×

กระแสเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งแรง จะพาเงินเฟ้อไทยเติบโตด้วยหรือไม่

11.03.2021
  • LOADING...
กระแสเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งแรง จะพาเงินเฟ้อไทยเติบโตด้วยหรือไม่

ภายหลังจากที่อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีการปรับตัวดีขึ้นและขยายตัวไปในหลายประเทศ มุมมองด้านเศรษฐกิจทั่วโลกจึงปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน คือคาดหวังถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีในปีนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินต่อไป

 

โดยอัตราเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีแรงสนับสนุนที่ดีในหลายด้าน ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงในปีนี้ ทั้งด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ น่าจะช่วยให้ธุรกิจโดยเฉพาะในภาคบริการมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านราคาน้ำมันที่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่างๆ ปรับตัว ก็มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนของ OPEC ที่ยังคงควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน และเหตุการณ์โจมตีคลังน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่เพิ่งเกิดขึ้น ก็ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาแตะระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 40% จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น องค์ประกอบสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้ออย่างอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจาก 10 Year Breakeven Inflation ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ระดับที่สูงสุดในรอบ 3 ปี  

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทย ก็มีความคาดหวังว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีน ได้มีการพิจารณาถึงแผนการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งช่วยให้ธุรกิจในภาคบริการโดยเฉพาะโรงแรมและการท่องเที่ยวสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศมีการฟื้นตัวแล้ว ทิศทางอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวพุ่งตามอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ หรือไม่  

    

ต้องเรียนว่า แนวโน้มเงินเฟ้อของประเทศไทยในปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ติดลบ 0.85% อย่างแน่นอน แต่แนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออาจจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องด้วยปัจจัยความแตกต่างของขนาดมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างขององค์ประกอบอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายจากภาครัฐต่อราคาสินค้า ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงทางเงินเฟ้อเกิดขึ้นในระดับต่ำ 

 

หากเปรียบเทียบกันแล้ว มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าของไทยมาก และน่าจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและราคาสินค้าในสหรัฐฯ มากกว่าไทย ด้วยขนาดเงินกระตุ้นที่เพิ่งได้รับอนุมัติมูลค่ากว่า 1.9 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีขนาดใหญ่คิดเป็น 9% ของ GDP ของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ระดับ 3.5 แสนล้านบาทของประเทศไทย จะมีขนาดคิดเป็น 3% ของ GDP ไทยเท่านั้น 

 

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือองค์ประกอบของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีลักษณะที่บางหมวดในองค์ประกอบ มีสัดส่วนที่มากแต่มีการเปลี่ยนแปลงต่ำ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย ที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อทั้งหมด เมื่อยกเว้นช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ที่มีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพผ่านการปรับลด ค่าน้ำ ค่าไฟ จะพบว่าราคาค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลยตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือเมื่อพิจารณาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักถึง 23% ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะพบว่ามีองค์ประกอบย่อยหลายอย่างที่ราคาไม่ปรับขึ้น หรือใช้เวลานานในการปรับขึ้นตามอุปสงค์ เช่น ค่าขนส่งสาธารณะ ค่าจดทะเบียนและประกันภัย เป็นต้น

 

ข้อมูลล่าสุดจากการรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงผลกระทบของนโยบายภาครัฐต่อราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี ทั้งที่ราคาน้ำมันทั่วโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา แต่อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ กลับมีการปรับตัวสวนทางกับที่หลายคนคาดไว้ เนื่องจากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ มีการหดตัว 1.17% ถึงแม้ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจะหนุนให้ราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เงินเฟ้อก็ยังคงหดตัวจากการปรับตัวลงของสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งมีนโยบายจากทางภาครัฐในการช่วยเหลือค่าครองชีพอีกครั้ง และเมื่อพิจารณาราคาพลังงาน พบว่ามีการปรับตัวลง 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2563  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาแก๊สหุงต้มที่ได้มีนโยบายตรึงราคาในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง 

 

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ ปัจจัยหลักน่าจะมาจากฐานที่ต่ำในปี 2563 ประกอบกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่น่าจะทำให้ต้นทุนด้านอาหารมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ในภาพรวมการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อน่าจะเติบโตไม่รุนแรงมากนัก และคงอยู่ใกล้เคียงกับกรอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของทางคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ 1%

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising