×

เจาะเบื้องลึก ‘สัมพันธ์ไทย-กัมพูชา’ แรงกดดันราคาพลังงานโลกที่นับวันจะพุ่งสูงขึ้นอาจปลุกชีพ ‘ขุมทรัพย์พื้นที่พิพาท OCA’ ในรอบทศวรรษ

07.11.2023
  • LOADING...
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ไม่มีท่าทีสิ้นสุดลงง่ายๆ เช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเมื่อปีที่ผ่านมา สถานการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานไทยดีดตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้รัฐบาลจะใช้วิธีตรึงราคาพลังงานเพื่อประคองค่าครองชีพ แต่ภาคส่วนต่างๆ ก็พยายามส่งเสียงถึงรัฐบาลให้เร่งจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำทดแทนการนำเข้า

 

โดยเฉพาะการเร่งเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) ซึ่งช่วงเวลานี้อาจเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีของทั้งสองประเทศในการกลับมาเจรจาอย่างจริงจังหรือไม่?

 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้นกำลังสร้างแรงกดดันให้ทั้งไทยและกัมพูชาผ่านผู้นำคนใหม่ของทั้งสองประเทศ นั่นคือ เศรษฐา ทวีสิน และ ฮุน มาเนต ซึ่งต่างกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากราคาไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ทั้งไทยและกัมพูชาต้องกลับมาหาแนวทางเจรจาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (OCA) ซึ่งเป็นพื้นที่ทรัพยากร 27,000 ตารางกิโลเมตรที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์หลังการเจรจาหยุดชะงักมานานหลายปีอีกครั้งในรอบทศวรรษ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยประเมินว่าพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติมากถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต พร้อมด้วยแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ แต่อย่างที่ทราบกันว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดข้อพิพาทมาตั้งแต่ปี 1970 ภายใต้กรอบ MOU ปี 2544 ที่ระบุถึงอาณาเขตที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์มาโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ล่าสุด พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หากจะกลับมาเจรจา ในส่วนของกระทรวงพลังงานขอเสนอให้แยกทั้งสองประเด็นออกจากกันให้ชัดเจน และผลักดันให้มีการอภิปรายเรื่องการพัฒนาร่วมกัน

 

“เราต้องการพลังงานจาก OCA ไม่ใช่การแบ่งอาณาเขต เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาในการยุติข้อพิพาท เพราะไม่มีประเทศใดสามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ได้อย่างง่ายดาย” พีระพันธุ์กล่าว

 

นอกจากนั้นรายงานข่าวยังระบุอีกว่า ขณะนี้แหล่งก๊าซธรรมชาติในไทย (แหล่งก๊าซเอราวัณ) มีกำลังการผลิตที่ลดลง อาจส่งผลต่อระบบโครงข่ายการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทำให้ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่มีราคาแพงขึ้น 30%

 

ดังนั้นการฟื้นฟูการเจรจาแหล่งก๊าซ OCA คือโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับไทย และโดยเฉพาะกัมพูชา ในการปลุกความฝันที่ค้างคามายาวนานในการผลิตน้ำมันในอ่าวไทย หลังจาก KrisEnergy บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซของสิงคโปร์ประสบภาวะล้มละลายในปี 2564 ทำให้โครงการครั้งนั้นยุติไป

 

ส่องนโยบายพลังงานของไทยและกัมพูชา

เนื่องจากปัจจุบันไทยและกัมพูชาต่างมีผู้นำคนใหม่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งหากดูจากนโยบายพลังงานของทั้งสองประเทศต่างต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าและลดต้นทุนราคาพลังงานในประเทศ โดย เศรษฐา ทวีสิน มุ่งมั่นลดต้นทุนค่าพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ ฮุน มาเนต มุ่งไปที่นโยบายการชะลอราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงขึ้นเพื่อประคองค่าครองชีพ

 

นักวิเคราะห์มองแนวโน้มเจรจาเป็นไปได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้นราคาพลังงานที่สูงขึ้นดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงาน OCA อีกครั้ง โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นว่าทั้งสองประเทศต่างได้รับบทเรียนจากตลาด Spot LNG ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว

 

“นี่เป็นหนึ่งในแรงผลักดันหลักสำหรับรัฐบาลไทยที่จะจริงจังกับการเจรจา OCA เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาแหล่งพลังงาน OCA มีแนวโน้มไปในทิศทางบวกมากกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากหากดูปัจจัยเบื้องหลังที่ผลักดันการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ได้แก่ ความพร้อมของแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ ราคาไม่แพง และพื้นที่อยู่ใกล้กัน สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นวาระเร่งด่วนมากขึ้นและเป็นเรื่องสำคัญ”

 

ขณะที่ Keo Rattanak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแร่และพลังงานของกัมพูชา ได้พบกับเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชาเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยได้ระบุว่า “กัมพูชาเปิดกว้างสำหรับการหารือและแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกันในทะเล”

 

ทั้งนี้ Cheap Sour โฆษกกระทรวงแร่และพลังงานของกัมพูชา ระบุว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะให้ข้อมูล และต้องรอเพื่อดูความคืบหน้า เนื่องจากรัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ”

 

อย่างไรก็ตาม จากนี้คงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน และ ฮุน มาเนต พบกันที่กรุงพนมเปญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเศรษฐาได้เผยว่ารัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อดูแลการเจรจาในประเด็นนี้ภายใต้คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising