×

คู่มือเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้ ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี

20.10.2020
  • LOADING...
คู่มือ เลือกตั้งสหรัฐฯ

การเลือกตั้งสหรัฐฯ กำลังจะเปิดฉากขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ แน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกจับตา เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบของประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งที่มีจุดเด่นไม่เหมือนใครแล้ว สหรัฐฯ ยังมีบทบาททางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ตัวผู้นำหรือประธานาธิบดีจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงทั่วโลกตลอดช่วง 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง

 

THE STANDARD จัดทำคู่มือเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้ ครบจบในที่เดียว

 

วันเลือกตั้ง:

 

3 พฤศจิกายน 2020

 

กฎหมายสหรัฐฯ กำหนดให้วันเลือกตั้งทั่วไปตรงกับวันอังคารถัดจากวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ 4 ปี หรือก็คือวันอังคารแรกหลังวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งวันเลือกตั้งเร็วที่สุดที่เป็นไปได้คือ 2 พฤศจิกายน และช้าที่สุดคือ 8 พฤศจิกายน ส่วนการเลือกตั้งปีนี้ตรงกับวันที่ 3 พฤศจิกายน   

 

 

รูปแบบการลงคะแนนเสียง

 

 

เนื่องจากเกิดโรคระบาดขึ้น ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์มากขึ้น ขณะที่รัฐออริกอนและวอชิงตันจะส่งบัตรเลือกตั้งไปให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงถึงบ้านก่อนการเลือกตั้ง และดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดผ่านทางไปรษณีย์

 

เวลาเปิด-ปิดคูหา

เวลาเปิดและปิดการลงคะแนนเสียงในคูหาจะแตกต่างกันในแต่ละรัฐ นอกจากนี้บางเมืองหรือบางเคาน์ตีอาจเปิด-ปิดในเวลาต่างกันด้วย เช่น รัฐนิวแฮมป์เชียร์

 

หน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่เปิดในเวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และปิดในเวลา 20.00 น. ขณะที่รัฐเวอร์มอนต์เปิดให้คนลงคะแนนโหวตได้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. โดยหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศจะปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. ของคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น (สำหรับรัฐออริกอนจะโหวตผ่านบัตรเลือกตั้งที่ส่งทางไปรษณีย์ทั้งหมด)

 

เมื่อเทียบตามโซนเวลาแล้ว รัฐที่เปิดคูหาเป็นรัฐแรกๆ คือ รัฐอินดีแอนาและเคนทักกี และรัฐที่ปิดคูหาเป็นรัฐสุดท้ายคือ ฮาวาย (ปิดในเวลา 19.00 น. ซึ่งช้ากว่าเวลานิวยอร์ก 6 ชั่วโมง หรือตรงกับช่วงเที่ยงวันที่ 4 พฤศจิกายน ตามเวลาไทย)

 

เส้นทางสู่ทำเนียบขาว 

ในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยปกติแล้วฤดูกาลเลือกตั้งจะเริ่มต้นขึ้นจากการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน เพื่อเฟ้นหาผู้สมัครมาเป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดี โดยมี 2 รูปแบบหลักๆ คือ คอคัส (Caucus) และ ไพรมารี (Primary) ซึ่งแต่ละรัฐจะใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามที่ยึดถือปฏิบัติมานาน 

 

ระบบคอคัส คือการประชุมของบรรดาแกนนำพรรคหรือสมาชิกพรรคตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการนัดหมาย ซึ่งจะเป็นโรงเรียน หอประชุม โรงยิม ร้านอาหาร หรือสถานที่สาธารณะใดก็ได้ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับตัวเลือกผู้สมัครและนโยบายต่างๆ ก่อนจะมีการลงคะแนน ซึ่งการโหวตอาจใช้วิธีหย่อนบัตรลงในหีบหรือยกมือโหวตแบบเปิดเผย โดยผู้มีสิทธิ์โหวตจะต้องเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น

 

มลรัฐที่ใช้ระบบคอคัสมีน้อยกว่าแบบไพรมารีมาก ประกอบด้วย รัฐไอโอวา, เนวาดา, นอร์ทดาโคตา และไวโอมิง (เฉพาะเดโมแครต) 

 

ส่วน ระบบไพรมารี เป็นการเลือกตั้งขั้นต้นที่นิยมใช้ในหลายรัฐของประเทศ เป็นการลงคะแนนหรือกาชื่อผู้สมัครในคูหาเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกแคนดิเดตของพรรคโดยตรง ซึ่งบางรัฐกำหนดให้ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบไพรมารีของพรรคนั้นๆ ได้ แต่บางรัฐก็อนุญาตให้ร่วมโหวตได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคมาก่อน

 

ส่วนสถานที่จัดการเลือกตั้งไพรมารีนั้นสามารถเป็นได้ทั้งโรงเรียน ห้องสมุด หรือสถานที่อื่นๆ ตามแต่จะกำหนด

 

รัฐที่ใช้ระบบไพรมารี ได้แก่ อะแลสกา, แอละแบมา, อาร์คันซอ, แอริโซนา, แคลิฟอร์เนีย, คอนเนตทิคัต, โคโลราโด, เดลาแวร์, ฟลอริดา, จอร์เจีย, อิลลินอยส์, ฮาวาย, ไอดาโฮ, อินเดียนา, แคนซัส, เคนทักกี, ลุยเซียนา, เมน, มิชิแกน, แมริแลนด์, แมสซาชูเซตส์, มินนิโซตา, มิสซิสซิปปี, มิสซูรี, มอนแทนา,​ เพนซิลเวเนีย, โรดไอแลนด์, เนแบรสกา, นิวแฮมป์เชียร์, นิวยอร์ก, นิวเม็กซิโก, นิวเจอร์ซีย์, นอร์ทแคโรไลนา, โอไฮโอ, โอคลาโฮมา, ออริกอน, เซาท์แคโรไลนา, เซาท์ดาโคตา, เทนเนสซี, เท็กซัส, ยูทาห์, เวอร์มอนต์, เวอร์จิเนีย, วอชิงตัน, เวสต์เวอร์จิเนีย, วิสคอนซิน และวอชิงตัน ดี.ซี.

 

เมื่อแข่งขันในศึกเลือกตั้งขั้นต้นครบทุกรัฐแล้ว แต่ละพรรคจะไปโหวตรับรองแคนดิเดตประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในที่ประชุมใหญ่ของพรรค (Convention) จากนั้นผู้สมัครจะเริ่มแคมเปญหาเสียงในนามตัวแทนพรรคต่อไป 

 

แต่เนื่องจากปีนี้มีสถานการณ์โควิด-19 หลายรัฐจึงรวบรัดโดยยกเลิกการเลือกตั้งขั้นต้นไป 

 

หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งแล้ว จะมีการนับคะแนนและประกาศผลต่อไป จากนั้นว่าที่ประธานาธิบดีจะมีเวลาเตรียมตัวก่อนเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม

 

ตามปกติพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีจะจัดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม ของทุกๆ 4 ปีที่อาคารรัฐสภา หรือ US Capitol กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ถ้าวันนั้นตรงกับวันอาทิตย์ จะเลื่อนไปเป็นวันที่ 21 มกราคม

 

 

คุณสมบัติผู้สมัครประธานาธิบดี:

 

 

พรรคการเมือง

สหรัฐฯ มีพรรคการเมืองมากกว่า 2 พรรค แต่รีพับลิกันและเดโมแครตเป็นพรรคใหญ่ที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี 1852 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีทุกคนล้วนมาจากเดโมแครตหรือรีพับลิกัน นอกจากนี้สมาชิกของทั้งสองพรรคยังคุมเก้าอี้ในสภาคองเกรส, ผู้ว่าการรัฐ และสภาระดับรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วย

 

 

ในประวัติศาสตร์ มีประธานาธิบดีที่มาจากรีพับลิกัน 19 คน และเดโมแครต 14 คน

 

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง:

 

 

ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดี คณะผู้เลือกตั้งสำคัญอย่างไร

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะตัดสินชัยชนะกันผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ไม่ได้ตัดสินด้วยคะแนนดิบทั่วประเทศ (Popular Vote) หรือการโหวตเลือกโดยตรงของประชาชนเหมือนหลายประเทศ โดยรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดไว้ว่าคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละมลรัฐจะมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส. 435 คน + วอชิงตัน ดี.ซี. 3 คน) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว. 100 คน) ตามสัดส่วนที่นั่งของรัฐน้ันๆ ในสภาคองเกรส ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งหมด 538 คน  

 

ผู้สมัครประธานาธิบดีที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละมลรัฐ จะได้คะแนนเสียงจากผู้แทนผู้เลือกตั้งไปทั้งรัฐ หรือที่เรียกว่า Winner Takes All (ใช้กับ 48 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐเมนกับเนแบรสกา จะให้แก่ผู้ชนะในเขตเลือกตั้ง ส.ส. ในแต่ละเขต) ยกตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีจำนวนผู้แทนคณะเลือกตั้งมากที่สุดที่ 55 คน เพราะเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุด (ส.ส. 53 คน + ส.ว. 2 คน) หากใครชนะในรัฐนี้ได้ก็จะได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด 55 เสียง

 

การที่ผู้สมัครจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้ จะต้องได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) อย่างน้อย 270 เสียง ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญคือการคว้าชัยชนะในรัฐที่เป็น Swing State เพราะอาจตัดสินผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งได้ 

 

 

จำนวนผู้แทนคณะ ผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ เลือกตั้งสหรัฐฯ

 

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 เลือกใครบ้าง?

 

  • ประธานาธิบดี: เป็นการชิงชัยระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ โจ ไบเดน จากเดโมแครต โดยชาวอเมริกันจะไม่ได้ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่จะเลือกผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งแต่ละรัฐจะมีจำนวนผู้แทนผู้เลือกตั้งไม่เท่ากันตามจำนวนของ ส.ส. บวก ส.ว. ในสภาคองเกรส ซึ่งคำนวณตามสัดส่วนประชากรในแต่ละมลรัฐ โดยผู้สมัครประธานาธิบดีที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดในมลรัฐนั้นๆ จะได้จำนวนผู้แทนผู้เลือกตั้งไปทั้งรัฐ และคณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้จะไปโหวตเลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่งตามเจตนารมณ์ของประชาชนรัฐนั้นๆ 

 

หากทรัมป์ชนะ จะได้เป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2 แต่หากไบเดนชนะ จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46

 

 

  • รองประธานาธิบดี: แคนดิเดตรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2020 คือ ไมค์ เพนซ์ (รีพับลิกัน) และ คามาลา แฮร์ริส (เดโมแครต) ซึ่งหากทรัมป์ชนะ เพนซ์จะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีกสมัย แต่ถ้าไบเดนชนะ แฮร์ริสจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ

 

 

  • วุฒิสภา: สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ซึ่งทุกๆ 2 ปี (รวมการเลือกตั้งกลางเทอมและการเลือกตั้งประธานาธิบดี) จะมีการเลือก ส.ว. ที่หมดวาระ 1 ใน 3 ของสภา

 

ปี 2020 จะมีการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งหมด 35 ที่นั่งจาก 34 มลรัฐ โดยสาเหตุที่ต้องเลือกมากกว่า 1 ใน 3 ของสภาเป็นเพราะมีการเลือกตั้งซ่อมด้วย ซึ่ง 2 ที่นั่งที่เพิ่มเข้ามาคือที่นั่งในมลรัฐแอริโซนา เพื่อทดแทนอดีต ส.ว. จอห์น แมคเคน ที่เสียชีวิตในปี 2018 และที่นั่งในมลรัฐจอร์เจีย เพื่อทดแทนอดีต ส.ว. จอห์นนี ไอแซคสัน ที่ลาออกเมื่อปี 2019 ด้วยปัญหาสุขภาพ

 

ก่อนการเลือกตั้ง พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาที่จำนวน 53 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคเดโมแครตมีอยู่ 47 ที่นั่ง (รวมผู้สมัครอิสระที่สนับสนุนฝั่งเดโมแครต 2 คน) ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เดโมแครตจำเป็นต้องชิงที่นั่งคืนมาจากรีพับลิกันให้ได้อย่างน้อย 3 ที่นั่ง (ในกรณีที่ไบเดนชนะ) หรือ 4 ที่นั่ง ในกรณีที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เพราะรองประธานาธิบดีจะได้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ซึ่งมีสิทธิ์โหวตชี้ขาดในการพิจารณากฎหมายและนโยบาย กรณีที่เสียงในสภาเท่ากัน

 

 

  • สภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 435 คน จะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี (ตรงกับวันเลือกตั้งกลางเทอมของประธานาธิบดีและการเลือกตั้งประธานาธิบดี) 

 

ก่อนการเลือกตั้ง พรรคเดโมแครตครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรที่จำนวน 232 ที่นั่ง ในขณะที่รีพับลิกันมีอยู่ 197 ที่นั่ง ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ รีพับลิกันจำเป็นต้องชิงที่นั่งจากเดโมแครตให้ได้เพิ่มอย่างน้อย 21 ที่นั่ง เพื่อให้ได้อย่างน้อย 218 ที่นั่ง หากต้องการกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่าง

 

 

  • ผู้ว่าการรัฐ: สหรัฐฯ ประกอบด้วย 50 มลรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐด้วย ซึ่งผู้ว่าการรัฐส่วนใหญ่จะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ยกเว้นรัฐนิวแฮมป์เชียร์และเวอร์มอนต์ที่มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี  

 

 

โครงสร้างสภาคองเกรส

  • วุฒิสภา

วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย ส.ว. ทั้งหมด 100 คน โดยที่แต่ละมลรัฐมีที่นั่งในวุฒิสภาเท่ากันคือมลรัฐละ 2 คน โดยไม่สนว่ามลรัฐนั้นจะมีประชากรมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มลรัฐขนาดเล็กมีสิทธิ์มีเสียงในสภาสูงพอๆ กับมลรัฐขนาดใหญ่ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างของสภาสูงไว้แบบนี้ก็เพื่อปกป้องมลรัฐขนาดเล็กไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิจากมลรัฐขนาดใหญ่ หลังจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้มลรัฐขนาดเล็กมีสิทธิ์มีเสียงที่น้อยกว่าในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว

 

 

การเลือกตั้ง ส.ว. นั้นจะเป็นการเลือกตั้งในระดับมลรัฐ กล่าวคือทั้งมลรัฐถือเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง (ไม่แยกลงเป็นเขตย่อยๆ แบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี วาระดำรงตำแหน่งของ ส.ว. นั้นอยู่ที่ 6 ปี และทุกๆ 2 ปีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 จะครบวาระและต้องมีการเลือกตั้งเพื่อหาผู้มาดำรงตำแหน่งในวาระถัดไป

 

  • สภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย ส.ส. ทั้งหมด 435 คน โดยที่แต่ละมลรัฐจะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไม่เท่ากัน มลรัฐที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีเก้าอี้ ส.ส. จำนวนมาก (เช่น แคลิฟอร์เนียมีถึง 53 ที่นั่ง) มลรัฐที่มีประชากรน้อยก็จะมีเก้าอี้ ส.ส. น้อย (มลรัฐขนาดเล็กอย่างไวโอมิงและเวอร์มอนต์มี ส.ส. แค่คนเดียว) การจัดการเลือกตั้งเป็นไปในลักษณะเขตเดียวเบอร์เดียว และไม่มี ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ การโหวตในสภาผู้แทนราษฎรใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (อย่างน้อย 218 เสียง) เพื่อผ่านร่างกฎหมายโดยที่ไม่มีกฎ Filibuster แบบของวุฒิสภา

 

 

การครองเสียงข้างมากให้ได้ในทั้งสองสภามีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน เพราะการที่พรรคจะผ่านร่างกฎหมายเพื่อดำเนินนโยบายของพรรคให้ได้นั้น ร่างกฎหมายจำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา

นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรยังเป็นสภาหลักที่มีอำนาจในการควบคุมงบประมาณแผ่นดิน (The Power of the Purse) เพื่ออนุมัติว่าหน่วยงานและโครงการใดจะได้งบประมาณจากรัฐบาลกลาง ดังนั้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกประธานาธิบดี

 

รัฐ Swing State คืออะไร มีรัฐไหนบ้าง
รัฐที่เรียกว่า Swing States เป็นสมรภูมิการเลือกตั้งที่น่าจับตาในการเลือกตั้งทุกครั้ง เนื่องจากเป็นรัฐที่คาดเดาได้ยากว่าจะเลือกเดโมแครตหรือรีพับลิกัน เพราะทั้งสองพรรคได้รับคะแนนสนับสนุนสูสี และแต่ละพรรคก็สลับกันแพ้ชนะในรัฐนั้นๆ รัฐ Swing State อาจเรียกกันว่ารัฐสีม่วง (ไม่ฟ้าแบบเดโมแครต หรือไม่แดงแบบรีพับลิกัน)

 

รัฐที่จัดเป็น Swing State หรือเป็นสมรภูมิที่ดุเดือด (Battleground States) ในการเลือกตั้งปี 2020 ประกอบด้วย แอริโซนา, นอร์ทแคโรไลนา, ฟลอริดา, เพนซิลเวเนีย, มิชิแกน, นิวแฮมป์เชียร์ และวิสคอนซิน 

 

นอกจากรัฐข้างต้นแล้ว สื่อบางสำนักยังยกให้ ไอโอวา, จอร์เจีย, โอไฮโอ และเนวาดา เป็น Swing States หรือ Battleground States ในการเลือกตั้งรอบนี้ด้วย

 

รู้ผลเลือกตั้งเมื่อไร
ตามปกติ เราจะทราบผลว่าใครเป็นผู้ชนะในคืนวันเลือกตั้ง แต่เนื่องจากปีนี้เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากโรคระบาดขึ้น ซึ่งทำให้คนอเมริกันใช้สิทธิ์ลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์มากกว่าครั้งก่อนๆ ซึ่งการนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งที่ส่งทางไปรษณีย์นั้นมีความซับซ้อนกว่าบัตรเลือกตั้งที่หย่อนในคูหา เพราะต้องมีขั้นตอนการเปิดซอง การตรวจสอบบัตรเลือกตั้งว่าเป็นของจริง และการตรวจสอบลายเซ็นของคนในบัตรว่าตรงกับที่เคยเซ็นไว้เพื่อระบุตัวตน เป็นต้น

นอกจากนี้การนับคะแนนบัตรจำนวนหนึ่งอาจเกิดขึ้นหลังวันที่ 3 พฤศจิกายน เพราะในหลายๆ มลรัฐมีการออกกฎหมายที่ระบุว่าบัตรเลือกตั้งที่ผ่านการประทับตราไปรษณีย์ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนจะต้องนับคะแนนด้วย แม้ว่าบุรุษไปรษณีย์จะนำบัตรเลือกตั้งมาส่งให้สำนักงานเลือกตั้งหลังวันที่ 3 พฤศจิกายนก็ตาม

 

โดยส่วนใหญ่หน่วยเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนนที่ส่งทางไปรษณีย์ภายใน 2-3 วันนับจากวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยมีข้อยกเว้นบางประการ ซึ่งรัฐสำคัญบางรัฐอนุโลมให้ส่งมาช้ากว่านั้นได้ เช่น เพนซิลเวเนียและนอร์ทแคโรไลนา (ภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน), มินนิโซตาและเนวาดา (ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน) และโอไฮโอ (ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน)

 

แต่ละรัฐจะเริ่มรับรองผลเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งอาจดีเลย์ได้หากมีการนับคะแนนใหม่ โดยทุกรัฐยกเว้นแคลิฟอร์เนียต้องรับรองผลภายในวันที่ 8 ธันวาคม ซึ่งหมายความว่าหากมีการทักท้วงหรือนับคะแนนใหม่ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาดังกล่าว

 

จากนั้นคณะผู้เลือกตั้งจะประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการที่รัฐของตนในวันที่ 14 ธันวาคม ก่อนที่จะส่งบัตรลงคะแนนไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

มีความเป็นไปได้ว่าสองพรรคอาจต่อสู้กันในชั้นศาลจนยืดเยื้อ โดยทรัมป์ประกาศก่อนหน้านี้แล้วว่าเขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เนื่องจากเขากล่าวหาว่าการเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง

 

ผลการเลือกตั้งจะออกหน้าไหน ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ระหว่าง ทรัมป์ หรือ ไบเดน หรือว่าจะยืดเยื้อจนให้ศาลตัดสิน อีกไม่นานเราก็จะได้ทราบกัน

 

 

ภาพประกอบพิชามญชุ์ วรรณสาร, พรวลี จ้วงพุฒซา, อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising