×

‘ทิสโก้’ รุกสินเชื่อมีหลักประกัน ตั้งเป้าขยายสาขา ‘สมหวัง เงินสั่งได้’ เพิ่ม 200 แห่ง

16.01.2023
  • LOADING...

กลุ่มทิสโก้มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3-4% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว เดินหน้ารุกสินเชื่อมีหลักประกัน ตั้งเป้าขยายสาขา ‘สมหวัง เงินสั่งได้’ อีก 200 แห่งปีนี้

 

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3-4% มีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ

 

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกที่อาจหดตัวลงตามการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มาอยู่ที่ระดับ 2%

 

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ในปี 2566 นี้ กลุ่มทิสโก้จึงปรับกลยุทธ์เข้าสู่โหมดของการเติบโต ด้วยกลยุทธ์ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ดังนี้

 

  1. เร่งขยายการเติบโตธุรกิจสินเชื่อในเชิงรุก โดยเน้นกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเพื่อการบริโภค ด้วยการกระจายเครือข่ายสาขาอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการเติบโตในธุรกิจสมหวัง เงินสั่งได้ และ TISCO Auto Cash โดยตั้งเป้าจะขยายสาขาของสมหวัง เงินสั่งได้ เพิ่ม 200 แห่งในปีนี้ ด้านกลุ่มธุรกิจบรรษัทจะมุ่งขยายการเติบโตภายใต้จุดแข็ง Total Solution ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรอบด้านและดีที่สุด

 

  1. สร้างการเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียมในกลุ่มธุรกิจนายหน้าประกันภัย ธุรกิจธนบดีและตลาดทุน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอบริการที่มุ่งสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ผ่านจุดแข็งของการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน-การลงทุนที่ดี และนำเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่ช่วยเตรียมความพร้อมสู่ความมั่นคงทางการเงินของลูกค้า รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ

 

  1. ยกระดับการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าในยุคปัจจุบัน รวมถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

 

  1. ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความยั่งยืน โดยบูรณาการเข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการดำเนินงาน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

 

“ในปีนี้กลุ่มทิสโก้ปรับเป้าหมายเข้าสู่โหมดของการเติบโต โดยยังคงดำเนินการภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ขณะเดียวกันจะเดินหน้าบ่มเพาะวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรม (Culture of Innovation) โดยบูรณาการทั้งบุคลากร (People) ขั้นตอน (Process) เทคโนโลยี (Technology) และข้อมูล (Data) เพื่อให้สามารถออกแบบการให้บริการลูกค้าในลักษณะของ Lifetime Solution ได้อย่างชัดเจนและรอบด้านขึ้น เพื่อเป็นสถาบันการเงินที่ลูกค้าไว้วางใจและใช้บริการในระยะยาว” ศักดิ์ชัยกล่าว

 

ผลประกอบการปี 2565 กำไรโต 6.4%

ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่สามารถเติบโตได้ถึง 7.9% ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อนหน้า พร้อมด้วยค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยขยายตัวถึง 24.0% สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น 13.4%

 

นอกจากนี้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) ปรับตัวลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและภาวะความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่คลี่คลายลง

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนชะลอตัวลงจากปี 2564 ทั้งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หดตัว 19.2% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนอ่อนตัวลง 33.2% จากยอดขายที่ลดลงของกองทุนที่ออกใหม่ ประกอบกับบริษัทไม่ได้รับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องมาจากสภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงผลกำไรจากเงินลงทุนลดลงเมื่อเทียบกับผลกำไรในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับปี 2565 อยู่ที่ 17.2%

 

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวน 219,004 ล้านบาท เติบโต 7.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง ‘สมหวัง เงินสั่งได้’ สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 26.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า ตามการเปิดเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี

 

ในส่วนของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากสิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ 2.1% ของสินเชื่อรวม เป็นไปตามนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ตรงจุด ทั้งนี้ ระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ณ สิ้นปี 2565 อยู่ในระดับสูงถึง 258.8%

 

ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.4% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.6% และ 3.7% ตามลำดับ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising