×
SCB Omnibus Fund 2024

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเรากำลังจะเป็นเจ้าภาพ

15.11.2022
  • LOADING...
APEC

ใกล้เข้ามาแล้วกับการประชุมผู้นำเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ แต่คนไทยหลายคนยังคงมีคำถามและไม่เข้าใจว่าการประชุม APEC คืออะไรกันแน่ และมันมีความสำคัญอย่างไร THE STANDARD WEALTH จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ APEC แบบเข้าใจง่ายผ่านคำถาม 10 ข้อดังต่อไปนี้

 

1. APEC คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?

 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) เป็นการรวมกลุ่มแบบพหุภาคี 21 เขตเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วย รัสเซีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, จีนไทเป (ไต้หวัน), เขตบริหารพิเศษฮ่องกง, เวียดนาม, ไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, บรูไน, ปาปัวนิวกินี, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก, เปรู และชิลี โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง และประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเมื่อปี 1992 และปี 2003

 

APEC ถูกจัดตั้งเมื่อปี 1989 เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นทางเศรษฐกิจ ให้สมาชิกที่มีแนวนโยบายที่แตกต่างกันหาแนวทางร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยเน้นประเด็นด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือในเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน พลังงาน สาธารณสุข อีคอมเมิร์ซ และสิ่งแวดล้อม เพื่อลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกทางการค้า (สินค้าและบริการ) การลงทุน และการเดินทางระหว่างประเทศ

 

2. APEC แตกต่างจากข้อตกลงพหุภาคีอื่นๆ อย่างไร

 

APEC คือการรวมกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ครอบคลุมหลายมิติในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ต่างจากข้อตกลงในพหุภาคีอื่นๆ ที่เน้นเจรจาเพื่อการค้า การดำเนินความร่วมมืออยู่บนพื้นฐานของฉันทามติ ความสมัครใจ และความยืดหยุ่น รวมถึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย สมาชิกสามารถดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนตามความพร้อมของแต่ละสมาชิก

 

การประชุม APEC ไม่ใช่ความร่วมมือเฉพาะของภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย ซึ่งก็คือ APEC Business Advisory Council (ABAC) หรือสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของ APEC ซึ่งทุกปีจะมีการรวมตัวกันเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อสรุปคำแนะนำประจำปีต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC

 

3. APEC สำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก 

 

APEC ถือเป็นความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งมูลค่า GDP รวมกันประมาณ 61% ของทั้งโลก และจำนวนประชากรที่คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 1 ใน 3 ของพลเมืองทั้งโลก จึงมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการค้า การลงทุน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

 

จากข้อมูลของ World Bank ในปี 2021 พบว่า มูลค่า GDP ของสมาชิก APEC เท่ากับ 59.4 ล้านล้านดอลลาร์ รวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 61% ของ GDP ในจำนวนนี้ 3 ชาติสมาชิกหลักของ APEC ถือเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ส่วนไทยมีขนาดทางเศรษฐกิจอยู่ในลำดับที่ 11 (GDP เท่ากับ 0.5 ล้านล้านดอลลาร์) รองจากไต้หวัน (0.7 ล้านล้านดอลลาร์) และเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียนถือเป็นลำดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซีย (1.2 ล้านล้านดอลลาร์) 

 

ทางด้านประชากร APEC มีพลเมืองในปี 2021 รวมกันทั้งสิ้น 2.9 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 37% ของทั้งโลก ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 ชาติสมาชิกสำคัญที่จำนวนพลเมืองอยู่ใน 5 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ จีน (อันดับ 1) สหรัฐฯ (อันดับ 3) และอินโดนีเซีย (อันดับ 4) ส่วนไทยอยู่ในลำดับที่ 9 ของกลุ่ม APEC และถือเป็นลำดับที่ 4 ของกลุ่มอาเซียนที่เป็นสมาขิก APEC 

 

นอกจากจะเป็นการรวมกลุ่มที่มีขนาดใหญ่แล้ว APEC ยังเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากสัดส่วนกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมดของสมาชิก APEC ในปี 2021 สูงถึง 63.6% สะท้อนว่าโครงสร้างทางประชากรกว่า 2 ใน 3 ยังอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนของทั้งโลก (59%) บ่งชี้โอกาสในการลงทุนและการเข้าถึงตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต นอกจากนี้ APEC ยังเป็นตลาดที่มีพลวัตสูง เนื่องจากหลายประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเมือง

 

จากข้อมูลของ United Nations พบว่า APEC มีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองสูงถึง 73% มากกว่าสัดส่วนของโลก (56.6%) การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาสู่เมืองของประชากรใน APEC จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญต่อไปในอนาคต 

 

4. ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับ APEC เป็นอย่างไร

 

เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง โดยในปี 2021 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (ทั้งสินค้าและบริการ) มากถึง 116.7% ของ GDP สะท้อนถึงความสำคัญของการเปิดประเทศเพื่อส่งเสริมภาคต่างประเทศให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกและการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าสูงถึง 53.4% และ 45.4% ของ GDP 

 

โดยไทยพึ่งพาด้านการค้ากับกลุ่ม APEC ทั้งการส่งออกสินค้าที่มากถึง 72.1% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากกลุ่ม APEC คิดเป็น 71.9% ของการนำเข้าจากทั่วโลก ตลาดการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ไทยยังมีการเชื่อมโยงทางด้านการลงทุนกับกลุ่มสมาชิก APEC อย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนโดยตรงจากประเทศสมาชิก APEC ที่ไหลเข้าต่อเนื่อง และการลงทุนของไทยในประเทศสมาชิก APEC เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

 

สำหรับด้านการท่องเที่ยว ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากกลุ่มประเทศ APEC สูงถึง 28.1 ล้านคน คิดเป็น 70.4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมดในปี 2019 โดยสัญชาติที่เดินทางมามากที่สุดคือ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

 

5. กลุ่ม APEC มีบทบาทอย่างไรต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย

 

ในกลุ่ม APEC มีหลายชาติในภูมิภาคเอเชียที่พึ่งพาการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจีน ไทย และเกาหลีใต้ ที่อัตราส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Share of Manufacturing to GDP) คิดเป็นสัดส่วนสูงประมาณเกือบ 30% ของ GDP ล่าสุดในปี 2021 สัดส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP ของชาติข้างต้น ถือเป็น 3 ลำดับแรกของ APEC ที่ระดับ 27.4%, 27.0% และ 25.4% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนของ APEC (15.4%) และของโลก (17.0%) บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยและหลายชาติในเอเชีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก 

 

สำหรับกรณีของไทยนั้น พบว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย 4 อันดับแรกในปี 2021 เป็นผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (คิดเป็น 26.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด), ยานยนต์และชิ้นส่วน (14.2%), ผลิตภัณฑ์ยาง (5.8%) และพลาสติก (5.3%) ซึ่งสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยัง APEC ทั้งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่ผลิตป้อนตลาด APEC ถึง 77.3%, ยานยนต์ฯ (57.5%), ผลิตภัณฑ์ยาง (72.5%) และพลาสติก (72.8%) แสดงถึงบทบาทของการค้าระหว่างกันในกลุ่มสมาชิก (Intra-trade) ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างสูง ซึ่งต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ร่วมกันจากเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนที่เอื้อแก่สมาชิกในกลุ่มภายใต้กรอบ APEC รวมถึงความพยายามในการลดอุปสรรคทางการค้า และปรับกฎเกณฑ์ที่ช่วยให้ตลาด APEC เปิดกว้างแก่ชาติสมาชิกให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของบรรดาสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

 

6. นักท่องเที่ยวต่างชาติจาก APEC มีความสำคัญต่อไทยอย่างไร

 

นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกอื่นในกลุ่ม APEC สะท้อนจากที่ไทยเป็นประเทศพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในกลุ่ม APEC ซึ่งคิดเป็น 11.8% ของ GDP ในปี 2019 (หรือคิดเป็นมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวในกลุ่ม APEC คิดเป็น 66.2% ของรายได้ทั้งหมด โดยสัญชาติที่สำคัญคือ จีน คิดเป็นร้อยละ 1 ใน 4 ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รองลงมาคือ มาเลเซีย (5.6%), รัสเซีย (5.4%) และญี่ปุ่น (4.9%) 

 

7. ความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ระดับไหน หากเทียบกับสมาชิก APEC

 

หากพิจารณาถึงขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในโลก จากการจัดอันดับของ International Institute for Management Development หรือ IMD ปี 2022 เผยว่าไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน 63.7 คะแนน จาก 100 คะแนน และอยู่อันดับที่ 33 จาก 63 ประเทศทั่วโลก โดยไทยถูกจัดอันดับลดลง 5 อันดับ จากทั้ง 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ด้านสภาวะเศรษฐกิจ อยู่อันดับที่ 34 (ลดลง 13 อันดับ) ลดลงจากด้านเศรษฐกิจภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ด้านราคาปรับดีขึ้น, ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ อยู่อันดับที่ 31 (ลดลง 11 อันดับ) โดยปัจจัยสำคัญที่ลดลงคือด้านการคลังและกฎหมายทางธุรกิจ, ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ อยู่อันดับที่ 30 (ลดลง 9 อันดับ) โดยปัจจัยสำคัญที่ปรับลดลงคือผลิตภาพและประสิทธิภาพ ขณะที่การบริหารจัดการยังคงอันดับเดิม และด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่อันดับที่ 44 (ลดลง 1 อันดับ) ลดลงจากด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานทั่วไปและการศึกษาปรับดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้อันดับความสามารถทางการแข่งขันลดลงมากที่สุดคือ ด้านสภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ เนื่องจากไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวสูง จึงทำให้อันดับของไทยอยู่ในอันดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งในปี 2019 ความสามารถทางการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับที่ 25 จาก 63 ประเทศ 

 

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก จะเห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยในปี 2022 อยู่อันดับที่ 9 จาก 14 ประเทศ ซึ่งคงอันดับเดิมจากปีก่อน และอยู่สูงกว่าญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เป็นสมาชิกใน APEC ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ จะสนับสนุนให้อันดับขีดความสามารถของไทยปรับดีขึ้นได้ในระยะข้างหน้า แม้ว่าไทยยังมีความเปราะบางในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังอยู่ในอันดับที่ต่ำ 

 

8. APEC มีความสำคัญเพียงใดต่อภาคการเงินและการขับเคลื่อน Digital Economy

 

ศักยภาพของ APEC สามารถสะท้อนได้จากแนวโน้มการเติบโตของระบบการเงินและเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ช่วยให้เขตเศรษฐกิจกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการกระจายธุรกิจและขยายตลาดออกไปในภูมิภาค การระดมทุนของสมาชิก APEC มีแนวโน้มเติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดต่อ GDP ล่าสุดในช่วงปี 2016-2020 ของหลายประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยที่ตัวเลขดังกล่าวแตะระดับ 107% ต่อ GDP และถือเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของชาติอาเซียนที่เป็นสมาชิก APEC การเติบโตของตลาดทุนดังกล่าวถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในการแสวงหาผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยง 

 

นอกจากนี้ระบบการเงินของ APEC ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล Deloitte คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ในทิศทางที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลแบงกิ้ง ที่ช่วยกระตุ้นธุรกรรมข้ามพรมแดนระหว่างสมาชิก APEC สอดคล้องกับตัวเลขสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากร ซึ่งเป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความพร้อมของระบบนิเวศทางดิจิทัล 

 

โดยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของสมาชิกกลุ่ม APEC ในปี 2021 เท่ากับ 81.1% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 59.9% ขณะที่ตัวเลขของหลายชาติในเอเชียและไทยต่างมีสัดส่วนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของโลก นวัตกรรมล่าสุดจากการพัฒนาระบบข้อมูลเปิดที่เชื่อมโยงกัน (Interoperable Open Data) ซึ่งธนาคารกลางในกลุ่มอาเซียนรวมถึงไทยได้ร่วมกันผลักดันเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Payment ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค 

 

9. การเข้าร่วม APEC ของไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างไร  

 

นับตั้งแต่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง APEC กับอีก 11 เขตเศรษฐกิจเมื่อปี 1989 นั้น ความร่วมมือที่ไทยได้ดำเนินการร่วมกับ APEC ในการสนับสนุนการค้าเสรีและลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้มีส่วนช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับสมาชิกในกลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตลอดช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ไทยร่วมกับชาติสมาชิกได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรและข้อจำกัดทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนแสวงหาแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เช่น พิธีการศุลกากร มาตรฐานสินค้า ผลจากการดำเนินการดังกล่าวช่วยให้ไทยกับสมาชิกกลุ่ม APEC มีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น 

 

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS พบว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยัง APEC เพิ่มจาก 63.8% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในปี 1990 เป็น 72.1% ในปี 2021 โดยมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญจาก 14.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 1990 เป็น 192.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 หรือเพิ่มขึ้นถึง 13.1 เท่าตัว ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาด APEC เติบโตโดยเฉลี่ย (CAGR) ถึงประมาณปีละ 9.6% 

 

แม้จะมีความล่าช้าในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของกลุ่ม APEC ซึ่งเป็นความริเริ่มตามปฏิญญาโบกอร์เมื่อปี 2010 ขณะที่การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) ยังไม่สามารถบรรลุข้อสรุปได้ แต่ความพยายามผลักดันการลดอัตราภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าระหว่างสมาชิก APEC ที่ดำเนินมาโดยตลอด 3 ทศวรรษ ถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญและเอื้อต่อการค้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยอีกด้วย

 

10. ประเด็นสำคัญของการประชุม APEC ครั้งนี้คืออะไร และจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยและโลก

 

สำหรับการประชุม APEC ครั้งที่ 29 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจะได้พบปะเยี่ยมเยือนกันภายหลังจากการแพร่ระบาด ประกอบกับสมาชิก APEC ต่างอยู่ในช่วงปรับเศรษฐกิจเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น การประชุมครั้งนี้จึงถูกจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance.)’ ภายใต้ประเด็นหลักที่ไทยมุ่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจากครั้งนี้ ได้แก่ 

 

  1. การเปิดโอกาสด้านการการค้าเสรีและการลงทุนผ่านเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ซึ่งไทยจะนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อน FTAAP โดยมีเป้าหมายให้สามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายในปี 2040 โดยจะผลักดันให้ผู้นำ APEC ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อรับรองแผนงานดังกล่าว 

 

  1. การจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage เพื่อส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยระหว่างกลุ่มสมาชิก ซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว 

 

  1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนภาคธุรกิจและยกระดับวิสาหกิจ MSME เพื่อดำเนินกิจการอย่างสมดุลและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการขับเคลื่อนการเงินที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยไทยได้เสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เป็นแนวคิดหลักในการประชุมครั้งนี้ 

 

ในบรรดาความริเริ่มของไทยดังกล่าว การขับเคลื่อน FTAAP ถือเป็นประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งหากไทยสามารถผลักดันประเด็นนี้ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมได้ จะส่งผลให้เกิดเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้สำเร็จ ความคืบหน้าดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับประเทศนอกกลุ่ม APEC ทั้งยังจะช่วยกดดันให้การเจรจาเปิดเสรีทางการค้าในกรอบของ WTO ที่ชะงักงันให้เดินหน้าต่อไป 

 

จากการศึกษาของ World Bank ประเมินว่า FTAAP จะช่วยให้การส่งออกและ GDP ของไทยเติบโตสะสมในช่วง 10 ปีภายหลังการจัดตั้งประมาณ 4.1% และ 0.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ World Bank ยังพบว่า หากเปรียบเทียบผลได้จากการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบ FTAAP เทียบกับกรอบอื่นๆ แล้ว FTAAP จะช่วยให้ GDP ของโลกเพิ่มขึ้นได้มากกว่ากรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) และกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.1% และ 0.6% ตามลำดับ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising