×

The New York Times เผยบทความสำรวจคลังแสงดิจิทัลกองทัพเมียนมา แฉเครื่องมือสอดส่อง-ปราบปรามความเห็นในโลกออนไลน์

โดย THE STANDARD TEAM
02.03.2021
  • LOADING...
The New York Times เผยบทความสำรวจคลังแสงดิจิทัลกองทัพเมียนมา แฉเครื่องมือสอดส่อง-ปราบปรามความเห็นในโลกออนไลน์

The New York Times เผยแพร่บทความชี้ให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลของกองทัพเมียนมา เพื่อสอดส่องและปราบปรามประชาชนฝ่ายตรงข้าม ภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

โดย ฮันนา บีช หัวหน้าสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ The New York Times ผู้เขียนบทความดังกล่าวระบุว่า กองทัพเมียนมาในปัจจุบัน มีเครื่องมือที่เพียบพร้อมในการสอดส่องประชาชน และปิดกั้นความคิดเห็นต่อต้านกองทัพในโลกออนไลน์ เช่น โดรนสอดแนมที่ผลิตจากอิสราเอล อุปกรณ์จารกรรมข้อมูล iPhone ที่ผลิตในยุโรป และซอฟต์แวร์จากอเมริกันที่สามารถแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์และลบข้อมูลต่างๆ ได้

 

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่เมียนมาเปิดประเทศ และได้รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ชาวเมียนมาจำนวนมากสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ทั้งจากเทคโนโลยีดาวเทียมและระบบโทรคมนาคมที่พัฒนามากขึ้น 

 

ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงที่ยังอยู่ใต้เงากองทัพ ก็มีการพัฒนาการทำงานตามไปด้วย โดยจัดซื้อระบบสังเกตการณ์และดักจับข้อมูล ซึ่งเป็นการใช้ฉากหน้าของประชาธิปไตยในการจัดซื้อเทคโนโลยีไซเบอร์ ที่มีความละเอียดอ่อนและเป็น ‘ดาบสองคม’ 

 

ในด้านหนึ่ง เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกใช้อย่างถูกต้องเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่อีกด้านคือเป็นเครื่องมือที่ใช้ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของกองทัพ 

 

ซึ่งนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ทางกองทัพเมียนมาได้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กับประชาชนที่ต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับหลายประเทศที่ถูกวิจารณ์เรื่องการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ทั้ง จีน ซาอุดีอาระเบีย เม็กซิโกและอีกหลายประเทศ

 

เนื้อหาบทความยังระบุถึงข้อมูลสำคัญ คือเอกสารงบประมาณของรัฐบาลเมียนมาหลายร้อยหน้าในช่วง 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา 

 

ซึ่งกลุ่ม Justice For Myanmar หรือกลุ่มเฝ้าระวังการใช้อำนาจในทางมิชอบของกองทัพเมียนมาเป็นฝ่ายนำเอกสารมาเผยแพร่ โดยมีเนื้อหาสำคัญแสดงให้เห็นถึงการทุ่มงบประมาณหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดหาเทคโนโลยีสอดส่อง และเฝ้าระวังในระดับที่ใช้งานในกองทัพ (Military-Grade) เช่น เทคโนโลยีดักข้อมูลโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเทคโนโลยีติดตามพิกัดประชาชน และดักฟังข้อมูลการสนทนาแบบเรียลไทม์ 

 

คณะกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภาเมียนมาสองคน ที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า การเสนองบประมาณจัดซื้อเทคโนโลยีดังกล่าว มาจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งแสดงความโปร่งใสทั้งรายละเอียดบริษัทที่จะสั่งซื้อ ตลอดจนคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเครื่องมือและเทคโนโลยี ซึ่งบางรายการระบุจุดประสงค์ในการจัดซื้อ เพื่อใช้ต่อต้านการฟอกเงินหรือสืบสวนการกระทำผิดทางไซเบอร์

 

“สิ่งที่คุณเห็นคือกองทัพเมียนมารวมเอาเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์และนิติเวชเข้าด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่มีความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์” เอียน ฟ็อกซ์ลีย์ นักวิจัยจากศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยยอร์ก กล่าว

 

เอกสารงบประมาณยังระบุว่า อุปกรณ์และเทคโนโลยีสอดแนมบางรายการจากอิสราเอล สหรัฐฯ และยุโรปนั้นได้จัดส่งไปยังเมียนมาแล้ว แม้ว่ารัฐบาลของสหรัฐฯ และหลายประเทศเหล่านี้จะแบนการส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวนับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาทำการกวาดล้างชาวโรฮีนจาในปี 2017 ซึ่งแม้บางประเทศจะไม่ประกาศแบน แต่ก็มีข้อกำหนดห้ามนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้เพื่อคุกคามสิทธิมนุษยชน

 

แต่ในกรณีส่วนใหญ่ บริษัทต่างชาติที่ขายเทคโนโลยีเหล่านี้แก่เมียนมาต่างหลบเลี่ยงมาตรการห้ามส่งออกหรือขายให้เมียนมา โดยไม่สอบถามจุดประสงค์การนำไปใช้งาน

 

บทความยังชี้ว่า หลังรัฐประหารนั้น ทางการเมียนมานำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ใช้ติดตามตัวอาชญากรทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ มาใช้ในการติดตามฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

 

ซึ่งเอกสารหมายจับที่ออกหลังการรัฐประหาร แสดงให้เห็นว่าทางการเมียนมาใช้เพียงข้อมูลที่โพสต์วิจารณ์กองทัพในโซเชียลมีเดีย และ Web Address ในการติดตามหาที่อยู่จริงของผู้โพสต์เพื่อนำมาดำเนินคดี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การดำเนินการสืบสวนและติดตามตัวในลักษณะดังกล่าวทำได้ด้วยเทคโนโลยีพิเศษจากต่างชาติเท่านั้น

 

ภาพ: Myat Thu Kyaw / NurPhoto via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising