×

เตรียมกลยุทธ์ ‘หุ้นไทย’ ไตรมาส 2 หลังตลาดฟื้นกลับมา 1,600 จุด เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19

02.04.2021
  • LOADING...
เตรียมกลยุทธ์ ‘หุ้นไทย’ ไตรมาส 2 หลังตลาดฟื้นกลับมา 1,600 จุด เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19

ไตรมาสแรกปี 2564 ผลงานของตลาดหุ้นไทยถือว่าค่อนข้างน่าพอใจจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 10% จากปีก่อน มาแตะจุดสูงสุดที่ 1,593.93 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด และหากมองจากจุดต่ำสุดที่ 969.08 จุด ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้แล้วถึง 64% 

 

หากมองไปในรายกลุ่มอุตสาหกรรม (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564) กลุ่มที่มีมาร์เก็ตแคปสูงเกิน 1 ล้านล้านบาท และปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นกว่าตลาด ได้แก่ 

 

  • กลุ่มแบงก์ +19.0% 
  • กลุ่มพาณิชย์ +16.1% 
  • กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ +15.1% 
  • กลุ่มอาหาร +14.6% 

 

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมาร์เก็ตแคปรองๆ ลงมา และสามารถปรับตัวขึ้นได้โดดเด่น คือ 

 

  • เหล็ก +42% 
  • สินค้าเกษตร +40.7% 
  • ท่องเที่ยว +29.1% 
  • บริการเฉพาะกิจ +28.1% 
  • เงินทุนและหลักทรัพย์ +24.1% 
  • รับเหมาก่อสร้าง +20.8% 
  • ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน +19.2% 
  • สื่อ +17.4% 
  • ยานยนต์ +13.1% 

 

ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลุ่มเดียวที่แย่ลง -28.2% 

 

สำหรับวันทำการแรกของไตรมาส 2 ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นสูงสุด +13.39 จุด กลับมาแตะระดับ 1,600 จุด เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 14 เดือน โดยกลุ่มที่หนุนดัชนีขึ้นมาคือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคาร ไฟแนนซ์ และพลังงาน แต่หลังจากนั้นดัชนีก็อ่อนตัวลงเล็กน้อยมาปิดตลาดที่ระดับ 1,595.12 จุด เพิ่มขึ้น 7.91 จุด หรือ 0.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 76,941 ล้านบาท

 

ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมิน 4 ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรจับตามองในช่วงไตรมาส 2 นี้

 

ปัจจัยแรก คือความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน และความเป็นไปได้ของการเปิดประเทศ หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงได้ หากยิ่งกระจายได้มาก และเปิดประเทศได้เร็วมากเท่าไร จะยิ่งส่งผลดีต่อภาพการลงทุน

 

ปัจจัยที่สอง คือแนวโน้มผลประกอบการไตรมาสแรกที่จะทยอยประกาศช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 

 

ปัจจัยที่สาม คือความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะกลับมาเป็นประเด็นกดดันได้อีกครั้ง หลังจากที่ล่าสุดจีนยังไม่สามารถทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ได้ อย่างกรณีที่จีนเพิ่งจะสั่งสินค้าจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าเพียง 1 ใน 3 ของที่ตกลงกันไว้เท่านั้น 

 

ปัจจัยที่สี่ คือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ช่วงวันที่ 15-16 มิถุนายน ซึ่งเป็นรอบที่จะมีการเปิดเผยคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจจางๆ ซึ่งต้องจับตาดูว่าเฟดจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ย หรือนโยบายอื่นๆ เกี่ยวกับเงินเฟ้อเพิ่มเติมหรือไม่ 

 

“ภาพของตลาดช่วงไตรมาส 2 น่าจะเป็นเหมือนถนนลูกคลื่น ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนอาจเห็นดัชนีปรับขึ้นได้ต่อ และมักจะเป็นเดือนที่ตลาดให้ผลตอบแทนดี แต่ในเดือนพฤษภาคมอาจมีแรงขายออกมา ทั้งจากราคาหุ้นที่เริ่มสูงมาก และจิตวิทยาเรื่องของ Sell in May”

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า มี 4 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นในไตรมาส 2 นี้ 

 

ประเด็นแรก คือค่าเงินดอลลาร์ หากยังคงทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง อาจเห็นฟันด์โฟลวของต่างชาติอ่อนลง และอาจเห็นแรงขายสุทธิในภูมิภาค สำหรับตลาดหุ้นไทยอาจจะโชคดีเล็กน้อย เพราะที่ผ่านมาต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิมาต่อเนื่อง ทำให้การโยกย้ายเงินออกจากภูมิภาคส่วนใหญ่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีเงินไหลเข้ามากก่อนหน้านี้ คือกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ เช่น จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน 

 

ประเด็นที่สอง คือท่าทีของผู้กำหนดนโยบายการเงินต่างๆ แม้ว่าสภาพคล่องทั่วโลกจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ส่วนหนึ่งจากการอัดฉีดเพิ่มเติมจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่องต่อไป แต่ในมุมของเฟดอาจเห็นการส่งสัญญาณทำ Operation Twist หากบอนด์ยีลด์ยังคงปรับขึ้นไปต่อแตะระดับ 2% 

 

“จากข้อมูลในอดีต หากมีการส่งสัญญาณของการทำ Operation Twist ตลาดหุ้นมักจะปรับฐานลงทันทีในช่วง 1-3 เดือนแรก แม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดของการทำจริง” 

 

ประเด็นที่สาม คือสถานการณ์โควิด-19 และการกระจายวัคซีน คงต้องติดตามว่าจะมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่างๆ อีกหรือไม่ รวมถึงความเร็วในการกระจายวัคซีน และประสิทธิผลหลังจากนี้ 

 

ประเด็นที่สี่ คือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะโอกาสที่ OPEC+ อาจจะเริ่มส่งสัญญาณการเลิกลดกำลังการผลิตช่วงปลายไตรมาส 2 ทำให้ราคาน้ำมันอาจจะกลับมาอ่อนตัวได้อีกครั้ง และจะกระทบต่อหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มหลักในไทย 

 

อัพไซด์ของหุ้นไทยจากบริเวณ 1,600 จุด 

 

ภาดลกล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยที่ขึ้นมาอยู่บริเวณ 1,600 จุด คิดเป็น P/E ล่วงหน้าราว 19 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจจะวิ่งขึ้นต่อได้จากความคาดหวังต่อการเปิดประเทศ แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยใหม่ และราคาได้ตอบรับไปในระดับหนึ่งแล้ว 

 

จากการประเมินในกรณีดีสุด ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะวิ่งไปหา 1,680 จุด ส่วนกรณีฐานจะอยู่ที่ราว 1,610 จุด ทั้งนี้มองว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นจะวิ่งไปสู่ระดับ 1,680 จุด เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เพราะฉะนั้นหากดัชนีวิ่งขึ้นไปถึงบริเวณ 1,650 จุด แนะนำทยอยขายลดความเสี่ยง

 

ในมุมของณัฐชาตเชื่อว่าอัพไซด์ของตลาดหุ้นไทยคงจะไม่เท่ากับไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแน่นอน ซึ่งดัชนี SET วิ่งขึ้นมาถึง 10% อย่างไรก็ตาม ภาพของตลาดก็อาจจะไม่ได้ปรับลงแรง แต่จะเป็นลักษณะของการปรับฐานชั่วคราว โดยมองว่าที่ระดับ 1,450 จุด เป็นบริเวณที่สามารถกลับมาเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยได้อีกครั้ง 

 

“ช่วงไตรมาส 2 นี้ เป็นเหมือนการทดเวลาบาดเจ็บ เป็นการซื้อเวลาโดยสภาพคล่อง แต่ที่ระดับ 1,600 จุด ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ 1,550 จุด ซึ่งอิงจากพื้นฐานของปี 2565 ด้วยแล้ว ทำให้ตลาดหุ้นไทยตอนนี้ไม่เหลืออัพไซด์แล้ว” 

 

อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องอาจจะช่วยดันให้ตลาดปรับขึ้นได้ต่อในช่วงสั้น ด้วยการหมุนไปยังหุ้นกลุ่มที่ราคายัง Laggard และการเข้ามามีส่วนร่วมของนักลงทุนรายย่อยในตลาด แต่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคมคงจะต้องระมัดระวังมากขึ้นจากมูลค่าที่ยังอยู่ในระดับสูง การปรับพอร์ตจากนักลงทุนสถาบันเพื่อรองรับวิธีการคำนวณมาร์เก็ตแคปใหม่ของตลาด รวมถึงความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน และนโยบาย Operation Twist 

 

จากระดับ 1,600 ถือว่าสูงกว่า tg ที่ 1,550 จุด ก็เบสออนทุกสิ่งทุกอย่างของปีหน้าไปหมดแล้ว มองว่าไม่เหลืออัพไซด์ แต่ช่วงสั้นสภาพคล่องอาจจะช่วยดันให้หุ้น Laggard ขึ้นมาเล่นได้ และการมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายย่อยในตลาดในระดับที่สูงมาก ทำให้หุ้นกลางและหุ้นเล็กน่าจะคึกคักต่อไปได้อีกในระยะสั้น 

 

3 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใส

 

นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า ประเมินว่า ในเชิงกลยุทธ์คงต้องเฟ้นเลือกลงทุนมากขึ้น โดย 3 กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับช่วงไตรมาส 2 คือ 

 

กลุ่มธนาคาร ซึ่งจะได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องของหนี้เสีย ขณะเดียวกันธนาคารยังได้แรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว 

 

กลุ่มค้าปลีก เป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ หากนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาก็จะช่วยเพิ่มการใช้จ่าย

 

กลุ่มเครื่องดื่ม โดยเน้นไปที่เครื่องดื่มซึ่งเชื่อมโยงกับกัญชง ถือเป็นปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 

 

ส่วน บล.ทรีนีตี้ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 2 คงจะต้องเน้นเลือกหุ้นเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากภาพรวมของตลาดที่ไม่เหลืออัพไซด์อีกแล้ว แต่ก็อาจจะไม่เห็นดัชนีปรับฐานแรงเช่นกัน โดยประเมินหุ้นที่น่าสนใจใน 3 ธีม ได้แก่ 

 

ธีม ‘เปิดประเทศ’ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ชัดเจน นอกจากหุ้นท่องเที่ยวที่ราคาปรับขึ้นมาสูงแล้ว มองว่ากลุ่มที่น่าสนใจคือ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และโรงพยาบาล 

 

ธีม ‘ส่งออก’ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตัวขับเคลื่อน GDP เพียงหนึ่งเดียวของไทยในปีนี้ โดยให้น้ำหนักไปที่กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มอาหารกับสินค้าเกษตร 

 

ธีม ‘ปรับพอร์ตลงทุน’ มี 2 ส่วนคือ การปรับน้ำหนักของดัชนี MSCI ช่วงเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะมีหุ้น SCGP ถูกนำเข้าคำนวณเพิ่มเติม ขณะที่การปรับหุ้นเข้าคำนวณของ SET50 ประเมินว่ามีโอกาสจะเห็นหุ้นอย่าง STGT, IRPC และ STA ถูกนำเข้าคำนวณ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising