×

อันซีนนราธิวาส 18 พิกัด ฉันรักนราฯ (ตอนที่ 2)

26.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • คอกาแฟต้องแวะร้านกาแฟซาร์ฟิ ที่อำเภอตากใบ เพราะเป็นร้านกาแฟแบบจริงจังที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาในจังหวัดนราธิวาส ในขณะที่อยู่ทางใต้สุดของประเทศ แต่ทางร้านกลับเลือกใช้เมล็ดกาแฟจากดอยช้างในจังหวัดเชียงรายซึ่งอยู่ทางเหนือสุด ด้วยเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ เมนูกาแฟบางอย่าง ร้านในเมืองกรุงหลายแห่งยังไม่มีให้ชิมเลยด้วยซ้ำ
  • สะพานคอย 100 ปี สะพานไม้ยาว 345 เมตร ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาวที่อยู่กลางแม่น้ำ ด้านตะวันออกของเกาะติดกับฝั่งทะเลอ่าวไทย มีหาดทรายละเอียดสีน้ำตาล บรรยากาศเงียบสงบ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่ประกอบอาชีพประมงและสวนมะพร้าว เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกดีเหลือเกินที่ได้มาเยือนจังหวัดปลายด้ามขวานแห่งนี้

เมื่อตอนที่แล้ว (อ่านบทความ: อันซีนนราธิวาส 18 พิกัด ฉันรักนราฯ (ตอนที่ 1) 9 พิกัดแรก เราพาไปตระเวนยังตัวเมืองและละแวกใกล้เคียงรอบๆ จังหวัดนราธิวาสกันไปแล้ว มาคราวนี้การพาเที่ยวจังหวัดชายแดนใต้ที่ใครหลายคนคิดว่าน่ากลัวยังไม่จบ

 

9 พิกัดหลังจากนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการพาออกไปเที่ยวยังอำเภอใกล้เคียง บางพื้นที่เป็นพื้นที่สีแดงของทางการอย่างอำเภอตากใบ และอำเภอบาเจาะ ที่เราอาจพอจะคุ้นหูหรือได้ยินชื่อเวลาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งจริงอยู่ว่าตอนที่ก้าวเท้าเข้าไปก็รู้สึกหวาดๆ ให้ตื่นเต้น แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีอะไร และทำให้เรารู้ว่าเมืองนราฯ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และมีดีอยู่มากจริงๆ

 

 

10. มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ

แม้จะมีฉายาที่เรียกกันจนติดปากว่า ‘มัสยิด 300 ปี’ แต่มัสยิดเก่าแก่ แห่งบ้านตะโละมาเนาะแห่งนี้เก่าแก่กว่านั้นมาก เพราะมีประวัติความเป็นมาถึงเกือบจะครบ 400 ปีในไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้ว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2167 สมัยเริ่มแรกหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะเด่นของมัสยิดโบราณแห่งนี้ที่แตกต่างจากมัสยิดที่เราเห็นกันทั่วไปคือการผสมผสานทางวัฒนธรรม สร้างจากไม้ตะเคียนทั้งหลัง เป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน โดยใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงไทยประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู เด่นที่สุดคือหลังคาสองชั้น และหออะซาน (หอประกาศละหมาด) มีลักษณะเป็นเก๋งจีน ด้วยความที่เป็นมัสยิดเก่าแก่ในชุมชน ด้านข้างมัสยิดจึงมีกุโบ หรือสุสานของชาวมุสลิมตั้งอยู่ด้วย  

 

 

ปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ สามารถเข้าชมได้ แต่ต้องขออนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านเสียก่อนจึงจะเข้าไปชมด้านในได้ ภายในมัสยิดมีลวดลายแกะสลักและจารึกอักษรภาษาอาหรับ ยามที่เราเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้เป็นช่วงที่มีการทำละหมาดพอดี จึงได้เห็นความศรัทธาของคนในพื้นที่ที่มีต่อศาสนาอิสลาม น่าชื่นชมยิ่งนัก ที่สำคัญ น่าทึ่งตรงที่ว่าอาคารเก่าแก่ซึ่งทำจากไม้กลับสามารถอยู่ยั้งยืนยงมาได้หลายร้อยปีขนาดนี้ นั่นคงเป็นเพราะแรงศรัทธาของคนในชุมชนแห่งนี้นั่นเอง

 

 

Open: ทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น.

Address: บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ ห่างจากตัวจังหวัด นราธิวาส 25 กิโลเมตร

Map: 

 

 

——————

 

 

11. หมู่บ้านชาวประมงบ้านทอน แหล่งทำเรือกอและ

หมู่บ้านชาวประมงไทยมุสลิมในตำบลโคกเคียนแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเรือกอและมานมนาน เรือกอและเป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็กในจังหวัดชายแดนใต้ตอนล่าง มีความยาวตั้งแต่ 20, 22 และ 25 ศอก มีลักษณะเด่นอันเป็นเอกลักษณ์คือส่วนหัวและท้ายเรือที่อยู่สูงขึ้นจากลำเรือ ลวดลายบนลำเรือกอและเป็นการผสมผสานกันระหว่างลายมลายู ลายชวา และลายไทย โดยมีสัดส่วนของลายไทยอยู่มากที่สุด เช่น ลายกนก ลายดอกบัวคว่ำ ลายหัวพญานาค ลายหนุมานเหินเวหา ลายหัวนกในวรรณคดี เช่น บุหรงซีงอ หรือสิงหปักษี  (ตัวเป็นสิงห์หรือราชสีห์ หัวเป็นนกคาบปลาไว้ที่หัวเรือ) เชื่อว่ามีฤทธิ์มากและดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวเรือกอและมาแต่โบร่ำโบราณ

 

 

เมื่อมาที่หมู่บ้านทอนแห่งนี้ เราจะได้เห็นกระบวนการทำเรือกอและที่ชาวบ้านทำค้างไว้อยู่ รวมถึงเรือที่ทำเสร็จแล้วจอดเรียงรายอยู่ริมชายหาด ได้เห็นบรรยากาศของหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งบ้างก็กำลังจัดการนำปลาที่จับมาได้มาทำกระบวนการต้มแล้วตากแดด ทำเป็นปลาแห้งเก็บไว้ขายหรือบริโภคกันเอง ริมชายหาดของหมู่บ้านทอนยังมีที่พักเป็นรีสอร์ตเล็กๆ เหมาะสำหรับมาพักตากอากาศและชมวิถีชีวิตในชุมชน ก่อนกลับถ้าอยากได้เรือกอและจำลองเอาไว้เป็นที่ระลึกก็มีจำหน่าย เพราะเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงอีกอย่างของชาวบ้าน ราคามีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นตามความประณีต  

 

 

Address: ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

Map: 

 

 

——————

 

 

12. น้ำตกปาโจ

น้ำตกขนาดใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของทั้งนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ภูมิประเทศของทิวเขาบูโดเป็นแบบป่าดิบชื้นเขตร้อน มีความชื้นสูง เพราะฝนตกตลอดทั้งปี มีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้ ที่นี่มีพันธุ์ไม้เด่นคือ ‘ย่านดาโอ๊ะ’ ซึ่งได้รับการค้นพบครั้งแรกในโลกที่อุทยานนี้ ไม้เลื้อยชนิดนี้มีใบสีทองรูปร่างคล้ายใบชงโค แต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีขนเล็กๆ ปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ เป็นใบไม้หายากซึ่งจะหาชมได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น

 

 

นำ้ตกปาโจอยู่ในบริเวณบ้านปาโจ (ปาโจ ในภาษามลายู แปลว่า น้ำตก) เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีทั้งหมด 4 ชั้น ชั้นที่สวยงามที่สุดคือชั้นที่ 1 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด สายน้ำไหลลงมาจากลานหน้าผาสูง 60 เมตรลงสู่แอ่งน้ำขนาดใหญ่ ยิ่งในฤดูฝนที่น้ำหลากจะยิ่งสวยงามมาก เรียกได้ว่าเป็นนำ้ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ว่าได้

 

 

นอกจากความสวยงามตามธรรมชาติแล้วยังมีเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะพระเจ้าแผ่นดินและเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์เคยเสด็จประพาส รวมไปถึงลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยสิริกิติ์สีทอง ที่ทรงจารึกเอาไว้บนบนก้อนหินใหญ่ตรงหน้าผาน้ำตก เมื่อครั้งเสด็จฯ มาเยือนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2502

 

 

Address: สำนักงานอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

Contact: 0 7353 6076

Map: 

 


 

——————

 

 

13. วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย

เมื่อย่างเข้าสู่อำเภอตากใบซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงแล้ว เราก็อดไม่ได้จริงๆ ที่จะรู้สึกหวาดๆ ด้วยที่ผ่านมาเวลาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบผ่านสื่อก็จำชื่อของตากใบได้แม่น ยิ่งบรรยากาศอึมครึมกึ่งฝนในวันที่ไปเยือน ยิ่งทำให้บรรยากาศของที่นี่ชวนจินตนาการถึงเรื่องร้ายเข้าไปใหญ่ รถของเราแล่นผ่านทางหลวงซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยตั้งด่านตรวจตราเป็นระยะ จนถึงวัดชลธาราสิงเห ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตากใบตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ ผู้ก่อสร้างวัดแห่งนี้ได้ไปขอที่ดินสำหรับสร้างวัดมาจากเจ้าพระยากลันตัน เมื่อ พ.ศ.​ 2416 ซึ่งสมัยนั้นพื้นที่ตากใบยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐกลันตัน

 

 

สาเหตุที่วัดนี้มีสมญานามว่า ‘วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย’ ก็เพราะมีส่วนเกี่ยวพันกับกรณีแบ่งแยกดินแดนสยามกับมลายู ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้วในขณะนั้น (สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2452) โดยฝ่ายสยามได้ยกเอาเรื่องของศาสนา วัด และศิลปะในวัดมาเป็นหลักฐานในการต่อรองปันเขตดินแดน โดยนำเอาแม่น้ำโก-ลกบริเวณที่ไหลผ่านแม่น้ำตากใบเป็นเส้นแบ่งเขต วัดนี้จึงรู้จักกันในนาม ‘วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย’

 

 

นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งซึ่งทำให้นึกทึ่งกับการที่คนไทยในสมัยนั้นต้องเผชิญและต่อสู้กับภัยการล่าอาณานิคมแล้ว สิ่งที่น่าชมภายในวัดนี้ ได้แก่ ภาพจิตรกรรมพุทธประวัติบนฝาผนังของโบสถ์ที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณวัดที่อยู่ติดแม่น้ำยังมีทางเดินและศาลาสำหรับนั่งพักหย่อนใจอยู่หลายหลัง จึงเป็นที่ซึ่งคนในพื้นที่ชอบมานั่งพักรับลมเย็นๆ

 

Address: ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

Contact: 0 7358 1238

Map:

 

 

——————

 

 

14. Safir Cafe

สำหรับคอกาแฟ ร้านกาแฟซาร์ฟิ อำเภอตากใบ คือจุดแวะพักที่คุณต้องหยุดแวะ เพราะเป็นร้านกาแฟแบบจริงจังที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาในจังหวัดนราธิวาส ร้านกาแฟนี้ดำเนินการโดยบาริสต้าหนุ่มน้อย ฟุรกอน หะยีวาเงาะ และครอบครัวของเขา ฟุรกอนบอกว่าเขาชอบและหลงใหลในกาแฟดีๆ และอยากจะให้มีร้านแบบนี้ที่บ้านของเขาบ้าง ในขณะที่อยู่ในจังหวัดทางใต้สุดของไทย แต่ร้านกาแฟซาร์ฟิกลับเลือกใช้เมล็ดกาแฟจากดอยช้างในจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่เหนือสุดของไทย ด้วยเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ

 

 

ร้านกาแฟซาร์ฟิเต็มไปด้วยเมนูกาแฟที่ฟุรกอนแกะสูตรมาจากตำรากาแฟหลายเล่ม บ้างก็เป็นตำราบาริสต้าฉบับแปลจากภาษาญี่ปุ่น เมนูบางอย่าง ร้านในกรุงเทพฯ หลายแห่งยังไม่มีเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างแก้วที่ชื่อ ‘Dirty Coffee’ ซึ่งเป็นเมนูกาแฟที่มีต้นตำรับจากโตเกียว โดยบาริสต้าจะเตรียมแก้วที่เย็นจัด ใส่นมที่เย็นจัด แล้วเทดอปปิโอริสเตรสโตร้อนๆ ลงบนแก้วที่เย็นจัด วิธีดื่มคือให้รีบดื่มทั้งกาแฟเย็นและนมร้อนเข้าไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้สัมผัสได้ถึงความร้อนและรสชาติที่เข้มข้นของกาแฟ ตัดกับความหวานของนมได้ในคราวเดียวกัน นอกจากกาแฟแก้วที่ว่าแล้ว ทางร้านยังมีทั้งกาแฟดริป โคลด์บริว และกาแฟมาตรฐานอื่นๆ อีกครบครัน

 

 

ด้านการตกแต่งร้านแต่งในสไตล์อาหรับ ลิงก์กันกับชื่อร้าน ‘Safir’ ในภาษาอาหรับที่แปลว่า ‘ผู้เดินทาง’ ซึ่งในแต่ละวันนั้นก็มีลูกค้าในท้องถิ่นที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการ กลายเป็นสภากาแฟท้องถิ่นของตากใบ

 

 

Open: ทุกวัน เวลา 7.00-19.00 น.

Address: ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

Contact: 0 7358 1854

Map: 

 


 

——————

 

Photo: Shutterstock

 

15. พุทธอุทยานเขากง

เมื่อขับรถออกจากตัวเมืองโดยใช้เส้นทางนราธิวาส-ระแงะ ประมาณ 9 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 4055 เราจะมองเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีทองบนเนินเขา วัดเขากงมีเนื้อที่ 142 ไร่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล พระพุทธรูปศิลปะสกุลช่างอินเดียตอนใต้ที่เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2509 และแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2512 องค์พระเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง หน้าตักกว้าง 17 เมตร ความสูงวัดจากพระเกศบัวตูมถึงบัวใต้พระเพลา 24 เมตร ในบริเวณเดียวกันยังมีเจดีย์สิริมหามายา เจดีย์ทรงระฆังซึ่งบนยอดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งยังมีพระอุโบสถซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาอีกลูกหนึ่งใกล้ๆ กันด้วย พระอุโบสถหลังนี้มีผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องดินเผาแกะสลักทั้งสี่ด้าน โดยเฉพาะด้านหลังเป็นรูปช้างหมอบถวายดอกบัว หน้าบันเป็นรูปนักรบ มีเทวดาถือคนโทถวาย ดูงดงามยิ่ง

     

 

น่าเสียดายที่เมื่อช่วงที่เราไปถึงนี้ ทางวัดกำลังอยู่ในระหว่างบูรณะซ่อมแซมองค์พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล จึงทำให้มีนั่งร้านที่ต่อขึ้นไปบดบังความงาม อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่านี่คือพระพุทธรูปกลางแจ้งที่ใหญ่และงดงามที่สุดในภาคใต้ ชาวพุทธที่มีโอกาสแวะไปจึงไม่ควรที่จะพลาดชมความงามและสักการะ

 

 

Address: ตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

Contact: 08 7510 9926

Map: 

 

 

——————

 

 

16. สะพานคอย 100 ปี และเกาะยาว

สะพานไม้ยาว 345 เมตร ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาวที่อยู่กลางแม่น้ำ ทางด้านตะวันออกของเกาะติดกับทะเลฝั่งอ่าวไทย มีหาดทรายละเอียดสีน้ำตาล บรรยากาศเงียบสงบ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่ประกอบอาชีพประมงและสวนมะพร้าว จริงๆ แล้วสมัยก่อนมีแต่สะพานไม้ แต่ด้วยสะพานไม้ตั้งอยู่มายาวนานจึงทรุดโทรมและผุพังจนต้องมีการบูรณะเพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา ทางเทศบาลจึงได้สร้างสะพานคอนกรีตขึ้นมาขนานอีกอันสำหรับให้รถแล่นผ่าน ส่วนสะพานไม้ก็ยังคงอยู่ให้ผู้คนใช้เดินข้ามสัญจรไปมา

 

 

ส่วนสาเหตุที่สะพานไม้มีชื่อว่าสะพานคอย 100 ปีนั้น ว่ากันว่าสมัยก่อนชาวบ้านที่อยู่บนเกาะลอย ถ้าจะเดินทางมายังฝั่งที่ว่าการอำเภอก็ต้องใช้เรือ กว่าจะมีการสร้างสะพานไม้ระหว่างเกาะยาวไปยังฝั่งที่ว่าการอำเภอก็ต้องคอยนานถึง 100 ปี จึงเป็นสาเหตุให้ประชาชนในละแวกนั้นเรียกสะพานดังกล่าวว่า ‘สะพานคอย 100 ปี’ นอกจากจะเป็นจุดที่ใช้สัญจรของประชาชนแล้วยังเป็นที่พักหย่อนใจและที่พบปะกันของกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่

 

เมื่อเดินข้ามไปยังชายหาดบนเกาะยาวและได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ เราได้เห็นเสาธงขนาดมหึมาที่ตั้งตระหง่าน และเห็นธงชาติไทยโบกสะบัดลู่ลม ได้สูดอากาศยามเย็นที่แสนสงบ รับลมทะเล ทำให้ได้คิดว่าช่างดีเหลือเกินที่ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ของประเทศไทย

 

 

Address: ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

Map:

 


 

——————

 

 

17. ชมงานหัตถกรรมพื้นบ้าน สานกระจูด

เมื่อเดินเล่นชมเรือกอและและวิวทะเลของบ้านทอนจนเต็มอิ่มกันแล้ว แนะนำให้แวะชมงานหัตถกรรมพื้นบ้าน สานกระจูด ซึ่งเป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างของที่นี่ กระจูดเป็นไม้จำพวกเดียวกับต้นกก เมื่อนำไปตากแห้งสามารถนำมาทำเครื่องสานได้ ด้วยสภาพพื้นที่ของบ้านทอนส่วนใหญ่ติดทะเล จึงทำให้มีพื้นที่ทำนาน้อยมาก สมัยก่อนชาวบ้านทอนจึงมักต้องไปหาซื้อข้าวเปลือกจากนอกหมู่บ้านมาเก็บไว้บริโภค เมื่อจำเป็นต้องมีภาชนะขนาดใหญ่เพื่อมาบรรจุเก็บรักษาข้าวเปลือกที่ซื้อมาในปริมาณมากๆ จึงได้นำกระจูด ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นอยู่แหล่งตามธรรมชาติในแถบนั้นและบริเวณใกล้เคียงมาทำเครื่องจักสานเพื่อเก็บข้าวเปลือก ต่อมาได้ริเริ่มพัฒนานำกระจูดมาสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ชนิดอื่นๆ ในครัวเรือน เช่น เป็นเสื่อใช้สำหรับปูนั่ง ปูนอน ตลอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เก๋ๆ อย่างตะกร้าและกระเป๋าถือสวยๆ เหมาะสำหรับแวะซื้อกลับบ้านไปเป็นของใช้และของฝาก แถมยังได้ช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านอีกด้วยนะ

 

 

ที่บ้านทอนแห่งนี้มีกลุ่มหัตถกรรมกระจูดอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน แต่กลุ่มที่เราได้ไปชมคือกลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน ซึ่งมีฝีมือประณีตในระดับส่งออก อนึ่ง ชาวบ้านมักจะรับงานไปทำที่บ้านแล้วค่อยมาส่งที่ศูนย์ แต่หากต้องการชมสาธิตการสานกระจูด แนะนำให้นัดหมายล่วงหน้า ทางศูนย์จะนัดแนะกับแม่บ้านทั้งสาวน้อยสาวใหญ่ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ให้มาสาธิตการทำ

 

 

Open: เวลา 8.00-16.00 น. (หากต้องการชมสาธิตสานกระจูด ควรนัดหมายล่วงหน้า)

Address: กลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน 340/3 หมู่ที่ 11 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

Contact: 08 6289 6671

Map:

 

 

——————

 

 

18. ร้านน้ำชาและขนมข้างทาง กับหลากของกินที่ตลาดเย็น

ร้านน้ำชาและขนมที่มีอยู่ทั่วไปทำให้นึกถึงร้านสภากาแฟของคนไทยทั่วไปตามต่างจังหวัดในสมัยก่อน เช่นเดียวกับร้านน้ำชากาแฟในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ที่นี่มีทั้งกาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อท้องถิ่น และที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะติดรสชาติหวานมันขั้น 10 ถ้าใครที่ไม่ชอบกินหวานจะต้องบอกกับทางร้านให้ลดน้ำตาลลงเยอะๆ บ้างก็มีกาแฟผสมโสมและสมุนไพรให้เลือก ส่วนชาก็มีชาเย็น ชาชัก บรรยากาศของร้านกาแฟท้องถิ่นดูเป็นกันเองและสงบ หลายร้านนอกจากเครื่องดื่มแล้วยังมีขนมห่อใส่ถุงให้หยิบรับประทานกันแบบบริการตัวเอง ซึ่งก็คล้ายๆ กับขนมไทยภาคกลางที่ทุกคนรู้จักกัน แต่ก็มีการปรับเติมเสริมแต่งรายละเอียด เช่น วุ้นต่างๆ ข้าวเหนียวสังขยาไส้กล้วย ฆอเดาะห์ กล้วยต้มใส่ไข่หวาน ต้มน้ำตาลโตนด ซึ่งบางทีก็ใส่ขนุน วุ้นหลากชนิด ขนมเปียกปูน ฯลฯ

 

 

ส่วนจุดอุดมของกินที่สุดอีกแห่งก็คือตลาดบาเละฮีเล เทศบาลเมืองนราธิวาส ซึ่งมีทั้งอาหารและขนมท้องถิ่นหลากหลายให้เลือกชิมในราคาไม่แพงเลย นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าสไตล์คนท้องถิ่นให้เลือกซื้อใส่ เผื่อใครอยากแปลงกายให้เนียนๆ เข้ากับคนในท้องที่

 

 

Open: 24 ชั่วโมง

Address: ตลาดบาเละฮีเล ถนนภูผาภักดี ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

Map:

 

 

FYI
  • ใครที่ต้องการไปเที่ยวจังหวัดนราธิวาส แต่ไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัยหรือเส้นทาง สามารถติดต่อกับบริษัททัวร์ท้องถิ่นให้ดูแลตลอดการเดินทาง
  • How to get there​: สายการบิน Air Asia มีเที่ยวบินดอนเมือง-นราธิวาส เป็นประจำทุกวัน โดยออกเดินทางเวลา 10.25 น. และถึงที่หมายเวลา 12.05 น.
  • Where to stay: โรงแรมอิมพีเรียล นราธิวาส ตกแต่งแบบคลาสสิก พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising