 ได้

 

ค้างคาว > ? > คน 

ไวรัส SARS-CoV-2 เชื้อก่อโรคโควิด-19 เชื่อว่ามีต้นกำเนิดจากไวรัสใน ‘ค้างคาว’ เพราะมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกันประมาณ 70% แต่จะต้องมีสัตว์ตัวกลางอีก 1 ชนิดก่อนที่จะแพร่ (Spillover) มาสู่คน เหมือนกับไวรัส MERS-CoV ที่ระบาดในประเทศตะวันออกกลางก่อนหน้านี้มี ‘อูฐ’ เป็นตัวกลาง

 

ถึงแม้ว่าจะผ่านมา 10 เดือนแล้วนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในตลาดสดแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จนถึงตอนนี้เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงเลยว่า ‘คน’ ติดมาจาก ‘สัตว์’ ชนิดไหน เพียงแต่จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมมีความใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาใน ‘ลิ่ม’ มากที่สุดถึง 90%

 

นำไปสู่การห้ามค้าขาย ‘สัตว์ป่า’ อย่างเข้มงวดในจีน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจน 

 

การระบาดขยายจากระดับชุมชน เมือง ประเทศ โลก ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อในขณะนี้อยู่ที่ 50 ล้านคน เกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อคนสู่คน (Human-to-Human Transmission) แต่ในระหว่างนี้ก็มีการค้นพบว่าไวรัสสามารถย้อนกลับไป (Spill-Back) ติดเชื้อในสัตว์บางชนิดได้

 

? > คน > ?

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ฮ่องกงรายงานการติดเชื้อใน ‘สุนัข’ เป็นครั้งแรก เป็นสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ซึ่งเจ้าของติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้ว่าในขณะนั้นยังไม่ค่อยมีผู้เชื่อว่าเป็นการติดเชื้อจริง แต่ทางการก็กักตัวสุนัขตัวนั้นจนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อ และยังมีสุนัขอีก 2 ตัว แมว 1 ตัว ถูกกักตัวในช่วงเดียวกัน

 

ปัจจุบันเราทราบแล้วว่าสัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัขและ ‘แมว’ มีโอกาสป่วยเป็นโควิด-19 จากการสัมผัสกับผู้ป่วยได้ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายขาดจากโรค แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องตื่นตระหนกว่าจะติดเชื้อจากสัตว์ 2 ชนิดนี้ เพราะยังไม่มีรายงานว่าสัตว์ที่ป่วยแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้

 

ต่อมาต้นเดือนเมษายน 2563 สหรัฐอเมริการายงานการตรวจพบเชื้อใน ‘เสือ’ และ ‘สิงโต’ หลายตัวในสวนสัตว์แห่งหนึ่งในเมืองนิวยอร์ก ภายหลังจากพบว่าพวกมันมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการติดเชื้อจากเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ แต่สุดท้ายแมวใหญ่ทุกตัวก็หายกลับมาเป็นปกติ 

 

คน > มิงค์ > คน?

ส่วน ‘มิงค์’ เริ่มเป็นข่าวในเดือนมิถุนายน 2563 มีรายงานการติดเชื้อในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ สเปน สหรัฐฯ และล่าสุดเดนมาร์ก

 

สำหรับเนเธอร์แลนด์เริ่มพบการระบาดเมื่อปลายเดือนเมษายน โดยพบว่ามิงค์ตายมากผิดปกติ บางตัวมีน้ำมูก และหายใจลำบาก เมื่อสอบสวนโรคจึงพบว่าพวกมันติดเชื้อ SARS-CoV-2 และพนักงานในฟาร์มป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อน นอกจากนี้ยังพบว่าแมวจรในบริเวณฟาร์มก็ติดเชื้อด้วยเช่นกัน 

 

มิงค์เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับพังพอนหรือ ‘เฟอร์เร็ต’ (Ferret) ซึ่งมีการทดลองพบว่าสามารถติดเชื้อไวรัส SARS-CoV (สายพันธุ์แรกที่ระบาดเมื่อปี 2546) และ SARS-CoV-2 อีกทั้งสัตว์ 2 ชนิดนี้ก็สามารถติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงเห็นว่าการระบาดนี้ ‘ไม่เกินความคาดหมายนัก’

 

ทว่าสิ่งที่หลายประเทศที่มีฟาร์มมิงค์กังวลคือไวรัสที่ติดต่อกันในระหว่างมิงค์จะสามารถย้อนกลับมาติดคนได้หรือไม่? 

 

เนื่องจากพบว่าไวรัส SARS-CoV-2 ในมิงค์มีการกลายพันธุ์เฉลี่ยทุก 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่ใช่ตำแหน่งที่มีความสำคัญหรือทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น ในขณะที่การศึกษาอีกชิ้นระบุว่าเป็นตำแหน่งหนามของไวรัส (Spike) ที่ภูมิคุ้มกันจะเข้าไปจับ ซึ่งถ้าเปลี่ยนแปลงไปมากก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นจาก ‘วัคซีน’ จับกับไวรัสยากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าเชื้อที่พบใน ‘พนักงาน’ ในฟาร์มที่เริ่มป่วยหลังจากการระบาดมีรหัสสารพันธุกรรมตรงกับ ‘ไวรัส’ ที่พบในมิงค์ ทำให้คาดว่าจะมีการแพร่เชื้อจากมิงค์สู่คน (Mink-to-Human Transmission) ได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังต้องรอการยืนยันจากเดนมาร์กและองค์การอนามัยโลกอีกครั้ง

 

ภายในฟาร์ม มิงค์แต่ละตัวจะถูกแยกเลี้ยงในกรง แต่ละกรงมีช่องว่าง ทำให้พวกมันสัมผัสกันโดยตรง และสัมผัสทางอ้อมผ่านการให้อาหารหรือวัสดุรองนอน รวมถึงละอองสารคัดหลั่งในอากาศ ส่วนการควบคุมโรคในสัตว์จะเหมือนกับการควบคุมไข้หวัดนกที่ต้องกำจัดสัตว์ปีกทั้งฝูง ซึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อให้กับฝูงอื่นได้

 

คน > สัตว์เลี้ยง: การป้องกัน

นอกจากนี้ในห้องทดลองก็ยังมี ‘แฮมสเตอร์’ สายพันธุ์ Golden Syrian และ ‘ลิง’ กลุ่มไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์ (Nonhuman-Primate) เช่น ลิงวอก ลิงแสม ที่ใช้จำลองการติดเชื้อในมนุษย์ สามารถติดเชื้อ SARS-CoV-2 และมีอาการป่วยได้ ส่วนหนูไมซ์ (Mice) หมู ไก่ และเป็ด ไม่พบว่ามีการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) แนะนำผู้ที่เลี้ยงสุนัขหรือแมวที่บ้านว่า 1. จูงสุนัขห่างจากผู้อื่น 2 เมตร ส่วนแมว เลี้ยงในบ้านถ้าเป็นไปได้และไม่ให้แมวออกนอกบ้านโดยอิสระ 2. หากเจ้าของป่วย ไม่ควรเล่นกับสัตว์เลี้ยง และฝากให้ญาติคนอื่นดูแลแทนไปก่อน และ 3. อย่าสวมหน้ากากให้สัตว์เลี้ยง เพราะอาจเป็นอันตรายได้

 

โดยสรุปสัตว์นอกห้องทดลองที่มีรายงานติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ได้แก่ สุนัข แมว เสือ สิงโต และชนิดเดียวที่มีการระบาดภายในฟาร์มคือ มิงค์ ดังนั้น ‘ตลาดสัตว์เลี้ยง’ โดยเฉพาะร้านที่มีการนำเข้าสัตว์มาจากต่างประเทศควรมีการเฝ้าระวังอาการของสัตว์และพนักงานภายในร้าน หากมีความผิดปกติควรแจ้งหน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือปศุสัตว์ในพื้นที่

 

ส่วนประชาชนทั่วไปควรดูแลสัตว์เลี้ยงตามระดับความเสี่ยงของการระบาดภายในประเทศ ทั้งนี้องค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising