×

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา สำคัญต่อคนไทยอย่างไร ทำไมต้องเกิดใน 10 ปี?

08.02.2024
  • LOADING...
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

กระทรวงพลังงานปักธง ภายใน 10 ปี แหล่งก๊าซปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา ต้องสำเร็จ หลังประเมินปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนับวันจะหมดไป โจทย์ใหญ่ความมั่นคงพลังงานอนาคต หวังการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเป็นโอกาสของรัฐบาลในการเร่งรัดเจรจาในรอบหลายสิบปี

 

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) ที่กระทรวงพลังงาน วรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานพร้อมผลักดันพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) ซึ่งต้องรอนโยบายจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการว่าจะเดินหน้าอย่างไร รูปแบบใด ภายใต้กรอบ MOU ปี 2544 ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์อาณาเขตของตนเองมาโดยตลอด

 

 

โดยแนวทางการเจรจานั้นต้องพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกมิติ ภายใต้พื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นพื้นที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 1970

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาร่วมหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงพลังงาน เพื่อศึกษาทุกมิติและเพื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนผ่านความท้าทายด้านพลังงานในปัจจุบัน ดังนั้นหากทันทีที่มีความชัดเจนด้านนโยบาย เชื่อว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะสามารถเดินหน้าได้ทันที

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยเบื้องต้น หากมองในแง่ของเชิงเทคนิค ความเป็นไปได้ในการขุดเจาะ พบว่าการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA สามารถทำได้ ด้วยโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่มีศักยภาพ และปริมาณก๊าซธรรมชาติที่มีมากพอสมควร อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้อยู่ใกล้โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติของไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว สามารถเชื่อมต่อหรือพัฒนาร่วมกันได้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น จึงส่งผลต่อสิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยกับกัมพูชาได้ให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงทำให้ยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ตั้งแต่สิ้นสุดการสำรวจในปี 2518

 

เปิดชื่อเอกชน 4 ราย ผู้เคยได้สิทธิ์สัมปทาน

 

ดังนั้นต้องประเมินกันอีกครั้งว่าจะพัฒนาร่วมกันในรูปแบบใด เช่น การนำโมเดลพื้นที่ไทย-มาเลเซียมาปรับใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายได้หรือไม่ หรือจะเปิดให้เอกชนมีสิทธิ์เข้าสำรวจและผลิตในแหล่งดังกล่าวนั้นในรูปแบบสัมปทานหรือแบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) จะเป็นอย่างไร ต้องรอความชัดเจนของนโยบายอีกครั้ง

 

หลังจากที่ผ่านมาฝั่งรัฐบาลไทยเคยให้สิทธิ์สัมปทานเอกชน 4 ราย ได้แก่ Chevron, Shell, Mitsui และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)

 

ทั้งนี้ การฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เป็น 1 ใน 4 ภารกิจของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยอีก 3 เรื่องหลัก คือ

  1. เร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61 เพื่อเร่งเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าในปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้ได้ภายในวันที่ 1 เมษายน 2567 ซึ่งขณะนี้ยังคงมีปริมาณอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น
  2. เปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25) อีก 9 แปลง ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลรอบใหม่ช่วงกลางปี 2567
  3. ดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

 

จากข้อมูลการจัดหาปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าประเทศยังต้องนำเข้าปิโตรเลียมมากกว่า 50% เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศได้ นอกจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งจากแหล่งในประเทศ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียแล้ว หากดูซัพพลายและความมั่นคงด้านพลังงานอนาคต คาดว่าในช่วงเวลา 10-15 ปี ภาคพลังงานจะมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากหลายแหล่งก๊าซกำลังจะหมดไป หากรอก๊าซอ่าวไทยหมดอาจต้องลงทุนอีกมหาศาล

 

“ดังนั้นการหารือระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา ซึ่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาเยือนไทยครั้งนี้ ถือว่าเป็นก้าวแรกของการเจรจาในรอบหลายสิบปี” วรากรกล่าว

 

ไทยและกัมพูชาพร้อมกระชับความร่วมมือ

 

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

 

ได้มีการหารือครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการค้า-การลงทุน การท่องเที่ยว และหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือความร่วมมือด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area (OCA)

 

ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งไทยและกัมพูชา พร้อมตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ (OCA)

 

หากย้อนดูไทม์ไลน์ นับตั้งแต่ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 ที่มีการลงนาม MOU ร่วมกันของทั้งสองประเทศ มีการพยายามฟื้นเจรจาหารือในหลายๆ รัฐบาล กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน เศรษฐา ทวีสิน ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มุ่งผลักดันเรื่องนี้ จึงต้องติดตามว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

 

เนื่องจากประเด็นนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่หมายมั่นว่าหากสำเร็จจะช่วยให้คนไทยจ่ายค่าไฟถูกลง ลดการนำเข้าก๊าซ และเพื่อความมั่นคงระยะยาว เพราะประเมินกันว่าพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติมากถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต พร้อมด้วยแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising