×

ร่วงหรือรอด กับยุคที่ใครๆ ก็ลุกขึ้นมาเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์

13.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • คุยกับ พงษ์ศักดิ์ เจริญกุล Co-Founder บริษัท จับของร้อน จำกัด ผู้บุกเบิก Content Creators และ Blogger ตั้งแต่เจเนอเรชันแรกๆ จนถึงปัจจุบัน และตั้งเป็นสังกัด The Hotties by HHHBKK
  • ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มมีเซเลบริตี้ ดารา พิธีกร นักร้อง คนมีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักระดับประเทศ เริ่มเปลี่ยนทิศทางจากสื่อออฟไลน์มาทำเป็นสื่อออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งสร้างผลกระทบต่อบิวตี้บล็อกเกอร์โดยตรง
  • ทางรอดในยุคที่มีการแข่งขันสูง ควรตั้ง KPI (Key Performance Indicators) ขึ้นมา เพื่อกำหนดเป้าหมาย และวัดผลการทำงานของตัวเอง
  • สิ่งที่ต้องมีหากอยากเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ที่ประสบความสำเร็จคือ ใจที่รักและมีวินัยในการทำงานสูง

ก่อนมาทำธุรกิจในตำแหน่ง Co-Founder บริษัท จับของร้อน จำกัด พงษ์ศักดิ์ เจริญกุล หรือ ไทเลอร์ เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานในบริษัทเกี่ยวกับดิจิทัลมีเดียเอเจนซีมาก่อน เขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการ Consumer Products โดยเฉพาะวงการความงามมานาน กระทั่งมีชั่วโมงบินกว่า 10 ปี จนสามารถเคลมได้ว่า เขานี่แหละที่เป็นผู้บุกเบิก Content Creators และ Blogger ตั้งแต่เจเนอเรชันแรกๆ จนถึงปัจจุบัน

 

จากประสบการณ์ดังกล่าว เขาจึงเหมาะเหลือเกินที่ THE STANDARD POP จะชวนมาพูดคุยเกี่ยวกับอาชีพบิวตี้บล็อกเกอร์ที่มาแรงในสายตาของเด็กรุ่นใหม่ จริงไหมที่ใครๆ ก็เป็นได้ เพียงมีช่องทางเผยแพร่คอนเทนต์ของตัวเอง เช่น อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ บล็อก หรือยูทูบ ก็สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอโพสต์ลงผ่านสื่อออนไลน์ และอาจได้ค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ทั้งเงิน สิ่งของ เครื่องสำอาง และเผลอๆ ได้เปลี่ยนจากคนธรรมดากลายเป็นคนดังและมีชื่อเสียงไม่ต่างจากดารา หากรู้จักสร้างคอนเทนต์ที่ถูกใจคนดูและแบรนด์สินค้า

 

ว่าแต่การที่ทุกอย่างดูเหมือนเริ่มต้นง่าย แต่อาชีพสุดฮอตนี้จะร่วงหรือรอดกับยุคที่ใครๆ ก็ลุกขึ้นมาเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ เราไปหาคำตอบ

 

 

จุดเริ่มต้นในธุรกิจที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

พงษ์ศักดิ์: การที่เราเป็นพนักงานธรรมดา แล้วอยู่ดีๆ ตัดสินใจลาออกมาทำบริษัทของตัวเอง มันยากตรงที่เราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เราไม่สามารถจ้างคนมาเป็นพนักงานของเราเองได้ทันที แล้วงานที่ต้องทำเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียมาร์เก็ตติ้ง มันไม่ได้มีแค่การสร้างเฟซบุ๊กอย่างเดียว มันมีการแพลนคอนเทนต์ การซื้อมีเดีย การติดต่อบล็อกเกอร์ ทำบรีฟให้บล็อกเกอร์ กำหนดไทม์ไลน์ให้กับลูกค้า มันกลายเป็นว่าช่วงเปิดบริษัทเริ่มแรก ทุกคนที่เป็นหุ้นส่วน (เริ่มต้นกัน 3 คน) ต้องทำกันเองตั้งแต่ต้นจนจบ จำได้ว่าทำงานหนักมาก แล้วงานออนไลน์เป็นงานที่โหดนะ ถ้าลูกค้าจะเอางานตอนตี 3 คุณก็ต้องลุกขึ้นมาทำให้เขา บอกได้เลยว่า เราเจอลูกค้ามาทุกแบบ และเราสามารถรับมือได้หมด จากประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้ทำงานกับลูกค้า อาจจะไม่เก็ตว่าทำไมลูกค้าเหวี่ยง ทำไมจุกจิก แต่เราทำงานมาเยอะและนานเป็น 10 ปี ทำให้เราเข้าใจลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ทำไมเขาต้องเยอะ เขาเยอะเพราะเขามี Objective แบบนี้ เราแค่ต้องมีวิธีการคุยและรับมือให้ได้

 

จิ๋วจิ๋ว

 

จากบริษัทดิจิทัลเอเจนซี สู่การตั้งสังกัดบิวตี้บล็อกเกอร์

พงษ์ศักดิ์: ต้องบอกว่าภาพรวมของ บริษัท จับของร้อน ที่เปิดมาได้ 3 ปีแล้ว ในปีแรก เราเป็นดิจิทัลเอเจนซีเล็กๆ ที่เริ่มจากการทำแพลนสื่อดิจิทัลอย่างเดียวก่อน ถ้ายกตัวอย่างก็เช่น แบรนด์ไหนอยากจะทำเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ หรือคอนเทนต์ ที่เป็นของแบรนด์เองเราก็ทำตรงนี้ให้ รวมไปถึงมีเดียและอีเวนต์เราก็ทำหมด 80% ลูกค้าของเราเป็นแบรนด์บิวตี้ รองลงมาเป็นไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และท่องเที่ยว พอเข้าสู่ปีที่ 2 เรารู้สึกว่าเรารู้จักกับน้องๆ บล็อกเกอร์เยอะ เพราะต้องติดต่อร่วมงานกันบ่อยมาก ทำให้คุยกับพาร์ตเนอร์ว่า ทำไมเราไม่ลองทำเป็นสังกัด Online Creators ของเราเองในชื่อ The Hotties by HHHBKK เป็นบริษัทลูกที่งอกออกมา

ไม่ใช่อยู่ดีๆ คุณบอกตัวเองว่าอยากเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ แต่คุณมาทำเพจหรือยูทูบแล้วขาดใจที่รัก ขาดวินัย คุณก็ร่วง ไม่มีทางประสบความสำเร็จ

ทำหน้าที่เป็นนายหน้าให้บล็อกเกอร์

พงษ์ศักดิ์: The Hotties by HHHBKK จะทำงานเหมือนเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้กับน้องๆ บล็อกเกอร์หรือครีเอเตอร์ คือถ้าคนไหนอยากให้เราช่วยดีลงานกับแบรนด์ต่างๆ ให้ ก็มาเซ็นสัญญากับเรา ซึ่งตอนเปิดเฟสแรกของ The Hotties by HHHBKK เรามีน้องๆ แค่ 7 คน และเราเป็นคนติดต่อไปหาเด็กเอง โดยที่น้องๆ ก็เป็นคนที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เคยร่วมงานกับเราหลายงานมาก ปัจจุบันเราดูแลน้องๆ ทั้งหมด 23 คน สัญญาของเราคงไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร แต่บอกได้เลยว่าเป็นสัญญาที่ Flexible มาก คือบล็อกเกอร์สามารถรับงานเองได้ แต่ถ้างานไหนที่เขารู้สึกว่าดีลกับลูกค้าแล้วไม่จบ เราจะเข้าไปช่วยดูแลตรงนั้น แต่ส่วนใหญ่เราก็จะรับงานให้น้องๆ เป็นหลัก

 

หมูน้อย

 

อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในการดีลงานกับลูกค้ายุคนี้

พงษ์ศักดิ์: ถ้าเปรียบเทียบการทำงานในยุคแรกๆ กับยุคนี้ บอกเลยว่าเปลี่ยนไปมาก ข้อเสียของยุคนี้คือ ลูกค้ามีความ Commercial เยอะ มันทำให้ KOL (Key Opinion Leader) ค่อนข้างเสียความเป็นตัวตนในการทำคอนเทนต์ของตัวเอง เพราะถ้าทำตามใจตัวเองมากไป ลูกค้าก็ไม่แฮปปี้ ซึ่งเมื่อก่อนวงการบล็อกเกอร์มันเป็นอะไรที่ Real กว่านี้ ถ้าใช้ผลิตภัณฑ์อะไรแล้วชอบก็บอกว่าชอบ และพูดได้ว่ามันใช้ดีนะ ควรไปซื้อตาม พอแบรนด์เห็นมันก็เกิดการต่อยอดจ้างงาน ถ้าพูดภาษาโฆษณาคือ ก็อาจจะได้งานลักษณะที่มีการ Tie in สินค้าให้คอนเทนต์น่าสนใจ และขายของได้ด้วยเนียนๆ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แบบนั้น มันค่อนข้างต่างจากเมื่อก่อนตรงที่เน้นขายของเกินไป น้องๆ ในสังกัดของเราก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน ซึ่งการรับมือกับประเด็นนี้ เราก็ต้องเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่ดีจริงเท่านั้น และต้องส่งผลิตภัณฑ์ให้น้องๆ ใช้จริง ก่อนตัดสินใจว่าจะรับงานหรือไม่ ถ้าน้องใช้แล้วไม่ชอบ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะบอกไม่รับงานนั้นเหมือนกัน

ข้อเสียของยุคสมัยนี้คือ ลูกค้ามีความ Commercial เยอะ มันทำให้ KOL (Key Opinion Leader) ค่อนข้างเสียความเป็นตัวตนในการทำคอนเทนต์ของตัวเอง

คิดอย่างไรกับยุคที่ใครๆ ก็ลุกขึ้นมาเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์

พงษ์ศักดิ์: ยุคแรกๆ การแข่งขันมันยังอยู่แค่ในวงการ KOL กลุ่มเล็กๆ เช่น บล็อกเกอร์ไม่กี่คน แต่สมัยนี้มันไม่ได้มีแค่บิวตี้บล็อกเกอร์ที่แข่งกันเองแล้ว เพราะยังมียูทูเบอร์ อินสตาแกรมเมอร์ และอินฟลูเอนเซอร์จากสายต่างๆ ทั้งไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว บิวตี้ แฟชั่น ใครที่อยากลองทำดู คิดคอนเทนต์ ก็ตั้งกล้องถ่าย แล้วปล่อยลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง คือมันต้องเริ่มจากการไม่มีสปอนเซอร์ก่อน แต่ในอนาคตทุกคนมักจะหวังว่า การพยายามทำคอนเทนต์ทุกวันนี้มันต้องมีสปอนเซอร์เข้ามา ซึ่งจะเป็นที่มาของรายได้ เราจึงได้เห็นเด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นในวงการนี้เยอะขึ้น ใครที่สามารถทำให้ตัวเองโดดเด่นจนแบรนด์มองเห็นก็มีโอกาสที่จะถูกเชิญไปร่วมงานกับแบรนด์ แล้วสังเกตไหมว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มมีเซเลบริตี้ ดารา พิธีกร นักร้อง คนมีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักระดับประเทศ เริ่มผันจากสื่อออฟไลน์มาทำเป็นสื่อออนไลน์กันมากขึ้น บอกตรงๆ ว่า วงการบิวตี้บล็อกเกอร์ก็สะเทือนนะครับ

 

นัตตี้

 

ดาราและเซเลบริตี้สร้างแรงสะเทือนอย่างไร

พงษ์ศักดิ์: คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ที่ไม่ใช่ดารา ยังไงก็โดนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปเยอะ โดยเฉพาะสายบิวตี้ที่กระทบกระเทือนอย่างเห็นได้ชัด เพราะเราต้องบอกตรงๆ ว่า ดาราหรือเซเลบริตี้เป็นคนที่คนทั้งประเทศรู้จักว่า Positioning ของเขาเป็นอย่างไร คนนั้นเคยเป็นพิธีกร คนนี้เคยเล่นละคร ทำให้เป็นเรื่องง่ายต่อแบรนด์ที่จะเลือกคนเหล่านี้มาสร้าง Eyeball ซึ่งหากมีการโปรโมตสินค้าผ่านคนเหล่านี้ จะกระจายการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่แบรนด์ต้องยอมแลกคือ ค่าใช้จ่ายที่มักจะสูงกว่ามาก ก็จะขึ้นอยู่กับเรตของแต่ละคนอีกที ซึ่งแบรนด์จะต้องคิดมาแล้วว่าลงทุน Budget ไปเท่านี้ต้องคุ้มค่า ถ้าแบรนด์เลือกที่จะใช้ดารา แน่นอนว่าเขาต้องลดจำนวนการใช้งานบิวตี้บล็อกเกอร์ลง ซึ่งถ้าถามว่าบริษัทของเรากระทบไหม ต้องบอกตามตรงว่า กระทบ แต่ไม่ได้น่าตกใจ ตัวเลขรายได้อาจลดลงไปบ้าง แต่ไม่ถึง 10%

 

 

แนะทางรอดให้กับบิวตี้บล็อกเกอร์ในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น

พงษ์ศักดิ์: แม้ในสังกัดจะมีเพียง 23 คน แต่จะมีน้องๆ บิวตี้บล็อกเกอร์ที่แอดเข้ามาในเพจเราเยอะมาก คนรุ่นใหม่บางคนมักจะบ่นให้ฟังว่า เขาทำบล็อก ทำยูทูบมา 2 ปีแล้ว ไม่มีงาน ไม่มีสปอนเซอร์เข้ามาเลย รู้สึกท้อแท้ เราก็ตามเข้าไปดูคอนเทนต์ของเขา แล้วพบว่า คอนเทนต์ของเขาไม่มีอะไรเลย คำว่าไม่มีอะไรเลยหมายความว่า เดือนหนึ่งเขาทำคลิปมาปล่อยแค่ 1 คลิป แล้วทิ้งช่วงหายไป ถ้าแบบนี้ก็ไม่มีทางที่สปอนเซอร์จะเข้ามาอยู่แล้ว เวลาเราให้คำแนะนำน้องๆ ทุกคน เราจะบอกว่า ถ้าคุณอยากเข้ามาในวงการนี้ อย่างแรกที่ต้องมีคือ ‘ใจรัก’ ไม่ใช่อยู่ดีๆ คุณบอกตัวเองว่าอยากเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ แต่คุณมาทำเพจหรือยูทูบแล้วขาดใจที่รัก ขาดวินัย คุณก็ร่วง ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ถ้าให้แนะนำจริงๆ อยากให้ตั้ง KPI (Key Performance Indicators) ขึ้นมา เพื่อกำหนดเป้าหมายและวัดผลการทำงานของตัวเองขึ้นมาเลย เช่น ในหนึ่งเดือนคุณจะปล่อยคลิปจำนวนกี่คลิป แล้วทำให้ครบตามเป้าที่ตั้งไว้ ถ้าผลงานคุณดี ผลิตคอนเทนต์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สปอนเซอร์มองเห็น

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เริ่มมีเซเลบริตี้ ดารา พิธีกร นักร้อง คนมีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักระดับประเทศ เริ่มผันจากสื่อออฟไลน์มาทำเป็นสื่อออนไลน์กันมากขึ้น บอกตรงๆ ว่าวงการบิวตี้บล็อกเกอร์ก็สะเทือน

จริงไหมที่รายได้ของบิวตี้บล็อกเกอร์แตะตัวเลขหลักแสนหลักล้าน
พงษ์ศักดิ์: ถ้าเป็นรายได้ต่อคน เราไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอาจจะมีดราม่า แต่ถ้าเป็นเรื่องรายได้หลักแสนหลักล้านของน้องบล็อกเกอร์ ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับเพอร์ฟอร์แมนซ์ของแต่ละคน ถามว่ารายได้ตัวเลขนี้จริงไหม จริงครับ แต่ละคนจะได้รับรายได้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับตัวเขาล้วนๆ บางคนกว่าที่จะทำเงินได้หลักแสนหลักล้าน ความพยายามเขาเยอะมากนะครับ เขาเหมือนสู้มาเกิน 5 ปี แต่บางคนใช้เวลาแค่ 1-2 ปีก็ขึ้นมาได้เลย เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับคนจริงๆ ถ้าเขาสามารถผลิตคอนเทนต์ที่ดีและมีวินัยมาก ถ้าตั้งเป้า KPI เอาไว้ว่าจะทำวิดีโอ 5 คลิปต่อเดือน ก็ทำได้ตามนั้น เขาไม่เคยหยุดทำเลย นี่แหละคือหนทางแห่งความสำเร็จ

 

เพิร์ล

 

ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์

พงษ์ศักดิ์: น้องๆ สมัยใหม่อาจคิดว่าการเป็นบล็อกเกอร์นั้นง่าย ใช้ของก็ฟรี ไม่ต้องลงทุนอะไร อยากบอกเด็กรุ่นใหม่ไว้เลยว่า กว่าที่บิวตี้บล็อกเกอร์รุ่นพี่จะประสบความสำเร็จ เขามีการลงทุนเอง โดยเฉพาะสายบิวตี้ บางคนซื้อเครื่องสำอางหมดไปหลักหมื่นหลักแสนนะครับ เขาเริ่มต้นลงทุนด้วยตัวเองตั้งแต่ที่ยังไม่มีแบรนด์ไหนๆ ส่งมาให้ด้วยซ้ำ ส่วนการถ่ายภาพ การถ่ายคลิปวิดีโอก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุน ทั้งเสื้อผ้า หน้าผม ค่าพร็อพ ค่าโลเคชัน เขาพยายามกันมากที่จะลงทุนพัฒนางานของตัวเองให้มีคุณภาพ ความหวังของพี่ในวงการนี้จึงหมายถึงการได้เห็นบิวตี้บล็อกเกอร์ที่มีคุณภาพ ผลิตคอนเทนต์ดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อคนดู รวมไปถึงอยากเห็นบิวตี้บล็อกเกอร์รุ่นใหม่ๆ มีโอกาสโกอินเตอร์ ไม่อยากให้จำกัดความนิยมอยู่แค่ในเมืองไทย เพราะเราเห็นกระแสของบล็อกเกอร์เอเชียที่ได้ร่วมงานดังๆ ของสหรัฐอเมริกา อยากเห็นวงการนี้คึกคักและเติบโตขึ้นอย่างมีพลังและมีคุณภาพครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising