×

กูรูประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3 ส่อโตต่ำคาด หลังเผชิญสารพัดปัจจัยรุมเร้า

28.10.2021
  • LOADING...
US economy

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักที่ออกมาประเมินสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมา พบว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า เพราะมีปัจจัยท้าทายที่ต้องเผชิญมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และปัญหาขาดสินค้าหรือซัพพลายจากระบบขนส่งที่ติดขัด

 

ทั้งนี้ Refinitiv เผยการสำรวจความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3 จะเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยคาดว่าในไตรมาส 3 จะมีอัตราเติบโตรายปีอยู่ที่เพียง 2.7% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการเติบโตในไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 6.7%

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปในไตรมาส 3 ปี 2019 ก่อนหน้าการระบาดของโควิด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.8% ดังนั้นการเติบโตที่ 2.7% จึงไม่ใช่เรื่องที่ย่ำแย่แต่อย่างใด เพียงแต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ การเติบโตดังกล่าวค่อนข้างเป็นข่าวร้าย หรือ Bad News สำหรับมาตรฐานการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก

 

ขณะเดียวกันก็ถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า แผนการบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เพื่อพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาส่งสัญญาณฟื้นตัวทางบวกได้ ‘แรง’ กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยเร่งด่วนแรกสุดก็คือ การแก้ปัญหา ‘ขาดแคลน’ (Shortage) ที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ไล่เรียงตั้งแต่โรงงานผลิตที่ขาดแคลนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในการผลิต ฟากผู้บริโภคก็ไม่สามารถรับสินค้าที่สั่งซื้อไว้เพราะติดค้างอยู่ในคาร์โกของเรือบรรทุกสินค้าที่ยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ และสถานการณ์ขาดแคลนยิ่งรุนแรงหนัก เมื่อโรงงานผลิตหลายแห่งต้องลดกำลังการผลิตเพราะเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานซ้ำเติมเข้าไปอีก 

 

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ภาวะห่วงโซ่การผลิตติดขัด ไม่ถือเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงเท่ากับภาวะขาดแคลนแรงงาน เพราะปัจจัยด้านซัพพลายเชนสามารถคลี่คลายได้โดยอาศัยระยะเวลาเข้าช่วย แต่ในส่วนของปัญหาขาดแคลนแรงงานจำเป็นต้องได้รับการจัดการวางแผนและสนับสนุนส่วนหนึ่งจากภาครัฐอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกนโยบายรับประกันความปลอดภัยของแรงงานจากโควิด และการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์นายจ้าง ตลอดจนเร่งออกนโยบายจูงใจระยะสั้น ซึ่งหมายรวมถึงการสนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อช่วยเติมตำแหน่งงานในภาคบริการ 

 

นอกจากนี้ ในฝั่งของผู้บริโภค การขึ้นค่าแรงย่อมเป็นผลดี แต่ปัญหาการระบาดของโควิดที่ยังวนเวียนไม่จบไม่สิ้น บวกกับภาวะเงินเฟ้อที่ดันสินค้าราคาแพงขึ้น กลับสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ตัดสินใจชะลอการใช้จ่าย โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5.4% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 13 ปี 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดหวังว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะกลับมาฟื้นตัวชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายหาซื้อสินค้ารับช่วงเทศกาลส่งท้ายปีที่มีการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย รวมถึงมหกรรมลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าและเทศกาลคริสต์มาส 

 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งออกโรงเตือนว่า ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่น่ากังวลสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่เพียงอย่างเดียว หลังพบสัญญาณฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และไม่มีทีท่าจะหยุดขยับปรับราคาขึ้น 

 

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาบ้านในสหรัฐฯ สูงขึ้นทุบสถิติเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งช่วยให้ตลาดบ้านได้รับความสนใจจากนักลงทุน แต่ก็ทำให้นักวิเคราะห์อดกังวลไม่ได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวดันคล้ายคลึงกับความเคลื่อนไหวของตลาดบ้านสหรัฐฯ ในช่วงปี 2004 ถึงต้นปี 2007 ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกและทำให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ 

 

แม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่า ราคาบ้านในปัจจุบันจะมีสัญญาณฟองสบู่ให้เห็น แต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นซ้ำรอยฟองสบู่แตกในปี 2007 เพราะสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงภาครัฐมีมาตรการปล่อยกู้และจัดการกับหนี้ที่เข้มงวดมากกว่าเดิม อีกทั้งซัพพลายและดีมานด์ในตลาดบ้านขณะนี้ยังดีอยู่ คือค่อนข้างสมดุลสอดคล้องกัน โดยประเด็นเดียวที่ทำให้น่าห่วงก็คือไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำสิ้นสุดลง 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising