×

เปิดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 23 ฟื้นต่อ…ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง

31.12.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

แม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะต้องฟันฝ่ามรสุมหลายระลอก ไล่มาตั้งแต่การระบาดของเชื้อโอมิครอนในช่วงต้นปี สงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อราคาพลังงานและอาหาร การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักทั่วโลกเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงขึ้นจนส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน แต่สำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายแห่งต่างออกมาฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2022 จะขยายตัวได้ราว 3-3.5% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้เพียง 1.6% 

 

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้กลับมาเติบโตได้ดีขึ้นคงหนีไม่พ้นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของ GDP และ 20% ของการจ้างงานรวม โดยมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุด ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2022 อยู่ที่ 10.6 ล้านคน และมีแนวโน้มที่ยอดรวมทั้งปีจะใกล้เคียง 11 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของสถิติสูงสุด 40 ล้านคนในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่เครื่องยนต์สำคัญอีกหนึ่งตัวอย่างภาคการส่งออกก็คาดว่าจะยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 7% จากอานิสงส์การเติบโตในช่วงต้นปี แม้ว่าในช่วง 2 เดือนหลังจะเริ่มเห็นสัญญาณเติบโตที่แผ่วลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป 

 

มองต่อไปยังปี 2023 ในภาพรวมหลายฝ่ายยังเชื่อมั่นว่าภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าไทยอาจเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นในปี 2023 ที่ราว 3.7% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเช่นกัน 

 

สำหรับปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตาคือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยรายงานล่าสุดของ Bloomberg ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ 100% ที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าหรือในเดือนตุลาคมปี 2023 เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่โอกาสอยู่ที่ 65% เท่านั้น 

 

ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปก็จะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อผ่านราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่แม้ว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง และจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปในปีหน้า

 

นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโลก เนื่องจากการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในตลาดพลังงานและเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีการประเมินว่าปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์จะดำเนินต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จนกว่าบริษัทผลิตชิปที่ย้ายออกมาจากจีนจะสามารถสร้างโรงงานใหม่และเริ่มดำเนินการผลิตชิปได้

 

อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ทำให้ล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ประกาศปรับลดการคาดการณ์การค้าโลกในปี 2023 ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณการค้าที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

 

ส่วนปัจจัยภายในของไทยที่ต้องจับตาไม่แพ้กันคือ ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหน้าตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2023 อยู่ที่ 2.5% 

 

นอกจากนี้ ยังคาดว่าในปีหน้าบรรดาผู้ผลิตจะเริ่มผลักภาระต้นทุนทั้งค่าพลังงานและค่าแรงไปยังผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคา หลังจากก่อนหน้านี้ทำได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากกำลังซื้อที่หายไปเพราะการระบาดของโควิด

 

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยของไทยที่กำลังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและภาระหนี้ของภาคครัวเรือน โดยมีการประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 1.25% เป็น 2% ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 0.45% โดยเฉลี่ย 

 

ก่อนจะลาปีเก่าเพื่อก้าวเข้าสู่ปีใหม่ THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ที่จัดทำโดยสำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจสำคัญๆ แต่ละค่ายจะมีมุมมองอย่างไร ไปติดตามกัน

 

ธปท.-ทีดีอาร์ไอ มองกรอบ ‘GDP ไทย’ 3.5-3.7% 

เริ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อโดยพร้อมเพรียงกันของธนาคารกลางหลายแห่ง ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อในหลายประเทศจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะค้างอยู่ในระดับสูงต่อไป ทำให้การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอาจยังต้องดำเนินต่อไป

 

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ในกรณีฐานของ ธปท. ยังคงมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยแต่จะชะลอตัวลง ส่วน GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวได้ลดลงจาก 1.7% ในปีนี้ เหลือ 0.5% ขณะที่ยุโรปจะโดนแรงกดดันจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาวจนเศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 0.4% 

 

ในภาพรวม ธปท. ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสําคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ GDP ในปี 2023 ไว้ที่ 3.7% 

 

ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ​TDRI คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3.5% ในปี 2023 โดยได้รับ ‘แรงลมหนุน’ จากการฟื้นตัวของการบริโภคครัวเรือนและรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาในครึ่งปีหลังของปี 2023 อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและการย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีน

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 2023 จะเผชิญกับ ‘แรงลมต้าน’ จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเงินเฟ้อ และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในโลก

 

จีนเปิดประเทศเป็น ‘แรงลมหนุน’

นอกจากนี้ยังมองว่าการเปิดประเทศของจีนจะกลายเป็นแรงลมหนุนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของไทยรองจากสหรัฐฯ และเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศจีนที่ต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย และยังจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวจีน

 

ดังนั้นการผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่จะเริ่มขึ้นในช่วงต้นปีจึงเป็นความหวังสำหรับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2023 

 

ฟากกระทรวงการคลังมองว่า GDP ไทยปี 2023 จะขยายตัวได้ 3.8% ด้วยตัวแปรสำคัญคือ การท่องเที่ยวมาช่วยชดเชยการส่งออกสินค้า โดยไทยนับเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจปีหน้าจะโตได้กว่าปีนี้ อีกทั้งสถาบันจัดอันดับเรตติ้งชั้นนำของโลกยังคงจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในระดับ Investment Grade สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติมองฐานะทางเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่

 

‘ท่องเที่ยว-ลงทุนเอกชน’ ฮีโร่เคลื่อนเศรษฐกิจ

สอดรับกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มองว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวขึ้นหนุน โดยประเมิน GDP ไทยปีหน้าจะโต 3.5% จากกรอบ 3-4% 

 

ข้ามมาดูมุมมองของภาคเอกชนอย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่มีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ 

 

โดยที่ประชุม กกร. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2023 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

 

ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0-2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7- 3.2% 

 

สำหรับมุมมองจากสถาบันการเงิน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวที่ 3.6% เร่งตัวขึ้นจากปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 3.2% โดยตัวขับเคลื่อนสำคัญจะมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการบริโภคจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2023 อยู่ที่ 22.4 ล้านคน

 

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะชะลอตัวลงภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากเงินเฟ้อที่ลดลงช้า วิกฤตพลังงานยืดเยื้อ และนโยบายการเงินเข้มงวดทั่วโลก ทำให้ล่าสุดจึงมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2023 ลดจาก 2.7% มาอยู่ที่ 1.8% พร้อมปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ลงมาเหลือ 3.4% จากเดิมที่ 3.7% 

 

จับตาโดวิด ‘ระลอกใหม่’ กระทบไทย

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินตัวเลข GDP ไทยปี 2023 ไว้ที่ 3.2% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.2-4.2% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดในจีน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยยังประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2023 ไว้ที่ 22 ล้านคน 

 

ข้ามไปที่วิจัยกรุงศรีของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้มุมมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2023 จะเติบโต 3.6% จาก 3.2% ในปี 2022 จากแรงขับเคลื่อนหลักคือภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัว สวนทางกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจะเห็นสัญญาณบวกจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตได้จากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ การจ้างงานที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงด้านการลงทุนของภาคธุรกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

 

KKP มองเศรษฐกิจโตเพียง 2.8% 

ต่อมาเป็น KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2023 มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น หลังจากเผชิญความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อชะลอเงินเฟ้อ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างมากเช่นกัน ทำให้ภาคการส่งออกอาจจะหดตัวลง โดยคาดว่าในปี 2023 เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้เพียง 2.8% ปรับลดลงจาก 3.6% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน และถือว่าเป็นการเติบโตที่ช้ากว่าปีนี้ 

 

ถัดมาเป็นสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ที่คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2023 ที่ 3.4% โดยระบุว่าปี 2023 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับ 3 ความเสี่ยงที่ต่อเนื่องมาจากปีนี้ และมีโอกาสที่จะรุนแรงขึ้น ประกอบด้วยปัญหาการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีน วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป และวิกฤตตลาดเกิดใหม่ สืบเนื่องจากปีนี้ที่หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ 

 

ตามด้วยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตรา 4.5% ในปี 2023 โดยการฟื้นตัวต่อเนื่องในภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญ ประกอบกับคาดว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งในปี 2023 จะเป็นปัจจัยภายในประเทศที่ประเทศไทยเติบโต เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

 

IMF หั่นคาดการณ์ GDP ไทยเหลือโต 3.6% 

ปิดท้ายกันที่หน่วยงานระดับโลกอย่างธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยล่าสุดเวิลด์แบงก์ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ไว้ที่ 3.6% ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่ 4.1% เนื่องจากมองว่าการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยในปีหน้าอาจหดตัว 2.1% ลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 8.1% ในปีนี้

 

ขณะที่ IMF ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ว่าจะขยายตัวได้ 3.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปี 2022 โดยมองว่าไทยจะเป็น 1 ใน 2 ประเทศแถบเอเชียคู่กับจีนที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการครองชีพที่สูงขึ้น

 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวนั้นคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และมีแรงงานจำนวนมาก การมีมาตรการดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญกลุ่มศักยภาพสูง และการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising