×

ผลการทดลองเผย พฤติกรรมแยกขยะสร้างได้ หากไม่ขี้เกียจและคิดเยอะ

17.10.2019
  • LOADING...
พฤติกรรมแยกขยะ

จากการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคในประเทศไทย พบว่า บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติกใส (PET) และกระป๋องอะลูมิเนียมมีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพราะไม่มีการแยกขยะอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง

 

ด้วยเหตุนี้ โคคา-โคลา ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับ แสนสิริ และ ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทฤษฎีและการทดลองทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้เพื่อหาต้นตอของปัญหา วิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไขอย่างตรงจุด

 

การทดลองนี้ได้นำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่กำลังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ว่าสามารถมีส่วนช่วยปรับพฤติกรรมของคนเพื่อแก้ปัญหาสังคม และส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในบริบทแบบไทยๆ โดยใช้เทคนิคการ ‘สะกิด’ (Nudge) ซึ่งมีที่มาจากหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในชื่อเดียวกัน ของ ริชาร์ด เอช. เธเลอร์ และ แคสส์ อาร์. ซันสไตน์ 

 

เทคนิคนี้ตั้งอยู่บนการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่หลายครั้งก็เป็นเรื่องของนิสัย และความเคยชินมากกว่าความคิดเชิงเหตุผล และนำความเข้าใจนั้นมาสร้างมาตรการจูงใจแบบง่ายๆ แต่มีประสิทธิผลในการสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ ซึ่งในกรณีนี้คือการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะที่ต้นทาง

 

ผลทดลองพบว่า ปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์เพื่อการแยกขยะที่ต้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น มีสาเหตุหลักสองประการคือ ความ ‘ยุ่ง’ คือคนไม่ต้องการทำอะไรที่สร้างความลำบากให้ตัวเอง และความ ‘ยาก’ จากความซับซ้อนและเข้าใจยากของถังขยะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงส่งผลให้คนไม่แยกขยะ ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมการแยกขยะอย่างจริงจังก็จำเป็นต้องกำจัดมูลเหตุทางพฤติกรรมทั้งสองข้อนี้ 

 

โดยได้นำแนวคิดการ ‘สะกิด’ ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนัก และพฤติกรรมการแยกขยะ อันจะนำไปสู่การสร้างนิสัยการคัดแยกขยะในระยะยาว นอกจากนี้ยังพบว่า การแก้ปัญหา ‘ยุ่ง’ หรือความขี้เกียจในการแยกขยะนั้นสำคัญกว่าการแก้ปัญหา ‘ยาก’ หรือความไม่เข้าใจ 

 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำควรกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการแยกขยะมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนความขี้เกียจให้มาเป็นนิสัย โดยอาศัยกลไกทางสังคม ทำให้เห็นว่าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะ โดยเฉพาะคนในชุมชนเดียวกัน อันจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

การทดลองทฤษฎีการสะกิดครั้งนี้ดำเนินการครอบคลุมคอนโดมิเนียม 3 โครงการที่ T77 Community ได้แก่ THE BASE Park West, hasu HAUS และ mori HAUS รวม 246 ห้องชุด เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2562) สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแยกขยะที่ได้จากผลการทดลองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนี้ ประกอบไปด้วย การจัดหาถังขยะให้สอดคล้องกับประเภทขยะ การออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับระบบความคิดของคน รวมถึงการสื่อสารโดยใช้รูปภาพอธิบายที่ไม่ซับซ้อน และมีข้อความสั้นๆ กำกับ ร่วมกับการแจกโบรชัวร์ให้ความรู้ในการแยกขยะด้วยการสอดไว้ตามห้อง หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ขยะ’ โดยอาจใช้คำว่า เศษอาหาร หรือ รีไซเคิลแทน เป็นต้น

 

“เราหวังว่าผลการทดลองนี้จะทำให้ทุกคนเห็นว่าเราสามารถสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่ และช่วยสะกิดให้คนไทยหันมาแยกขยะก่อนทิ้งกันให้มากขึ้น” นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวทิ้งทาย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising