×

TRUE และ DTAC ประกาศ ‘ควบกิจการ’ ตั้ง ‘บริษัทใหม่’ เคาะราคาเทนเดอร์ 5.09 บาท และ 47.76 บาท

22.11.2021
  • LOADING...
TRUE และ DTAC

บอร์ด TRUE และ DTAC ไฟเขียวศึกษาแผนควบบริษัท เตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่และกำหนดสัดส่วนแลกหุ้น 1 หุ้นเดิมทรู ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมในดีแทค ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และให้ Citrine Global ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือซีพีและกลุ่มเทเลเนอร์เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อ เคาะราคาเสนอซื้อหุ้น TRUE ที่ 5.09 บาท และหุ้น DTAC ที่ 47.76 บาท

 

วันนี้ (22 พฤศจิกายน) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 บริษัท มีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC และรับทราบความประสงค์ในการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ TRUE โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทําคําเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) รายละเอียดดังนี้ 

 

1. อนุมัติให้ TRUE ทําการศึกษาความเป็นไปได้และดําเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 (การควบบริษัท) และอนุมัติให้ TRUE เข้าทําบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non-Binding Memorandum of Understanding) (MOU) กับ DTAC เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เข้าด้วยกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) 

 

รวมถึงกําหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท ซึ่งรวมถึง TRUE และ DTAC ทําการตรวจสอบกิจการ (Due Diligence) ของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ TRUE และ DTAC ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติการควบบริษัท และ TRUE และ DTAC สามารถดําเนินการให้เงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสําเร็จครบถ้วนตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ TRUE และ DTAC จะได้พิจารณากําหนดต่อไปในการพิจารณาอนุมัติการควบบริษัทและในการเข้าทําสัญญาควบรวมกิจการสําหรับการควบบริษัทระหว่าง 2 บริษัท 

 

นอกจากนี้ ได้พิจารณากําหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สําหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท (บริษัทใหม่) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของดีแทคในอัตราส่วนดังนี้

 

1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ

1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่

 

อัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกําหนดขึ้นจากสมมติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมด จํานวน 138,208,403,204 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

 

อย่างไรก็ตาม จํานวนหุ้นที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมดและมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นของบริษัทใหม่ภายหลังการควบบริษัทจะมีการเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของ TRUE และ DTAC พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของการควบบริษัทต่อไป

 

ทั้งนี้ การควบบริษัทและการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัท ตามอัตราการจัดสรรหุ้นดังกล่าวข้างต้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อทั้ง 2 บริษัท พิจารณาที่จะดําเนินการควบบริษัทต่อไปโดยได้รับการอนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนสามารถดําเนินการให้เงื่อนไขและขั้นตอนตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทตามที่กําหนดไว้ใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชน กฎหมาย และกฎเกณฑ์อื่นๆ สําเร็จลงอย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จํากัดเพียงการได้รับอนุมัติและผ่อนผันจากหน่วยงานราชการและหน่วยงานกํากับดูแลตามที่กฎหมายกําหนด หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิและผลประโยชน์ และการดําเนินการขออนุญาตในการนําหุ้นของบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สําเร็จ

 

2. รับทราบจากบริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด (Citrine Global หรือ ผู้ทําคําเสนอซื้อ) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ระหว่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ TRUE และ Telenor Asia ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ DTAC ว่า Citrine Global มีความประสงค์ที่จะทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ TRUE โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทําคําเสนอซื้อในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ DTAC ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 47.76 บาท ตามประกาศคณะกรรมการกํากับตลาดทุนที่ ทจ. 12/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงํากิจการ 

 

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับการควบบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC และการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจ ตามที่ได้กล่าวข้างต้น จะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบต่อไป

 

ขณะเดียวกัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้ TRUE และ DTAC ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มและกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0  ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค 

 

ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรูและดีแทคจะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนี้ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ 

 

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็วในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation) ของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชัน และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

 

การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทย เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย

 

“วันนี้เป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าวตามแนวทางดังกล่าว โดยเราหวังว่าจะเป็นส่วนเสริมพลังให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งหมดและสร้างงานด้านเทคโนโลยี ในการเติมเต็มและดึงเอาศักยภาพให้เป็นผู้ประกอบการที่ส่งมอบมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมดิจิทัลที่ล้ำสมัยนี้” ศุภชัยกล่าว

 

ซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า เรามีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่างๆ ในเอเชียมาแล้ว ดังนั้นขณะที่เรายังพัฒนาต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัยและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่าบริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม

 

ด้าน เยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานของเราในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างคุณค่าและพัฒนาตลาดในภูมิภาคนี้ต่อไปในระยะยาว เรามีความมุ่งมั่นและพันธกิจต่อทั้งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวนาน และความร่วมมือครั้งนี้ก็จะเสริมความมุ่งมั่นและพันธกิจนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การที่เราสามารถเข้าถึงทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพดีที่สุด จะเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญสำหรับบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้

 

เยอเก้นกล่าวว่า บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย

 

ทั้งเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ต่างมั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising